ไม่รู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ถึงได้มีแต่เรื่องชวนหดหู่สิ้นหวัง อย่างเรื่องโพลที่บอกว่าสังคมไทยยอมรับการโกงได้ แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องคลิปนักเรียนในชุดเนตรนารีถูกข่มขืนโดยลูกเสือเผยแพร่ว่อนโลกไซเบอร์
โดยภาพที่ปรากฏคือเด็กนักเรียนหญิงประมาณ 2-3 คนรุมจับเด็กนักเรียนหญิงอีกคนหนึ่งให้เพื่อนนักเรียนชายข่มขืน แล้วถ่ายคลิปประจาน และที่ต้องทำกันขนาดนี้เพียงเพราะอาการเหม็นขี้หน้าเท่านั้นทำเอากระทรวงศึกษาฯ ไล่ไปจนถึงตำรวจเต้นเป็นเจ้าเข้า สืบเสาะหาต้นตอกันจ้าละหวั่น
คำถามที่ตามมาเสมอเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้คือเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเด็กและเยาวชนของเราจึงขาดการยับยั้งชั่งใจมากขึ้นทุกขณะ และเลือกที่จะจัดการความไม่พอใจด้วยวิธีที่รุนแรงถึงเพียงนี้
ย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนคดีอาญาของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ โดยกลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศ สำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็ก และเยาวชน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 จะพบว่ามีจำนวนถึง 39,160 ราย เฉพาะเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 7-14 ปี มีที่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 6,103 ราย แบ่งเป็นชาย 5,437 ราย และหญิง 666 ราย ซึ่งใน 39,160 รายนี้ เป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 4.13 (1,619 ราย) และเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศร้อยละ 6.40 (2,508 ราย)
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ซึ่งคอยติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชน เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่า วัยรุ่นในระดับมัธยมต้นกว่าร้อยละ 40 ดูคลิปโป๊เป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดมากที่สุดตอนนี้ รองลงมาคือวีซีดีหรือดีวีดีโป๊ และยังพบด้วยว่าวัยรุ่นไทยไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ทางเพศของตนเองได้
ชัดเจนว่าข้อมูลต่างๆ ข้างต้นสะท้อนความน่าวิตกที่ควรใส่ใจ แต่ก่อนที่จะด่วนสรุปอะไรไปมากกว่านี้ เสียงจากวัยรุ่นก็เป็นสิ่งที่เราละเลยไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาก็ใช่ว่าจะนอกลู่นอกทางไปเสียหมด ไปฟังกันว่าพวกเขาคิดและมีวิธีจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชีวิตยังไง
ตบตี ถ่ายคลิป ไม่มีอะไรดีสักนิด!
กนกพร ทัศนนิพันธ์-น้องฝน สาวน้อยวัย 18 ปี ศึกษาที่สถาบันอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งใน กรุงเทพฯ เล่าว่า คลิปหลุดต่างๆ ที่มีคนไปโพสต์ในเน็ต ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมีเยอะมาก มีให้เลือกเลยว่า จะดูข่มขืนแบบรุมโทรม ตบตีกัน ต่อยกัน มีเยอะมาก บางคลิปก็จัดฉาก บางคลิปก็เรื่องจริง
“ตอนนั้นที่ดูคลิป ผู้หญิงถูกข่มขืน หนูอายุ 15 พอดูแล้วมันรู้สึกทุเรศ แบบว่าพวกเขาทำกันไปได้ยังไง คือคิดจะทำอะไรก็ทำ ไม่คิดถึงใจคนอื่นบ้างเลยว่าเขาจะรู้สึกยังไง คิดว่าอะไรจะรุนแรง ทำกันขนาดนั้นเลยหรือ และรู้สึกหมั่นไส้ไอ้พวกนั้นนะ อย่าให้เจอนะ โดนตื้บแน่ๆ” เธอบอกเล่าอย่างมีอารมณ์
ในมุมมองของฝน เห็นว่าเวลาที่วัยรุ่นมีปัญหา แล้วแก้ไขด้วยการ ‘เอาคืน’ แก้แค้นกันหรือประจานคนอื่น มันดูแรงเกินไป อีกอย่างมันก็ทำให้สังคมไทยเราเสื่อมเสีย คิดดูสิเอาตัวคู่กรณีมาประจาน ก็เหมือนเอาตัวเองมาประจานด้วย เก็บไว้ดูเองไม่ดีหรือ อย่างเมืองนอกเขาก็ทำกันเยอะ แต่นั่นมันประเทศเขา นี่ประเทศไทย เราเป็นคนไทย มีวัฒนธรรมที่ดีงาม มาทำกันแบบนี้เหมือนเลียนแบบเมืองนอกเขาเลย
ขณะที่เด็กชายเนติพงษ์ อัครนิธิ-น้องบีมโบ้ วัย 12 ปี ศึกษาที่โรงเรียนย่านถนนศรีอยุธยา บอกว่า ไม่ค่อยได้ดูคลิปภาพความรุนแรงเท่าไหร่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างรุนแรงและมันไม่ถูกต้อง
“ผมลองคิดเล่นๆ ดูนะ ถ้าผู้หญิงอยู่ในวัยที่เจริญพันธุ์ ถ้าหากไปข่มขืนเขา แล้วท้องขึ้นมาจะทำยังไง ใครจะเลี้ยงดูเด็กที่เกิดขึ้น ผู้หญิงคนนั้นก็หมดอนาคต แล้วพ่อแม่ที่ส่งเงินให้ไปเรียนเขาจะรู้สึกยังไง เขาต้องเสียใจ ผิดหวังแค่ไหน ต้องทำงานหาเงินให้ลูกเรียน แต่ลูกกลับไปทำเรื่องที่ไม่ดี”
ส่วน วิชา พานทองแท่ง-หลี่ นักศึกษาอาชีวศึกษา วัย 19 ปี ให้ความเห็นว่า ไม่น่าทำกันเลย คือมันไม่สมควรทำ เพราะพวกผู้ชายรู้ทั้งรู้ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง พวกเขาคงรักสนุก ทำอะไรไม่คิด ไม่รู้จักมุ่งมั่นเรียนหนังสือ ทั้งที่นั่นมันคือหน้าที่ บางทีก็ตามเพื่อน พอมีเรื่องต้องชกต่อยกัน ใช้กำลังตัดสินปัญหา
“บางทีแก้แค้นก็ไม่จำเป็นต้องไปข่มขืนหรือถ่ายคลิปนะ บางทีแค่ทำให้อาย ให้เพื่อนหล่อๆ มาแกล้งจีบให้ตายใจ แล้วก็สลัดรัก หักดิบไปแล้ว ให้ร้องไห้ 7 วัน 7 คืนไปเลย แก้แค้นแบบนี้ดูสะใจกว่าเยอะ แต่อย่าไปทำร้ายเขาขนาดข่มขืน ถ่ายคลิปเล้ย น่าสงสาร หรือไม่ก็หลอกไปว่าจะทำอะไร แต่พอถึงสุดท้าย ให้กลัวเล่น แล้วบอกว่าเอาไม่ลง แล้วกลับบ้าน ขำดีออก หน้าแตกไปเลยพี่”
วัยรุ่นชกต่อยเป็นเรื่องธรรมดา
วัยรุ่นส่วนใหญ่เวลามีเรื่องกัน มักไม่มีเหตุผล บางคนเห็นหน้ากันแล้วไม่ชอบ หมั่นไส้ก็ต่อยกันดื้อๆ บางทีคิดว่ามันเป็นเรื่องปัญญาอ่อนนะ ไม่ชอบหน้าแล้วหาเรื่องกันเลย มันเป็นตามสไตล์วัยรุ่นไปเลย หลี่เล่าอย่างมีอารมณ์
“อย่างเรื่องหมั่นไส้ มีอยู่เหมือนกัน คือเพื่อนโดนกระทืบมาก็เลยไปแก้แค้นให้เพื่อน เป็นการชกต่อยกันตามปกติ แต่ก็ไม่เคยถึงกับฆ่าแกงกัน มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีลูกผู้ชายน่ะพี่ เราก็ต้องไปช่วยเพื่อน ถ้าไม่ช่วย เราเองก็จะถูกแบนออกไปจากกลุ่ม คิดดูนะถ้าเราหายหัวไปตอนเพื่อนมีเรื่อง เพื่อนก็จะมองว่าเราเอาตัวรอดคนเดียว พวกวัยรุ่นอย่างเราต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน ว่าเราก็แน่เหมือนกันนะ คิดแบบวัยรุ่นนะ คือกลัวไม่มีเพื่อน บางทีต้องเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนให้ได้ อีกเรื่องที่ผมจะไม่เข้าไปยุ่งเลย คือเรื่องผู้หญิง ถ้าเพื่อนไปทะเลาะกับคนอื่นเพราะเรื่องนี้ จะไม่เข้าไปยุ่งเลย เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว”
สอดรับกับฝนซึ่งเปิดเผยว่า เรื่องตบตีทะเลาะวิวาทในโรงเรียนเคยมีเหมือนกัน ตอนนั้นมีเรื่องกับรุ่นพี่ เขามาหาเรื่องก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าเห็นหน้าแล้วไม่ถูกชะตา ไม่ชอบขี้หน้า แม้จะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเอาซะเลย แต่ในความเป็นจริง มันเกิดขึ้นเยอะมากๆ ในเด็กวัยรุ่น
“รุ่นพี่พวกนั้นก็มาหาเรื่องด้วยการมองแบบจิกกัด ตั้งแต่หัวจรดเท้า หนำซ้ำยังพูดจากระแหนะกระแหน ส่วนหนูก็ตอบโต้ด้วยการมองหน้ากลับเช่นกัน แต่จะไม่ตอบโต้ด้วยวาจา จะไม่พูดอะไรเลย และพอรุ่นพี่เริ่มมาหาเรื่องมากขึ้น หนูก็เลยไปขอคำแนะนำจากครูที่ปรึกษา ให้ช่วยเหลือ และหลังจากนั้นพวกรุ่นพี่ก็ลดระดับการมองด้วยสายตาจิกกัดลง แต่ก็ยังคงมองหน้ากันอยู่”
ส่วนบีมโบ้นั้น ยอมรับว่า เขาก็เคยทะเลาะกับเพื่อนร่วมห้อง และส่วนใหญ่เวลาที่ทะเลาะกับเพื่อนก็มักเกิดจากการใช้อารมณ์ ความโกรธเป็นที่ตั้ง และบางครั้งการสื่อสารกับเพื่อนก็คลาดเคลื่อน
“เวลาที่ผมทะเลาะกับเพื่อน มันเริ่มมาจากการเข้าใจผิดกัน คือบางทีเพื่อนพูดประชดคนอื่นที่ไม่ใช่เรา แต่เรากลับคิดว่า มันว่าเราแน่ๆ เราก็ตอบโต้เขาด้วยการพูดจาประชดกลับ แล้วก็ทะเลาะกันซะอย่างนั้น และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เล่นต่อยกับเพื่อน ผมต่อยเพื่อนไปหลายครั้งมาก แต่ไม่แรงนะ แล้วพอเพื่อนต่อยผมกลับมาครั้งหนึ่ง แต่ค่อนข้างแรง ผมเลยต่อยกลับไปเลย คือมันเกิดจากอารมณ์โมโหซะส่วนใหญ่”
ปัญหาแก้ได้ที่จุดเริ่มต้น
“เวลาที่เพื่อนทะเลาะกัน เราควรเปิดใจคุยกับเพื่อนไปเลย ว่าโกรธเรื่องอะไร คือมาเริ่มต้นดูว่า เราทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร แล้วคุยกันตรงนั้น ให้มันเคลียร์ไปเลย แล้วถ้าคิดสักนิดว่า ถ้าสิ่งที่เราทำลงไปแล้ว มันจะส่งผลเสียถึงอนาคตอย่างไรบ้าง จะต้องมีใครเสียใจกับเรื่องนี้บ้าง เราอาจจะติดคุก หมดอนาคต แต่เด็กวัยรุนสมัยนี้ พอมีปัญหากันไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก หรือไม่ชอบหน้ากัน ก็ชอบใช้กำลังตัดสินว่าตัวเองเก่งกว่า เจ๋งกว่า ซึ่งถ้าวัยรุ่นเรา เอาเรื่องอารมณ์ ความรุนแรง มาใช้แก้ปัญหา คิดว่าเด็กๆ ที่เป็นเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ ที่ใครๆ ก็ชอบพูดกัน ต้องตกต่ำลงแน่ๆ แล้วเด็กที่ดี มีคุณภาพจะมีได้อย่างไร” บีมโบ้สะท้อนมุมมอง
ส่วนหลี่บอกว่า เวลาที่ทะเลาะกับคนอื่น ถ้าจะพูดถึงเรื่องตกลงหรือไกลเกลี่ยกันไม่ต้องถามเลย เพราะไม่มีทางที่คนไม่ถูกกันจะมาตกลงกันได้ อารมณ์คนเราไม่เหมือนกัน เรายอม เขาไม่ยอม ยกเว้นใช้คนกลางที่เป็นผู้ใหญ่มาช่วยคลี่คลายปัญหาให้มันถึงจะจบ
แต่สำหรับ ฝน เธอคิดว่า บางทีที่เรามีปัญหาทะเลาะกับคนอื่น ลองปรึกษาเพื่อน พ่อ แม่ ครูก่อนดีกว่า ที่สำคัญ เราต้องคิดดูให้ดีว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับชีวิตเราบ้าง
เธอบอกว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะบางคนไม่หยุดคิด ไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้สติ เกือบทุกคนเอาอารมณ์ความโมโหเป็นที่ตั้ง แม้แต่เธอเองยังเคยรู้สึกถึงอารมณ์นั้น
“หนูเองก็เคยนะที่อยากจะแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง แต่พอบางที เพื่อนก็ห้ามเอาไว้ และถ้าเราพอจะมีเวลานั่งคิดกับตัวเองในที่เงียบๆ สักนิด บอกตัวเองให้ใจเย็นๆ เราจะรู้ว่าการใช้กำลังไม่ใช่ทางออก บางทีเราต้องถูกไล่ออก เพราะเราไปตบเพื่อน แล้วถ้าเราไปสมัครเรียนที่อื่น เขารู้ว่าเราถูกไล่ออกเพราะเรื่องทะเลาะวิวาท เขาจะให้เราเรียนเหรอ อนาคตเราไม่จบเลยเหรอ แล้วพ่อแม่เราจะว่ายังไง”
ถ้าเราทำใจให้กว้างและยอมรับความจริง การทะเลาะวิวาทอาจไม่ใช่เรื่องดี แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเขา การห้ามปรามเด็ดขาดอาจขัดแย้งกับโลกความเป็นจริงที่เขาอยู่ แต่เราจะทำอย่างไรให้พวกเขารู้วิธีที่จะเยียวยาความขัดแย้งได้อย่างละมุนละม่อมต่างหาก นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยจะต้องช่วยกันคิดต่อไป
****************
สถาปนาจริยธรรม: บทเรียนจากคลิปข่มขืน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นักจิตวิทยา นักเขียน และคอลัมนิสต์ แสดงทัศนะต่อปรากฏการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยตั้งคำถามไปถึงสังคมและระบบการศึกษาของเราว่ากำลังทำหน้าที่บิดเบี้ยวและสร้างตัวแบบที่พิกลพิการอยู่หรือไม่ จึงทำให้เด็กและเยาวชนของเรามีพฤติกรรมดังที่เป็นอยู่
คุณหมอประเสริฐบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนสภาพสังคมไทยใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือเยาวชนของเราไม่รู้วิธีที่จะมีความสุขอย่างเหมาะสม
“แต่เยาวชนส่วนใหญ่ของเรารู้แต่วิธีที่จะมีความสุขแบบ ‘รวดเร็ว’ นั่นคือ เซ็กซ์ เกม และยาเสพติด มีอีกวิธีคือถ่ายคลิปและดูคลิป การถ่ายคลิปและดูคลิปอาจจะเป็นวิธีหาความสุขของเยาวชนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นวิธีระบายความก้าวร้าวด้วย การระบายความก้าวร้าวก็เป็นการแสวงหาความสุขแบบหนึ่ง ที่น่ากังวลคือคนที่ดูก็แสวงหาความสุขด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน ภาษาอังกฤษว่าเป็นวิธีหาความสุขที่ไม่ Healthy คือไม่ใช่ ไม่เป็น และไม่มีสุขภาวะ”
เรื่องที่ 2 คือเยาวชนของเราไม่มีอะไรจะทำ ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม มีชีวิตเพื่ออะไร
“เรียนไปก็เท่านั้น เรียนไม่เก่งก็แพ้แน่นอน เป็นแรงงานชั้นต่ำแน่นอน เมื่อชีวิตส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้จึงเกิดวิกฤตเรื่องคุณค่าของชีวิต ชีวิตที่ไม่มีคุณค่าย่อมทำอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อยโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของระบบการศึกษาตรงๆ ที่เชิดชูเฉพาะคนเก่ง แต่ละเลยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ซึ่งเรียนไม่เก่ง”
และเรื่องที่ 3 คือเยาวชนไทยพร่องจริยธรรมอย่างรุนแรง เพราะขาดต้นแบบที่ดี
“จริยธรรมเป็นอะไรที่จะต้องถูกสถาปนาหรือฝังลงไปในกมลสันดานตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ทางจิตวิเคราะห์ให้แค่ห้าขวบเท่านั้น แต่บ้านเราเด็กๆ ขาดต้นแบบ เมื่อพ้นห้าขวบมาแล้วก็เปรียบเสมือนไม่ได้ลงโปรแกรมจริยธรรมเอาไว้ โตมาอยากจะเสพสุขวิธีไหนก็ทำ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้วิธีดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะ
“เรื่องศีลธรรมจรรยาเป็นเรื่องต้องปลูกฝัง ต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตาม ในสังคมโลกที่ผันผวนและมีตัวแปรมากมาย จำเป็นมากที่เราควรติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เด็กและเยาวชน นั่นคือให้เด็กเผชิญข่าวสารที่เลวร้าย ไม่ควรปิดกั้นข่าวสาร ไม่ให้เห็นอะไร แล้วเอาแต่เทศนาสั่งสอนตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือหน้าเสาธง ซึ่งไม่เคยได้ผล ข่าวแบบนี้ควรเปิดห้องเรียนให้นักเรียนถกกัน ดีกว่าเรียนเคมี ฟิสิกส์ ชีวะมาก
“สำหรับคนที่ลงมือไปแล้ว คือลงมือข่มขืนไปแล้ว น่าจะมี 3 จำพวกใหญ่ๆ พวกแรกคือพวกขาดความยับยั้งชั่งใจ การขาดความยับยั้งชั่งใจเกิดได้จากสภาพสังคมดังที่เล่ามา แต่เกิดได้จากภาวะทางสมองด้วย เรียกว่าเป็น Impulse Control Disorder พวกที่ 2 คือพวกบุคลิกภาพผิดปกติ พวกนี้เกิดจากการเลี้ยงดูด้วย เกิดจากพันธุกรรมด้วย เช่น พวกต่อต้านสังคม ภาษาอังกฤษเรียกว่า Antisocial Personality Disorder พวกที่ 3 คือพวกอาชญากรหรือยุวอาชญากรจริงๆ”
*************
ข่าวยิ่งดัง คลิปยิ่งขายดี
ผู้ขายซีดีรายย่อยในห้างชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าคลิปข่มขืนที่เป็นของไทยไม่ค่อยมีขาย จะมีก็แต่ของคนญี่ปุ่นที่ทำออกมาขาย และส่วนใหญ่จะไม่ใช่ของจริง เป็นการจัดฉากการถ่ายทำขึ้นมามากกว่า ถ้าอยากได้ให้ไปหาโหลดเอาจะดีกว่า เพราะของพวกนี้หาโหลดได้ง่ายกว่าซื้อ เพราะมันเป็นคลิปสั้นๆ ถ้าที่ร้านขายก็มี แต่เป็นรวมคลิปที่ไม่ใช่ข่มขื่นทั้งหมด แบบเป็นแฟนกัน แล้วถ่ายเล่นกันเอง ถ้ามีคลิปข่มขืนก็จะไม่ใช่ตั้งใจถ่าย แต่มันหลุดออกมาเอง ซึ่งโดยรวมแล้วต้องถือว่าคลิปโป๊เป็นสินค้าที่ขายดี ยิ่งถ้ามีกระแสข่าวมาช่วยด้วยแล้ว ต่อให้เป็นคลิปสั้นๆ แค่นาทีสองนาทีก็สามารถขายแยกได้สบาย
ส่วนในประเทศญี่ปุ่นมีค่ายทำดีวีดีประเภทหนึ่ง ที่นำเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี มาถ่ายทำในชุดว่ายน้ำออกแนวเซ็กซี่ ที่เรียกว่า U15 แม้จะไม่ใช่หนังเอวีโดยตรง แต่ภาพและเนื้อหาที่นำเสนอก็ออกไปทางยั่วเย้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่นิยมความเยาว์วัยของเด็ก
************
เรื่อง- ทีมข่าว CLICK
ภาพ- ทีมภาพ CLICK