แม่ คำสั้นๆ ที่มีความหมายเกินกว่าจะบรรยายได้ครบถ้วน เหมือนดังที่บทเพลงอมตะ ‘ค่าน้ำนม’ กล่าวไว้ว่า ...เปรียบดั่งผืนฟ้า หนักกว่าแผ่นดิน
วันแม่ 12 สิงหาคม วนกลับมาอีกครั้ง เป็นวันที่ลูกๆ ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกแม่ว่ารักแม่มากแค่ไหน พร้อมด้วยดอกมะลิสีขาวบริสุทธิ์
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายจากวันแม่ และเรียกน้ำตาได้ทุกครั้งก็คือ บทเพลง
มีบทเพลงเกี่ยวกับแม่อยู่ไม่น้อย แต่ดูเหมือนจะมีอยู่น้อยเพลงเท่านั้นที่ยืนระยะผ่านกาลเวลามาได้ จนกลายเป็นบทเพลงอมตะที่ต้องได้ยินและนึกถึงเสมอๆ เมื่อวันแม่ย้อนกลับมา
ทั้งที่ค่ายเพลงต่างๆ ก็พยายามปล่อยเพลงเกี่ยวกับแม่ออกมาในช่วงใกล้เทศกาลวันแม่ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปครองใจคนได้ดังที่ตั้งใจ
บทเพลงวันแม่..การตลาดหรือค่าน้ำนม?
หากจะเอ่ยถึงบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของแม่ที่ลึกซึ้งกินใจ หนึ่งในนั้นต้องมีเพลง ‘แม่’ ของวงดนตรีเพื่อชีวิตนาม ‘แฮมเมอร์’ รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว แต่เพลงๆ นี้ก็ยังคงอยู่ในหัวใจของผู้ฟังหลายคน
อนุชา ประธาน นักดนตรีและนักร้องวงแฮมเมอร์ เผยว่า เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพียงแค่ 2 ปี และกลายเป็นเพลงที่โด่งดังเพลงหนึ่งในอัลบั้มแรกของแฮมเมอร์ แม้กระทั่งทุกวันนี้ไปขึ้นเวทีที่ไหน ก็ยังมีคนขอให้ร้องเพลงแม่นี้อยู่เสมอ
“เพลงแม่คือแม่ที่เป็นชาวนา พูดถึงแม่ของพวกเรา…ของแฮมเมอร์ที่สะท้อนถึงแม่เราเอง ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของการเมืองด้วย หลายๆ สิ่ง แล้วตอนนั้นก็มีเรื่องความกดดันของชาวไร่ชาวนาที่กำลังลำบากด้วย หลายเรื่องรวมทั้งสภาพสังคมการเมืองที่กดดันในยุคนั้น แล้วประจวบกับว่าสังคมกำลังมีคนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมากในยุคนั้น เราก็เลยเขียนเพลงนี้เพื่อเตือนสติ ในวัยนั้น แฮมเมอร์เองก็เป็นวัยนักศึกษา ก็เลยสะท้อนภาพออกมาในงาน”
ล่วง 30 ปีผ่านมา จากบทเพลงแม่อันเป็นตำนาน สู่การเล่าขานพระคุณมารดาบทใหม่ของแฮมเมอร์ ที่คราวนี้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสังคมไทยที่กำลังคลอนแคลน บทเพลง ‘แม่ของแผ่นดิน’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
“เพลงแม่ของแผ่นดินเป็นเพลงที่เราพูดถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นครั้งแรก สิ่งที่เกิดขึ้นๆ จริงๆ เลย... จุดประสงค์หลักก็คือ เราเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ค่อนข้างจะมีปัญหามาก โดนคนไม่ค่อยเข้าใจเยอะ เพราะฉะนั้นถึงเวลาเราก็เลยรวบรวมสรรพสิ่งที่เรามี เขียนออกมาเป็นเพลงนี้”
ไม่ต่างจากเพลงแม่เพลงแรกเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะเพลงแม่ของแผ่นดินของแฮมเมอร์ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ฟัง
“จนถึงทุกวันนี้เวลาเราไปแสดงที่ไหน ก็จะได้รับการต้อนรับ เสียงปรบมือเยอะ ก่อนที่จะถึงวันแม่ เราก็นำเพลงนี้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานฯ ครั้งแรกผมร้องคนเดียว ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ วันแรกที่ไปยังไม่พร้อม เพลงเพิ่งจะแต่งเสร็จใหม่ๆ แต่พออีกครั้งหนึ่งที่ทำดนตรีอะไรเรียบร้อยแล้ว เราก็ขึ้นไปร้องและไปเต็มวง ก่อนจะถึงวันแม่ไม่กี่วัน เราก็ร้อง พอร้องเสร็จพิธีกรในวันนั้นคือคุณปานเทพก็ขึ้นมาบอกว่าอย่าเพิ่งลงนะ มีผู้บริจาคมาผ่านเพลงนี้หนึ่งล้านบาท และได้ร้องเพลงนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น เพลงนี้ก็เป็นเพลงที่อยู่ในใจของทุกคนเลย”
อีก 3 เพลงที่เรียกได้ว่าไม่เคยห่างเสียงจากวันแม่ ‘ค่าน้ำนม’ แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ‘ใครหนอ’ แต่งโดยครูสุรพล โทณะวนิก และ ‘อิ่มอุ่น’ ที่แต่งโดยศุ บุญเลี้ยง 3 เพลงนี้ กลายเป็นเพลงที่ถูกถ่ายทอดซ้ำในวงกว้างมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ที่น่าสังเกตก็คือเพลง ‘อิ่มอุ่น’ ที่สามารถยึดพื้นที่ในใจคนฟังเพลงได้ไม่แพ้เพลงอมตะ 2 เพลงแรก ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์ปี 2538 ให้ความเห็นว่า
“ในสังคมไทยมีเพลงอยู่จำนวนหนึ่งที่เวลาถึงวันนั้นๆ เราก็จะนึกถึง อย่างเพลง ‘ค่าน้ำนม' เพลง ‘ใครหนอ’ แต่ภาพหรือจินตนาการในเพลงมันก็เก่าไปแล้ว อย่างเพลง ‘ใครหนอ’ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่าหนังสี่จอของคนโบราณคืออะไร อาจจะเชื่อมไม่ได้ แต่คนรุ่นผมที่กึ่งเก่ากึ่งใหม่รับได้ สามารถเปรียบเทียบได้
“ผมเคยเขียนบทความเปรียบเทียบระหว่างเพลง ‘ค่าน้ำนม’ กับเพลง ‘อิ่มอุ่น’ เพลง ‘ค่าน้ำนม’ จะมีลักษณะแบบคนโบราณนิดหนึ่ง ถ้าสังเกตบางถ้อยคำอาจจะมีลักษณะเรียกร้องการทดแทนบุญคุณ ขณะที่เพลง ‘อิ่มอุ่น’ ของคุณศุ บุญเลี้ยง จะมีท่าทีแบบคนสมัยใหม่ คือไม่ได้เรียกร้องมากนัก แต่มีความสุขที่ได้เลี้ยงลูก แค่ลูกรู้สึกถึงความเป็นแม่ เท่านี้แม่ก็ซึ้งใจแล้ว ความจริงก็คือสิ่งเดียวกัน แม่รักลูก และลูกก็รักแม่ เพียงแต่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป คำบางคำ... อย่างครูไพบูลย์ท่านก็มีคำว่าทดแทนบุญคุณ แต่ในเพลงอิ่มอุ่นไม่มี ซึ่งถ้าเอาเพลงค่าน้ำนมมาเปิดให้วัยรุ่นฟัง เด็กวัยรุ่นน่าจะอินได้น้อยกว่าเพลงอิ่มอุ่น”
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า แล้วเพลงอื่นๆ เกี่ยวกับแม่ที่ค่ายเพลงต่างๆ เผยแพร่สู่คนฟัง เหตุใดจึงไม่ติดหู ติดตลาด
อนุชาแสดงความเห็นว่า บทเพลงเกี่ยวกับแม่ในช่วงระยะเวลาหลายปีมานี้ ถูกผลิตขึ้นเฉพาะกาลในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ทำให้ขาดจิตวิญญาณของเพลงแม่จริงๆ ไป
“มันเหมือนว่าถึงเวลาเทศกาลทีก็ช่วยกันเขียนหน่อยนะ ทำหน้าที่กันหน่อย มันไม่ได้มาจากหัวจิตหัวใจ บทเพลงนั้นมันก็เลยถ่ายทอดความรู้สึกของคนได้น้อย จริงๆ เรื่องนี้ต้องโทษไปที่ภาครัฐ ภาครัฐจะต้องส่งเสริมเรื่องแบบนี้ เพราะตรงนี้สิ่งหนึ่งก็คือความผูกพันระหว่างแม่กับลูกของคนไทยช่วงหลังมันโดนวัฒนธรรมต่างชาติค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเรื่องราวแบบนี้มันเลยหายไปจากคนรุ่นใหม่ อันนี้อันตรายมากๆ”
มุมมองของอนุชาสอดคล้องกับมุมมองของไพวรินทร์ที่คิดว่าเพลงจะต้องมีอารมณ์ของผู้แต่งใส่ลงไปด้วยจึงก่อให้เกิดความตราตรึงใจ
“การที่เพลงเพลงหนึ่งจะได้รับความนิยมอาจจะเป็นเพราะวิธีการนำเสนอหรือผู้นำเสนอ อาจจะเป็นจังหวะก็ได้ จังหวะการเกิดขึ้นของเพลง ‘อิ่มอุ่น’ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งคุณศุ บุญเลี้ยง เป็นทั้งนักร้องร่วมสมัยที่สังคมยอมรับ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นกวี ไม่ใช่แค่ร้องเพลงเพราะ แต่มีความเป็นกวีด้วย ภาษาที่เขาแต่ง อารมณ์ที่ใส่ลงไป มันเป็นกวี ครูไพบูลย์ ครูสุรพลก็เป็นกวี ใครก็ตามที่แต่งเพลงแห้งๆ แค่สูตรสำเร็จว่าต้องรักแม่ ผมว่ามันจะแห้ง แต่ถ้าใครก็ตามใช้อารมณ์กวีเข้าไป เพลงจึงจะออกมาดี”
นักร้องนักดนตรีวงแฮมเมอร์กล่าวว่า จิตวิญญาณของบทเพลงของแม่นั้น ไม่จำเป็นเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นแนวเพลงเพื่อชีวิตเพียงอย่างเดียว เช่นเพลงแม่ที่เขียนเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น มันไม่ได้เป็นเพลงมาร์ช ไม่ได้เป็นเพลงปลุกใจ เป็นเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องราวของแม่
“จริงๆ แล้วผมเห็นว่าทุกวันนี้เพลงที่ทำมันเป็นทางการมากไป หรือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำจากใจ เพราะฉะนั้น อยากจะเรียกร้องให้ทุกคนก่อนที่ผลิต ก่อนที่จะมีเพลงเหล่านี้ออกมา เราควรจะออกมาใจ ในการที่จะเขียน ประพันธ์ หรือผู้ร้องก็แล้วแต่ ให้มันมาจากใจจริงๆ เพราะฉะนั้นเนื้อหามันจะได้เหมือนกับประชาชนพูดออกมาจากใจจริงๆ ผมอยากให้ทำไม่จำเป็นเฉพาะวันแม่ ศิลปินทุกคนควรจะมีเรื่องราวแบบนี้ไว้ในอัลบั้มของแต่ละคน หรือการแสดงในแต่ละครั้ง” อนุชาทิ้งท้าย
..........
‘ค่าน้ำนม’ : เรียบง่าย แต่ละเอียดอ่อน
“แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง...” เมื่อประโยคแรกของเพลงดังขึ้น คนไทยเกือบทุกคนก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลง ‘ค่าน้ำนม’ แต่ก็น้อยคนนัก ที่รู้ว่าเพลงนี้เขียนขึ้นโดยใคร และนักร้องผู้ใดเป็นผู้ร้อง
เพลงค่าน้ำนม เป็นเพลงที่ ไพบูลย์ บุตรขัน บรมครูเพลงลูกทุ่งคนสำคัญของไทยประพันธ์ขึ้นมา ซึ่งอันที่จริงแล้ว ครูไพบูลย์เขียนเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่ไว้ประมาณ 5–6 เพลง เพื่ออุทิศให้แด่ นางพร้อม ประณีต ผู้เป็นมารดา ที่ดูแลครูไพบูลย์ในยามป่วยไข้ ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
เดิมทีครูไพบูลย์ ตั้งใจจะให้ บุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นผู้ขับร้อง แต่ในช่วงนั้น บุญช่วยมีอาการป่วย จึงทำให้ไม่สามารถขับร้องได้ สง่า อารัมภีร เจ้าของวงดนตรีศิวารมย์ ซึ่งบุญช่วยเป็นนักร้องอยู่ จึงส่ง ชาญ เย็นแข ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของบุญช่วยมาขับร้องแทน และเพลงเพลงนี้ก็เป็นผลงานบันทึกเสียงชิ้นแรกในชีวิตของชาญ เย็นแข นักร้องเสียงระฆังแก้ว ผู้โด่งดังในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น เพลง ‘ค่าน้ำนม’ ก็ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศไทยในวันแม่ของทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 มาจนถึงปัจจุบัน
(อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย)
รศ.ดวงใจ อมาตยกุล ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทเพลงที่เกี่ยวกับแม่ว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีอยู่มานานแล้วในสังคมไทย เพราะบทเพลงสามารถสื่อสารและสื่อความหมายได้อย่างกินใจและซาบซึ้งมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆ
ที่ผ่านมา บทเพลงที่เกี่ยวกับแม่นั้นมีโดดเด่นหลายเพลง หลายเพลงที่แต่งมานานแล้ว อย่างเพลง ‘กล่อม’ หรือเพลง ‘ค่าน้ำนม’ แต่ก็ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้สาเหตุสำคัญนั้นจะมาจากอัจฉริยภาพของตัวนักประพันธ์เองที่สามารถร้อยเรียงเนื้อเพลงและทำนองให้มีความหมายที่สอดคล้องกัน และสามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันเพลงไทยยังมีลักษณะพิเศษอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการมีวรรณยุกต์และคำควบกล้ำ ส่งผลให้หลายๆ เพลงนั้นมีความสละสลวยและไพเราะมากขึ้น
“อย่างเพลงค่าน้ำนมเป็นเพลงที่มีความเรียบง่ายสูง เพราะผู้แต่งใช้คำซื่อๆ ตรงๆ ในการบรรยาย แต่ภายใต้ความซื่อนั้นก็ยังซ่อนความละเอียดอ่อนเอาไว้ข้างใน จำได้ว่าตอนที่คุณแม่อายุครบ 60 ปี ยังเคยร้องเพลงนี้ใส่เทปให้แม่เลย ความรู้สึกตอนที่ฟังหรือร้อง ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ฟังแล้ว รู้สึกอยากให้เด็กสมัยนี้รู้สึกแบบนั้นด้วย คืออยากให้เขาสามารถตีความบทเพลงออกมา เพื่อสอนตัวเอง เขาจะได้เห็นคุณค่าของแม่มากกว่าการเรียกแม่ไปวันๆ”
เมื่อให้ลองเปรียบเทียบเพลงเกี่ยวกับแม่สมัยก่อนกับเพลงยุคปัจจุบัน รศ.ดวงใจ มองว่า จริงๆ แล้วเพลงแต่ละเพลงก็ล้วนแต่มีความไพเราะและเอกลักษณ์อยู่ในตัวเองทั้งนั้น เพลงสมัยใหม่หลายเพลง อย่างเพลงที่แต่งถวายฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ประพันธ์ก็สามารถแต่งออกมาได้อย่างกินใจ ลึกซึ้ง ฟังแล้วซาบซึ้งไม่แพ้เพลงยุคเก่า
แต่การที่เพลงสมัยใหม่อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเพลงยุคเดิมคงเป็นเพราะเพลงเก่านั้นเป็นเพลงที่คนรู้จักกันมานานแล้ว ติดหูมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ พอได้ยินทุกคนก็สามารถร้องตามได้หมด ขณะที่เพลงยุคใหม่ก็อาจจะรู้กันเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น
***********
เรื่อง-ทีมข่าว CLICK
ภาพ-ทีมภาพ CLICK