xs
xsm
sm
md
lg

‘14 ตุลา’ กลืนกลายอุดมการณ์ เหลือเพียงแฟชั่น ‘เพื่อชีวิต’ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     ว่ากันว่า ยุคสมัยที่เมืองไทยถูกปกคลุมด้วยอำนาจเผด็จการ เพียงวลี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ที่วิทยากร เชียงกูล จารไว้ใน ‘เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน’ มีพลังมากพอที่จะปลุกนักศึกษาและคนหนุ่มสาวนับไม่ถ้วน ให้ตั้งคำถามถึงสภาพสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของมัน

     นับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่มีส่วนปลุกเร้าจิตสำนึกรับใช้มวลชน ไม่ต่างจากแนวคิดของเช กูวารา, ประธานเหมา เจ๋อตุง รวมถึงงานเขียนและบทเพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ล้วนส่งผลสะเทือนทางความคิด ทั้งปลุกโหมความกล้าได้มากพอที่จะโค่นล้มอำนาจเผด็จการด้วยพลังบริสุทธิ์ของประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
แต่วันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป เช กูวารา กลายเป็นสติกเกอร์ติดท้ายรถบรรทุก และท่านประธานเหมาก็กลายเป็นถ้วยกาแฟ ใครหลายคนใส่เสื้อสกรีนหน้า จิตร ภูมิศักดิ์ เพียงเพราะเห็นว่าชายใส่แว่นคนนี้...ดูน่าค้นหา

อดสงสัยไม่ได้ว่า ใน พ.ศ. นี้ จิตสำนึกรับใช้เพื่อนมนุษย์และมวลชนผู้ทุกข์ยาก ที่เรียกขานกันง่ายๆ ว่า อุดมการณ์ ‘เพื่อชีวิต’ ของคนเดือนตุลานั้น ยังหลงเหลืออยู่ไหม หรือกลายเป็นแค่แฟชั่นสำหรับคนดิบๆ แนวๆ อินดี้ๆ ไปซะหมด
……….

ส่งต่อประวัติศาสตร์ผ่านเสื้อรณรงค์

วันนี้ เมื่อ 36 ปีที่ผ่านมา คือวันที่มีเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองของเหล่านักศึกษาประชาชนครั้งสำคัญเกิดขึ้น

14 ตุลาฯ 2516 เป็นวันที่คนเรือนแสน ออกจากบ้าน มุ่งหน้ามายังถนนราชดำเนิน โดยที่ทุกคนนั้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือการให้ได้มาซึ่ง สิทธิ เสรีภาพ แลความเท่าเทียมที่แท้จริง ภายใต้วิถีแห่งประชาธิปไตย

แต่ทว่า คำตอบที่เขาได้รับจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้น คือความรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นบาดแผลที่ยากแก่การเยียวยา แต่กระนั้น มันก็ทำให้วันที่ 14 ตุลาฯ คือหมุดหมายแห่งการเริ่มต้น วิถีแห่งการเสาะหาเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นบทเรียนของสังคม ที่ส่งผ่านมากันต่อมาในสังคมไทย

จริงอยู่ 36 ปีที่เลยผ่าน อาจจะเป็นเวลานานโข แต่ความทรงจำอันแสนเจ็บปวดและรสชาติของเสรีภาพอันหอมหวานก็ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ อีกทั้งยังเป็นบทเรียนราคาสูงที่ส่งต่อมาถึงคนรุ่นถัดมา

เป็นเรื่องธรรมดา ที่เวลามักจะทำให้ภาพของประวัติศาสตร์ซีดจางและไม่ชัดเจนเท่าห้วงขณะที่มันกำลังเกิด

ดังนั้น ในวันนี้ หากถามไถ่ถึงเรื่องราวของ 14 ตุลาคม 2516 กับคนในเจเนอเรชันเกาหลี อาจจะมีน้อยคนนักที่ตอบได้ชัดว่าวันนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง บ้างก็ตอบกลับให้ปวดใจว่า “อ๋อ วันที่ 14 ตุลานะเหรอ ได้ยินมาว่าเขามีการยิงกันนะพี่” หรืออย่างเก่งก็จะตอบได้ภาพเลาๆ ว่า “วันนั้นมีการประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตย แล้วก็มีการยิงกัน”

แม้คำตอบฟังดูหดหู่และหม่นหมอง แต่เราก็ไม่อาจกล่าวโทษคนรุ่นถัดมานี้ได้เต็มปาก จริงๆ แล้ว เรามิอาจกล่าวโทษสิ่งใดได้เลย นอกจากวันเวลา และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

แต่กระนั้น ก็ยังมีคนรุ่นถัดมาบางกลุ่ม มองเห็นความสำคัญของการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้ ทั้งศึกษาและพยายามเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งนอกจากการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบของเอกสาร และการจัดสัมมนาในวาระต่างๆ แล้ว การทำ ‘เสื้อรณรงค์’ ก็เป็นอีกวิถีทางหนึ่ง ที่จะส่งผ่านเรื่องราวที่พวกเขารับรู้ออกไปในวงกว้าง

การเกิดขึ้นของเสื้อรณรงค์เหล่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องราว ของ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงเนื้อหาเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองอื่นๆ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความเข้าใจระหว่างชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เสื้อเหล่านี้ จะถือกำเนิดขึ้นโดยนักศึกษา ตามองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ และถึงแม้ว่า เสื้อเหล่านี้จะส่งต่อเนื้อหาของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ถูกถูกหลงลืมไปอย่างเงียบๆ ว่าไหม?


‘ประธานเหมา’ บนถ้วยกาแฟ

“บางคนคงมองว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับผมผม ผมมองว่า จะใส่ก็ใส่ไป แม้แต่ท่านประธานเหมาของจีน ที่เคยถูกยกย่องอย่างมหาศาลยังกลายเป็นถ้วยกาแฟได้เลย ยังไงซะมนุษย์ก็คือมนุษย์ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกย่องใครจนเกินความเป็นมนุษย์”

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้อำนวยการสถาบันต้นกล้า องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำกิจกรรมด้านการรณรงค์จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตอบคำถามเราอย่างไม่อ้อมค้อม เมื่อถามว่า นักกิจกรรมตัวยงอย่างเขา รู้สึกอย่างไร กับแฟชั่นเสื้อยืดประธานเหมา เข็มกลัดรูปเช หมวกดาวแดง และอีกนานาสารพัดแฟชั่น ‘เพื่อมวลชน’ ที่มีให้เห็นกันเกร่อ โดยที่บางครั้ง คนใส่ก็ไม่รู้ความหมายของบุคคลหรือสัญลักษณ์เหล่านั้นด้วยซ้ำไป

“ถ้ามันจะกลายเป็นแฟชั่น ถึงอย่างไร ผมก็เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ย่อมมีการตั้งคำถาม เช่น ก่อนหน้านี้ มีคนใส่เสื้อเช, นำภาพเช ไปติดท้ายรถบรรทุก มันก็ทำให้คนสนใจ ซึ่งถ้าความสนใจนั้น นำไปสู่การใส่ใจ และค้นคว้าเรื่องราวของบุคคลเหล่านั้น แฟชั่นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย”

กิตติชัย มองว่า ถึงที่สุด สัญลักษณ์อุดมการณ์เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างน้อยๆ ขอให้รู้ ว่าโลกนี้ ยังมีคนเหล่านี้อยู่ คนที่ทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ซึ่งถ้าเขาจะถูกนำไปทำเป็นการค้า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ...

“โลกนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ และอีกอย่าง ผมว่าเราอย่าทำใครให้ศักดิ์สิทธิ์เกินไป เพื่อที่เราเองจะได้ไม่ทุกข์มาก และถ้าอยากทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ คนรุ่นเราก็ต้องทำงานให้เยอะขึ้น ไม่ต้องเรียกร้องคนรุ่นใหม่ แต่ขอให้เราเรียกร้องตัวเอง”

แม้ทำงานเคลื่อนไหว จัดกิจกรรมของคนเล็กๆ กระตุ้นจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอยู่สม่ำเสมอ แต่กิตติชัยก็ย้ำว่า เรื่องราวการเรียกร้อง โค่นล้มเผด็จการของคนเดือนตุลา นั้น ควรจะมีวิธีสื่อสารรกับคนรุ่นใหม่ในแบบที่ ‘รับง่าย’

“ไม่ต้องซีเรียสเกินไป ไม่ต้องแบบว่า ศึกษาไปเรื่อยๆ แล้ว เกิดความรู้สึกว่า ‘กูโง่จัง’ ‘กูแย่จัง’ แต่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เข้าถึงง่าย เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีไว้ให้เราชื่นชม ไม่ได้มีไว้ให้เราเลียนแบบ แม้คนรุ่นใหม่ เขาจะไม่ได้สนใจเรื่อง 14 ตุลาฯ แต่ถ้าเขาหันไปสนใจศึกษาเรื่องราวของคานธี เรื่องราวของกระบวนการฮิปปี้ หรือแม้แต่ เรื่องราวของสังคมนิยมในประเทศอื่นๆ ผมก็ว่าเป็นสิ่งดี”


จิตวิญญาณ ‘คนตุลา’ ที่เหลืออยู่

“สำหรับผม มองว่า อุดมการณ์ของการเรียกร้องต่อสู้ของคนเดือนตุลา คงค่อยๆ จางหายไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็เนื่องจาก เวลาผ่านมานานมาก อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเรียกร้องในช่วง 14 ตุลาคม 2516 นั้น เป็นการต่อสู้กับเผด็จการ สู้กับภัยคุกคามของอเมริกาของ ญี่ปุ่น ซึ่งยุคหลังๆ มันไม่ค่อยมีเรื่องพวกนี้แล้ว คนที่คิดสู้กับเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังก็ลดน้อยลง การรำลึกถึงก็มักกลายเป็นเรื่องของคนยุคนั้นเสียมากกว่า ส่วนคนรุ่นใหม่ๆ ก็จะรู้สึกว่า ห่างไปแล้ว นี่เท่าที่ผมสัมผัสมา” กิตติชัย สะท้อนความเห็นของเขาอย่างตรงไปตรงมา

กระนั้น เขาก็ไม่ได้หลงลืมความสำคัญ ของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้

“ไม่ว่าอย่างไร 14 ตุลาฯ ก็ยังมีพลังของความเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ นี่คือสิ่งที่ ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุการณ์นี้สร้างนักสู้ขึ้นมาเยอะมาก แต่ถ้าหากจะบอกให้คนในยุคปัจจุบันกลับไปยึดอุดมการณ์ ความคิดแบบ 14 ตุลาฯ ผมว่าไม่ใช่แล้ว ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะตอนนี้ทั่วทั้งโลกก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ผมยังยืนว่า เราควรจะใส่ใจเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ ของคนในสังคม เพราะจิตวิญญาณอย่างหนึ่งของคนเดือนตุลา ที่ยังคงสื่อสารได้ทุกยุคสมัยก็คือ ผู้คนในยุคนั้น เขายึดมั่นและมีความคิดในการทำอะไรเพื่อคนอื่น

“เขาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกันแสวงหา ซึ่งทุกวันนี้ คำว่า ‘แสวงหา’ ไม่ค่อยมีแล้ว มันคลายมนต์เสน่ห์ลงไปแล้ว เพราะยุคนี้ ถ้าจะมีหนังสือขายดีก็คือ หนังสือแสวงหาความร่ำรวย กิจกรรมหลักของเยาวชนที่มีความสามารถ ก็มักจะมุ่งเน้นกันไปที่การประกวดต่างๆ เสียมากกว่า เช่น การทำหนังสั้น หรือการประกวดร้องเพลง คือ มันไม่ค่อย มีกระแสเรื่องการทำอะไรเพื่อคนอื่น”

แต่ถ้าถามว่าผิดไหม? หากเด็กวัยรุ่น จะสนใจแค่เรื่องของตัวเอง มีตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก มากกว่าจะคิดทำอะไรเพื่อคนอื่น กิตติชัยตอบว่า

“มันเป็นสิทธิของเขาครับ แต่โดยส่วนตัวผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะผมคิดว่า การได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รวมถึงการได้ฝึกฝนตนเองเพื่อพัฒนาจิตใจตนเองขึ้นไป เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว เพราะสำหรับผม ถือว่าการได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น คือการพัฒนาตนเองและจิตใจ มันเป็นสิ่งที่มีพลังมากกว่าการแสวงหาตัวตน มากกว่าการทำตัวเองให้ดูเท่ ดูโด่งดัง สิ่งเหล่านี้คงเป็นโจทย์หนึ่งของคนยุคนี้ เขาควรจะครุ่นคิดกับโจทย์นี้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ ทุนนิยมก็กินพื้นที่ทางความคิด และพื้นที่ของชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ”


ก้าวข้าม ‘สัญลักษณ์’

ถึงที่สุด หากเข็มกลัดรูปชายไว้เครารกครึ้มสวมหมวกเบเร่ต์ หรือแม้แต่บทกวีบนเสื้อยืดที่ว่า

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน


จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคน นั่นก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถ้ามันทำให้ใครคนนั้น สนใจค้นหาที่มา ค้นหาประวัติผู้แปล ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของสภาพสังคมที่หล่อลอมชายสวมหมวกเบเร่ต์คนนั้นให้ ‘NEVER DIE’ หรือค้นหาว่าอะไร ทำให้กวีชาวอาร์เมเนีย รจนากวีบทนี้ขึ้น และเหตุใด มันจึงข้ามน้ำข้ามทะเล มาก่อแรงสะเทือนให้แก่สังคมไทยในยุคสมัยหนึ่ง

ต่อเมื่อมองทุกสิ่งด้วยสายตาที่เปิดกว้าง ย่อมตระหนักได้ว่า จิตวิญญาณหรือเจตนารมณ์ที่แท้ ย่อมอยู่พ้นยุคสมัยและรูปลักษณ์ ภายนอก เพราะ ‘เนื้อใน’ ต่างหากที่สำคัญกว่า

ดังนั้น แม้จะถือ ‘หลุยส์ วิตตอง’ สวม ‘พราดา’ หรือใส่รองเท้าแตะ สวมเสื้อเช แต่ถ้ามองทุกคนว่ามีความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ คนคนนั้นก็น่านับถือ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศตนด้วยสัญลักษณ์ความเชื่อใดให้ใหญ่โตจนเปลืองแรง ไม่จำเป็นต้องขีดกรอบตัวเอง ว่า รูปลักษณ์ดู ‘ติดดิน’ ‘รับใช้มวลชน’ ทว่า เหยียดหยามทุกคนที่เห็นต่าง

ก็ถ้าจิตวิญญาณของคนเดือนตุลา คือ ‘ความเท่าเทียม’

เราทั้งมวลที่เป็นลูกหลานของประวัติศาสตร์นั้น ก็น่าจะลองหยิบมาใช้ ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในสถานะใดของสังคม

แม้อาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เหตุการณ์เดือนตุลายังเหลือทิ้งไว้ให้แก่คนยุคนี้ และยังนำมา ‘ใช้การได้จริง’ ในปัจจุบัน

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พลภัทร วรรณดี



กำลังโหลดความคิดเห็น