xs
xsm
sm
md
lg

สัปปายะสภาสถาน...ที่นี่ มณฑลศักดิ์สิทธิ์ ?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัปปายะสภาสถาน...ที่นี่ มณฑลศักดิ์สิทธิ์?!?


     “สิ่งที่เราทำ คือ ภูมิปัญญาของคนโบราณ ซึ่งเขาใช้กันในหลายๆ ครั้งที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ ภูมิปัญญาหรือกุศโลบายนี้เรียกว่า 'บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง' ความหมายคือ ฟื้นจิตใจของเมืองขึ้นมาเมื่อชาติเรามีวิกฤติในเรื่องของศีลธรรม ซึ่งก็คือการสร้างมณฑลศักดิ์สิทธิ์ เป็นการสร้างสถานที่ดีๆ ที่มีไว้ประกอบกรรมดี”

     ยังมีนัยทางศีลธรรมที่น่าสนใจอีกไม่น้อย ถูกถ่ายทอดจากปากคำของหนึ่งในทีมสถาปนิกแห่งสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งผลงานของพวกเขาในชื่อ 'สัปปายะสภาสถาน' ชนะการประกวดออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่

     จริงอยู่แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หรือบรรดาสภาล่าง สภาสูง หลายต่อหลายคน อาจสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่ประชาชนคนในชาติอยู่เสมอ

     กระนั้น เมื่อ 'อาคารรัฐสภา' ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่มีไว้สำหรับรองรับการประชุม ปรึกษาหารือของผู้บริหารประเทศที่ไม่ค่อยจะได้ดั่งใจประชาชนนัก กำลังเป็นข่าวครึกโครมด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่แสนอลังการ ทั้งใช้งบประมาณในการก่อสร้างราวหมื่นล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 300,000 ตรารางเมตร ในย่านเกียกกาย จึงเป็นเรื่องที่เราไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลย
     เพราะรัฐสภา ถือเป็นสถาบันอันทรงเกียรติ ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สถาบันแห่งนี้ ควรดำรงตนให้คู่ควรกับการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

     และเนื่องในวาระที่วันรัฐธรรมนูญเวียนมาอีกครั้งในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กระทั่งก่อให้เกิดระบบรัฐสภาขึ้น

     ดังนั้น อาคารรัฐสภา อันเป็นสถานที่สำหรับสถิตไว้ซึ่ง 'ระบบรัฐสภา' ซึ่งถือครองอำนาจนิติบัญญัติสำหรับการบริหารประเทศ จึงย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน

     ด้วยเหตุนี้ ขอนำเสนอความมุ่งหวังของสถาปนิก และนัยที่แฝงไว้ในผลงานการออกแบบ รวมถึงความเห็นจากประชาชนคนเดินดิน และตัวแทนจาก ส.ส. ในสภา ที่มีต่ออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในนาม 'สัปปายะสภาสถาน'

ที่นี่ สัปปายะสภาสถาน

     “สัปปายะ มีที่มาจากคำว่า ปฏิรูปํ ซึ่งจะมีการเอ่ยคำนี้เวลาเราบวช อธิบายแบบคติของพุทธศาสนา คำว่า ปฏิรูปัง ก็คือ การปฏิรูปมนุษย์ให้มีจิตใจสูงขึ้น”

     และเมื่อนำคำนี้มาใช้กับสังคมจึงสื่อความหมายถึงการปฏิรูปสังคมให้มีความเป็นกัลยาณมิตร เมื่อนำมาใช้กับสถานที่จึงสื่อความหมายถึงสถานที่สำหรับผู้ประกอบกรรมดี

     ชาตรี ลดาลลิตสกุล หนึ่งในทีมสถาปนิกออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บอกกล่าวถึงนิยามความหมายโดยรวมของ สัปปายะสภาสถาน ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า หากการไปโบสถ์ ไปวิหาร ก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คติของทีมสถาปนิกในการสร้างสถานที่นี้ก็คล้ายเช่นนั้น เพราะพวกเขาถือกุศโลบาย 'ฟื้นใจเมือง' ด้วยการสร้างมณฑลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา
     และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ในความเห็นของประชาชนจึงรู้สึกว่า รูปทรงของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับวัด ที่ดูไม่เหมาะไม่ควรนักกับการเป็นสถานที่ราชการ
เช่นที่ ขจีวรรณ เนตรหิน ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ในย่านเกียกกาย ได้กล่าวถึงสะท้อนมุมมองของเธอ ที่มีต่อสัปปายะสภาแห่งนี้ ว่า

     “ถ้าว่างๆน่าจะชวนกันเข้าไปเวียนเทียนรอบเลยนะ ไหนๆ ก็เหมือนวัดแล้วอย่าให้เสียประโยชน์ใช้สอยไป ที่อยู่ของคนดีเหรอ ไม่จำเป็นหรอก ขอแค่ทำงานบริหารประเทศให้เจริญ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้ก็พอแล้ว แต่ทุกวันนี้ไม่เห็นมีใครมายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน มีแต่ยกระดับคุณภาพชีวิตตัวนักการเมืองเอง

     “เพิ่งเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตมาเมื่อสักครู่นี้เอง เห็นแล้ว รู้สึกว่าเหมือนศาสนสถานมากว่าที่จะสมควรเป็นที่ทำงานบริหารประเทศ พูดตรงๆ เลยว่า ตอนเลือกที่สร้างตรงนี้ ยังไม่โกรธเท่าตอนที่เห็นแบบที่ชนะการประกวดเลย ประเด็นแรกคือคนออกแบบเขามองว่า ประเทศเรามีศาสนาพุทธอย่างเดียวเลยเหรอไง ทำไมความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญระดับประเทศต้องยืนอยู่บนหลักการของพุทธศาสนาอย่างเดียวเลยเหรอ ถึงจะเรียกได้ว่ามันเป็นความดีงาม แล้วศาสนาอื่นล่ะไปอยู่ที่ไหนหมด พูดแบบนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เอาศาสนสถานของทุกอันมารวมกัน อย่าได้ริอ่านทำอะไรตื้นๆ แบบนั้นเชียว แต่ความร่วมสมัยมันไปอยู่ที่ไหนหมด จะเป็นแบบอนุรักษ์นิยมทรงไทยอะไรต่อมิอะไรก็ว่าไป ไม่ใช่มาทำเหมือนกับเป็นวัดแบบนี้”

     แน่ล่ะ เป็นความเห็นที่ตรงและแรงพอสมควร ซึ่งชาตรีเองก็ยอมรับกับเราว่า หลังจากผลการประกวดเผยแพร่ออกไป ทีมสถาปนิกก็ได้รับเสียงสะท้อนในเชิงลบเกี่ยวกับรูปแบบที่ดูเหมือนวัด

     กระนั้น ความพยายามของทีมผู้ออกแบบที่มีความตั้งใจจะสื่อนัยบางอย่างถึงผู้คนในสังคม ก็น่ารับฟังอยู่ไม่น้อย ดังที่ชาตรีอธิบายไว้

     “หัวใจสำคัญของ สัปปายะสภาสถานก็คือ เราอยากให้อาคารรัฐสภาแห่งนี้ สื่อถึงความมีศีลธรรมและการทำความดี ซึ่งผมอยากให้เป็นความรู้สึกของคนทั้งชาติและเพื่อให้คนที่อยู่ในรัฐสภาเขาตระหนักถึงสิ่งนี้ด้วย”

     สิ่งใดบ้าง ที่คนในชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในสภาควรตระหนักถึง
ชาลี อธิบายรายละเอียดว่า สิ่งนั้น คืออุดมคติ 5 ประการ ที่แฝงไว้ในสถาปัตยกรรมชิ้นนี้

     “อุดมคติเรื่องแรกคือ 'ชาติ' เพราะเรารู้ดีว่าสถาปัตยกรรมรัฐสภานี้ จะต้องประกาศความเป็นชาติในสถาปัตยกรรมโลก เป็นตัวแทนของชาติไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นว่าสถาปัตยกรรมของเรามีความรุ่มรวย มีความงาม นี่คือหลักสำคัญประการที่หนึ่ง ที่เราเห็นว่าสถาปัตยกรรมควร ทำหน้าที่นี้ให้ได้”

     แล้วสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงความเป็นไทย ในสายตาของเขา มีลักษณะอย่างไร? ชาตรีอธิบายว่า

     “สถาปัตยกรรมไทยจะทำงานกับเส้นขอบฟ้า อาจไม่ใหญ่โต แต่เมื่อเห็นแล้ว เราจะสัมผัสได้ว่า มีลักษณะปลายแหลมชี้ขึ้นไปบนฟ้า ซึ่งนัยก็คือชี้ไปที่ความว่าง หรือโลกุตระ นอกจากนั้น สถาปัตยกรรมไทยจะมีการทำงานกับแสง ทำให้มีความมลังเมลืองเมื่อมีแสงมากระทบ”

     แนวทางที่นำมาใช้นี้ ชาตรีมองว่าเป็นสิ่งพื้นฐานและเป็นรากเหง้าของสังคมไทย ที่เมื่อเห็นแล้วอาจจะนึกถึงเจดีย์วัดภูเขาทองหรือวัดอรุณฯ ซึ่งมาจากทัศนคติเดียวกัน คือแนวความคิดจักรวาลวิทยาแบบพุทธ

     “เราคาดหวังว่าแม้ชาวบ้านมองเห็นก็จะรู้ว่านี่คือไทย หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่รู้จักชาติเราเพียงผิวเผิน เมื่อเห็นแล้วก็จะสัมผัสและรู้ได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายว่า นี่คือไทย”

     ส่วนอุดมคติเรื่องที่ 2 ที่ชาตรีอธิบายไว้ ก็คือเรื่องศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

     “เพราะเราก็ทราบกันดีว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะชาติของเรา แต่โลกของเราทุกวันนี้ มีปัญหาเรื่องศีลธรรมเสื่อม ผมเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการที่เรามีความเห็นต่างกัน ซึ่งรัฐสภาเอง มันเป็นทั้งจุดเสื่อม และเป็นทั้งจุดที่เป็นความหวังของพี่น้องประชาชน

     “เพราะฉะนั้น เราจึงคิดกันว่า ทำอย่างไร ให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ สามารถสร้างวาทกรรมร่วมกับคนทั้งชาติ ในการแสดงให้เห็นถึงศีลธรรม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดี นี่คือ แนวความคิดของ สัปปายะสถาน ซึ่งแปลโดยรวมก็คือ สถานที่ที่เหมาะแก่การทำดี ซึ่งถ้าคอนเซ็ปท์นี้สร้างขึ้นมาได้ผมก็มองว่าจะเป็นความรู้สึกของคนทั้งชาติ”

     อุดมคติส่วนที่ 3 ก็คือสติปัญญา ซึ่งชาตรีอธิบายว่า ชาติของเรามีภูมิปัญญาที่ต้องสืบสาน ทีมสถาปนิกจึงทำพิพิธภัณฑ์ชาติไทยไว้ข้างบน เพื่อให้รับรู้ถึงความเป็นชาติของเรา รับรู้ถึงความมีอยู่ รับรู้ถึงภูมิปัญญา สติปัญญาของชาติเรา เพื่อให้เยาวชนและคนในชาติเราได้เรียนรู้และสืบสาน ในขณะเดียวกันก็เพื่อจะบอกแก่คนต่างชาติที่มาเยือนว่า เราคือใคร สืบต่อไปถึงภูมิปัญญาความเป็นไทย

     “อุดมคติที่ 4 คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพราะสำหรับคนไทยเรา ความเป็นชาติจะไม่มีทางสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ถ้าชาติเราไม่มีสถาบันกษัตริย์ โดยอาคารรัฐสภานี้จะมีโถงรัฐพิธี ซึ่งมีไว้สำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเปิดรัฐสภา ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นจุดที่แสดงให้เห็นถึงแกนกลางความเป็นชาติของเรา

     “อุดมคติที่ 5 คือ ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากไม่แพ้กับอุดมคติข้ออื่นๆ เพราะว่าเราอยากได้รัฐสภาที่แม้จะสง่างามแต่ก็เป็นมิตร ไม่ข่มประชาชน เพราะฉะนั้น รัฐสภานี้จึงไม่มีรั้ว แต่แทนที่ด้วยคูน้ำ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เปิดกว้างกว่า และประชาชนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณลานกว้างได้ และสามารถใช้ลิฟต์ขึ้นไปยังแหล่งเรียนรู้ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย สามารถผ่านทะลุพิพิธภัณฑ์ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าที่นี่เปิดกว้างสำหรับประชาชน
     "นอกจากนี้ก็มีพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็น อุดมคติทั้ง 5 ข้อนี้ คือสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญและจำเป็นยิ่งที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้จะต้องทำให้ได้ทั้ง 5 ข้อนั้น”

     ชาตรี บอกกล่าวถึงแนวคิดของเขาและเพื่อนร่วมทีม

เสียงจากคนในสภาฯ

     หลังจากรับฟังทัศนะของสถาปนิกและบางความเห็นของประชาชนคนเดินดินที่มีต่ออาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว ลองมาถามไถ่ถึงมุมมองของ ส.ส. รุ่นเก๋า กันบ้าง

     ดร.เจริญ คันธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ทั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเข้ามาทำงานในรัฐสภา ตั้งแต่ปี 2517 มองเรื่องการย้ายรัฐสภาใหม่ไปอยู่ที่เกียกกายว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะที่เดิมนั้นค่อนข้างแคบ ไม่สะดวกในการใช้งาน

     และที่สำคัญ รัฐสภาในปัจจุบันก็ตั้งอยู่ที่อยู่ในเขตพระราชฐาน ซึ่งขอยืมมา เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องส่งกลับคืนกลับไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งในเวลานี้ก็ถือว่าสมควรจะต้องส่งคืนได้แล้ว

     “ตอนนี้สภาฯ ต้องไปเช่าตึกที่สะพานควาย 2 ตึกให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน ขณะที่งานกิจกรรมในสภาฯ เองก็เยอะ เวลามีงานครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ต้องขนกันมา ทำแบบนี้มันสิ้นเปลือง มันไม่สะดวกเลย แต่ถ้ามันอยู่ในตึกเดียวกันได้ หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้ก็จะดีกว่า สถานที่เองก็ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อย่างเวลาประชุมกรรมาธิการทีหนึ่งก็ต้องมานั่งคอย บางห้องประชุมยังไม่เสร็จเลย ก็ต้องให้อีกชุดเข้ามาแทนแล้ว”

     ต่อเมื่อถามถึงความผูกพันระหว่างสมาชิกสภาฯ กับสถานที่ หากเกิดการย้ายขึ้นมาจริงๆ นั้น ดร.เจริญกล่าวว่า อย่าเอาความผูกพันขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ สิ่งที่ถูกคือ ควรจะเน้นในเรื่องของการทำงานมากกว่า

     “ก่อนหน้านี้ เราเคยอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่นั่นก็ไม่ค่อยสะดวกเหมือนกัน ไม่มีแอร์ด้วย เราถึงต้องย้ายออกมา ตอนหลังถึงจะสะดวกขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าไปที่แห่งใหม่ก็คงจะต้องสะดวกขึ้นกว่านี้”

     ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาอาวุโสยังกล่าวอีกว่า รัฐสภาแห่งใหม่ ควรจะมีห้องทำงานของสมาชิกอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อที่เวลาประชาชนมาร้องเรียนจะได้สะดวกสบาย ไม่ต้องย้ายไปคุยห้องโน้นทีห้องนั้นทีอย่างทุกวันนี้

     “ตอนนี้ ส.ส.ก็นั่งรวมกันอยู่ที่ตึก 1 ของสภาฯ แล้วเวลาประชาชนมาพบ ก็ต้องพาไปอีกห้อง ซึ่งมันไม่สะดวกเลย ทั้งที่โดยหลักการแล้ว เวลาเขามาหา เราก็ต้องการต้อนรับเขา เขาอุตส่าห์มาจากไหนต่อไหน เราก็ควรจะมีห้องต้อนรับเขาพอสมควร สามารถคุยได้อย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง แล้วก็มีความเป็นสัดส่วน ไม่มีเสียงมารบกวนเขา เขาจะได้เล่าเรื่องความลับอะไรต่างๆ ได้ แต่นี่ไม่มี เราต้องไปเรื่อยเปื่อย ห้องโน้นบ้าง ห้องนี้บ้างสารพัด

บางคำถามจากคนเกียกกาย

     ลองถอยห่างออกมาจากคนในสภา แล้วกลับมาฟังความเห็นเพิ่มเติมของคนเกียกกายกันบ้าง ซึ่งนอกจากวิจารณ์การออกแบบที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น
ขจีวรรณ เนตรหิน ก็ยังคงตั้งคำถามและแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเช่นเคย

     “การจะสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันควรจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสียอีก แต่ว่ามันจะน่ายินดีมากกว่า ถ้าสิ่งนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียหาย หรือมันจะคุ้มค่ากับประโยชน์ใช้สอยของมันมากที่สุด ให้พูดง่ายๆ เราเป็นคนไทยเราก็ต้องเสียสละบ้าง แม้จะรู้ดีว่าหากรัฐสภาแห่งใหม่นี้สร้างเสร็จและถูกเปิดใช้เมื่อไหร่ ความเดือนร้อนจะมาเยือนชาวเกียกกายและบางโพทันที

     "เพราะว่าปกติถนนเส้นสามเสนนี้มันแคบและมีปริมาณรถเยอะอยู่แล้ว รถติดจึงนับว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วนี่ถ้าท่านสมาชิกสภาทั้งหลายร่วมขบวนเดินทางกันมาประชุม ไหนจะม็อบที่ตามมาประท้วงอีก คราวนี้คงดูไม่จืดกันแน่นอน แต่ก็เข้าใจนะว่า ตัวสถานที่สำคัญแบบนี้มันต้องอยู่ในเมือง”

     ซึ่งนับได้ว่าปัญหาการจราจรนั้นเป็นปัญหาที่สะสมมานานเสียจนผู้ที่อยู่อาศัยย่าง เกียกกาย บางโพ นั้นชาชินกันไปเสียแล้ว แต่การมาสร้างรัฐสภาใหม่ตรงนี้อีกอาจจะทำให้บางคนถึงกับต้องย้ายบ้านหนีกันเลยก็ได้

     “แต่ถ้าหากเขาไปเลือกที่อื่น ผลก็คงไม่ต่างกัน คนที่เค้าอยู่แถบนั้นก็เดือดร้อนไป ความจริงสถานที่ตั้งอยู่ตรงไหนไม่สำคัญ เพราะมันถูกเลือกไปแล้ว ประชาชนอย่างเราจะไปเถียงอะไรได้ แต่ประเด็นสำหรับตอนนี้มันอยู่ที่ว่า มันจะมีระบบการจัดการและรับมือกับปัญหาที่มันจะเกิดตามมาอย่างไรมากกว่า ซึ่งถ้าเป็นความเห็นของเราเองอยากจะให้ขยายพื้นผิวการจราจรเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ทั้งหลายในอนาคตด้วย”

                   ..........

     ท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราสนอกสนใจเป็นพิเศษก็คือ หาก ‘สัปปายะสภาสถาน’ คือสถานที่สำหรับผู้ประกอบกรรมดีแล้ว...จะมีสมาชิกสภาท่านใด ปฏิบัติได้ตามนั้นหรือไม่?

                   ...........

           เรื่องโดย : ทีมข่าว CLICK







กำลังโหลดความคิดเห็น