เพราะอยากให้คนใช้รถตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่ประมาท ไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร กอปรกับเป็นห่วงบรรดาตำรวจจราจรที่ต้องทนยืนทำหน้าที่ท่ามกลางสายฝน แสงแดด และฝุ่นควันมลพิษ ในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อนุชิต วาณิชย์เสริมกุล เจ้าของ บริษัท เมเจอร์ เน็ทเวิร์ค จำกัด (ก่อนหน้านั้นได้สร้างผลงาน ป้อมตำรวจที่มีหลังคาเป็นหมวกตำรวจใบเขื่อง ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยเป็นอย่างดี) จึงปิ๊งไอเดียสร้างหุ่นตำรวจจราจร หรือที่เรียกว่า ‘จ่าเฉย’ ขึ้นมา
การจัดทำจ่าเฉยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อใดที่คนใช้รถปะหน้าหรือเพียงเห็นเครื่องแบบตำรวจ จะเข็ดขยาดไม่กล้าฝ่าฝืนกฎจราจร นอกจากนั้น เจ้าของความคิดยังหวังว่าหุ่นจะช่วยแบ่งเบาภาระของตำรวจจราจรตัวจริง ให้ได้แบ่งเวลาไปพักผ่อน พักเหนื่อย คลายความเมื่อยล้าจากการยืนขาแข็งนานหลายชั่วโมง
“พอตั้งหุ่นจ่าเฉยไว้ปุ๊บ การทำผิดกฎจราจรบริเวณนั้นๆ ก็ลดลง เพราะเขากลัวตำรวจ บางครั้งเราเห็นเองยังสะดุ้งเลย” พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฝ่ายจราจร พูดถึงผลของจ่าเฉยที่มีต่อผู้ใช้รถ
ผ่านไปได้ขวบปี เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กลับมีคำสั่งสายฟ้าฟาดให้เก็บจ่าเฉยเข้ากรุในโรงพักทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถลดปัญหาการจราจรได้ และต้องการให้ตำรวจจราจรตัวจริงลงไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้หุ่นที่ไม่มีชีวิตชีวาไปทำหน้าที่แทน
นอกจากจะได้เห็น 'วาระสุดท้ายของจ่าเฉย' อันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพ ไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจร หรือลดการทำผิดกฎจราจร (เหมือนเมื่อครั้งแรกๆ) และความต้องการกระตุ้นให้ตำรวจจราจรตัวจริงลุกขึ้นไปทำหน้าที่บนท้องถนนแล้ว ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นก็ประสานเสียงกันว่า ให้ลอกฟิล์มกรองแสงที่ติดกระจกป้อมยามทุกป้อมออกให้หมด เพื่อให้ตำรวจจราจรที่เข้าเวรในป้อมยามได้เห็นสภาพปัญหารถที่ติดขัด จะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ไม่ใช่มัวแต่ดูทีวี หรือนอนหลับในป้อมยาม จนละเลยหน้าที่รับผิดชอบ
กวดขันวินัยจราจรด้วย 'หุ่น'
กันยายน ปี 2551 ความคิดของอนุชิตเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยการสร้างจ่าเฉยขึ้นมา มีลักษณะเป็นหุ่นผู้ชายไทย ท่าทางบึกบึน หน้าตาเป็นมิตร ในชุดเครื่องแบบตำรวจจราจร น้ำหนัก 30 กิโลกรัม สูงชะลูดถึง 180 ซม. (รวมกับฐานที่ใช้ตั้งหุ่นอีก 10 ซม. จ่าเฉยจึงมีความสูงถึง 190ซม. ซึ่งเป็นมาตรฐานความสูงของตำรวจไทยที่ใฝ่ฝันมานานแล้ว!)
จ่าเฉยถูกผลิตขึ้นมา 2 แบบ คือ แบบตำรวจยืนตรง กับ แบบตะเบ๊ะทำความเคารพ และแยกเป็นหุ่นตำรวจจราจรของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) หมวกมีสีขาว-ส้ม ส่วนหุ่นของโรงพักในท้องที่ หมวกจะสีดำ–ขาว แถมมีการสร้างหุ่นแบบครึ่งตัว เพื่อให้นั่งอยู่ตามป้อมจราจรอีกด้วย
จ่าเฉยถูกนำไปตั้งไว้ที่แรกสุด คือบริเวณแยกพหลโยธินตัดกับวิภาวดีรังสิต
วินาทีแรกของการเปิดตัวสู่สาธารณชน จ่าเฉยก่อปฏิกิริยาต่อผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณดังกล่าว ในแนวทางที่ผู้ให้กำเนิดปรารถนา ไม่มีใครกล้าฝ่าฝืนกฎจราจร ดังนั้น โครงการจัดทำจ่าเฉยเพื่อนำไปจัดวางตามแยกหรือถนนที่ผู้ใช้รถมักทำผิดกฎจราจรหรือขับรถเร็วเป็นประจำจึงเกิดขึ้น โดยมีโรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งเป็นองค์กรแรกที่เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณในการผลิตและนำไปจัดวาง ณ สถานที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ หน้าสถานีตำรวจ
พล.ต.ต.ภาณุ ให้ข้อมูลว่า ต่อมาสถานีตำรวจ (สน.) บางมดและบางเขน เป็นสอง สน. แรกที่นำหุ่นตำรวจจราจรมาตั้งไว้ที่หน้า สน. สำหรับสน.ไหนที่ต้องการหุ่นไปตั้งไว้ก็เพียงแต่สั่งการมาก็จะได้หุ่นนี้ไปตั้งไว้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
“พอมีบาง สน. นำจ่าเฉยมาใช้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง สน. อื่นๆ เห็นก็เลยเอาอย่างบ้าง จึงทำให้บางท้องที่มีจ่าเฉยประจำการอยู่ สน. ละประมาณ 4-5 ตัว ซึ่งทางผู้สนับสนุนหลักเขาก็ไม่ขัดข้อง สน. ไหนอยากได้ก็ทำเรื่องขอไป”
หลังจากนั้น จ่าเฉยบูมขึ้นมาอย่างฉุดไม่อยู่ สน. ต่างๆ นำจ่าเฉยไปติดตั้งไว้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบและท้องถนนรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ตัว (ใช้งบในการผลิตตัวละ 25,000 บาท)
ดูเหมือนว่าเสียงของผู้ใช้รถต่อจ่าเฉย ที่บอกเล่าเก้าสิบกับ พล.ต.ต.ภาณุ จะเป็นไปในทางชื่นชมมากกว่าติเตียน การที่จ่าเฉยยืนปฏิบัติหน้าที่ท้าแดดท้าฝนอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสิ่งดี เหมือนย้ำเตือนให้ประชาชนตระหนักว่าาอย่าทำผิดกฎหมายนะ เพราะจ่าเฉยกำลังจ้องมองอยู่
“เป็นนิสัยของคนไทยแหละครับที่ไม่ค่อยมีวินัย เกรงกลัวตำรวจมากกว่าอย่างอื่น พอเห็นตำรวจแล้วคิดเปลี่ยนใจไม่อยากทำผิด การตั้งหุ่นตำรวจก็ช่วยได้เยอะ เห็นหุ่นก็คิดว่าเป็นตำรวจจริง พอตั้งหุ่นไว้ปุ๊บการทำผิดกฎจราจรบริเวณนั้นๆ ก็ลดลง เพราะเขากลัวตำรวจ บางครั้งเราเห็นเองยังสะดุ้งเลย”
นักขับขี่ประจันหน้าจ่าเฉย
เมื่อสายตาปะทะเข้ากับจ่าเฉยที่ยืนตะเบ๊ะ ยืนตรงแน่นิ่งอยู่ตามถนนทั่วเมืองกรุง หรือนั่งหน้าระรื่นในป้อมยาม ผู้ใช้รถมีท่าทีต่างกันไป...
สายฤทัย นพศรีมา พนักงานขายโฆษณาที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลักสารภาพว่า เมื่อเห็นจ่าเฉยในระยะไกลๆ เธอจะระมัดระวังตัวมากขึ้น
“ดูว่าคาดเบลท์ไหม ทำผิดกฎจราจรอยู่ไหม หากทำผิด เห็นไกลๆ นึกว่าเป็นตำรวจจริงก็จะตกใจกลัว จะโดนจับหรือเปล่าวะเนี่ย”
สำหรับคนใช้รถส่วนใหญ่ สาวคนนี้คิดว่า จ่าเฉยมีผลบ้าง แต่ไม่มากเท่าไหร่ในการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะคนไทยมีค่านิยมว่า หากทำผิดกฎจราจรก็ประนีประนอมหรือให้เงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ได้ และแม้ตำรวจตัวจริงปฏิบัติหน้าที่อยู่บนถนนก็ไม่ต่างจากจ่าเฉยสักเท่าไหร่ ไม่ได้ช่วยลดปัญหาจราจรหรือแก้ปัญหาจราจรมากเท่าที่ควร
“ทำออกมาเปลืองงบเสียขนาดนี้ ก็ตั้งต่อไปสิคะ เก็บทำไม ตั้งไว้ตรงนั้นแหละ อาจช่วยให้คนใช้รถใช้ถนนไม่กล้าทำผิดกฎจราจรก็ได้”
ต่างกับ สมหมาย แก้วคุณ พนักงานรับส่งเอกสาร ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จ่าเฉยไม่ได้ทำให้เขาระมัดระวังตัวไม่ให้เผลอไผลทำผิดกฎจราจรเลยแม้แต่น้อย
“มันเป็นแค่หุ่น เห็นไกลๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ตำรวจจริง เพราะตำรวจจริงมักจะซุ่มอยู่ตามบริเวณลับตาคน ไม่มายืนตะเบ๊ะกลางสี่แยกให้เห็นโต้งๆ หรอก แต่สำหรับคนใช้รถส่วนใหญ่ เขาก็อาจจะตกใจหรือไม่กล้าทำผิดกฎจราจรกันบ้างก็ได้เมื่อเห็นหุ่นตำรวจจราจรตัวนี้” เช่นนั้นแล้ว สมหมายจึงคิดว่า จ่าเฉยควรจะตั้งไว้อยู่ที่เดิม เพราะอาจทำให้บางคนปฏิบัติตามกฎจราจรและขับขี่โดยไม่ประมาท
รังสรรค์ ธนศรัพย์ คนขับแท็กซี่ คิดไม่ต่างจากสมหมายในเรื่องที่ว่าจ่าเฉย ไม่ได้สร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎจราจรให้เขาเลยเวลาอยู่หลังพวงมาลัย
“เห็นเป็นหุ่นตำรวจ ไม่กลัวหรอก ทำอะไรเราไม่ได้อยู่แล้ว” (หัวเราะ)
เขามองว่าคนใช้รถส่วนใหญ่ก็รู้สึกไม่ต่างจากเขา โดยยกตัวอย่างว่าขนาดมีตำรวจควบคุมดูแลตามถนนสายต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เด็กแว้นยังแหกกฎจรจรและประลองความเร็วกันได้ไม่เว้นแต่ละวัน นับประสาอะไรกับหุ่นตำรวจปลอมอย่างจ่าเฉย
“เก็บแล้วจะเอาไปทำอะไรล่ะ หากเอาไปทิ้งไว้ในห้องเฉยๆ ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร สู้ตั้งไว้อย่างเดิมไม่ดีกว่าเหรอ ไหนๆ ก็เสียงบประมาณทำออกมาแล้ว ตั้งไว้อย่างเดิมอาจมีประโยชน์กว่าก็ได้” คนขับแท็กซี่แสดงความเห็นต่อการโละจ่าเฉยเข้ากรุ
แก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบสังคมไทย
“ครั้งแรกที่เห็นจ่าเฉย ผมก็ยิ้มๆ นะ รู้สึกว่า เออว่ะ ทำเหมือนประชาชนเป็นเด็กๆ ที่ต้องขู่ว่า เดี๋ยวจิ้งจกกินตับนะ เดี๋ยวตำรวจมาจับนะ ตลกดี คิดได้ยังไง ผมมองว่าการแก้ปัญหาจราจรด้วยการนำจ่าเฉยมาตั้งไว้ เป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดสติปัญญาหรือเกิดกระบวนการเรียนรู้ในสังคมอย่างแท้จริง เป็นเพียงการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ”
เป็นทัศนะจาก วิฑูรย์ คุ้มหอม นักวิจัยอิสระที่มีความสนใจเป็นพิเศษด้านวัฒนธรรมศึกษาและพฤติกรรมของคนในสังคมไทย ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆ
นอกจากบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงความ 'ง่าย' ในการแก้ปัญหา นักวิจัยดีกรีมหาบัณฑิตจากสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรผู้นี้ ได้ขยายความต่อการมีอยู่และจากไปของจ่าเฉย
“โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะมีจ่าเฉย คนไทยก็มักไม่เคารพกฎจราจร จะต้องมีคนคอยจับผิด คอยขู่อยู่ตลอดเวลา อาจเพราะเหตุนี้ จึงทำให้มีจ่าเฉยเกิดขึ้นมา ในความเห็นของผมมันอาจสะท้อนได้ว่า สังคมเราแม้จะมีความพยายามที่จะ 'เป็นทางการ' เช่น การมีรถรา มีความเจริญทางวัตถุ แต่พฤติกรรมของเราก็ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่ เช่น มีความเป็นกันเอง สบายๆ ไม่ต้องนึกถึงกฎระเบียบอะไร นอกจากนั้น ศีลธรรมและพฤติกรรมของคนก็ไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับความเจริญทางวัตถุ ก็เลยยังมีการแหกกฎกันอยู่”
แต่การแหกกฎคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการขู่แบบขำๆ ด้วยเหตุนี้ วิฑูรย์จึงมองว่า ควรจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่าการขู่กันอยู่เรื่อยๆ แบบนี้ ดังนั้น การเก็บจ่าเฉยเข้ากรุเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างที่สุด
“การเก็บจ่าเฉยไปก็ดีนะ แม้บางคนอาจมองว่ามันได้ผล มีการหวาดกลัวอยู่บ้าง แต่มันอาจจะดีแค่ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวเราน่าจะใช้วิธีการให้ความรู้หรือนำข้อมูล นำสถิติของการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุเนื่องมาจากการไม่เคารพกฎจราจร มาสื่อสารกับประชาชนให้แพร่หลายและเข้าถึงมากขึ้น ทำให้เขาตระหนักได้ว่าการเคารพกฎจราจรคือเรื่องจำเป็น ผมว่าการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคมน่าจะดีกว่าการมีจ่าเฉย แล้วการเกิดขึ้นของจ่าเฉยผมก็ไม่รู้ว่ามีขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกันอย่างไร เท่าไหร่ เมื่อทำขึ้นมาแล้วไม่ได้ผล มันก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ
“การนำจ่าเฉยมาตั้งและเก็บจ่าเฉยไป โดยไม่ได้ฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่แรก นอกจากทำให้เสียงบประมาณแล้ว ยังสะท้อนว่า การแก้ปัญหาของบ้านเมืองยังคงเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว ยังไม่เห็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
“นอกจากนั้น การมีจ่าเฉยเกิดขึ้น ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาด้วยความรู้สึก มากกว่าจะแก้ไขปัญหาด้วยความรู้ เป็นการแก้ปัญหาที่คิดไปเอง ว่าประชาชนเห็นแล้ว เขาน่าจะเกรงกลัว ก็เลยคิดนำมาใช้กับการแก้ไขปัญหาจราจร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ควรจะมีการสำรวจข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เหล่านี้น่าจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกวิธีและตรงจุดมากกว่า” นักวิจัยผู้นี้แสดงทัศนะปิดท้าย
การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมองของผู้คนในสังคม คือสิ่งที่วิฑูรย์เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ในประเทศที่มีจ่าเฉยเกิดขึ้นและจากไป โดยที่แทบจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจรให้ลดน้อยลงเลย
..........
แม้จ่าเฉยจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาจราจรตามที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองวาดหวังไว้ แต่มันก็ให้บทเรียนกับสังคมไทยว่า การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและประชาชนไม่มีส่วนร่วมไม่ใช่คำตอบ และหวังว่าบทเรียนจากความผิดพลาดครั้งนี้จะคอยเตือนสติใครหลายคน
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร และ วรวิทย์ พานิชนันท์