xs
xsm
sm
md
lg

ปา 'ขี้' นัยของความไร้อารยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลาพูดถึงวงการการเมืองไทย ภาพลักษณ์ที่หลายคนนึกถึงมักจะออกมาในเชิงลบ หรือไม่ก็เป็นอคติ ซึ่งเหตุผลสำคัญก็มาจากพฤติกรรมอันเหม็นโฉ่ของนักการเมืองหลายคนที่มีโอกาสได้แตะเงินงบประมาณของแผ่นดิน แล้วอดใจไม่ได้ ต้องหยิบฉวยหรือหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวเองเป็นว่าเล่น แล้วมานั่งโกหกสังคมว่า “ผมไม่ผิดนะครับ” หรือ “รวยแล้วไม่โกงหรอก (เชื่อเปล่า?)”

ขณะที่คนที่เคยถูกสังคมมองว่าดี แต่พอเข้าสู่วงการการเมือง ประวัติเหม็นๆ ที่เคยทำไว้ในอดีตที่บางครั้งอุตส่าห์ปิดซะเงียบ ก็ถูกขุดคุ้ยจนถึงกับเสียผู้เสียคนไปเลยก็มี

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายคนชอบเปรียบเทียบนักการเมืองไทยกับสิ่งที่เรียกว่า 'ขี้' เยอะมาก โดยเฉพาะสำนวนแบบ 'ขี้จุ๊เบเบ้ ขี้จุ๊ตาล่ะลา' 'ขี้ประจบ' หรือ 'ขี้โม้' ที่ถูกนำมาใช้เป็นต่อเนื่อง ชนิดไม่กลัว ฯพณฯ จะเสียใจแม้แต่น้อย

แต่อย่างว่า เรื่องขี้ๆ นั้นหาได้มีแต่โวหารหรือฉายาที่ถูกนำมาใช้กันจนเกร่อเท่านั้น เพราะแม้แต่ 'ขี้จริงๆ' หรือที่เรียกภาษาสุภาพว่า 'อุจจาระ' ก็เคยมีโอกาสได้ต้อนรับนักการเมืองไทยมาแล้ว

อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ที่บ้านของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็แจ็กพอตก้อนใหญ่ เมื่อถูกมือดี (แต่ไม่รู้ว่ากลิ่นจะดีด้วยหรือเปล่า) ให้ของขวัญวาเลนไทน์ล่วงหน้าแก่นายกฯ เด็กด้วยการขว้างวัตถุปริศนา ซึ่งหลายคนคาดว่าขี้ผสมปลาร้า (...แต่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กลับบอกหลังจากเกิดเรื่อง 2 วันว่าเป็นก๋วยเตี๋ยว) เข้าใจกลางบ้านนายอภิสิทธิ์พอดิบพอดี แหวกตำรวจที่กำลังยืนงงว่า “มาได้ยังไงว่ะ” อย่างเฉียดฉิว

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเรียกน้ำจิ้มเท่านั้น ถึงเรื่องการเมืองแบบ 'ขี้ๆ' เพราะยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่น่ารัก แน่นอนถ้าพร้อมแล้ว ก็ลุยกันต่อเลยดีกว่า

'ขี้' คืออะไรเอ่ย?

อย่างที่เกริ่นไว้ในข้างต้นว่า ขี้กับสังคมไทยนั้นมีอะไรที่ผูกพันกันมาอย่างลึกซึ้ง เพราะไม่ว่าใครต่างๆ ก็คุ้นเคยกับคำว่า 'ขี้' กันทั้งนั้น

มนฤทัย ไชยวิเศษ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้เคยทำวิจัยเรื่องส้วมมาก่อน ได้อธิบายของคำนี้ ให้เห็นแบบชัดๆ ว่า 'ขี้' นั้นเป็นคำธรรมดาสามัญที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างเนิ่นนาน โดยตัวอย่างที่เห็นในคำพังเพย สำนวนสุภาษิต คำสอน นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย ฯลฯ

แต่หากเป็นคำพื้นฐานจริงๆ ก็จะหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนักนั่นเอง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะมีกลิ่นเน่าเหม็น ไม่มีใครอยู่อยากอยู่ใกล้ ซึ่งคำนี้ก็สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นคำกริยาและคำนาม

โดยคำกริยา ก็คืออาการที่แสดงถึงการไปถ่ายกากอาหารหรือของเสียทางทวารหนัก ส่วนคำนาม หมายถึงกากอาหารเน่าเหม็นที่ออกจากการขับถ่าย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ความหมายของคำว่า 'ขี้' ออกมาในเชิงลบ และเวลาที่คนนำคำนี้ไปผสมกับคำอื่นๆ ความหมายของคำที่เกิดขึ้นใหม่จึงค่อยไม่ดีนัก หรือไม่ก็แสดงความเปรอะเปื้อนหรือสกปรกไปเลย เช่น ขี้เกียจ ขี้โกหก หรือขี้นินทา

'ปาขี้' ใส่กัน เรื่องเก่าเล่าใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าขี้จะเป็นคำฮิตติดปาก และคุ้นเคยกันดีของทุกคน แต่โดยทั่วไปแล้ว คนปกติก็มักจะไม่นำ ‘ขี้’ ขึ้นมาสู่แวดวงสาธารณะเท่าใดนัก สังเกตได้จากกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะทำโทษบุตรหลานเล็กๆ เวลาที่เห็นพวกเขาเล่นขี้

แต่ใครจะรู้บ้างว่าจริงๆ เรื่องน่ารังเกียจอย่าง 'การปาขี้' กลับมีมาตั้งแต่ครั้นอดีตกาลแล้ว แถมยังมีบทลงโทษปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งถูกชำระขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีกด้วย

มนฤดีอธิบายว่า สำหรับเมืองไทยแล้ว การปาขี้ถือเป็นกระบวนการเพียงไม่กี่อย่างที่คนที่มีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่าจะแสดงต่อคนที่อยู่สูงกว่าได้ โดยสาเหตุที่ทำไปก็เพื่อประณามหรือแสดงความรังเกียจ โดยไม่ต้องการให้มีการเสียชีวิตหรือเสียทรัพย์สิน

“เมื่อก่อนชาวบ้านมีเรื่องขัดแย้งกับขุนนาง แล้วไม่รู้ว่าจะแสดงออกด้วยวิธีใด ก็เอาขี้ไปปาบ้าน แล้วคนที่ถูกปาก็เสียหน้าอับอาย เป็นการระบาย เป็นการลงโทษทางสังคมที่เราเรียกว่าการประณามอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เราไปยืนด่าที่หน้าบ้านซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยง แต่ถ้าเอาขี้ไปปาเสร็จแล้วก็วิ่งหนีหายไป และเป็นการแสดงถึงว่าไม่ชอบต้องการประณามที่เขาทำว่าสกปรกน่ารังเกียจ และสังเกตได้ว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของคนที่มีการศึกษา”

ย้อนอดีตเรื่อง 'ขี้ๆ' ในแวดวงไทย

จากพฤติกรรมที่ซึมซับมาอย่างยาวนานนี้เอง จึงทำให้ทุกวันนี้ มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลือกใช้ขี้เป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ของตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น

อย่างเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 อดีตนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของไทย อย่าง นายอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็มีโอกาสได้ซึมซับกับปรากฏการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและไม่รู้ตัวมาก่อน

โดยเรื่องก็มีอยู่ว่า ขณะที่นายอุทัยกำลังแถลงข่าวอยู่นั้น จู่ๆ นายธนิต สุวรรณเมนะ อาจารย์และติวเตอร์ชื่อดังย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็บุกเข้าไปในห้อง พร้อมกับหิ้วถุงพลาสติกใส่อุจจาระไปด้วย จากนั้นเปิดฉากด่านายอุทัยอย่างสาดเสียเทเสีย

ก่อนจะก่อวีรกรรมระทึกขวัญ! ปาถุงอุจจาระใส่หน้านายอุทัยอย่างจัง อุจจาระเปรอะเต็มใบหน้าและเสื้อผ้านายอุทัยไปหมด สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ที่ผู้คนที่อยู่ในห้องอย่างมาก และพอตำรวจประจำกระทรวงพาณิชย์รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น จึงบุกชาร์จนายธนิตอย่างเร่งด่วน ก่อนส่งให้ สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อีกกรณีหนึ่งทีสร้างความฮือฮาแก่สาธารณชน นั่นคือเรื่องของ นายช่วย คชสิทธิ์ ที่ไปยืนประท้วงหน้าธนาคารออมสิน สาขาท่าม่วง แล้วใช้อุจจาระราดตัวเอง เมื่อปี 2546 โดยเหตุผลก็มาจากนายช่วยได้ลงทุนในกองทุนของ บลง.ออมสิน แต่หลังจากเกิดการผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำให้นายช่วยเกือบหมดเนื้อหมดตัว
ด้วยความที่ต้องการเงินคืนทำให้นายช่วยไปประท้วงที่ธนาคารฯ แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเขาต้องชิมลางด้วยการเอาขี้ปาหน้ากระจกธนาคารฯ แต่ยังไม่สาแก่ใจ เพราะไม่มีคนสนแถมไม่เป็นข่าวอีกด้วย จึงทำให้เขาตัดสินใจก่อปฏิบัติการเอาอึราดตัวในที่สุด

อีกคนหนึ่งที่แม้จะยังสามารถประคองตัว ไม่ให้อุจจาระมาสัมผัสผิวได้ แต่ก็หวุดหวิดมาหลายรอบเหลือเกิน นั่นก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าเก่า ซึ่งคนที่ปาส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นขบวนการสีแดงที่ชอบอ้างว่ารักประชาธิปไตย รักสันติวิธีนั่นเอง

โดยนายกฯ อภิสิทธิ์นั้นถูกปองร้ายด้วยสิ่งปฏิกูล ตั้งแต่ยังดำรงผู้นำฝ่ายค้านฯ เพราะบังเอิญไปอยู่ผิดถิ่น เลือกไปเดินที่อุบลราชธานีซึ่งแดงเถือกในหลายพื้นที่ ก็เลยถูกปาเข้าให้ แต่โชคดีไปเพราะกว่าขี้จะมา อภิสิทธิ์ก็ขึ้นรถไปซะแล้ว สุดท้ายขี้ก็เลยกระจายได้แค่บริเวณกระจกหน้ารถเท่านั้น

และยิ่งมาช่วงหลังที่นายอภิสิทธิ์ได้สัมผัสเก้าอี้ผู้นำแล้ว ‘ขบวนการขี้’ ก็ยิ่งมากันใหญ่ แต่ด้วยฐานะของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้กว่า ‘ขี้’ จะเข้าถึงตัวได้ก็ลำบากยากเย็น เพราะไหนจะมีขบวนการตำรวจที่ขวางหน้าอยู่เต็มไปหมด หรือไม่ท่านผู้นำก็หนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ทำให้คนเสื้อแดงปาขี้ไปไม่ถึง

เรื่อง 'ขี้ๆ' ในโลกอารยะ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พฤติกรรมนี้จะอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความที่โลกใบนี้หมุนเร็วยิ่ง แถมประเทศไทยนั้นยังเป็นสมาชิกของสากลโลก ดังนั้น พฤติกรรมเช่นนี้จึงดูเป็นสิ่งที่แย่มากๆ โดยเฉพาะเวลาไปปรากฏตามสื่อในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รุนแรงมาก ทั้งในแง่ของคนที่ถูกกระทำหรือคนที่พบเห็น แถมยังชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมของบ้านเราด้วยว่าเป็นอย่างไร

“ในประเทศแถบยุโรป หรือประเทศตะวันตกอื่นๆ ก็มีข่าวคราวการปาเค้ก ปาไข่ หรือ ชา กาแฟใส่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสังคมอยู่บ้าง แต่การปาอุจจาระใส่คนอื่นอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ผมมองว่ามันคือการแสดงออกที่เกินขอบเขตไปแล้ว ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ถือว่ามันเป็นการกระทำที่สะท้อนถึงความรุนแรงของสังคมเรา

“เพราะสำหรับสังคมไทย อุจจาระคือสิ่งอุจาด คือสิ่งโสโครก เพราะฉะนั้น การที่คนคนหนึ่ง ถ่ายอุจจาระของตนเองออกมา แล้วสามารถเดินถือไปถือมาเพื่อที่จะนำไปปาคนอื่น ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เสื่อมทราม และยิ่งสะท้อนได้ว่า มันเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกปาด้วยอุจจาระนั้น หมดสิ้นความเป็นคน”

ไม่เพียงแค่นั้น ผศ.สุรัตน์ ยังระบุอีกว่า การปาเค้ก จริงๆ แล้วมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งสะท้อนนัยว่า ต้องการลดความอหังการของบุคคลคนนั้น และคนที่โดนปาก็มักเป็นพวกนักธุรกิจหรือคนที่มีสถานะทางสังคม จัดเป็นการตอบโต้ให้รู้ว่า คนเหล่านั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่สักเท่าไหร่หรอก แต่นั่นก็ไม่มีความหมายรวมถึงการปาอุจจาระแต่อย่างใด

“จริงๆ ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการปาเค้ก แต่อย่างน้อยๆ มันก็ยังทำให้เห็นว่า อารยธรรมของคนในสังคมนั้นไม่ได้ตกต่ำมาก ต่างจากการปาอุจจาระที่เป็นสิ่งโสโครก เน่าเหม็น เป็นสิ่งอุจาด สำหรับผม การปาอุจจาระไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงนัยใดๆ ทางความคิดเลย นอกจากเป็นการกระทำที่เสื่อมทรามและไร้เหตุผล เป็นการกระทำที่รุนแรงมาก ทั้งทางความรู้สึกและจิตใจ ดังนั้น มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของสังคม ทำให้รู้ว่าในสังคมเรามีความรุนแรงแบบนี้ซ่อนอยู่ เป็นการกระทำที่ไม่มีอารยธรรม”

ถึงเวลา 'ลด ละ เลิก'?

เมื่อขึ้นชื่อว่า 'ขี้' ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหนก็คงเห็นพ้องกันว่าน่ารังเกียจ ยิ่งพฤติกรรมปาขี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่ารังเกียจเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับบ้านพักของผู้นำประเทศ แล้วคงไม่ใช่เรื่องงามแน่นอน

ในประเด็นนี้ ผศ.สุรัตน์ กล่าวว่าคงถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกพฤติกรรมเช่นนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำไร้เหตุผลแล้ว ยังสะท้อนถึงจิตสำนึกคนทำได้อีกว่าเป็นอย่างไร
ในขณะที่ผู้มีประสบการณ์ร่วมอย่าง นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นการกระทำที่เกินไป และยิ่งหากเกิดขึ้นกับคนที่เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ ก็ยิ่งไม่สมควรใหญ่ เพราะถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรีก็เข้ามาเพื่อช่วยทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่า สังคมไทยแทบไม่มีเส้นแบ่งแล้วว่าการเล่นการเมืองแบบไหนทำได้ หรือแบบไหนที่เลยขอบเขตของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนอดีตนักวิจัยเรื่องส้วมจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้บอกว่า ถึงแม้คนทำจะเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าคนทั่วไปยอมรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม
………

แม้ว่าการปาขี้จะเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะลืมไม่ได้เลยก็คือประเทศไทย ไม่ได้อยู่เพียงลำพังแต่เพียงผู้เดียว ยังต้องคบค้าสมาคมกับต่างชาติ ยังต้องการให้คนนอกประเทศเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเยอะๆ เพราะฉะนั้น คงได้เวลาแล้วกระมังที่คนไทยจะช่วยกันกดชักโครกให้บรรดา ‘ขี้’ เหล่านั้นได้ไปอยู่ที่ที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ไปอยู่ที่ชอบที่ชอบอย่างที่เป็นอยู่เหมือนทุกวันนี้

……….

เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพรายวัน

กำลังโหลดความคิดเห็น