xs
xsm
sm
md
lg

ช้าง ช้าง ช้าง คนกรุงจะไม่เห็นช้างอีกแล้ว!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกแล้วจนได้กับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯ (โครงการช้างยิ้ม) ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเปิดเผยการแก้ปัญหาในระยะยาวแล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติให้เรื่องช้างเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552

อีกทั้งยังได้ของบประมาณ 200 ล้านบาทจากโครงการไทยเข้มแข็ง ทั้งนี้หากมีการอนุมัติงบ จะนำงบประมาณ 100 ล้านบาท มาจัดการพัฒนาศูนย์คชศึกษา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่รองรับช้างและควาญช้างที่เข้าร่วมโครงการได้มาพักอาศัย โดยจะสร้างบ้านพัก หรือโฮมสเตย์ จำนวน 300 หลัง

ขณะที่งบประมาณในส่วนที่เหลือจะนำมาส่งเสริมการทำสวนพืชอาหารช้าง และส่งเสริมให้มีการสร้างอาชีพเสริม โดยใช้ระยะเวลา 3-5 ปี ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยไม่ต้องนำช้างออกไปเร่ร่อนอีก

ที่คราวนี้มาแปลก ก็เป็นเรื่องการตั้งรางวัลนำจับให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ที่ทำเอาหลายคนนึกภาพออกมาว่า ‘รางวัลนำจับ’ นั่นหมายถึง ‘อาชญากร’ หรือผู้กระทำความผิด แล้วช้างไทยก็จะถูกจับ...อย่างนั้นหรือ

นั่นเป็นเพียงไอเดียของ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะเจ้าของโครงการช้างยิ้ม ที่เพียงอยากแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จตามนโยบาย จึงตั้งรางวัลนำจับนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแรงจูงใจในการแจ้งข้อมูลของประชาชนเท่านั้นเอง

ผลักดันช้างออกนอกกรุง

“เราได้รับการร้องปัญหาเรื่องช้างเยอะมาก เดี๋ยวตายบ้าง เดี๋ยวรถชนบ้าง หรือไม่ก็เจออุบัติเหตุต่างๆ นานา และเมื่อไปดูข้อกฎหมายก็พบว่า การทำแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายถึง 7 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด หรือแม้แต่ พ.ร.บ.สัตว์สงวนและการคุ้มครองสัตว์ป่า ดังนั้นเราก็เลยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อจัดการกับปัญหาอย่างเด็ดขาด เพราะตามอำนาจ เราทำได้แค่ปรับ 350 บาทเท่านั้น แต่กรมปศุสัตว์ เขามีอำนาจกักช้างได้ 30 วัน” ดร.ธีระชน กล่าว

ที่ผ่านมาเมื่อมีการจับช้างได้ จะส่งตัวไปกักไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จังหวัดกาญจบุรี เพื่อเป็นการแก้เผ็ดเจ้าของ ไม่ให้เอาช้างเข้ามาหากิน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า รายได้ของเจ้าของช้างจะหายไปเป็นเงินถึงหมื่นบาท

จากมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าเป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลเดือนเมษายน ช้างลดจำนวนจาก 200 เชือก เหลือแค่ 100 เชือกเท่านั้น หรืออย่างตอนนี้เองก็เหลือช้างในกรุงเทพฯ ไม่ถึง 10 เชือกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงกรุงเทพฯ จะแก้ไขได้ผล แต่จังหวัดรอบข้างไม่ว่าจะเป็น นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ กลับมีปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าของช้างอพยพช้างไปอยู่ แถมยังพยายามใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้นำช้างเข้ากรุงอีกให้ได้

อย่างล่าสุดก็มีการเปลี่ยนตัวช้าง จากเชือกใหญ่ๆ มาเป็นช้างวัยเอ๊าะๆ อายุ 3-6 ปี โดยวิธีการก็คือ เอาช้างจากเขตปริมณฑลขึ้นรถกระบะ พอถึงก็เอาช้างลง และจูงขายอาหาร พอเสร็จก็ย้ายช้างขึ้นรถ เป็นวิธีเลี่ยงการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้

“ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เราไม่ได้รับรายงานเรื่องช้างเร่ร่อนเลย แต่พอถึงตุลาคมมันกลับมาใหม่ เราตามไปดู ก็เลยเห็นวิธีการดังกล่าว เราก็ใช้วิธีล็อกเลขทะเบียน แล้วก็ประสานหน่วยงานให้ช่วยกันตามจับ”

ส่วนแนวคิดจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมมากขึ้น โดยมีการตั้งรางวัลนำจับให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสจนสามารถนำจับได้เป็นผู้แรก เป็นเงิน 2,000 บาทต่อเชือกนั้น

“เราพยายามดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ปัญหามันหมดไปให้ได้ อย่างเรื่องรางวัลนำจับก็เหมือนกัน ผมใช้เงินส่วนตัวตั้งเป็นสินน้ำใจ หากใครมีเบาะแส และช่วยติดตามจนนำจับได้ก็เอาไปเลย ถือว่าช่วยๆ กัน

“อย่างเชือกแรกเนี่ย ก็มีสื่อมวลชนท่านหนึ่งเป็นคนชี้ทางให้ คือเขาขับรถตั้งแต่ 5 ทุ่ม จนเกือบเที่ยงคืน แล้วก็โทรแจ้งเบาะแสกับเรา จนจับได้ และเอาไปส่งไว้ที่เมืองกาญจน์ ภายหลังเราก็ทำหนังสือขอบคุณ และมอบสินน้ำใจแก่สื่อมวลชนท่านนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า หากทุกคนร่วมกันคนละไม้คนละมือ ต่อไปปัญหาก็ลดลงเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม ถึงการแก้ไขปัญหาจะออกมาเป็นรูปธรรม แต่ ดร.ธีระชนก็ยอมรับว่า แนวทางดังกล่าว เป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ทางแก้ที่ดีที่สุด นั่นอยู่ก็จังหวัดต้นทาง อย่างสุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งมีช้างเป็นจำนวนมาก ต้องไม่ปล่อยปละให้ช้างเข้ามาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ
จากมติคณะรัฐมนตรีที่ผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติ

ล่าสุดก็มติดังกล่าวก็ผ่านเป็นที่เรียบร้อย โดยสนับสนุนงบประมาณให้ 22 ล้านบาท พร้อมจัดสรรพื้นที่ดูแลช้างที่สุรินทร์จำนวน 6,000 ไร่ และมี สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

“การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนก็คงต้องไปพัฒนาในเรื่องการท่องเที่ยวให้มากขึ้น อย่างที่สุรินทร์เองหากปรับให้มีการแสดง หรือโฮมสเตย์มากขึ้น คนก็จะมาเที่ยวเยอะขึ้น ควาญช้างจะได้มีรายได้ และช้างเองก็มีงานทำ ไม่ต้องมาเร่ร่อนลำบากอยู่ในเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

โปรดเห็นใจช้างไทย

แสวง บุญเหลือ ประธานสมัชชาชาวช้างแห่งประเทศไทย ในฐานะคนเลี้ยงช้างศูนย์คชศึกษา จังหวัดสุรินทร์ แสดงทัศนะว่า หากมองในมุมคนเลี้ยงช้างจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครอยากพาช้างเข้าไปหากินในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ จนกลายเป็นช้างเร่ร่อน ถ้าหากเขาอยู่ที่นี่แล้วเขาสามารถทำมาหากินได้

“ผมเห็นด้วยนะ กับการที่เขาผลักดันช้างออกนอกเมือง ปัญหามันก็เกี่ยวกับเงินกับอาหาร ต่างจังหวัดมันก็ไม่ค่อยมี คนก็อยู่ในเมืองกันหมด อาหารก็อยู่ในเมือง ถ้ามันเกะกะในเมืองก็ควรหาโซนให้เขาอยู่และผลักดันออกมา”

ส่วนเรื่องการตั้งรางวัล สำหรับผู้ที่แจ้งข้อมูลช้างเร่ร่อน เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนั้น แสวง บอกว่า

“ถ้าตั้งจับแบบนั้นก็ไม่ค่อยดี ให้ผลักดันโครงการแล้วค่อยๆ ทำ ดีกว่าก็มาลงโทษปรับคนไทยกันเอง ถ้าใครผิดก็ปรับคนนั้น ผลักดันไม่ได้ก็ต้องปรับ ผมไม่เห็นด้วยนะไม่ต้องถึงกับตั้งรางวัลนำจับหรอก ช้างก็ช้างไทย คนเลี้ยงช้างก็คนไทย เป็นคนจนและคนรากหญ้าเสียด้วย”

เหตุผลที่เจ้าของช้างส่วนหนึ่งนำช้างมาหากินในเมืองก็เพราะว่า สถานที่อื่นหากินลำบาก ซึ่งหากทางกรุงเทพฯ มีนโยบายผลักดันช้างออกไป ก็ควรจะจัดหาแหล่งที่อยู่ในต่างจังหวัดเพื่อรองรับพวกช้างเหล่านั้น

นอกจากนั้น แสวงยังเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะมีการจัดกิจกรรมให้ช้างไทยและหารายได้ให้แก่คนเลี้ยงช้างอย่างจริงจัง เช่นการนำช้างไปแสดงที่ต่างประเทศ แล้วนำเงินเข้าประเทศก็สามารถทำได้

เขายังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ช้างบางเชือกถูกส่งไปอยู่ต่างประเทศ เพื่อถวายให้ประมุขประเทศต่างๆ แต่เป็นการเอาไปแล้วไม่เอากลับมา มันเป็นการเสียดุลย์ทางการค้าอย่างหนึ่ง

“บางเชือกส่งไปอยู่ต่างประเทศ แบบให้แล้วให้เลย เขาก็จ่ายให้เรา 4-5 ล้านเท่านั้น ไม่เหมือนกับช่วงช่วงและหลินฮุ่ยที่เราต้องเช่าเขาปีละ 10 ล้าน”

คงจะดีไม่น้อยหากช้างไทยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้อย่างหมีแพนด้าสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจีน

จากราชินีช้าง ถึง ช้าง

ลองมาฟังเสียงของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กันว่า คิดเห็นอย่างไรกับปัญหาช้องเร่ร่อนและการให้รางวัล 2,000 บาทสำหรับผู้แจ้งเบาะแสช้างเร่ร่อนจะโดนใจพวกเขาหรือไม่

สุภาวดี จันทร์เพ็ญ ราชินีช้างประจำปี 2543 และควบตำแหน่งทูตอนุรักษ์ช้างแห่งภาคีช้างไทย คือคนที่เห็นช้างเร่ร่อนบ่อยมากๆ ในช่วงเย็นและหัวค่ำ ทั้งตามท้องถนนและในร้านอาหารย่านรามคำแหงที่เธอพักอาศัยอยู่ ซ้ำร้าย เคยเห็นช้างโดนรถชนบริเวณลำสาลีอีกด้วย

ความที่เธอเป็นคนรักสัตว์ ภาพช้างเร่ร่อนทำให้หญิงสาวสงสารจับจิต ขนาดข่มใจไม่ซื้ออ้อยเลี้ยงช้างเพราะรู้ว่าเป็นการส่งเสริมให้เจ้าของนำช้างมาเร่ร่อนต่อไป ก็ยังใจอ่อน ซื้ออ้อยให้จนได้

ส่วนการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนโดยมอบเงินรางวัล 2,000 บาทให้ผู้ที่แจ้งเบาะแส ราชินีช้างเห็นด้วย แต่ย้ำว่าต้องทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

“ทำวิธีใดก็ได้ให้ช้างกลับคืนสู่ป่า ขณะเดียวกัน ต้องกระจายรายได้สู่ชนบท สร้างอาชีพให้เจ้าของช้างด้วย เพื่อไม่ให้พวกเขานำช้างมาเร่ร่อนหากินอีก”

อธิคม องอาจ พนักงานบริษัทในย่านอ่อนนุช เล่าว่าเจอช้างเร่ร่อนบ้างเวลาออกไปซื้อของและกินข้าวที่ร้านอาหาร ส่วนใหญ่ช่วงตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป อธิคมเอ็นดูช้างที่ต้องมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรจะอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เข้าใจว่าทำไมเจ้าของช้างถึงทำเช่นนี้

“บ้านเกิดคงไม่มีอาชีพที่แน่นอน เขาก็เลยมุ่งหน้ามาเมืองหลวงเพื่อหาเงินประทังชีวิต ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ้านเมืองเรายังโกงกินกันอยู่ ปัญหาจึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าอยู่บ้านแล้วท้องอิ่ม ทั้งช้างทั้งคนคงไม่มาเร่ร่อนที่เมืองหลวงหรอก”

หนุ่มออฟฟิศไม่เห็นด้วยกับเงินรางวัล 2,000 บาท ที่กรุงเทพฯ จะมอบให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสช้างเร่ร่อน “เหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ต่างจากผักชีโรยหน้า ถ้านำเงินจำนวนนั้นไปมอบให้ผู้ที่ช่วยออกไอเดียแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนผมว่าเวิร์กกว่า”

…...

สุดท้ายแล้วช้างก็ควรอยู่ป่า... โครงการช้างยิ้มจะสำเร็จลุล่วงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจและข้อตกลงให้แก่ช้างไทย และคนเลี้ยงช้างคนไทยได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าหากที่เป็นอยู่มันดีอยู่แล้วก็ไม่มีใครที่อยากจะดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนหรอก

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์





กำลังโหลดความคิดเห็น