xs
xsm
sm
md
lg

ลมหายใจสุดท้ายของโทรศัพท์ตู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในขณะที่สังคมกำลังจับตาดูการประมูล 3G ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหมุดหมายใหม่ของเทคโนโลยีโทรคมนาคมของบ้านเรา ส่วนไอโฟนกับแบล็กเบอร์รีก็กำลังฟาดฟันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือด ทว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะที่อยู่ตามตรอกซอกถนนที่รับใช้เรามานานกลับมีเพียงลมหายใจที่แผ่วเบารวยริน และพร้อมทุกเมื่อที่จะจากเราไปอย่างเงียบๆ

แผ่วเบาเสียจนมีหลายคนทำนายว่า สุดท้ายแล้ว บริการโทรศัพท์สาธารณะที่เคยใช้งานกันมาจะต้องหายไปจากประเทศไทยในที่สุด

เมื่อเวลา ผ่านไป อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการตู้โทรศัพท์สาธารณะจึงต้องหาทางดิ้นเฮือกสุดท้าย เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไป ล่าสุด ความพยายามที่จะทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะสามารถเติมเงินโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพด ก็เป็นอีกทางที่ถูกนำมาใช้

ไม่รู้ว่าผลจะออกมาหมู่หรือจ่า แต่ที่แน่ๆ นี่อาจจะเป็นหนทางเดียวที่ยังเหลืออยู่ของตู้สาธารณะในยุคมือถือครองเมือง

อดีตอันรุ่งเรืองของตู้สาธารณะ

ย้อนไปในอดีต เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องระบบโทรคมนาคมในบ้านเรายังเป็นปัญหาใหญ่ คู่สายโทรศัพท์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้น การขอเบอร์โทรศัพท์มาใช้ที่บ้านครั้งหนึ่งต้องเสียเงินมากถึงสาม-สี่หมื่นบาท บางทีอาจจะซื้อขายกันถึงหลักแสน ขาดแคลนจนถึงขั้นที่เอกชนบางรายยอมซื้อตู้โมบาย (ตู้ชุมสาย) แล้วยกให้องค์การเลยก็มี

ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่มีโทรศัพท์บ้าน หากอยากจะโทร.หาใครสักคน ทางออกก็คือตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าปากซอย

“ในยุคนั้น เพย์โฟน (ตู้โทรศัพท์สาธารณะ) นี่รุ่งเรืองมาก เพราะว่าที่บ้านไม่มีใช้ ก็ต้องวิ่งออกมาใช้ตู้ข้างนอกกัน ซึ่งในบางพื้นที่ก็ไม่มีชุมสายเข้าไปถึง ก็แก้ปัญหาโดยการใช้ระบบโทรศัพท์ทางไกลชนบท เป็นคลื่นวิทยุ ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ทำแล้วไม่มีทางได้กำไร เป็นการทำเพื่อสังคมมากกว่า”

สาธิต อัศวพิภพไพศาล ผู้อำนวยการธุรกิจโทรศัพท์สาธารณะ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) เล่าถึงยุคที่โทรศัพท์สาธารณะรุ่งเรืองถึงขีดสุด

“ในยุคที่มีเพจเจอร์นั้น มือถือยังไม่บูม มือถือรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาก็ใหญ่เป็นกระติกน้ำเลย แถมยังราคาเป็นแสน คนเลยไม่ได้ใช้กัน ทีนี้ เมื่อได้รับข้อความทางเพจเจอร์ คนก็ต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะในการโทร.กลับ ผมจำได้ว่าชุมสายขององค์การฯ ที่กรุงเกษมถึงกับล่ม เพราะคนใช้เยอะมาก ดังนั้นรายได้จากโทรศัพท์สาธารณะจึงสูงกว่าทุกวันนี้ อย่างเทียบไม่ได้ สมัยนั้นยังมีแต่ตู้ขององค์การฯ ล้วนๆ นะยังไม่มีให้การสัมปทานเอกชน

“เอกชนเริ่มเข้ามาได้สัมปทานในยุคของคุณอานันท์ (ปันยารชุน) เป็นนายกฯ ที่ให้ TA (หรือทรูในปัจจุบัน) และ TT&T เข้ามาดำเนินการ โดย TA ได้มา 2.6 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ TT&T ได้มา 1.5 ล้านเลขหมาย สำหรับส่วนภูมิภาค ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีโทรศัพท์สาธารณะ เจ้าละประมาน 25,000 เลขหมาย”

แน่นอน เมื่อมีความต้องการใช้สูง ก็ทำให้รายได้ของโทรศัพท์สาธารณะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว ใครจะเชื่อว่าแต่ละตู้สามารถทำเงินได้เดือนละเป็นหมื่น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคมือถือ รายได้ที่เคยเป็นหมื่นบาทก็หดเหลือแค่หลักร้อย จากเมื่อก่อนที่พนักงานต้องไขตู้เดือนหนึ่งสองสามเที่ยว ทว่าเดี๋ยวนี้ สองเดือนไปไขทีก็ยังไหว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วโทรศัพท์สาธารณะจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร?

“ลูกค้าของเราก็ยังคงมีอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ เชื่อว่าถึงจุดต่ำสุดของมันแล้ว เราก็ต้องมานึกว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่เรามีอยู่อย่างไร อย่างโทรศัพท์บ้าน รายได้ก็ตกเหมือนกัน เขาก็แก้ปัญหาโดยการนำเอาคู่สายมาใช้เป็นอินเทอร์เนต ADSL เสีย เราก็มาคิดว่า น่าจะเอาตู้ที่เรามีอยู่มาเป็นจุดเติมเงินมือถือได้ เพราะไหนๆ มือถือก็มาแชร์ตลาดจากเราแล้ว เราก็น่าจะแชร์ตลาดมาจากเขาบ้าง จากเพย์โฟน ก็ทำเป็นเพย์พอยต์เสีย

“แต่การเปลี่ยนมาเป็นเพย์พอยต์เป็นเพียงแค่การบรรเทาสถานการณ์เท่านั้น มันอาจจะไม่ได้ทำให้โทรศัพท์สาธารณะรุ่งเรื่องเหมือนแต่ก่อน ต้องยอมรับว่ากระแสของเทคโนโลยีมันไปอีกทางหนึ่งแล้ว”

เสียงจากคน ‘รุ่นมือถือ’ ในเมือง

แต่กระนั้น คนที่มีโทรศัพท์มือถือของตัวเองส่วนมากก็ยังคงคิดว่า การมีโทรศัพท์สาธารณะ ก็ดีกว่าไม่มีเลย

“ไม่ถึงขั้นตัดขาดค่ะ ก็ยังใช้อยู่นะ ใช้ทั้งโทรศัพท์ตู้ แล้วก็โทรศัพท์มือถือนั่นแหละ”
เบสท์-ภัทรนิษฐ์ บุณยเลิศโรจน์ สาวน้อยหน้าใส ยืนยันว่าเธอไม่ใช่มนุษย์ ‘มือถือ’ ที่โบกมือลาเจ้าตู้โทรศัพท์สาธารณะอย่างเด็ดขาด เบสท์บอกว่า แฟนหนุ่มของเธอก็ไม่ต่างกัน ทั้งเธอและเขายังคงใช้บริการตู้โทรศัพท์อยู่เนืองๆ

ต่างจากหนุ่มหน้าคมอย่าง หมี-สุรเดช ยิ้มละมัย ที่บอกเรา ว่า

“ผมจะใช้ตู้โทรศัพท์ก็ต่อเมื่อเงินในโทรศัพท์มือถือหมดเท่านั้น ไม่ค่อยได้ใช้ตู้โทรศัพท์มา 4-5 ปีแล้วครับ ก็ตั้งแต่ผมมีโทรศัพท์มือถือใช้นั่นแหละ นอกเสียจากเงินในโทรศัพท์หมดเกลี้ยง ผมถึงจะไปใช้โทรศัพท์ตู้ นอกจากนั้นมีธุระอะไรที่ต้องติดต่อผมก็ใช้โทรศัพท์มือถือนี่แหละครับ เพราะมันสะดวกสบาย ไม่ต้องลุกไปไหนให้ยุ่งยาก ไม่ต้องเดินออกนอกบ้านไปที่ตู้โทรศัพท์ด้วย”

แต่ใช่ว่า ‘มือถือ’ จะเหมาะเหม็ง เข้ากับวิถีชีวิตวัยรุ่นที่ต้องการความรวดเร็ว ปรู๊ดปร๊าดทันใจเท่านั้น เพราะหมีมองว่าเจ้ามือถือมันยังมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ที่เดินเหินไม่ค่อยสะดวก แข้งขาขยับได้ช้า บ้างปวดข้อปวดกระดูก

“มีประโยชน์สำหรับคนแก่ด้วยครับ เพราะแค่กดโทรศัพท์มือถือก็คุยได้แล้ว ไม่ต้องลุกเดินไปไหนไกลๆ”

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นเหล่านี้ จะหลงลืมข้อดีของโทรศัพท์สาธารณะไปเสียหมด ทว่าข้อดีเหล่านี้ หากต้องแลกกับความสะดวกสบายที่มือถือมีให้แล้ว โทรศัพท์สาธารณะก็ต้องกลายเป็นมวยรองอย่างไม่ต้องสงสัย

“มันไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณขาดหายครับ นี่คือข้อดีของโทรศัพท์ตู้เลยนะ แต่ถ้าข้อเสียก็คือ กินเหรียญ ผมเคยโดน”

แต่กระนั้น หมีก็ยังเชื่อว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และจะไม่มีวันหายไปจากวิถีชีวิตของผู้คน ด้วยเหตุผลที่ว่า

“เพราะคนไทยไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือใช้กันทุกคนนี่ครับ ในอนาคต คนกลุ่มนี้จะกลายเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ ของสังคม ผมหมายถึงว่าใครๆ อาจจะมีมือถือใช้กันทั้งนั้น แต่คนที่เขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือก็จะยังมีอยู่ หรือแม้แต่ชาวเขา ชนเผ่าบนดอย ที่เขาไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ เขาก็ต้องใช้บริการตู้โทรศัพท์เวลาที่เขาต้องติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่คนที่ใช้มือถือเป็นประจำอย่างผม เวลาที่เงินในเครื่องหมดก็ต้องใช้บริการตู้สาธารณะอยู่ดี มันไม่มีวันหายไปจากประเทศไทยหรอกครับ” หนุ่มหน้าเข้มทิ้งท้ายด้วยความเห็นเป็นปากเป็นเสียงแทนมนุษย์ ‘อะนาล็อก’ และมนุษย์ ‘มือถือ’ อีกไม่น้อย ที่ไม่ว่ายังไง ก็ไม่ตัดขาดจากเจ้าตู้โทรศัพท์สาธารณะแน่นอน (ถึงแม้ว่าจะจัดอันดับความสำคัญไว้แค่ระดับตัวสำรองก็ตาม)

มุมมองของคนนอกเมือง

คนเจเนอเรชันไอทีที่มีชีวิตอยู่ในเมืองคิดและมองโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์พื้นฐานแบบหนึ่ง แต่สำหรับคนตามต่างจังหวัดก็มีวัฒนธรรมและจินตนาการต่อมือถือที่ค่อนข้างแตกต่างในบางแง่มุม

อย่าง อำพล อินทรวิจิตร เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง เขาบอกว่าเกิดไม่ทันพอจะรับรู้ความเป็นไปของยุคโทรศัพท์พื้นฐาน แต่ก็เคยใช้บ้าง

“ชอบมือถือมากกว่า เพราะพกไปไหนมาไหนได้ สะดวก รวดเร็ว แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ มันก็ยังมีประโยชน์ คนที่ไม่มีมือถือจะได้ใช้ได้ อย่างผมก็เพิ่งใช้เครื่องสาธารณะ เงินในมือถือมันหมด”

ขณะที่คนเมือง โทรศัพท์มือถือเกี่ยวโยงกับไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และจินตนาการต่อตนเองในสายตาผู้อื่น โทรศัพท์มือถือจึงเป็นอะไรที่มากกว่าเครื่องมือการสื่อสาร การมีอยู่ของโทรศัพท์สาธารณะก็คงเป็นแค่สิ่งไกลตัว เด็กรุ่นใหม่บางคนอาจต่อไม่ติดด้วยซ้ำกับโทรศัพท์พื้นฐาน

“เมื่อก่อนใช้แต่โทรศัพท์สาธารณะ เพราะที่บ้านป้าไม่มีโทรศัพท์บ้าน เป็นบ้านเช่า เลยไม่ได้ขอ เดี๋ยวนี้บ้านป้าใช้มือถือกันคนละเครื่อง”

ป้า กนกพร คงทองยี วัย 63 ปี เป็นคนรุ่นเก่าที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือตามยุคสมัย ป้ากนกพรบอกว่ามันสะดวกกว่า สามารถติดต่อโดยตรงถึงคนคนนั้น

“ป้าว่าไม่มีโทรศัพท์สาธารณะก็ไม่เป็นไร ไม่มีก็ไม่ใช้ ใช้จดหมายก็ได้แต่ช้า”
แล้วกรณีฉุกเฉินจะทำยังไง? “ก็ยืมเอา ของที่ป้าใช้อยู่เขาให้ยืมเงินโทร.ก่อนได้” (อินเทรนด์มากสำหรับคนวัยนี้)

น่าสนใจที่คนรุ่นเก่าอย่างป้ากนกพรมองไม่เห็นความสำคัญของโทรศัพท์สาธารณะอีกแล้ว แต่อำพล หรือ พูลศักดิ์ สนเขียว วัย 42 ปี กลับเห็นว่ายังจำเป็น เขาเองก็ไม่เคยมีโทรศัพท์บ้าน แต่ก่อนก็ใช้แต่โทรศัพท์สาธารณะ พอมีมือถือก็หันมาใช้มือถือ

“แต่ก็ไม่ค่อยได้โทร.เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ใช้ติดต่องาน โทร.เข้าโทร.ออก แต่โทรศัพท์สาธารณะผมว่ายังจำเป็น เผื่อกรณีฉุกเฉิน”

สังเกตได้อย่างหนึ่งว่าโทรศัพท์มือถือของต่างจังหวัดที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกับคนเมืองมาก พวกเขามีวิธีการมองโทรศัพท์มือถือที่ค่อนข้างแตกต่าง พวกเขามองที่ความเป็นเครื่องมือสื่อสารมากกว่าจะมองคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายตอนนี้ โทรศัพท์มือถือจึงเหมือนกับโทรศัพท์สาธารณะในแง่ของการเป็นเครื่องมือสื่อสาร
แต่ดูเหมือนว่าต่อให้โทรศัพท์สาธารณะจะเก่าแก่ ตกรุ่น และมีสภาพเหมือนสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์แค่ไหน ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนหนึ่ง โทรศัพท์สาธารณะก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหลักประกันยามฉุกเฉิน และไม่ว่าจะถามอีกกี่ครั้งคนก็คงตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า “จำเป็นต้องมี”

...ต่อเมื่อโทรศัพท์มือถือสามารถสร้างหลักยึดให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของมนุษย์ได้นั่นแหละ คำตอบอาจจะเปลี่ยน


********

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พลภัทร วรรณดี




กำลังโหลดความคิดเห็น