xs
xsm
sm
md
lg

ระบำแห่งความมืด “อันโคกุ บูโต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยุคมืดแห่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสูญสิ้นทุกสิ่งของเมืองอาทิตย์อุทัยหลังจากพ่ายแพ้สงคราม ได้เกิดศิลปะร่วมสมัยอายุยืนยาวมาถึง 50 ปี ดั่งแสงสว่างในยุคมืดอย่าง “อันโคกุ บูโต”

ในวันนี้ M-Lite ได้พูดคุยและทำความรู้จักกับบูโตมากขึ้นกับ คุณธีระวัฒน์ มลวิไล Artistic Director : B-floor Theatre ผู้ดูแลและร่วมแสดงบูโตในโอกาสพิเศษที่ระบำบูโตครบรอบ 50 ปี

ระบำบูโตเกิดขึ้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย Tatsumi Hijikata เมื่อปี ค.ศ.1959 จากจุดเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลก ด้วยความเชื่อถือเรื่องจักรพรรดินิยมนำประเทศไปหาสงคราม และความพ่ายแพ้จึงเลิกเชื่อในคตินิยมเดิมๆ มีการปฏิวัติศิลปะแขนงต่างๆ ใหม่ หนึ่งในศิลปะการเต้นก็คือ บูโต นั่นเอง

ภาษากายที่เรียกว่า ‘บูโต’
บูโต เป็นศิลปะที่พูดถึงเรื่องมนุษย์ที่เน้นการโชว์สัดส่วน เรือนร่าง ลีลาท่าทาง การเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ ด้วยความเชื่อที่ต่างจากเดิม ซึ่งใช้ชุดในการแสดงถึงบุคลิกลักษณะตัวละครนั้น แต่ลอกเอารูปภายนอกออกให้เหลือเพียงการสื่อถึงอารมณ์จากภายใน

ระบำบูโต มีชื่อเต็มว่า “อันโคกุ บูโต” หมายถึงระบำแห่งความมืด เป็นการดึงเอาด้านมืดที่ไม่ได้หมายถึงด้านที่เลวร้าย แต่เป็นด้านที่คนเรายังไม่เคยเห็น ไม่ใช่เพียงการมองแต่ด้านสว่าง อีกด้านหนึ่งยังมีความทุกข์ ซึ่งทุกด้านมีความสวยงาม

“จาก 50 ปีที่ผ่านมามีการแตกแขนงออกไปมากมาย บูโตไม่ใช่หลักสูตรว่าต้องเชื่อตามนี้ทุกอย่าง เป็นเพียงหลักการที่ให้คนที่ศึกษานำไปคิด ประยุกต์ใช้ได้เองต่อไป”

เสน่ห์ศิลปะอาทิตย์อุทัย
เสน่ห์ของการแสดงแบบบูโตนอกจากจะเป็นการแสดงแบบ Abstract ไร้ซึ่งรูปแบบชัดเจน และใช้อารมณ์ในการสื่อสารจากภาษากายแล้วนั้น คือการแสดงของนักแสดงแต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องนับ 1...2...3...4... การแสดงออกของแต่ละคนต่างกันในอารมณ์ แม้จะเป็นท่าทีเดียวกันก็ตาม

“ตัวนักแสดงจะแสดงในรูปแบบของตนเองบนธีมเดียวกัน ผู้ชมจะเห็นและสนุกกับความแตกต่างของแต่ละคน ไม่ใช่การชมแดนเซอร์ที่เต้นเหมือนๆ กันหมดเป๊ะๆ ดังนั้นในการกำกับการแสดง จะเป็นการมอบหมายบทบาท เป็นธีมเรื่องให้ แล้วให้นักแสดงตีโจทย์ว่าจะสื่ออารมณ์ตามเรื่องนั้นออกมาอย่างไร เหมือนเป็นการให้ Code เพื่อสั่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย”

ศิลปะที่ไม่ยึดติดสิ่งใด
การเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงบูโตนั้นจะต้อง ‘เปิดใจ’ ใช้จินตนาการ อย่ายึดติดกับวิชา ท่าทาง หรือสิ่งที่ร่ำเรียนมาจากการแสดงอย่างจริงแท้ เพราะระบำแห่งความมืดไม่ใช่เพียงการเรียนรู้สิ่งภายนอก แต่เป็นการสำรวจความเป็นตัวคุณ และดึงออกมาสื่อสารให้เกิดประสบการณ์ร่วมกันขึ้น

“การแสดงแบบนี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะทำผิดทำถูก เพราะมันคือการแชร์แบ่งปันความรู้สึกบางอย่างถึงกัน ซึ่งคนที่จะมาแสดงนี้จะเป็นใครก็ได้ที่มีใจรัก การฝึกให้สามารถทำท่าทางต่างๆ ได้อย่างพลิ้วสวยนั้นสามารถมาเริ่มจากศูนย์ได้ บูโตเปิดกว้างให้สามารถสร้างเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมาได้อย่างอิสระ และเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ”

อิสระไร้รูปแบบตัวตน
ศิลปะแบบบูโตไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า อะไร แบบไหน คือบูโต อย่างนั้นคือการล็อกความคิด ไม่ได้มีรูปแบบที่ชัดเจน ต้องใช้อารมณ์ในการตัดสิน ความรู้สึกถึงการแหก ฉีกกฎเดิมๆ ออกไปจากแบบแผนที่เคยมี อาจหมายถึงการเห็นการแสดงด้านมืดบ้าง แต่ก็หมายถึงการแสดงด้านสว่างด้วยเหมือนกัน แล้วแต่สำนักการแสดง เป็นทางเลือก

“แต่ละสำนักก็มีทางเลือกของเขาบางที่ก็ด้านสว่างมาก แต่ก็ยังคงตามความหมายของ อันโคกุ บูโต หมายถึงด้านมืด ด้านที่ไม่รู้ ยังไม่มีใครเคยเห็น ชื่อบูโตก็เหมือนเป็นคำนิยามถึงศิลปะแขนงนี้”

ป่าช้าในจินตนาการ
การแสดงบูโตในเมืองไทยครั้งนี้ โดยคุณธีระวัฒน์ และคณะ ได้จัดแสดงถึงเรื่องราวเกี่ยวกับป่าช้าหรือ ‘Slow Forest’ ซึ่งในส่วนแรกนั้นผู้แสดงหญิงจะใช้เป็นชุดกงเต็กที่ใช้ในงานศพจีนให้เข้ากับธีม ในขณะที่ส่วนหลังนั้น คุณธีระวัฒน์จะแต่งในชุดทหารญี่ปุ่น กับภาพฉายป่าช้า ต้นไม้เก่าผุพัง และร่ายรำท่ามกลางแสงสว่างจากไฟเพียงดวงเดียว

“เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากประเด็นของสงคราม นึกถึงเรื่องของดวงวิญญาณทหารที่กลับมา เพื่อต้องการสื่อถึงการค้นหาว่าอะไรคือความหมายของมนุษย์ที่แท้จริง ฆ่ากัน แย่งชิงกันเพื่ออะไร”

ในเมืองไทยศิลปะแขนงนี้ถือว่าหาชมได้ค่อนข้างยาก เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ที่หลายคนยังไม่เคยได้สัมผัส เป็นการแสดงที่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และสามารถดื่มด่ำ รับรู้ได้ด้วยความรู้สึกเท่านั้น

ภาพโดย... วรวิทย์ พานิชนันท์




กำลังโหลดความคิดเห็น