xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียล เน็ตเวิร์ก ในออฟฟิศ หย่อนใจหรือหย่อนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘โซเชียล เน็ตเวิร์ก’ คือ กิจกรรมใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสังคมบนโลกเสมือนที่กว้างขวางมาก มันทำให้ผู้คนทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างทั่วถึง และกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ทุกๆ สิ่ง ล้วนแล้วแต่มีลักษณะของดาบสองคม เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

โซเชียล เน็ตเวิร์ก มันมีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัวของมันเอง
ในการจัดอันดับเว็บเครือข่ายสังคมหรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Social Network ปรากฏว่าเฟซบุ๊คยังคงครองอันดับหนึ่ง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 มีรายงานจาก วิกิพีเดีย ว่า เว็บเครือข่ายสังคมอันดับ 1 คือ เฟซบุ๊ค(Facebook) มีสมาชิก 300 ล้านคน อันดับ 2 คือมายสเปซ (MySpace) มีสมาชิก 260 ล้านคน อันดับ 3 คือ คิวโซน (Qzone) มีสมาชิก 200 ล้านคน อันดับ 4 คือ วินโดวส์ไลฟ์สเปซส์(Windows Live Spaces) มีสมาชิก 120 ล้านคน อันดับ 5 คือ แฮบโบ (Habbo) มีสมาชิก 117 ล้านคน ขณะที่ทวิตเตอร์ก็เป็นเว็บเครือข่ายสังคมที่มีการกล่าวถึงกันมากอีกเว็บหนึ่ง โดยมีสมาชิก 44 ล้านคน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เฟซบุ๊คได้รับความนิยมสูงสุดก็เนื่องมาจากว่า เฟซบุ๊คมีบริการเชิญชวนให้สมาชิกสมัครเข้าไปเล่นเกมและแอพพลิเคชันต่างๆ ซึ่งสามารถดึงดูดนักเล่นโลกอินเทอร์เน็ตเข้าไปสมัครมากขึ้น จากข้อมูล www.checkfacebook.com รายงานว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้สมัครเป็นสมาชิกของเฟซบุ๊ค ถึง 1,632,880 คน

โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซียติดอันดับ 7 ของโลกที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊คมากที่สุด แต่ไทยอาจจะตามอินโดนีเซียไปในไม่ช้า เนื่องจากว่าไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้เติบโตสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเพิ่มถึง 10.90 เปอร์เซ็นต์ หรือ 161,300 คน ในรอบหนึ่งอาทิตย์ โดยที่ผู้ใช้บริการมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี และรองลงมาคือ 25-34 ปี

จากข้อมูลที่ยกตัวอย่างมาเพียงจำนวนของผู้ใช้บริการโซเชียล เน็ตเวิร์ก เพียงแค่เฟซบุ๊คอย่างเดียว คงจะทำให้พอเห็นภาพได้อย่างคร่าวๆ ว่ากลุ่มผู้ที่ใช้บริการโซเชียล เน็ตเวิร์ก มากที่สุดเป็นกลุ่มของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกับบรรดาพนักงานออฟฟิศที่มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ได้ทั้งวัน มีหลายองค์กรได้ตั้งข้อสังเกตว่าพนักงานของตนไม่เป็นอันทำงานก็เพราะเกมเหล่านี้

ล่าสุดพบว่า คนไทยในกลุ่มวัยทำงานกำลังตกอยู่ในอาการติดเกมบนเฟซบุ๊คอย่างงอมแงม เกมที่มาแรงคือ เกม ‘Farmville’ หรือเกมทำฟาร์ม ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ซึ่งแตกต่างจากเกมออนไลน์ทั่วไป คือเป็นเกมที่ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดโปรแกรม แต่แค่เพียงสมัครเป็นสมาชิกเฟซบุ๊คเท่านั้นก็เล่นได้เลย

นอกจากนั้น ยังมีเกมอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนมากจะเป็นเกมที่ออกแนววางแผนและสามารถสะสมคะแนน แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือ มันสามารถแบ่งปันการกระทำต่างๆ ในเกมให้คนอื่นสามารถรับรู้ได้ จึงทำให้เราเหมือนกับสร้างสังคมอีกสังคมหนึ่งขึ้นมาและหมกมุ่นอยู่กับมัน ซึ่งมันอาจส่งผลให้พนักงานไม่เป็นอันทำงาน ลืมตัวตนในสังคมจริง หรือแม้แต่การแสดงความเห็นบนกระทู้ต่างๆ ของเพื่อน ซึ่งทำให้เราติดหนึบอยู่กับการรอคอยการตอบกลับความเห็นของเรา จึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมที่ถอนตัวได้ยาก กลายเป็นการเบียดบังเวลางานหรือพรากสมาธิของพนักงานออกจากงานที่ทำ แล้วในที่สุดก็ส่งผลเสียต่อองค์กร

ทำให้บางองค์กรแก้ไขปัญหานี้โดยการบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก ทั้งหลาย ซึ่งการแก้ปัญหาในรูปแบบดังกล่าวนี้จะช่วยได้จริงหรือไม่

การที่จะบอกว่า มาตรการการบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก ของบรรดาองค์กรต่างๆ จะส่งผลถึงประสิทธิภาพงานหรือไม่นั้น จึงออกไปสอบถามเหล่าบรรดาพนักงานที่ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามรถใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก เหล่านี้ในเวลางาน ว่าจริงๆ แล้วการลด ละเลิกโซเชียล เน็ตเวิร์ก นั้น ได้ผลจริงหรือไม่

“การที่บริษัทบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก ในเวลางานนั้น อาจจะทำให้วอกแวกน้อยลง น่าจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่เขาไม่บล็อกหลังเวลางาน เมื่อหลังเวลางานก็สามารถเล่นได้ มันไม่ถึงกับเครียดจนเกินไป” ธัญธีรา สาระเกต เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบอกความรู้สึก

ส่วนเรื่องการบล็อกนั้นจะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ ธัญธีราบอกว่า มันไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะงานที่ทำไม่ได้ต้องการการติดต่อสื่อสารทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก ตลอดเวลาขนาดนั้น เพราะมีการติดต่อทางอื่นอยู่แล้ว

“ที่นี่บล็อกทุกโซเชียล เน็ตเวิร์ก มากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไฮไฟว์นี่นานกว่านั้น เขาให้เหตุผลว่ามันทำให้ประสิทธิภาพการใช้อินเทอร์เน็ตขององค์กรแย่ลง ซึ่งพนักงานอย่างพวกเราก็ขำๆ กันนะ ไม่ได้เดือดร้อน”

เช่นเดียวกับ ปรมัษฐ์ ช่างสุพรรณ วิศวกรฝ่ายขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่บอกว่า การบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก นั้น แทบจะไม่มีผลอะไรเลย

“การบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก นั้น แทบไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ของเหล่านี้มันเป็นเรื่องของวินัยมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วจะเอาโน้ตบุ๊คไปเปิดที่ไหนก็ได้ หรือไม่ก็ใช้ผ่านมือถือ

“ที่เขาบล็อกนี่ก็เพราะมันมีการโหลดข้อมูลจำนวนมากมากกว่า มันกินทรัพยากรบริษัท”

เจ้านายไม่ได้อยากจะบล็อก...

หลังจากที่ฟังเสียงเล็กๆ ของเหล่าพนักงานแล้ว เราลองหันมาฟังเสียงใหญ่ๆ ของผู้บริหารดูบ้าง

“ผมเชื่อมั่นว่า การใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ในเวลางานนั้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงแน่นอน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ใช้นั้น ใช้อย่างไร และหลงอยู่กับมันแค่ไหน ในบางที่มันก็ต้องมีกฎระเบียบ ซึ่งผมก็เข้าใจและเห็นใจองค์กรที่เขาต้องบล็อก ส่วนองค์กรที่ยังไม่บล็อกอย่างที่ที่ผมอยู่นี้ ในอนาคตก็อาจจะต้องพิจารณา ถ้าหากคนทำงานเขาไม่ยอมควบคุมจำนวนการใช้” สุหฤท สยามวาลา ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในจำนวนบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัท ที่ยังคงอนุญาตให้พนักงานใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ได้ กล่าวถึงเรื่องการใช้ โซเชียล เน็ตเวิร์ก ในเวลางาน ซึ่งตัวของคุณสุหฤทเอง ก็เป็นผู้หนึ่งที่ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างจริงจังด้วย

“โซเชียล เน็ตเวิร์ก เหล่านี้ นำพาให้สมาธิของคนทำงานออกไปจากการทำงานค่อนข้างชัดเจน สำหรับผมซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ไปพร้อมๆ กัน ก็อาจจะมีเขียนอะไรบางอย่างบ้าง แล้วก็ทำงานต่อไป ไม่เล่นเกมเด็ดขาด แต่บางครั้งก็เห็นพนักงานเล่นเกมอย่างฟาร์มวิวอยู่บ้าง ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะงานของเขามันเป็นการทำงานกับตัวเลข ต้องใช้ความละเอียด

“ซึ่งการเข้ามาใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก โดยเบื้องต้นมันเป็นการทุจริตต่อเวลางานอยู่แล้ว การเล่นเกมบนนั้น ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เราควรจะเคารพเวลาการทำงานอยู่แล้ว ถ้ามันลามไปก็อาจจะต้องปิด ต้องบล็อกก็เป็นได้”

เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่บล็อกการใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์ก นั้น มักเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานธุรการ หรือตัวเลขเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริษัทที่เน้นในด้านการทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างงานวงการหนังสือหรืองานโฆษณานั้น กลับไม่ค่อยมีการบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์ก สักเท่าใด

“ในด้านของบริษัทเหล่านั้น มันไม่ได้เป็นการเอาเวลาไปใช้เรื่อยเปื่อย แต่เป็นการทำงานอย่างหนึ่ง เป็นการตามเทรนด์ของสังคมที่เราอยู่ เป็นเรื่องข้อมูลทางการตลาด รสนิยมของคน สิ่งที่สังคมพูดถึง ซึ่งการจะรู้เรื่องเหล่านั้นมันไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเข้าไปดูโซเชียล เน็ตเวิร์ก การใช้แบบนี้มันมีประโยชน์ แต่ถ้าคนในบริษัทเหล่านั้นเอาเวลาไปนั่งเล่นเกมมันก็ไม่เกิดประโยชน์เหมือนกัน

“สำหรับผมเอง ผมก็ใช้มันหาข้อมูลเหมือนกัน อย่างถ้าจะเข้าไปดูกลุ่มวัยรุ่นหน่อย ผมก็จะเข้าไปที่ไฮไฟว์ แทนที่จะเป็นเฟซบุ๊ค ส่วนทวิตเตอร์ผมไม่ค่อยได้เข้า เพราะมันมีข้อมูลเยอะเกินไป อย่างจะกินข้าวนี่ก็มาบอกเรา สำหรับเฟซบุ๊คค่อนข้างชัด เพราะว่าทุกคนจะอัปสถานะ ใส่รูป พูดถึงชีวิตตัวเองผ่านทางนี้

“สำหรับคนทำงาน เกมเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลางาน แต่ถ้าคุณกลับบ้านไปแล้ว อยากจะเล่นบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เกมมันไม่ดี หรือโซเชียล เน็ตเวิร์ก มันไม่ดีหรอก เพราะประโยชน์มันก็มีมาก แต่เป็นเรื่องของคนที่ใช้มันมากกว่า”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเหล่าโซเชียล เน็ตเวิร์ก พวกนี้จะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว ข้อดีของมันก็มี ยกตัวอย่างได้จากกรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรค SLE หรือโรคลูปัส (โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของตัวเองมากเกินปกติ ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงเกือบทุกระบบของร่างกาย โรคจะกำเริบและทุเลาสลับกัน ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที) ซึ่งเป็นโรคเดียวกับพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งชื่อดังที่เสียชีวิตเพราะโรคนี้

เขาต้องการเลือดกรุ๊ปเอบีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเพื่อนๆ ทุกคนก็กระจายข่าวขอรับบริจาคเลือดไปทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก และผลตอบรับกลับมาก็ล้นหลามอย่างไม่น่าเชื่อ

หรือแม้แต่การเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ การโฆษณา หรือการศึกษา ตัวอย่างเช่นที่วิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก็ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก และประกาศนียบัตรให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ผ่านเครือข่ายสังคมชีวิตที่สอง (secondlife.com) เมื่อเรียนจบก็ได้ปริญญาและประกาศนียบัตรจริงที่มีศักดิ์และสิทธิเหมือนกับการเรียนในโลกจริงๆ ทุกประการ

ดังนั้น การบล็อกโซเชียล เน็ตเวิร์กต่างๆ จึงจำเป็นต้องจัดสมดุลให้ดี และดูธรรมชาติของงานแต่ละอย่างด้วยขณะที่ทางออกที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่งสำหรับปัญหานี้ก็คือต้องปล่อยให้มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเวลาของแต่ละบุคคล เทคโนโลยีคงจะส่งผลกระทบกับมนุษย์ไม่ได้เพราะมันไม่ได้ขยับเข้าหามนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหากที่ขยับเขาหามันเอง
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น