xs
xsm
sm
md
lg

ซานติก้าผับ บทเรียนของสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว และไม่ใช่แค่ไม่กี่ครั้ง ที่เกิดเหตุเลวร้ายไม่คาดคิดในสถานบันเทิง ในขณะที่นักเที่ยวกำลังดื่มด่ำกับความสนุกสนานท่ามกลางราตรีคืนใดคืนหนึ่งอยู่นั้น เหตุการณ์เลวร้ายได้อุบัติขึ้นท่ามกลางความชุลมุนของนักเที่ยว ในประเทศไทยช่วงวันส่งท้ายปี 2551 ต้อนรับปี 2552 ได้ไม่กี่นาที ณ ซานติก้า สถานบันเทิงย่านเอกมัยก็เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่คร่าชีวิตนักเที่ยวไปไม่น้อยกว่า 60 คน และถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ทว่า วันนี้หลังจากที่ได้พบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าคราวนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยเรื่องใดบ้าง ที่เห็นเป็นข่าวเกี่ยวข้องก็เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงมหาดไทย ได้วางกฎเหล็กโดยการร่างข้อบังคับให้สถานประกอบการบันเทิงต้องทำประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก โดยเตรียมประกาศใช้เป็นกฎกระทรวง ซึ่งกำหนดความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ.2553 ที่บังคับให้เจ้าของสถานบริการหรือเจ้าของอาคารทั่วประเทศ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance) ครบทุกแห่งในปีหน้า

ที่ว่ามาเบื้องต้น เป็นแค่ขั้นตอนการเยียวยาหากเกิดวินาศภัยขึ้น แต่ในทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายนั้นอีก ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกันมากขึ้นทั้งในเรื่องของความปลอดภัยของสถานที่ การเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น

และถึงวันนี้...ได้เวลาหรือยังที่เราจะหันมาตระหนักกับการเอาตัวรอดในสานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี

ปลูกฝังการรับมือวิบัติภัย บทเรียนที่สังคมต้องตระหนัก

“ผมเชื่อเลยว่า เหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นกับซานติก้า จะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน มันไม่มีทางที่จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะกลุ่มผู้ประกอบการยังไม่มีอะไรทำให้เขาหลาบจำ และตระหนักว่าการเปิดสถานบันเทิง มีต้นทุนมหาศาล นั่นคือ การรับผิดชอบชีวิตของผู้ที่เข้าไปใช้บริการ เพราะฉะนั้นเราต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด

“ผมจึงสนับสนุนผู้มีหน้าที่ดำเนินคดีทุกคนและขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด เพื่อให้เขาตระหนักถึง 'ค่า' ของคนที่เข้าไปใช้บริการ ไม่ใช่มองแค่ว่าคนที่เข้าไป ก็เป็นแค่คนที่เอาเงินไปให้เขา”

สันติสุข มะโรงศรี พิธีกรรายการรู้ทันประเทศไทย สถานีเอเอสทีวี หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ซานติก้า เปิดประเด็นด้วยการทวงถามถึงการแสดงความรับผิดชอบและบทลงโทษทางกฎหมายต่อเจ้าของธุรกิจที่ละเลยการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย ก่อนแสดงทัศนะถึงการให้ความรู้เมื่อเกิดเหตุวิบัติภัย ซึ่งสังคมไทยควรมีการปลูกฝังกันนับตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เกิดความเคยชินในการระแวดระวัง กระทั่งก่อเกิดเป็นอุปนิสัยในการสังเกตระบบและเส้นทางหนีไฟ รวมถึงการเอาชีวิตรอดอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น

“เรื่องความปลอดภัย ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เพราะเวลาเกิดไฟไหม้ ในเวลานั้นถ้าเราจะหวังให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช่วย มันเป็นไปไม่ได้ จากข้อมูลที่ผมได้คุยกับทีมนักดับเพลิงมา เขายืนยันว่า เมื่อไฟลุกไหม้ขึ้น ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที อุณหภูมิในจุดที่เกิดเหตุ จะสูงขึ้นถึง 1,000 องศา แล้วควันก็จะลงต่ำ ถ้าในตอนนั้นใครติดอยู่ในอาคาร ก็อาจตายได้ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ซานติก้า”

สัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สำหรับคนที่ใช้บริการสถานบันเทิง แต่มันต้องมาพร้อมกับความรู้เบื้องต้น และการปลูกฝังสัญชาตญาณต้องเริ่มกันตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจะทำให้กลายเป็นอุปนิสัย ให้เกิดความระแวดระวังอยู่เสมอเวลาไปไหนมาไหน ซึ่งไม่ใช่ความระวังมากจนกลายเป็นลนถึงขั้นประสาทหลอน แต่เป็นการระวังที่มาพร้อมกับความมีสติ เป็นธรรมชาติที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างกับเวลาที่ขับรถไปถึงสี่แยก ต้องชะลอ มองซ้าย-ขวาก่อนเสมอ

“เวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นจริงๆ 'สติ' เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเวลาไฟไหม้ หลายคนมักคิดว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือทุกคนมักจะกลัวว่าไฟจะมาลวกมาไหม้เรา แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่อันตรายที่สุดของไฟไหม้คือควัน และประการต่อมาคือการหลงและติดอยู่ในอาคาร ซึ่งสาเหตุมาจากควันทำให้มองไม่เห็นอะไร มันไม่ต่างจากไฟดับหรือเราปิดไฟ

“ดังนั้นเราต้องมีสติ และถ้าเรามีความระแวดระวัง มีความช่างสังเกตเป็นพื้นฐานเราจะไม่ปริวิตก แต่เราจะตั้งสติและมองหาวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น ความรู้ในการป้องกันภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กก็จะมีประโยชน์มาก เพราะจะช่วยให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเป็นการเอาตัวรอดที่มีสติ ถ้ามีแค่สัญชาตญาณก็อาจจะเหยียบกันตาย”

นอกจากนี้ สันติสุข เสนอว่าระยะหลังเมืองไทยมีการพูดถึงกันมากเรื่องการป้องกันวิบัติภัย เพราะเรามีประสบการณ์จากเหตุการณ์วิบัติภัยต่างๆ ไม่ว่า สึนามิ หรือซานติก้า ซึ่งเราก็ควรจะเรียนรู้กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า และควรจะมีหลักสูตรการป้องกันและเอาตัวรอดจากวิบัติภัยบรรจุอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนและให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ออกแบบให้ดี เพื่อทางหนีทีไล่

สราวุธ กาญจนพิมาย เจ้าหน้าที่สมาคมสถาปนิกสยาม ให้ความรู้เรื่องการออกแบบสถานบันเทิงว่า จุดสำคัญของสถานที่ต้องรองรับคนจำนวนมาก ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น ออกแบบเลี่ยงพื้นต่างระดับ ควรมีทางเข้าออกที่สะดวก รวมถึงการมีเครื่องตรวจจับควัน ความร้อน และสปริงเกอร์ดับไฟที่พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

“สถานบันเทิงส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ในการตกแต่งภายในที่ไม่คำนึงถึงคุณลักษณะในการติดไฟ เช่น โฟมนิยมใช้กันมาก ตกแต่งเป็นรูปร่างให้ดูหรูหรา ซึ่งหารู้ไม่ว่าหากเกิดไฟไหม้ขึ้น นี่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีทีเดียว”

เอาตัวรอดเมื่อไฟไหม้ด้วยสติ!

เมื่อนักเที่ยวติดอยู่ในสถานบันเทิงที่พระเพลิงกำลังพิโรธลุกไหม้แดงฉาน ฆนากร บัวเกตุ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองวิชาการและแผนงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร มีคำแนะนำ…

เมื่อไปถึงร้าน ถามไถ่พนักงานในร้านสักนิดว่า ร้านนี้มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือไม่ และอุปกรณ์แจ้งเหตุอัตโนมัติใช้การได้ดีอยู่ไหม? เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าสถานบันเทิงแห่งนั้นใส่ใจกับการป้องกันอุบัติภัยมากเพียงใด จะได้ตัดสินใจได้ว่า อยู่ต่อ หรือ ย้ายร้าน

อย่าตั้งหน้าตั้งตาดื่มและดิ้นอย่างเดียว แบ่งเวลาไปเดินดูทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ ประตู ไฟสว่างฉุกเฉิน ป้ายบอกทางหนีไฟด้วย เพราะหากเกิดไฟไหม้จะได้หนีทัน ตรวจดูให้ถ้วนถี่อย่าให้เล็ดลอดสายตา เพราะบางร้านลักไก่ นำอุปกรณ์หรือโต๊ะเก้าอี้ไปวางกีดขวางทางหนีไฟ

มึนเมาและเสียศูนย์เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์เพียงใด ก่อนอื่นต้องควบคุมสติสัมปชัญญะให้ได้ก่อน พนักงานในร้าน นักร้อง นักดนตรี เด็กเสิร์ฟจะใช้ทางหนีไฟซึ่งไม่ใช่ประตูหลักที่ลูกค้าใช้ วิ่งตามไปเลย! อย่าวิ่งกรูเพื่อไปออกประตูหลักเหมือนนักเที่ยวคนอื่น

ควันไฟเป็นอุปสรรครอบๆ ตัว ที่ต้องเอาชนะ พื้นที่ด้านบนติดกับเพดานจะร้อน ส่วนบนพื้นจะเย็น ดังนั้นพยามยามทำตัวให้ต่ำๆ เข้าไว้ หาผ้าชุบน้ำแล้วปิดจมูกเสีย หากคนข้างๆ สูดควันเข้าไปจนสลบเหมือด อย่าเฉยเมย ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการผายปอด เป่าลมเข้าทางปากหรือจมูกยาวๆ สองครั้ง กรณีหัวใจหยุดเต้นร่วมด้วยควรปั๊มหรือนวดหัวใจ 30 ครั้ง ทำสลับกันไปเรื่อยๆ จนฟื้นคืนสติ

ไม่จำเป็นอย่ากระโจนฝ่าเปลวเพลิงออกไปเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นผมสวยๆ หรือเสื้อผ้าแพงๆ อาจลุกไหม้ในบัดดล ไม่คุ้มหรอก หากอยู่ในบริเวณที่ไฟไม่ลุกไหม้มาก รอให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงขี่ม้าขาวมาช่วยดีกว่า

……….

คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ขึ้นอีกไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม แต่ในอดีตสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องมีส่วนช่วยผลักดันให้ปัจจุบันและอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่เป็นเพียงเหมือนสุภาษิตที่ว่า ‘วัวหายล้อมคอก’ หรือเป็นเพียงการย่ำอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นแล้วเหตุการณ์เลวร้ายนั้นจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

……….

กฎความปลอดภัยสถานบันเทิง บทเรียนจากซานติก้า

ร่างกฎกระทรวงระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ... มีหลักการและเหตุผลสำคัญเพื่อกำหนดประเภท ระบบความปลอดภัย การป้องกันอันตราย และการตรวจสอบอาคารที่ใช้ประกอบกิจการบริการ ให้มีความปลอดภัยเมื่อเกิดไฟไหม้ และสามารถอพยพคนออกจากอาคารทัน โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน

สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้มีทั้งหมด 8 หมวด ประกอบด้วย

หมวดที่ 1 หมวดทั่วไป เป็นการแบ่งสถานบริการออกเป็น 5 ประเภท ตามขนาด พื้นที่ และลักษณะของสถานที่ ต้องระบุทางหนีไฟให้ชัดเจนอย่างน้อย 2 ทาง มีบันไดหนีไฟ ต้องสามารถออกจากตัวอาคารภายใน 1 ชั่วโมง

หมวดที่ 2 โครงสร้างหลักของอาคาร ต้องเป็นวัสดุทนไฟ,ห้องครัวต้องแยกออกจากตัวอาคาร ไม่น้อยกว่า 100 เมตร วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดาน ไม่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม พลาสติกประเภทโฟม กรณีใช้กระจกที่ใช้ทำประตู และผนังกั้นภายในสถานบริการต้องเป็นกระจกนิรภัย

หมวดที่ 3 ระบบไฟฟ้า ต้องมีระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองสำหรับ แสดงเครื่องหมายให้ชัดเจน เช่น ทางเดิน บันได บันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ และไฟส่องสว่าง ซึ่งต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าปกติ

หมวดที่ 4 ระบบป้องกันเพลิงไหม้ ต้องเป็นระบบเตือนเพลิงไหม้ที่ได้มาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง และตามมาตรฐานของคณะกรรมการควบคุมอาคาร มีการกำหนดระยะห่างของการติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 100 ตารางเมตร ในกรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะพื้นที่ปิดล้อม ต้องติดตั้งพัดลมสำหรับดูดควันไฟออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น

หมวดที่ 5 ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ มีการกำหนดจำนวนทางออกและประตูทางออกให้สอดคล้องกับจำนวนคน อาทิ จำนวนคน ตั้งแต่ 51-150 คน ต้องมีประตูทางออก 3 แห่ง จนถึง จำนวนคน 1,000 คนขึ้นไป ต้องมีทางออก 8 แห่ง พร้อมกับระบุขนาดทางออกหลักต้องไม่น้อยกว่า 3 เมตร กำหนดความกว้างต่ำสุดของประตูหนีไฟไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร เป็นต้น

หมวดที่ 6 ระบบระบายอากาศ

หมวดที่ 7 การประกันภัย กำหนดให้สถานบริการต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และจัดส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยบริการ โดยมีจำนวนเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาทต่อครั้ง และมีระยะเวลาคุ้มครองตลอดเวลาที่ดำเนินการ
และหมวดที่ 8 ว่าด้วยเรื่องผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการตรวจสอบอาคาร

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น