xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยผ้าไหมแดนอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ้าไหมและผ้าขาวม้าของชาวสุรินทร์
ผ้าไหมเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมาช้านาน และเป็นที่น่าภาคภูมิใจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในทัศนคติของคนยุคใหม่จะมองว่า ผ้าไหมนั้นล้าสมัยบ้าง สวมใส่แล้วดูไม่เก๋ไก๋บ้าง แต่หากมาลองคิดดูอีกที ถ้าหากล้ำสมัย ไม่สวยไม่เก๋แล้ว ทำไมหนอ? ผ้าไหมไทยจึงอยู่ยงคงกระพันธ์มาได้นานแสนนาน ไม่ผันไปแปรมาตามกระแสจนน่าเวียนหัว

ในวันนี้ M – Feature ขอเสนอสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบนผืนดินแดนอีสาน ที่จะทำให้คุณประทับใจในผืนผ้าไหมอย่างไม่รู้ตัว โดยมีผู้เข้าชิงขวัญใจขาเที่ยวอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ - จ.สุรินทร์ – จ.อุบลราชธานี ลองไปดูกัน...

บ้านโพน
บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านของชาวผู้ไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เจริญมานาน และผลงานผ้าไหมที่มีชื่อเสียงอันขึ้นชื่อว่า “แพรวาราชินีแห่งไหม” โดยที่ผ้าแพรวานั้น คำว่า ”แพร” หมายถึง ผ้า และ “วา” หมายถึงความยาว 1 วาหรือ 2เมตร ผ้าแพรวาจึงหมายถึงผืนผ้าที่มีความยาว 1 วา นั่นเอง

ผ้าแพรวานั้นมีลวดลายที่แปลกและโดดเด่นจากผ้าไหมที่อื่น ซึ่งมีลวดลายต่างกันถึง 60 ลาย และในปัจจุบันมีการทำสีสันให้หลากหลายมากขึ้นนอกจากสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เพื่อให้เกิดความหลากหลายและรองรับความต้องการ สามารถนำไปใช้ได้จริงในหลายโอกาส ผลิตภัณฑ์จากผ้าแพรวาบ้านโพนนั้นมีให้เลือกชมหลายแบบ เช่น ผ้าขาวม้า กระเป๋าเหรียญ ย่ามใบเล็ก ชุดผ้าไหมสำเร็จรูป ผ้าห่ม ผ้าพื้นสำหรับตัดชุด รวมไปถึงของสำคัญอย่าง แพรมนหรือผ้าที่หญิงชาวผู้ไทย ใช้โพกศีรษะ และผ้าแพรวาหรือผ้าพาดไหล่ (สไบ) ที่ล้วนแล้วแต่มีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะสีสันที่จัดจ้านแต่ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว ส่วนการดูผ้านั้นแนะนำให้ลองดึงผ้าตึงๆ แล้วส่องดูทางแสงสว่าง เพราะผ้าแพรวาของแท้เนื้อผ้าต้องแน่น ซึ่งจะมีความคงทนมาก

นอกจากผลิตภัณฑ์แพรวาจะน่าสนใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรียกความประทับใจได้ไม่น้อยคือ ความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยที่อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น รวมทั้งรอยยิ้ม การต้อนรับแบบเป็นกันเองของชาวผู้ไทย และยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม

ในส่วนของราคานั้น ต้องแล้วแต่ความยากง่ายของลายผ้า ยิ่งลวดลายมีความละเอียดเท่าใดราคาก็จะยิ่งสูง เพราะการถักทอผ้าแพรวานั้น เป็นการคิดลายขึ้นมาสดๆ ไม่เหมือนการมัดหมี่ที่มีการกะมัดลายก่อนนำไปย้อมและถักทอเป็นผืน ซึ่งที่บ้านโพนแห่งนี้ก็รับทำลายเชิงสร้างสรรค์ด้วย อย่างเช่นลายหูโทรศัพท์ ลายสัตว์น่ารักๆ ให้คุณได้มีผ้าแพรวาไว้ใช้ในแบบที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย

บ้านท่าสว่าง
บ้านท่าสว่างตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน แต่สามารถชมการทอผ้าได้ถึงประมาณ 5 โมงเย็น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ให้ความรู้เรื่องผ้าไหมแดนอีสานได้อย่างดี โดยบ้านท่าสว่างมีความพิเศษที่ ผ้าไหมยกทอง “จันทร์โสมา” ของ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้สร้างสรรค์ผลงานลวดลายบนชุดผู้นำประเทศในการประชุมเอเปก (APEC) ในปี พ.ศ.2546 ล่าสุดได้ออกแบบลายสำหรับตัดชุดยกทองทั้งชุดเพื่อใช้ในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปีนี้ด้วย

ผ้าที่ทำจะใช้ “ไหมน้อย” ซึ่งเป็นไหมเส้นเล็กละเอียดมาจากด้านในของรังไหม ส่วนไหมด้านนอกนั้นจะเรียกว่าไหมเปลือก เส้นจะใหญ่และหยาบกว่า โดยที่พันธุ์หนอนไหมพื้นเมืองในไทยจะกินเฉพาะใบหม่อน ซึ่งจะรอให้ฟักออกมาเป็นตัวก่อนไม่ได้ เพราะรังไหมจะแตกออกทำให้เส้นไหมขาดแล้วนำมาใช้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องนำไปต้มทั้งๆ ที่มีตัวอ่อนอยู่ด้านใน ขณะที่พันธุ์อินเดีย (กินใบมะละกอด้วย) จะรอให้ตัวดักแด้ออกไปก่อนแล้วนำรังไหมไปต้มเพื่อดึงเส้นไหม

นอกจากนี้ยังเน้นใช้เฉพาะสีธรรมชาติในการย้อมไหม อย่าง ครั่ง(สีแดง) แก่นไม้(สีเหลือง) เปลือกมะพูด(สีเหลืองมะนาวเมื่อนำมาย้อมทับครามอ่อนจะได้สีเขียว) คราม(สีน้ำเงิน ) แต่ครามที่ย้อมได้ จะต้องผ่านขั้นตอนการเพิ่ม ออกซิเจน ร่วมกับการเติมน้ำผลไม้รสเปรี้ยว และเติมด่างจากธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ครามเกิดฟองสีน้ำเงินก็สามารถใช้ได้เลย แต้ถ่าไม่มีฟองหรือฟองเป็นฟองขาว มีกลิ่นเหม็นจะเรียกว่า ครามตาย (ทั้งนี้เชื่อว่าครามเหมือนมีชีวิต เนื่องจากมีจุลินทรีย์อยู่ด้วย)

ส่วนสีของไหมที่ย้อมนั้น จะเข้มหรืออ่อนขึ้นอยู่กับปริมาณของสีย้อมกับปริมาณไหม รวมถึงจำนวนครั้งการชุบย้อม อย่างสีครามเข้มจะต้องย้อมถึง 7-8 ครั้ง หลังจากย้อมให้ได้สีที่ต้องการแล้ว จะนำไหมมาล้างน้ำสะอาดหลายครั้งจนกว่าน้ำนั้นจะใส ก่อนนำไปทอเป็นผืน เพื่อให้แน่ใจว่าสีจะไม่ตกอย่างแน่นอน

ผ้าไหมยกทอง คือผลงานที่อาจารย์ ออกแบบลายเส้นด้วยตนเอง จากนั้นนำไปเทียบลงในกระดาษกราฟเพื่อเป็นต้นแบบในการทอไหม ด้วยการฝนตามลายด้วยดินสอทีละช่อง ด้วยแรงงานคนล้วนๆ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์จะทำให้ได้ภาพกราฟที่หยาบ ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วรูปร่างหน้าตาจะเหมือนแบบที่ใช้ทำครอสติชแต่เป็นสีขาวดำเท่านั้น ผ้าไหมยกทองหนึ่งผืนจะทอครั้งละ 4-8 คนต่อหนึ่งกี่ โดยมีคนหนึ่งนั่งทอตามลาย คนที่เหลือจะนั่งด้านข้าง และด้านล่างของกี่(แบบเจาะพื้นลงไปอีกชั้นหนึ่งเลย)ช่วยกันจัดลายโดยใช้ ตะกอ คั่นสลับเส้นไหมตามลายกราฟ โดยยิ่งลายยากก็ยิ่งใช้คนเยอะ โดยเฉพาะลายผ้าที่ผสมลายตั้งและลายนอนไว้ในผืนเดียวกัน ในหนึ่งวันจะทอได้ความยาวประมาณ 5 ซม. และใน 2-3 เดือน ผ้าจะทอเสร็จออกมาพร้อมๆ กัน ซึ่งในโรงทอที่บ้านสว่างมีกี่ทั้งหมด 24 กี่ด้านนอกใช้ทองานผ้าทั่วไป และด้านในอีก 3 กี่เพื่อทอผ้างานหลวง โดยรายได้จะมาจากการสั่งทำของลูกค้าที่ชื่นชอบผลงาน บ้างก็นำไปใช้ บ้างก็เก็บสะสมชนิดยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอมกันเลยทีเดียว

องค์ความรู้ในการทำผ้าโบราณเหล่านี้ มาจากตัวบุคคลเก่าแก่ เป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดต่อลูกหลานมา รวมทั้งลองผิดลองถูกเองด้วย ซึ่งสมัยโบราณคนไทยสามารถทำไหมทองได้เอง แต่กลวิธีการทำหายไปตามกาลเวลา ทำให้ปัจจุบันเราต้องสั่งนำเข้าไหมทองจากประเทศฝรั่งเศส ทำโดยใช้ไหมเป็นแกน แล้วนำเงินจริงที่ทับรีดให้แบนเป็นเส้นมาพันไหม แล้วนำไปชุบทองอีกทีให้อร่ามจับตา

ผ้าไหมยกทองมีราคาสูงทีเดียว โดยราคาผ้าทอลายยกทองเต็มผืนเริ่มต้นที่เมตรละ 35,000 บาทขึ้นไป ผ้าพื้นราคาเมตรละ 700-1,500 บาท ผ้าพันคอลายยกทอง ราคา 20,000-40,000 บาท สไบหนึ่งผืน ขนาด 2.7 เมตร x 30 ซม. ราคา 49,000 บาท

บ้านคำปุน
บ้านคำปุนตั้งอยู่บน ถ.ศรีสะเกษ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงวันเข้าพรรษาทุกปี โดยบัตรราคา 100 บาท ซึ่งนำไปบริจาคเพื่อการกุศล โดยมีเจ้าบ้านเป็นไกด์ให้ความรู้ด้วยตนเอง ก็คือ คุณมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2544 ทั้งยั้งเป็นผู้คิดค้น และออกแบบ “ผ้าลายกาบบัว” ผ้าเอกลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี

ในบริเวณบ้านปุนคำ นอกจากจะมีของเก่าโบราณเรียงรายไว้ให้เห็นแล้ว ยังมีการสาธิตทอผ้าดิ้นทองด้วย โดยที่เมื่อก่อนทำผ้าไหมอย่างเดียว แต่ปัจจุบันมีการสอนทำผ้าฝ้ายเพิ่ม ซึ่งรูปแบบของผ้านั้นมีหลากหลาย อย่างผ้ามัดหมี่ ผ้ายก งานจก มัดหมี่ผสม และผ้ากาบบัว มีการนำเอาเทคนิคชนเผ่าเข้ามาผสมผสาน ด้วยการใส่ลูกปัดระหว่างการทอ รวมไปถึงการประดับไว้ที่ระบายของชายผ้าไหม และยังมีการปักในระหว่างการทอ เพื่อยกลายขึ้นมาสร้างความโดดเด่นได้อย่างสวยงาม

ผ้าของบ้านคำปุน ยังถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในส่วนของตัวเอกฝ่ายไทย โดยจะหลีกเลี่ยงการทำลายหลวงอย่างลาย ครุฑ มังกร นอกจากนี้ยังมี “ผ้าธัญพัสตร์” ผ้าที่สร้างลายจากสีของธัญพืช และส่วนประกอบหลักจากธรรมชาติล้วนๆ วิธีการทำคล้ายการทำผ้าบาติก แต่จะไม่มีเส้นขอบลาย เนื้อผ้าที่ได้จะบางและนุ่มมาก แต่เปื่อยขาดง่ายหากมีการย้อมซ้ำหลายครั้ง

อัตราราคาของผ้าผลงานของบ้านคำปุนนั้น หลาละประมาณ 2,500-100,000 บาท โดยจะทอยาวผืนละ 2 หลา

ส่วนของผ้าลายกาบบัวนั้น เป็นลายผ้าที่ทอได้ทั้งฝ้ายและไหม มีความสวยงามเช่นกัน ประกอบด้วย 5 ส่วนคือ เส้นพุ่ง (เส้นหลักของผ้าหรือสีหลักนั่นเอง) , ละไม (เส้นฝ้ายที่นำมาเกลียวกันสองสี) , เส้นแอ้ม , มัดหมี่ (ลายมัดหมี่) , เส้นยืน (เส้นลายแนวตั้งของผ้าที่ทอ) ผ้ากาบบัวนั้นจะมีราคาประมาณเมตรละ 100 บาท มีเข็มกลัดอันละ 25 บาท ผ้าขาวม้าผืนใหญ่ราคา 60 บาท นับว่าราคาย่อมเยาน่าสนใจไม่ใช่น้อย

ครั้งหน้า...ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปเยือนถิ่นอีสานอู่อารยธรรม นอกจากจะได้ชมโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีอยู่จำนวนมากมาย ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เก่าแก่แล้ว อย่าลืมเปิดประตูเข้าสู่โลกของผ้าไหมไทยบนผืนที่ราบแห่งนี้ แล้วคุณจะรู้ว่า ผ้าไหมอีสานของเรา งดงามไม่แพ้ใครในโลก...

ขอขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
พิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวผู้ไทย บานโพน
ลายผ้า “แพรวาราชินีแห่งไหม”
ชาวบ้านเลี้ยงหนอนไหม เพื่อนำรังไหมไปทอผ้า
การทอไหมยกทองที่ใช้คนทอถึง 4 คน
ส่วนประกอบสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ
ผ้าไหมยกทอง ฝืมือบ้านท่าสว่าง
ตะกอคั่นไหมตามลายผ้าที่ออกแบบไว้
ผลิตภัณฑ์จากผ้าลายกาบบัว
ไหมสีสันหลากหลายพร้อมให้ถักทอเป็นผ้าผืนงาม
การมัดหมี่ด้วยเชือกกล้วย ตามแบบโบราณ
ผ้าไหมยกทอง ผลงานจากบ้านคำปุน จ.อุบลราชธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น