“เครื่องประดับเชิงศิลป์นั้นคืออะไร” แล้ว “เครื่องประดับกับงานศิลป์ เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร”
หากถามขึ้นมาเช่นนี้มักมีมากมายหลากหลายคำตอบ M-Lite จะพาไปค้นพบ กับวิวัฒนาของเครื่องประดับที่เกิดขึ้นในยุโรป รวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของประเทศในแถบนั้นกัน
“เพราะเครื่องประดับเองมิใช่เป็นเพียงแค่สิ่งของหรือเครื่องประดับที่คุณจะมาทำความรู้จักกันอย่างผิวเผิน หรือมองเพียงแค่ความสวยงามภายนอกเท่านั้น แต่เครื่องประดับสามารถเป็นสิ่งที่สื่อสารระหว่างกันได้” ดอริส แมนนิเกอร์ วิทยากร และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเครื่องประดับชื่อดัง จากอิตาลี กล่าว
เครื่องประดับเชิงศิลป์ หรือที่เคยเรียกกันว่า เครื่องประดับทำมือ เป็นงานที่ศิลปินเองใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ไม่มากนัก ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้เริ่มมีศิลปินจากแขนงอื่นๆ มากมายเข้ามาเริ่มสร้างสรรค์งาน เช่น Alexander Calder ผู้หนึ่งที่สร้างสรรค์งานเครื่องประดับ นอกจากนี้การสร้างเครื่องประดับทำมือในยุคแรกๆ จึงได้รับอิทธิพลมากจากชาวพื้นเมืองหรือ อินเดียนแดง และเริ่มแตกออกเป็นวัฒนธรรมย่อยอย่างกลุ่ม ฮิปปี้ พังก์ เป็นต้น
หลายประเทศในยุโรปมีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์งานประเภทนี้ เพราะมีเอกลักษณ์และมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไปได้อย่างลงตัว
ฮอลแลนด์
แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ว่าได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในเรื่องออกแบบเครื่องประดับในเชิงศิลป์อย่างมากทีเดียว ถึงขั้นมีแกลเลอรีเฉพาะสำหรับการขายงานศิลป์ประเภทนี้เป็นหลักมากที่สุด และภาครัฐเองก็ยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การซื้อขายงานศิลปะในประเทศนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
รูปแบบงานของชาวดัตช์จะมีการนำเอาประสบการณ์ส่วนตัว ความนึกคิดที่ละเอียดอ่อน และหลักปรัชญามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน และยังเน้นการผสมผสานความรู้จากศิลปะแขนงอื่น อีกด้วย ดังนั้นงานเครื่องประดับของชาวดัตช์อาจเปรียบได้เหมือนงานศิลปะเลยทีเดียว
เยอรมนี
“Munich เป็นเมืองที่มีแกลเลอรี่มากมาย และ มีโรงเรียนชื่อดังคือ Munich Academy of Art ที่มีการสอนเรื่องเครื่องประดับอีกด้วย ผู้ริเริ่มพัฒนางานในรูปแบบใหม่นี้ก็คือ Hermann Junger ที่ได้ผสมผสานวัสดุมีค่าเช่นทองคำ และ พลอย ในการสร้างงานเครื่องประดับรูปแบบใหม่ด้วยการนำเทคนิคช่างทองแบบดั้งเดิมมาใช้”
โดยรวมแล้วนั้นงานเครื่องประดับในประเทศเยอรมนีนั้นยอมรับการใช้วัสดุมีค่าดังเช่นเครื่องประดับแบบดั่งเดิม แต่สร้างความแตกต่างด้วยการออกแบบที่มี
เอกลักษณ์
นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาการออกแบบเชิงศิลป์มีใช้ในการผลิตเครื่องประดับเชิงอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยมีแบรนด์ Neissing เป็นผู้นำในการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับนี้
สวิสเซอร์แลนด์
ลักษณะงานเครื่องประดับเชิงศิลป์ของสวิตเซอร์แลนด์นั้น จะมีความเด่นอยู่ที่ความเนียบในเรื่องของเทคนิคการมีแนวคิดที่เด่นชัด และการเสียดสีสังคมในการสร้างชิ้นงาน
Bernhard Schobinger คือศิลปินที่กระตุ้นความคิดของคนในเรื่องของคุณค่าของงานเครื่องประดับโดยสื่อสารให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค นำเอาวัสดุต่างๆ ที่ถูกลืมมารีไซเคิลใหม่ให้เป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม
นอกจาก นี้ยังมีศิลปินที่มีแนวคิดที่นำเอาวัสดุไร้ค่า เช่นเปลือกของสัตว์ อย่าง หอยทาก แมลงต่างๆ กุ้ง มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์งาน
อิตาลี
เป็นประเทศที่มีการขึ้นชื่อในเรื่องของความงดงามในการออกแบบ โดยนำทองคำมาใช้ในการสร้างงานเชิงศิลป์ ที่มีการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานในอิตาลี
“การออกแบบของอิตาลีจะมีความต่างจากฮอลแลนด์ที่ไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงาม แต่จะเน้นในเรื่องของคอนเซปต์ในการสร้างสรรค์งานมากกว่า”
นอกจากนี้ การออกแบบยังใช้หลักคณิตศาสตร์และรูปแบบเรขาคณิต นำเอาแพตเทิร์นของโมเสกในอดีตมาพัฒนาให้มีรูปแบบใหม่
อังกฤษ
การสร้างงานเครื่องประดับเชิงศิลป์ ของเมืองผู้ดี ได้มีการนำเทคนิคสร้างงานแนวอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ งานศิลปะที่สร้างสรรค์ออกมาส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากทางแฟชั่นเป็นตัวกระตุ้น สร้างงานในแบบอุตสาหกรรมมากกว่าเทคนิคการทำมือ การทำเครื่องประดับ บรรยากาศของการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับในประเทศอังกฤษนั้นจึงมีสีสันที่น่าสนใจ
“การสร้างสรรค์งานในเชิงศิลป์เป็นอีกหนึ่งความสามารถของช่างที่นำเอาประเพณีที่โดดเด่นของแต่ละประเทศที่สวยงามมาสร้างสรรค์รวมเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า และ มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”