xs
xsm
sm
md
lg

26 กุมภาพันธ์ 2553 วันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอกันมานานเหลือเกิน สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่สุดของอดีตนายกรีฐมนตรีไทยใจแขมร์ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ว่าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีนัดอ่านคำพิพากษาคำยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากการขายหุ้นในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว

หลายคนคาดการณ์ว่าวันนั้นคงจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แม้แกนนำ 3 เกลอหัวขวดจะประกาศปาวๆ ว่าจะไม่มีการชุมนุมของคนสีแดง (อย่างเป็นทางการ) หน้าศาลฎีกา เพื่อจะได้ไม่มีข้อครหาให้มาบริภาษกันภายหลังว่า 'กำลังกดดันศาล'

แต่พักหลังๆ ก็มีข่าวแว่วมาว่าคนเสื้อแดงไม่ทราบฝ่ายได้เตรียมขนรถกระบะ 100,000 คัน คันละ 10 คน เข้ากรุงเทพฯ หมายจะมาแสดงให้ทุกคนประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตนายกฯ ก็ยิ่งสร้างความสะพรึงกลัวให้กับผู้คนจำนวนมาก เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับช่วงสงกรานต์ของปีที่ผ่านมา

จากแนวโน้มของความไม่ปกติของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นี้เอง ทำให้หลายๆ สิ่งในเมืองไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นเชิญติดตามกันได้เลย

เปลี่ยนเส้นทาง หนีรถติด

เป็นธรรมดาที่เวลามีการชุมนุมแถวบนถนนราชดำเนิน ภาพที่ปรากฏอยู่เสมอก็คือคุณตำรวจก็มักจะเอารั้วมาปิดเส้นทาง ห้ามรถเข้า-ออก จนจราจรติดขัด เพราะขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้

และยิ่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งมีข่าวว่าจะมีการขนรถกระบะเข้ากว่าแสนคัน คนที่เดินทางมาเรียนหรือทำงานในบริเวณนั้นต่างก็วิตกกังวลว่าจะทำอย่างไรดีหนอ

สุพรรณิการ์ ชารีนิวัติ นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่อาจจะได้รับผลกระทบหากมีการชุมนุมขึ้นมา เพราะปกติแล้ว เธอมักจะใช้บริการของรถโดยสารประจำทางเพื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัย

“บ้านเราอยู่บางกะปิ เพราะฉะนั้นเวลามาท่าพระจันทร์ ก็ต้องเดินทางหลายต่อมาก ขึ้นเรือแสนแสบมาลงท่าผ่านฟ้า และต่อรถเมล์สาย 15 หรือไม่ 47 อีกสัก 30 นาที แต่ถ้ารีบจริงๆ ก็นั่งแท็กซี่หรือรถตุ๊กตุ๊กมาเลย”

แต่ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เธอไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีเดิมได้ ทำให้สุพรรณิการ์ ต้องกลับมานั่งวางแผนการเดินทางของตัวเองใหม่ เพื่อจะได้ไปถึงห้องเรียนให้ทันเวลา

“เรื่องรถติด เราก็กลัวเหมือนกันนะ แต่เราก็วางแผนไว้บ้างแล้วล่ะ โดยเราอาจจะใช้วิธีเดินเท้าจากฝ่านฟ้าแทน เพราะว่าจริงๆ มันก็ไม่ไกลกันสักเท่าไหร่”

ผู้ค้ายืนหยัด...ไม่หวั่นทุกสถานการณ์

ถึงตอนนี้ บริเวณหน้าศาลฎีกาจะมีแผงตำรวจกั้นเต็มไปหมด แถมยังมีแนวโน้มของคนนับพันที่จะเข้ามาเบียดเสียดแออัดในพื้นที่นั้นเต็มไปหมด แต่อย่าเพิ่งคิดไปว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายจะหนีหน้าหายตัวไปไหน เพราะนั่นคือโอกาสสำคัญในการหารายได้เลี้ยงชีพ

อย่าง ชัชวาล พ่อค้ารถเข็นขายน้ำดื่ม เครื่องดื่ม และอาหารอีสานใกล้บริเวณศาลอาญา ก็ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า แม้สถานการณ์ในศาลอาญาหรือบริเวณใกล้เคียงจะปกติสุขหรือฉุกละหุกปานใด แต่เขาก็คงปักหลักขายต่อไป

“ผมว่าวันที่ 26 กุมภาฯ คนคงจะมารวมตัวกันเยอะ แล้วอากาศก็ร้อนอย่างนี้ น้ำและเครื่องดื่มน่าจะขายดีเป็นพิเศษ”

นอกจากนี้เขาได้ยกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังอีกว่า ในช่วงที่มีการชุมนุมหรือมีงานที่สนามหลวง สินค้าของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย่างน้ำอัดลมปกติขายได้ 2 ลังแต่พอมีการชุมนุมก็ขายได้เป็นเท่าตัว ส่วนน้ำดื่มไม่ต้องพูดถึง จากปกติ 3 โหลก็กลายเป็น 20 โหลเลยทีเดียว

ขณะที่มด ซึ่งตั้งแผงขายผลไม้ตั้งแต่ 7 โมงเช้ายัน 5 โมงเย็น ก็ยืนยันเช่นเดียวกับชัชวาลว่า วันนั้นขอทำตัวปกติ และจะมาขายผลไม้ในเวลาเดิมแน่นอน พร้อมประกาศว่าไม่กลัวแม้อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

“เวลาคนมาชุมนุมหรือประท้วง แม่ค้าขายของได้เยอะขึ้นนะ ต่างกับช่วงปกติของขายไม่ดีเลย อย่างปกติขายได้กำไรวันละ 300-400 บาท ถ้ามีม็อบก็จะขายดีมาก ได้กำไรวันละพันเลยนะ”


ธุรกิจหวั่น เลื่อนจัดงานเกรงผลกระทบ

หากสังเกตดู เวลาบ้านเมืองมีเหตุการณ์อะไรที่โดดเด่นขึ้นมา ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มักจะเทพื้นที่ให้ข่าวๆ นั้นเป็นหลัก จนบางทีข่าวเล็กๆ ที่น่าสนใจแทบจะหายืนให้ตัวเองไม่ได้เลย

ยิ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวสินค้าหรือธุรกิจใหม่ๆ ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไหนเลยจะมาสู้กับข่าวที่คนจับตามองอย่างการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่บรรดาบริษัทยอมหลีกทางให้ข่าวนี้ โดยการเลี่ยงไปประกอบกิจกรรมในวันอื่นๆ แทน เพราะถือหลักว่า 'ถึงจะช้าสักหน่อย แต่ก็พอจะมีคนให้ความสนใจบ้าง'

โดยคำยืนยันนี้มาจาก สมเกียรติ แซ่เล้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีรีบรัม ออแกนไนซ์ จำกัด ที่เล่าว่าปกติแล้ว ลูกค้าที่จ้างออแกไนซ์จัดงานมักจะเลี่ยงวันสำคัญเสมอ เนื่องจากกลัวการจัดงานลำบาก ถ้าเป็นลักษณะงานโรดโชว์ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็เกรงว่าตรงนั้นจะปิดถนนหรือไม่ จะมีปัญหาหรือเปล่า แล้วถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้คนจะสนใจกิจกรรมที่จัดแค่ไหน หรือแม้แต่ปัญหาจราจรก็น่าจะหนักหน่วงเป็นพิเศษ ดังนั้นเชื่อว่า ทุกคนคงจะรอให้ผ่านวันตัดสินคดีไปก่อน หรือไม่ก็ดูสถานการณ์โดยรวมก่อนถึงค่อยจัดงาน

“ช่วงที่ 26 กุมภาฯ ยังไม่มีคนมาแจ้งว่าจัดวันนั้นนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น 27-28 มากกว่า หรือบางเจ้าเขาก็เลื่อนไปมีนาฯ เลย เพราะปกติเขาไม่จัดกันหรอก จะมีบ้างก็อย่างช่วง 19 กันยาฯ 2549 ที่มีรัฐประหาร เพราะตอนนั้นเราวางแพลนงานของบริษัทปูนแห่งหนึ่งอยู่ วางเป็นเดือนเลย แต่พอมีปฏิวัติช่วงกลางคืน เราก็วุ่นเลยนั่งเช็กข่าวถึงตี 2-3 แล้วก็คุยกับลูกค้าว่าจะจัดต่อหรือเปล่าหรือจะยกเลิกไปก่อน ซึ่งสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องจัดงานต่อ เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นดำเนินการไม่ได้ แต่เราก็ต้องเปลี่ยนสีเสื้อของพนักงานในบริษัท เพราะเผอิญมันไปตรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพอดี (หัวเราะ)”

พักหน้าจอ หาความสุขใส่ตัว

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เวลาเปิดโทรทัศน์ในช่วงที่มีเหตุการณ์อะไรใหญ่ๆ เกิดในสังคม ทั้งยุบพรรคไทยรักไทย หรือจลาจลเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษายน 2552 โทรทัศน์แต่ละช่องก็มักจะกระหน่ำรายงานแต่เรื่องๆ นั้นอย่างเดียว ไม่เพียงแค่นั้นบางสถานีถึงขนาดโละรายการปกติทิ้ง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่หน้าจอได้สัมผัสกับสถานการณ์แบบใกล้ชิด

แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเปิดทีวีแล้วหวังจะเจอแต่ข่าวแบบนั้น คงจะมีบ้างแหละที่ต้องการซึมซับกับความบันเทิงหรือหาความผ่อนคลายในชีวิตอื่นๆ จากจอสี่เหลี่ยมนี้บ้าง

และแน่นอนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ถึงจะไม่มีใครรู้อนาคตล่วงหน้า แต่เชื่อว่าทุกคนคงคาดเดากันได้ว่าเมื่อเปิดทีวีไปแล้วต้องเจอกับสภาพเช่นใด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล จากคลื่นกรีนเวฟ ก็มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก

“เราต้องยอมรับว่าการรับฟังข่าวมากเกินไป บางทีก็มีการบิวท์ตัวเองเหมือนกัน เช่นสถานการณ์มันแย่มากแล้วใช่ไหม มันต้องเกิดฝั่งเกิดฝ่ายใช่ไหม (หัวเราะ) วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องฟังข่าวให้น้อยลง ทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เดี๋ยวก็มีคนส่งมาเอง แต่อย่างน้อยทุกคนต้องหันกลับไปตั้งสติ บางคนที่ทำงานก็อาจจะทำไปด้วยฟังเพลงที่เพราะที่สุดของตัวเองไปด้วย หรือบางคนก็นอนนิ่ง แล้วหายใจยาวๆ ลึกๆ เพราะสำหรับอ้อยแล้ว สติถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

“และสิ่งที่ช่วยได้เสมอ คือการทำอะไรดีๆ ให้ตัวเอง อย่างวันนั้นดิฉันจะขอทิ้งตัวเองที่ฟิตเนส (หัวเราะ) ข้างนอกไม่รู้ เหงื่อจะได้ออก หน้าจะใส ก่อนที่เราจะพาตัวเองออกมาเจอกับอะไรรอบตัว ซึ่งในที่สุดแล้วก็บางทีก็แก้ไม่ได้อยู่ดี เครียดไปก็เท่านั้น ดังนันเวลาทำอะไรก็จงเลือกวิธีที่เหนื่อยน้อยที่สุด และทำให้ตัวเราแข็งแรงมากที่สุด”

ลงทุนได้ แต่ต้องดูจังหวะให้ดี

ว่ากันว่าตลาดหุ้นคือที่ที่อ่อนไหวและจมูกไวที่สุดยามที่จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรสักอย่าง บรรดาโบรกเกอร์และนักลงทุนจึงจำเป็นต้องเกาะติดสถานการณ์และวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าการเมืองจะดำเนินไปในทิศทางใด

สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เล่าบรรยากาศในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ซึ่งถ้าเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้นจะแกว่งตัวสูง เพราะกังวลเรื่องการเมืองมากพอสมควร โดยสังเกตเห็นได้ง่ายๆ เลยว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่หุ้นตกอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่นึกไม่ออกว่าจะมีเหตุการณ์หรือความวุ่นวายอะไรเกิดขึ้น

แต่ในสัปดาห์นี้ ความวิตกลดลงไปเล็กน้อย เพราะนักลงทุนเริ่มมั่นใจว่าจะไม่มีชุมนุม หรือถ้ามีก็อาจจะยึดออกไปข้างหน้า ดูได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเรียกได้ว่าดีมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุน สมบัติเตือนว่าปัจจัยในการลงทุนไม่ได้มีเพียงเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่มีตัวแปรหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นในการวิเคราะห์จะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้

“ผมมองว่าการลงทุนในขณะนี้ ต้องเผื่อความไม่แน่นอนบ้าง ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เขาก็จะมีพอร์ตหุ้นอยู่จำนวนหนึ่งและมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่งเหมือนกัน ทุกคนต่างก็มีกระสุนส่วนตัวเผื่อหุ้นอาจจะตกไปบ้าง นักวิเคราะห์ก็จะแนะนำให้ลงทุนในตอนที่หุ้นตก แต่ขณะที่ช้อนซื้อจะต้องไม่มีเหตุใหญ่หรือเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับประเทศด้วยนะครับ”

ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้น้อย ช่วงนี้ก็ยังไม่ควรลงทุน เพราะการเมืองจะมีความไม่แน่นอนอีกนานพอสมควร ควรรอวันเวลาที่ชัดเจนที่สุด ถึงแม้ว่าเมื่อถึงตอนนั้นราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นซึ่งก็ถือว่ายุติธรรมดี เพราะซื้อตอนไม่เสี่ยง ราคาก็ย่อมต้องแพงหน่อย แต่ถ้าเป็นมือใหม่ก็ไม่ควรเสี่ยง ไม่ควรเข้ามาในจังหวะเวลานี้ ไม่ใช่สังเวียนของคนมือใหม่ในบรรยากาศการเมืองที่ไม่แน่นอน
……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น