xs
xsm
sm
md
lg

อาร์ตหลุดโลก...จินตนาการทะลุจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องประดับคริสตัลหรือหินสีเน้นความเป็นธรรมชาติ
“คอสเพลย์” โลกศิลปะถอดแบบจากการ์ตูนเกม ที่บรรดาผู้คลั่งไคล้ทั่วโลกยอมทุ่มทุนสร้างชุด สวมวิญญาณตัวละครโปรดออกมาเดินดินกันแบบไม่แคร์สื่อ!

ทำความรู้จักคอสเพลย์

การแต่งคอสเพลย์ (Cosplay) หรือ Kosupure (โคะซุปุเระ) เป็นการแต่งกายเลียนแบบตัวละครที่มาจาก การ์ตูน เกม เพลง หรือศิลปินนักร้องวง J-Rock J-Pop และการแต่งกายแบบย้อนยุค ที่เริ่มมีขึ้นในญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2525 สำหรับเมืองไทยก็มีมานานเช่นกัน แต่เป็นกระแสที่เงียบๆ และพบเห็นได้ตามงานอีเวนต์เกมหรือการ์ตูนเท่านั้น

คุณกิจชรัตน์ นทีธำรงศุทธิ์ หรือรัตน์ อายุ 23 ปี ผู้เล่นคอสเพลย์มาตั้งแต่อายุ 17 ปี เล่าว่าแต่ก่อนคนยังแต่งไม่เยอะมาก ผิดกับปัจจุบันที่กระแสคอสเพลย์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวจะชอบแต่งชุดเมดหรือชุดแม้บ้าน

“ชุดทั้งหมดถึงแม้ว่าจะไปจ้างตัด ซึ่งเป็นร้านที่รู้กันในกลุ่มคอสเพลเยอร์ หากมีงบมากก็สามารถตัดได้ละเอียดสวยขึ้น โดยแบบชุดเราจะเป็นคนออกแบบเองโดยดูและดัดแปลงมาจากการ์ตูนหลายๆ เรื่อง จากนั้นก็จะนำแบบไปคุยกับที่ร้านและเดินหาซื้อผ้าเอง ให้ตรงกับแบบที่ต้องการ”

ณ ปัจจุบันเธอมีชุดคอสเพลย์ซึ่งเป็นชุดเมดแล้วถึง 5 ชุด มีสีสันแตกต่างกันไป โดยเลือกเฉพาะชุดแม่บ้าน ไม่เน้นตามกระแสการ์ตูนหรือเกม ด้วยเสน่ห์ความน่ารักแบบเรียบร้อยตามคาแร็กเตอร์ที่ทำให้เธอหลงใหล หรือจะเป็นแนวโกติก โลลิตาที่คล้ายคลึงกันแต่มีความหรูหรากว่า

ขณะที่คุณณัฐพร จิตอนันตพร หรือเชอร์รี อายุ 21 ปี ที่เพิ่งเริ่มเล่นคอสเพลย์มาได้ราว 1 ปีแล้ว เธอเล่าว่ามันเกิดจากความชื่นชอบในตัวละครจากการ์ตูนหรือเกมจากญี่ปุ่นและเกาหลี มีบุคลิกทั้งเท่ห้าวไปถึงจนหวานใสซึ่งการแต่งคอสเพลย์ก็เหมือนกับการเข้าถึงหรือเป็นความรู้สึกได้ใกล้ชิดกับตัวการ์ตูนไอดอลของเธอ

จากผืนผ้าสู่งานศิลปะ

ในส่วนของการตัดชุดนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แล้วแต่ความละเอียดของชุดและเนื้องาน ซึ่งชุดเมดจะมีการจับจีบและใส่ระบายลูกไม้ลงไปค่อนข้างมากจึงอาจมีราคาที่สูงกว่าชุดเรียบๆ ปกติ ราคาของชุดก็มีหลากหลายตั้งแต่ 700-1,500 บาท แต่หากเป็นชุดระดับประกวดอาจมีราคาถึงหลักหมื่น

การเลือกผ้ามาตัดชุดก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งผ้าแต่ละชนิดจะมีสี เนื้อผ้า น้ำหนักที่ต่างกันทำให้ได้รูปทรงของชุดที่ต่างกันไปด้วย จึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับแบบที่ออกแบบมา การผสมสีและลวดลายผ้าที่ล้วนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ต่างกับการวาดภาพชิ้นเอกสักภาพ

“ชุดเมดคือเราสามารถพลิกแพลงได้ จับผสมได้ให้เป็นไปในแบบที่เราชอบ แต่สำหรับชุดที่เป็นคาแร็กเตอร์ของตัวการ์ตูนหรือตัวละครเกม จะต้องพยายามทำให้เหมือนจริงที่สุดทุกรายละเอียด ทั้งลวดลาย ทั้งสี เพราะหาเปลี่ยนไปเพียงนิดเดียวก็จะไม่เหมือนตัวละครจริงแล้ว มันก็จะไม่มีความสมจริง”

การแสดงที่ขาดไม่ได้

การแต่งคอสเพลย์ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างสรรค์ชุดออกมาให้เหมือนกับที่จินตนาการไว้เท่านั้น แต่ต้องอาศัยศิลปะการแสดงหรือสวมบทบาทตัวละครอีกด้วย

สาวรัตน์บอกว่า ก่อนจะแต่งคอสเพลย์ผู้แต่งจะต้องรู้จักทำการบ้าน การดูการ์ตูนหรือเล่นเกมก็จะได้รู้จักบุคลิกลักษณะนิสัยของตัวละคร แต่ก็ต้องดูในรายละเอียดท่าทางการแสดงออกด้วย โดยจะนำมาสื่อในการถ่ายภาพ เสมือนว่าเป็นตัวละครนั้นจริงๆ

“เสน่ห์อย่างหนึ่งของวงการคอสเพลย์คือนอกจากจะได้แต่งเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบแล้ว ยังเป็นอีกโลกหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนๆ ที่ชอบเหมือนๆ กัน ซึ่งเวลามีงานก็จะนัดกันไปออกงาน หรือนัดไปถ่ายรูปกัน ซึ่งก็มองว่ามันเป็นงานศิลปะอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน และปัจจุบันกระแสเกมยังเข้ามามากขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเกม จึงมีโอกาสเกิดอีเวนต์มากขึ้น ความนิยมของคนจึงเพิ่มขึ้นตาม”

ใครว่าคอสเพลย์ไร้สาระ

ประโยชน์ของการแต่งคอสเพลย์ไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ผู้ที่แต่งเองก็ยังได้ทักษะความรู้แถมติดมาด้วย อย่างการแต่งหน้าและทำผม ซึ่งรัตน์บอกว่าเดิมไม่เคยแต่งหน้าเลย แต่ก็สามารถหัดแต่งให้ดูดีเหมือนตัวละครมากขึ้นได้ นอกเหนือจากการออกแบบตัดชุด หรือเครื่องประดับต่างๆ

รวมทั้งยังต้องรู้จักศิลปะการถ่ายรูป รู้จักมุมมองการถ่ายรูปคอสเพลย์ที่สามารถศึกษามุมกล้องจากการดูภาพของคอสเพลเยอร์ต้นตำรับจากญี่ปุ่น หรือเกาหลีได้ว่า ควรทำท่าทางอย่างไร หรือถ่ายในมุมมองไหนถึงจะเหมาะสม

“ด้วยความที่ชื่นชอบมากตอนนี้ก็กำลังทำแบบย่อไซส์จากชุดคนมาเป็นชุดตุ๊กตาด้วย อันนี้จะตัดเย็บเองค่ะ ก็จะเน้นเป็นชุดเมดหรือไม่ก็แนวโกติกโลลิตา(Gothic-Lolita)เหมือนเดิม ซึ่งการทำย่อลงมันก็น่ารักดี เหมือนกับที่คนแต่งจริงๆ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากนอกจากอัตราส่วนแล้วคือต้องคำนึงถึงความประณีตของงานมากขึ้น เพราะงานยิ่งเล็กยิ่งมีรายละเอียดมาก”

พร้อมทั้งบอกด้วยว่า งานคอสเพลย์ก็คืออีกแขนงหนึ่งของงานศิลปะคือเน้นความสวยงาม เป็นการฝึกจินตนาการให้สามารถแสดงออกมาในโลกของความเป็นจริง อีกทั้งยังมีศิลปะของการแสดงเข้ามาเสริมด้วย งานทุกชิ้นผ่านความคิดการออกแบบ ทำออกมาจากไอเดียและใจที่รักศิลปะคอสเพลย์ในแบบของตัวเอง

ระยิบระยับประดับชุด

เช่นเดียวกับศิลปะความงามทั่วไป คุณนิภา กิติสุขเจ้าของร้านอ๋อมแอ๋ม ไชน่าเวิลด์ ผู้รักการออกแบบเครื่องประดับด้วยตัวเองมากว่า 10 ปี เล่าว่าการคัดเลือกเครื่องประดับก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน

“เครื่องประดับที่ทำส่วนใหญ่จะมาจากวัสดุทุกอย่างที่คิดว่าทำเป็นเครื่องประดับได้ ทั้งกระดุม ลูกปัด หินสี คริสตัล หรือแม้แต่ไม้ก็สามารถเป็นเครื่องประดับที่สวยได้ ขึ้นกับวิธีการออกแบบและสร้างสรรค์ให้สมดุลทั้งรูปทรงและสีสัน แม้จะไม่ได้สมมาตรกัน แต่มีความสมดุลในตัว”

สำหรับการคัดเลือกให้เข้ากับการแต่งคอสเพลย์นั้นคุณนิภา มองว่าจะต้องคัดเลือกให้เข้ากับสีสันของชุด โทนสีที่ไม่ตัดกันจนเกินไปหรือโดดเด่นเกินชุด เลือกให้เข้ากับธีมชุดว่าสดใส หรือเรียบหรู รวมทั้งต้องเลือกให้เหมาะสมกับบุคลิกของผู้ใส่ด้วย

ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้จะเลือกเป็นคริสตัลของชวารอฟสกี้ เนื่องจากมีหลายขนาดให้เลือกใช้ ผสมผสานกับการใช้หินสีเพื่อสร้างความแตกต่าง โดดเด่น เป็นสไตล์ของตัวเอง ด้วยวัสดุคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปและตรงกับความต้องการทั้งของผู้ทำและผู้ใส่

จากใจคอสเพลเยอร์

สุดท้ายสองสาวคอสเพลเยอร์ขอฝากไว้ถึงคนที่สนใจว่า การแต่งคอสเพลย์จะต้องเกิดจากใจรัก ใส่จิตวิญญาณของตัวละครนั้นๆ ลงไปด้วย รวมทั้งศึกษาเรื่องชุด รู้จักเก็บเงินเองให้สามารถตัดชุดของตัวเองได้อย่างที่ต้องการ

“สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักใช้เวลาให้คุ้มค่า แบ่งเวลาให้ถูก บางคนอาจคลั่งมากจนเสียการเรียน ทำคอสเพลย์ให้เป็นงานอดิเรกดีกว่า แล้วก็ต้องอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจด้วยว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะคะ ซึ่งผู้ใหญ่จะมองว่าทำอะไรไร้สาระ แต่จริงๆ เราได้ทั้งทักษะ ทั้งเพื่อน ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่สร้างสรรค์ เหมือนโลกจิตนาการอีกใบหนึ่ง”

กล่าวคือคอสเพลย์เป็นศิลปะอีกแขนงสำหรับผู้หลงรักในจินตนาการแห่งโลกการ์ตูนหรือเกม และตั้งใจสร้างสรรค์ให้นามธรรมเหล่านั้นก้าวเดินบนโลกแห่งความจริงได้นั่นเอง

ภาพโดย...ธนารักษ์ คุณทน
รายงานโดย : ทีมข่าว M-Lite

ชุดเมด (maid) คอสเพลย์ซึ่งเป็นที่นิยม
เครื่องประดับมีส่วนสำคัญในการสร้างสีสัน
ชุดคอสเพลย์ของตุ๊กตาที่เหมือนของคน


กำลังโหลดความคิดเห็น