อาจเพราะ อำนาจของ ‘ผลประโยชน์เบื้องหลังการเมือง’ จึงทำให้คนในวงการบันเทิง สื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว และพิธีกร หันหลังให้แสงสี แล้วพร้อมใจกันกระโจนลงสู่สนามการเมือง
ไม่อย่างนั้นแล้ว คนกลุ่มนี้อาจคิดว่า ตนมีต้นทุนทางสังคมสูงกว่าคนทั่วไป อย่างน้อยก็ในเรื่องชื่อเสียง และความคุ้นหน้าคุ้นตาผ่านจอโทรทัศน์ ทำให้พวกเขากระหยิ่มยิ้มย่อง คิดว่ามีแต้มต่อสูงกว่าคนที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน
พูดอย่างนี้อาจโดนค่อนขอดว่ามองโลกในแง่ร้ายเอาได้ง่ายๆ หรือแท้จริงแล้ว คนบันเทิงและคนสื่อหน้าจอ ซ่อนฝีไม้ลายมือทางการบริหารบ้านเมืองไว้ใต้ใบหน้าเปื้อนเครื่องสำอางและอาภรณ์สุดเฉี่ยว???
ขอให้ ‘ดาราอยากเป็นนักการเมือง’ จงเจริญ
คนในจอที่ผันตัวเองไปเล่นการเมืองมีใครบ้าง?
ล่าสุดก็พระเอกตลอดกาล สมบัติ เมทะนี ที่สละเก้าอี้รองหัวหน้าพรรคประชาราช ไปซบอก 'พ่อใหญ่จิ๋ว' แห่งพรรคเพื่อไทย ฮิตสุดๆ เห็นจะเป็น ดาราชายนี่แหล่ะ ขยันลงสนามการเมืองเหลือเกิน!
เริ่มจากรุ่นเก๋า มิตร ชัยบัญชา ที่เดินสู่เส้นทางการเมือง (สมาชิกสภาเทศบาล) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แต่ไม่ได้รับเลือก พระเอกในตำนานสารภาพหมดเปลือกว่า ‘ที่ลงการเมือง เพราะหวังว่าชื่อเสียงจะหนุนนำให้สามารถเอาชนะใจประชาชนได้’
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ แม้ ‘เสด็จพี่’ ไม่มีบุญได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. แต่ก็ได้ทำงานการเมืองสมใจอยาก ปัจจุบันเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย
ดาวร้ายมาดกวน กรุง ศรีวิไล 2 ปีก่อนเกือบได้เป็น ส.ส. สมุทรปราการ หากไม่โดนฤทธิ์ใบเหลืองและข้อหาทุจริตการเลือกตั้งเสียก่อน ตอนนี้ฝันเป็นจริง นั่งเก้าอี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเต็มตัว
ยุรนันท์ ภมรมนตรี ขึ้นทำเนียบ ส.ส. กรุงเทพฯ ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2548 ก่อนโคจรในแวดวงการเมืองมาตลอด แวะไปประลองในสนามผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แต่ ‘พลาด’ เพราะได้อันดับ 2
ดนุพร ปุณณกันต์ วนเวียนในแวดวงการเมือง จนลืมหน้าจอโทรทัศน์ กับเก้าอี้ ส.ส. กรุงเทพฯ มีทั้งสอบตกและสอบได้
นอกจากนี้ ยังมีดาราหนุ่มอีกหลายคนที่อยากเป็นนักการเมือง ทั้ง เฉลิมชัย มหากิจศิริ, นาท ภูวนัย และ โกวิท วัฒนกุล ที่กอดคอกัน ‘แห้ว’ เก้าอี้ ส.ส. ปี 2550 ทั้งคู่
ศรัณยู วงศ์กระจ่าง แม้ไม่ได้ลงชิงชัยเก้าอี้ ส.ส. แต่มีบทบาททางการเมืองเป็นที่ประทับใจแม่ยกทั้งหลาย
อภิชาติ หาลำเจียก อดีต ส.ส. กาฬสินธุ์ พรรคกิจสังคม
ดี๋ ดอกมะดัน หรือ สภา ศรีสวัสดิ์ ที่ลงชิงชัย ส.ก.
หรือแม้แต่ ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รวมทั้งดาวร้ายมาดเหี้ยมอย่าง ฤทธิ์ ลือชา ก็ตัดสินใจลงเล่นการเมืองกับเขาด้วยเช่นกัน
แล้วสงสัยกันหรือเปล่าว่า ความสวยของดาราสาวจะทำให้พวกเธอซื้อใจประชาชนได้ไหม?
หลังชวดการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 นาถยา แดงบุหงา กลับมาแก้มือได้ในปี 2550 เป็น ส.ส. เขต 7 กรุงเทพฯ ผิดกับ ลีลาวดี วัชโรบล ที่ดวงไม่ค่อยรุ่งบนถนนการเมือง
มนต์รักเก้าอี้สภา
นักร้องไม่ได้มีดีแค่เสียง เพราะแห่กันเสี่ยงโชคในสนามการเมือง เริ่มจาก สุเทพ วงศ์กำแหง สมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้ทำงานการเมืองหลายสมัย
สุรชัย สมบัติเจริญ โดดเข้าชิงชัย ส.ส. เขต 9 กรุงเทพฯ ปี 2550 ปรากฏสอบตก
อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ‘เอาจริง’ มาตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ทำงานการเมืองอย่างจริงจังไม่แพ้ออกอัลบั้มเพลง ปี 2539 สวมหมวกพลังธรรมนั่งเก้าอี้ ส.ส. สำเร็จหนแรกในชีวิต คงไม่ต้องบรรยายว่าต่อมา ฤทธิ์เดชชายผู้นี้เป็นอย่างไร
เอกพจน์ วงศ์นาค (ปานแย้ม) นักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ได้เป็น ส.ส. ในปี 2539 ครองเก้าอี้เหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน
สดใส รุ่งโพธิ์ทอง เจ้าของเพลงฮิต ‘รักจางที่บางปะกง’ อยากเป็น ส.ว. และ ส.ส. แต่ก็ไม่สมหวัง
ปิดท้ายด้วย พรพิมล ธรรมสาร อดีตนักร้องนำวงโอเวชั่น ส.ส.ปทุมธานี เขต 2 ปี 2550
ส่วนสื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ดาหน้ากันแย่งเก้าอี้ ส.ส. เพียบ! ทั้งสาวสวย จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ อดีตพิธีกรรายการตีสิบ ปี 2544 เธอก้าวไปเป็น ส.ส. พรรคชาติไทย
ดร.อภิชาติ ดำดี เลือดนักต่อสู้ธรรมศาสตร์ข้นคลั่ก พลาดหวังจาก ส.ส. กรุงเทพฯ เมื่อปี 2529 และ 2530 แต่ปี 2549 กู้หน้าด้วยตำแหน่ง ส.ว. กระบี่
ศุภรัตน์ นาคบุญนำ พลาดหวังจากเกมการเมือง หันไปเป็นผู้ดำเนินรายการของสถานี ดี สเตชั่น เสียเลย
บุญยอด สุขถิ่นไทย ปี 2549 เริ่มลงเวทีเลือกตั้ง ส.ว. กรุงเทพฯ แต่แห้ว ปัจจุบันเป็น ส.ส. เขต 4 กรุงเทพฯ
นิติภูมิ นวรัตน์ ลองมาหมดทั้งสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ส.ว. และ ส.ส. ไม่สมหวังเสียที สำหรับหัวหน้าพรรคสุวรรณภูมิ
รัก ‘พี่น้อง’ เท่าฟ้า
“ต้องตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงก่อนอันดับแรก ต่อมาต้องรู้และเข้าใจปัญหาของประชาชนโดยถ่องแท้ทุกเหลี่ยมมุม”
รณฤทธิชัย คานเขต อดีตคนบันเทิงที่ก้าวสู่ทำเนียบ ส.ส. ครั้งแรกเมื่อปี 2539 ถือเป็นหนึ่งในดาราที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมือง เปิดการสนทนาด้วยคำแนะนำถึง ‘คนในจอ’ ที่อยากลงเล่นการเมือง
ส.ส. ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน คนนี้ไม่ปฏิเสธว่า คนดังอาจได้เปรียบในฐานะที่มีคนรู้จัก แต่ก็ไม่เสมอไปที่ผู้เลือกตั้งจะเทคะแนนให้
“ประชาชนพิจารณาจากความคิด ความเหมาะสม ส่วนความหล่อความสวย และความดังไม่ได้การันตีความสามารถในการไปเป็นนักต่อสู้ของประชาชน”
คลุกวงในการเมืองไทยมายาวนานพอควร รณฤทธิชัยจึงรับรู้ว่า การทำงานนักการเมืองไม่ใช่เป็นไปเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง แต่อยู่ที่การเสียสละ ทำงานให้กับประชาชน
“ปัญหาไม่ได้วิ่งเข้ามาหาเรา หลายครั้งที่ต้องวิ่งเข้าไปหาปัญหา แล้วจัดการแก้ไข เอาปัญหาไปชี้แจงกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น พูดในสภา หรือพูดให้หน่วยงานรัฐบาลฟัง เพื่อให้มาช่วยแก้ไขต่อไป
“การเมืองไม่เหมือนการแสดงที่ต้องเล่นไปตามบท ให้ตรงตามคาแร็กเตอร์ตัวละคร การเมืองต้องจริงจังและจริงใจในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน”
อดีตดาราเจ้าบทบาททิ้งท้าย
ก็เคยสัญญา
แฟนละครเห็น ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ อภิชาติ หาลำเจียก ในจอ อาจกรี๊ดสลบ และชื่นชมในฝีมือการแสดง แต่เมื่อทั้งคู่ผันตัวเองมาเล่นการเมือง เสียงกรี๊ดที่มีต่อคนแรก อาจกลายเป็นเสียงโห่!
“แซมเป็นดาราคนแรกที่มาลงสมัคร ส.ส. ที่เขตดินแดง ตอนที่เขาเข้ามาหาเสียงเนี่ย หล่อมาก เดินเข้ามาเคาะประตูทุกบ้านในซอยเลย เป็นผู้สมัครที่หาเสียงได้ดีมาก แต่พอได้เป็น ส.ส. แล้วก็ไม่เท่าไหร่นะ”
พรภิลักษณ์ คำดี ประชาชนเต็มขั้นที่อาศัยอยู่ในเขตดินแดง เล่าให้ฟังครั้งที่พระเอกหน้าหยกอย่าง 'แซม' เข้ามาเสนอตัวเป็น ส.ส. เขตฯ
“สมัยที่เลือกตั้ง แถวบ้านมีการเต้นแอโรบิกกันที่ลานกีฬา แซมเขาก็มาบ่อยๆ มาหาเสียง เขาก็หาพวกเครื่องเสียงมาให้ แล้วก็แซมนี่แหละ ที่นิมนต์หลวงพ่อคูณมาที่สนามกีฬาห้วยขวาง แล้วทำกับข้าวแจก เป็นงานบุญ เขาโดดเด่นกว่าทุกคนที่ลงสมัครเลยนะ คนอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งนี่ จำไม่ได้เลย คนส่วนมากชื่นชอบคุณแซมอยู่แล้ว ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น เขาก็ได้”
แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ต้นทุนของความเป็นคนในวงการบันเทิงนั้น ใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ล้วนขึ้นอยู่กับผลงาน ที่ใช้ซื้อใจประชาชน
“แต่สุดท้ายแซมก็มาอยู่ได้แค่สมัยเดียว สมัยต่อมา เขาก็ไม่ได้ลง การที่ดารามาทำงานการเมืองนั้น ดิฉันคิดว่าทำได้ไม่ดีเลย ไม่รู้ว่าเขาไม่มีเวลาหรือไง เพราะหลังจากเลือกเขาไปแล้ว ก็ไม่เคยมาให้เจออีกเลย สู้คนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้ ตอนนี้ถ้าให้เลือกอีก ก็ไม่เอาดาราแล้ว
“เวลาที่คนมีชื่อเสียงมาสมัคร เราไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ก็เลือกคนที่เรารู้จักไว้ก่อน แต่ครั้งเดียวเข็ดแล้ว คนแถวๆ บ้านยังพูดๆ กันเลยว่า หล่อก็ช่างมันแล้วคราวนี้ ส่วนคุณอภิชาติ นี่เขาได้เป็น ส.ก. เขต ซึ่งไม่ค่อยดังเท่าไหร่ แต่ต่างจากแซมนะ คนส่วนมากไม่ค่อยรู้จักกัน อย่างแซมนี่เป็นพระเอก ใครๆ ก็รู้จัก”
พรภิลักษณ์ คงเข็ดขยาด ส.ส. เพื่อไทย คนดังกล่าวไปอีกนาน
สุดเสน่หา...ต้นทุน ‘ดารา’ บนถนนการเมือง
“ถ้าหากคิดจะใช้ชื่อเสียงความเป็นดารามาเล่นการเมือง นั่นก็เหมือนกับเป็น ‘ทางลัด’ ในการนำไปสู่การเล่นการเมือง แต่ถ้าหากได้รับเลือกเข้าไปได้แล้ว คุณทำตัวเป็นนักการเมืองที่ดี ผู้คนก็จะศรัทธาคุณ และทำให้คนที่อาจจะเหยียดหยามว่าคุณเป็นแค่ดารา หันมาชอบคุณก็ได้ เหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของดาราคนนั้นๆ ซึ่งผมมองว่า ถึงอย่างไร การมีชื่อเสียงก็คือทางลัด แต่การจะพิสูจน์ตัวเองว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน นั่นย่อมขึ้นอยู่กับระยะเวลา”
ข้าราชการท่านหนึ่ง ผู้มีดีกรีเป็นทั้งบัณฑิตคณะนิติศาสตร์และมหาบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะ กรณีคนดังอยากใช้ ‘ความดัง’ ในสนามการเมือง
แล้ว ‘นักการเมืองที่ดี’ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ผู้นี้ ให้คำตอบว่า
“นักการเมืองที่ดี หมายถึง คนที่ทำเพื่อประชาชน เพราะคุณได้คะแนนเสียงมาจากใครล่ะ ถ้าไม่ใช่มาจากประชาชนที่เลือกคุณเข้ามา เพราะฉะนั้น อุดมการณ์ของคุณก็ต้องทำเพื่อประชาชน นั่นคือเป้าประสงค์หลัก เพราะการเดินเข้าสู่ถนนการเมือง คือการเข้าไปเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน เรื่องไหนที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของตนเอง ก็ไม่ต้องเข้าไปข้องแวะ คนแบบนี้จึงถือเป็นนักการเมืองที่ดี
“ขณะเดียวกัน หากเป็นดาราที่เป็นนักการเมือง ถ้าหากคุณได้รับเลือกตั้ง กลายเป็นนักการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรทำตัวเป็นดารา ไม่ใช่ทำตัวเสมือนว่าคุณกำลังเป็นนักแสดงอยู่หน้าจอทีวี หรือเป็นตัวละครตัวหนึ่ง เพราะหากเป็นเช่นนั้นมันก็คงตลก และผู้คนก็จะเสื่อมศรัทธาในตัวคุณ แต่ถ้าคุณสามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่า คุณทำงานเพื่อประชาชนได้จริง ๆ ทำงานเพื่อมวลชนได้จริง ๆ คุณก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัว เป็นนักการเมืองที่ดี ลบภาพความเป็นดาราออกไปได้”
สุดท้าย หาก 'คนในจอ' รายใดยังยึดติดกับความคิดเดิมๆ หวังให้ความดังช่วยโกยคะแนนเสียงเลือกตั้ง
คงต้องตะโกนดังๆ ว่า 'ฝัน (โคตรโคตร) ไปหรือเปล่าเพ่!!!' เพราะความดังอาจไม่จำเป็นมากเท่าไหร่ ในสนามการเมือง
**********
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK