xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตนี้ถวายเป็นราชพลี มหาดเล็กรักษาพระองค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ชลัช แจ่มใส
“พวกเราเหล่าทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ล้วนยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ และความปลอดภัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งจักอุทิศตนทั้งกายและใจ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ทุกประการตลอดไป”

พลันที่สิ้นเสียงเพลงชาติในช่วง 8 โมงเช้าของแต่ละวันจบสิ้นลง คำปฏิญาณข้างต้นนี้จะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณสนามหน้ากองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 พัน.4.รอ.) เพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นั้น จะเปล่งคำปฏิญาณออกมาด้วยความภาคภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสเป็นข้ารองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งถือเป็นเกียรติอันสูงสุดในชีวิต เพราะทุกพระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ซึ่งเหล่าทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ทุกนายเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันอันสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด

เนื่องในวันที่ 4 ก.ค. นี้ จะเป็นวันครบรอบ 57 ปีแห่งการสถาปนา ร.1.พัน.4 รอ. ซึ่งทหารหน่วยนี้ถือว่ามีหน้าที่สำคัญในการถวายความจงรักภักดี ถวายพระเกียรติ และถวายความปลอดภัย แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อย่างใกล้ชิด

แม้ว่ากองพันนี้จะก่อตั้งมาเพียง 57 ปี แต่ก็ได้รับความไว้วางใจในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเหมือนทหารราบทั่วไป ควบคู่ไปกับหน้าที่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ดังนั้น “ASTVผู้จัดการรายวัน” จึงขันอาสานำพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับหน่วยงานนี้ และความภาคภูมิใจของลูกผู้ชายชาติทหารในสังกัดกองพันทหารราบที่ได้รับการเรียกขานว่า “ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์”

ขอเป็นข้าพระบาททุกชาติไป

การถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นหน้าที่อันสำคัญสูงสุด เพราะทุกพระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย ซึ่งทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ทุกนายพร้อมอุทิศตนทั้งกายและใจในการปฏิบัติภารกิจ ดังคำปฎิญาณที่ได้กล่าวไว้

พ.อ.ชลัช แจ่มใส ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นอีกหนึ่งคนที่มีโอกาสได้ถวายงานด้วยการเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นสถาบันอันสูงสุดที่เทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใด

พ.อ.ชลัช ได้ฉายภาพภารกิจที่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ต้องขับเคลื่อนว่า หน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติคือการถวายพระเกียรติและถวายความปลอดภัยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งยังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ คือ การจัดแถวทหารรับเสด็จฯ และยามถวายพระเกียรติในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี ตามหมายกำหนดการทุกครั้ง

ภารกิจแรกที่นายทหารคนนี้ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทคือการถวายอารักขา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรมที่ จ.สกลนคร ในปี 2538

“ตอนนั้นเราจะต้องลงพื้นที่ไปก่อน เพื่อจัดตั้งกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัยประจำพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ รวมถึงซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัย”

สิ่งที่ชายหนุ่มรู้สึกประทับใจที่สุดในการตามเสด็จเพื่อถวายความปลอดภัยทุกครั้งก็คือ ไม่ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยจากพระราชภารกิจเพียงใดก็ตาม แต่ผู้ถวายงานทุกคน จะพบพระพักตร์ที่ยิ้มแย้ม และสายพระเนตรที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาเสมอ

“มีครั้งหนึ่งที่ผมตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปที่ เรือนประทับแรมปางตอง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งในสมัยนั้นจัดว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ถนนก็เป็นลูกรัง ไม่มีอะไรเลย แต่พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรโดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามพระองค์ทรงรับสั่งถามถึงความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยความเป็นห่วงเป็นใยเสมือนแม่ที่คอยห่วงใยลูกๆทุกคน”

น้ำพระทัยเปี่ยมล้นไพศาล

จากนักรบป่าที่ทำหน้าที่ปฏิบัติภาระกิจอยู่ตามชายแดนในสังกัดกองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี แต่แล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ส่งให้ ร.ท.บุญเยี่ยม การสำโรง หัวหน้าชุดปฏิบัติการ หมวดปฏิบัติการกองร้อยกองบังคับการ ร.1.พัน.4 รอ. ผู้ที่ไต่ระดับตัวเองจากทหารชั้นประทวนเล็กๆ จนทุกวันนี้ ได้มาเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประดับยศร้อยโทก็ได้มีโอกาสรับหน้าที่สำคัญในชีวิตของการเป็นทหารด้วยการย้ายเข้ามาเป็นทหารมหาดเล็กฯ สังกัด ร.1.พัน.4 รอ. ตั้งแต่ปี 2536

ในหน้าที่เป็นทหารชุดปฏิบัติการพิเศษคอยถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงถือเป็นเกียรติอันสูงสุดแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูล ซึ่งผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ต้องได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรทหารมหาดเล็ก เพื่อให้มีความชำนาญในทุกด้าน สำหรับเตรียมพร้อมที่จะให้การถวายความปลอดภัย

ร.ท.บุญเยี่ยมเล่าถึงภารกิจแรกที่เขามีโอกาสได้ถวายงานในฐานะทหารชุดปฏิบัติการพิเศษฯ ว่า เมื่อปี 2536 เขาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ การตามเสด็จฯ ครั้งนั้นทำให้อดีตทหารป่าอย่างเขาได้มีโอกาสเห็นพระพักตร์ของทั้ง 2 พระองค์อย่างใกล้ชิดสร้างความปลื้มปีติให้กับเขาเป็นอย่างมาก และได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่าจะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างหาที่สุดมิได้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่หนุ่มใหญ่คนนี้ไม่มีวันลืมเลือนก็คือ ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปที่น้ำตกปาโจ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีความสูงถึง 750 เมตร ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะพัฒนาน้ำตกแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ทั้งๆที่ตลอดเส้นทางเสด็จฯนั้นทุรกันดารมาก

“วันนั้นผมจำได้ว่าเส้นทางเสด็จฯลำบากมากๆ เพราะเป็นเส้นทางแคบๆ ไม่เกิน 2 เมตร ที่สำคัญวันนั้นมีฝนตกพร่ำๆ ตลอดทั้งวันและป่าตรงนั้นเต็มไปด้วยสัตว์เลื่อยคลาน ไม่มีเส้นทางขึ้นเขาเลย พวกเราต้องทำขั้นบันไดและใช้เชือกผูกเป็นราวให้พระองค์ท่านทรงจับและท่านก็เสด็จฯตามขั้นบันไดที่พวกเราทำไว้ เรียกว่าวันนั้นมีความทุลักทุเลมาก ที่สำคัญเส้นทางก่อนจะถึงน้ำตกมีสะพานชำรุดขวางทางอยู่ ทหารชุดปฏิบัติการพิเศษต้องไปแบกสะพานลงมาเพื่อให้พระองค์ท่านเสด็จฯไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย”

เหตุการณ์ครั้งนี้เองทำให้ ร.ท.บุญเยี่ยม รู้สึกประทับใจในพระราชจริยวัตรของพระองค์ เพราะไม่ว่าหนทางเสด็จฯจะมีความยากลำบากเพียงใด พระองค์ท่านก็มิได้ทรงย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ด้วยพระองค์มีพระราชประสงค์ต้องการให้พสกนิกรของพระองค์พึ่งพาตัวเองได้ตลอดไป

พระเจ้าอยู่หัวเป็นป่าไม้ฉันจะเป็นน้ำ

คนธรรมดาสามัญชนทั่วไปทำงานยังมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์กลับทรงงานทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพื่อความอยู่ดีกินดีและประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

จ.ส.อ.ธวัชชัย คุ้มชนม์ จ่ากองร้อย กองร้อยปืนเล็กที่ 3 ร.1.พัน.4 รอ. ผู้รับหน้าที่ถวายงานในฐานะผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัย คือ การจัดทหารเวรยามตามจุดต่าง ๆ รอบ ๆ พระตำหนัก เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะพระองค์ท่านจะทรงงานดึกๆแทบทุกวันอย่างไม่มีวันหยุดราชการ

“บางครั้งที่เรายืนประจำการในเวลาดึก เราจะเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายงานในโครงการพระราชดำริของพระองค์อยู่ตลอดเวลา”

ส่วน พ.ท.จิรวุฒิ อัมพุนันทน์ รองผู้บังคับกองพันทหารที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้บอกเล่าถึงความประทับใจที่ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ทั้ง 2 พระองค์ ว่า สิ่งหนึ่งที่เขาซึมซับได้จากการถวายงานก็ คือ ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ ถึงแม้ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงมีพระชนมายุมากแล้วก็ตามแต่พระองค์ท่านยังทรงเป็นห่วงเป็นใยในพสกนิกรของพระองค์อยู่เสมอ ทุกครั้งที่เขามีโอกาสได้ตามเสด็จฯจะได้ยินสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคนใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลาว่าพระองค์ทรงห่วงใยเรื่องป่าไม้และเรื่องแหล่งน้ำมาก โดยมีรับสั่งอยู่เสมอว่า

“จะทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะมีน้ำใช้ไปตลอด อยากให้คนช่วยกันรักษาแหล่งน้ำเพราะในอนาคตน้ำอาจหมดได้ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา”

ขณะที่ พ.ท.ปฏิเวธ ไม้สนธิ์ นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก ร.1.พัน.4.รอ. นายทหารหนุ่มที่มารับราชการเป็นทหารตั้งแต่ปี39 แต่ได้มีโอกาสย้ายเข้ามาเป็นนายทหารประจำการอยู่ที่ ร.1.พัน.4 รอ. เมื่อปี 2542 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในต่างจังหวัดภาพที่ชายหนุ่มเห็นจนชินตาคือ ภาพที่พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกเชื้อชาติอย่างไม่เลือกชนชั้นวรรณะที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย

“ถ้าเราลองมองนะครับว่าผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่อายุประมาณ 70 กว่าแล้วยังจะสามารถทำอะไรได้อยู่หรือไม่ แต่สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีพระชนมายุมากแล้ว แต่พระองค์ท่านยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในที่ทุรกันดารได้ ที่สำคัญพระองค์ท่านสามารถประทับนั่งทรงงานได้ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงในพระอิริยาบถเดิม ถ้าเป็นเราก็คงจะรู้สึกเมื่อยล้า แต่สำหรับพระองค์ท่านแล้วเราจะเห็นว่าพระสีพระพักตร์ของท่านจะสดใสและแย้มพระสรวลตรัสถามสารทุกข์สุกดิบของประชาชนอยู่ตลอดเวลา”

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของลูกผู้ชายชาติทหารที่ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ที่ถึงแม้ว่าชีพจะต้องวายก็ขอยอมพลีเพื่อรักษาและปกป้องสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทุกดวงไว้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

***********************

ย้อนรอยแห่งการสถาปนาทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ

เมื่อพุทธศักราช 2495 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช มีการปรารภในระหว่างผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในกองทัพบก ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ควรจะได้จัดกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ขึ้นอีกกองพันหนึ่งเป็นทหารอาสาสมัคร รับบรรจุจากทหารบกกองหนุน การปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ

จากนั้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นจึงรับสนองพระราชปรารภด้วยการมีคำสั่งให้จัดตั้ง กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2495

เมื่อกองทัพบก ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้มีบัญชาต่อแม่ทัพกองทัพที่ 1 ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่ 8 กันยายน 2495 และให้เรียกนามหน่วยนี้ว่า “กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจพิเศษในการถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีอย่างใกล้ชิด แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ต่อมามีเหตุจำเป็นที่กองพันที่ 4ฯ ต้องขยายกำลังให้ตรงกับอัตราเป็นการเร่งด่วนด้วยเหตุที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในเดือน เมษายน 2496 ในการนี้กองพันที่ 4ฯ จึงมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติเพิ่มเติมจากเดิมในการจัดตั้งกองรักษาการณ์ คือ ต้องจัดกำลังอีกส่วนหนึ่งนำเสด็จฯ และตามเสด็จ กับจัดตั้งกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัย ณ พระราชวังไกลกังวล

นอกจากจัดตั้งกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัย ณ ที่ประทับแล้ว กองพันที่ 4ฯ ยังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำคือ การจัดแถวทหารรับเสด็จ และยามถวายพระเกียรติในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี ตามหมายกำหนดการทุกครั้ง

หรือในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ในการนี้กองพันที่ 4ฯ ต้องจัดกำลังถวายความปลอดภัยโดยการตามเสด็จฯ ไปกับขบวนเสด็จฯ และกำลังอีกส่วนหนึ่งต้องล่วงหน้าไปจัดตั้งกองรักษาการณ์ ณ ที่ประทับทุกแห่งอีกด้วย โดยทหารทุกคนจะสวมชุดที่พวกเราเห็นจนคุ้นตาก็คือชุดฝึกเขียวลายก้างปลาและติดอาวุธประจำกาย

นอกจากนี้ยังต้องจัดตั้งกองรักษาการณ์ถวายความอารักขาบุคคลสำคัญต่างประเทศที่มาเป็นพระราชอาคันตุกะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยชุดที่ทุกคนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดคือ ถ้าเป็นกองรักษาการณ์ชั้นนอกจะแต่งชุดฝึกเขียวลายก้างปลา แต่ถ้าเป็นพระราชฐานชั้นกลางทหารมหาดเล็กจะสวมชุดพระราชฐาน คือ ชุดหมวกขาว มียอดโมลีสีทอง สวมเสื้อสีขาวคอปิด กางเกงดำแถบสีแดง

ถึงแม้ว่าในวันนี้กองพันที่ 4 ฯ จะมีอายุเพียงแค่ 57 ปีเท่านั้น แต่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ในการปฏิบัติหน้าที่สำคัญทั้งด้านการจัดตั้งกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แล้ว ในอดีตยังได้สร้างผลงานในด้านการปราบจลาจลปรากฏผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนโดยทั่วไป เช่น กรณีประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ 2 มีนาคม 2500 กองพันที่ 4ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างห้าวหาญและสุจริตธรรม จึงทำให้ประชาชนรู้จักอย่างแท้จริงที่เรียกกันว่า “ศึกมัฆวาฬ” จนผู้บังคับบัญชามีหนังสือชมเชยการปฏิบัติงาน

เรื่องโดย
ปาณี ชีวาภาคย์ / ศศิวิมล แถวเพชร

พ.ท.จิรวุฒิ อัมพุนันทน์
พ.ท.ปฏิเวธ ไม้สนธิ์
ร.ท.บุญเยี่ยม การสำโรง
จ.ส.อ.ธวัชชัย คุ้มชนม์



กำลังโหลดความคิดเห็น