xs
xsm
sm
md
lg

ลูกทุ่งภาคกลางตายแล้ว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าเป็นคอเพลงลูกทุ่งของจริง น่าจะรู้จักเพลงเพลงนี้

‘แดดบ่ายปลายคุ้งท้องทุ่งรวงทอง น้ำทรงเมื่อเดือนสิบสอง หัวใจพี่กลับนองรักน้องนางทุ่ง กระจับจอกแหน เป็นแพลอยติดก้นคุ้ง เหมือนสวาททับถมใจมุ่งพี่ปองรักสาวแม่ดาวบ้านนา...’

(เพลง ทุ่งรัก ประพันธ์โดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง-ศรคีรี ศรีประจวบ)

ปฏิเสธยากในเรื่องความสวยของภาษาและกลิ่นอายท้องทุ่งคละคลุ้งอยู่ในบทเพลง แต่ถ้าจับสังเกตให้ดีนับจากยุคช่วงปี 2531-2535 ที่เพลงสตริงเข้าครองตลาด เพลงลูกทุ่งเหือดหายจากหู ขนาดคนในวงการตอนนั้นยังกลัวกันว่าเพลงลูกทุ่งกำลังจะตาย (พอมองย้อนกลับไป ออกจะเป็นความวิตกจริตเกินกว่าเหตุ) ทำให้เกิดการจัดงานเพื่อรณรงค์และอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งกันเป็นที่เอิกเกริก

แต่แล้วเพลง ‘สมศรี 1992' ของ ยิ่งยง ยอดบัวงาม ก็ดังเปรี้ยงปร้างอย่างไม่มีใครคาดฝัน เป็นการเปิดประตูสู่ยุคลูกทุ่งเฟื่องฟูอีกครั้ง

ตัดภาพมายังปัจจุบัน... ละเลียดฟังเนื้อเพลงลูกทุ่งเรื่อยมา เนื้อร้อง ภาษา ทำนอง ดนตรี ย่อมเห็นความแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ภาษาแบบครูไพบูลย์หาได้ยากขึ้น ดนตรีก็เป็นดนตรีสังเคราะห์เสียส่วนใหญ่ ท่วงทำนองก็เป็นแบบที่เรียกว่า ร้อยเนื้อทำนองเดียวไปเสียแล้ว

และความแจ่มชัดอีกประการคือการครองตลาดของเพลงลูกทุ่งอีสาน ลุกลามถึงขั้นพูดว่าเพลงลูกทุ่งภาคกลางกำลังจะตาย (อีกแล้ว)

1

ก่อนจะดูว่าเพลงลูกทุ่งภาคกลางตายจริงหรือไม่ จำเป็นต้องตามหาความหมายเสียก่อนว่าอะไรคือเพลงลูกทุ่งอีสานหรือเพลงลูกทุ่งภาคกลาง

เอาเข้าจริงๆ แล้วประเด็นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่มีการฟันธงเป็นเสียงเดียวว่าเพลงลูกทุ่งภาคกลางเป็นอย่างไร เพราะบางคนก็บอกว่าสามารถระบุได้ แต่อีกบางคนก็บอกว่าไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่าเพลงลูกทุ่งภาคกลาง

“เพลงลูกทุ่งจะมีตำแหน่งของมันอยู่ หนึ่งคือที่ตัวนักร้อง สองคือแนวเพลง ท่วงทำนอง สามคือเนื้อหา ลีลา ภาคกลาง หนึ่งก็คือบุคลากร นักร้องภาคกลาง สองคือเนื้อหาจะพูดถึงท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตของคนภาคกลาง เผลอๆ อาจจะพูดถึงภาคเหนือ แต่ก็เนื้อหาลีลาเป็นแบบลูกทุ่งภาคกลางอย่างในกรณีของเพลงมนต์เมืองเหนือ”

เป็นความคิดเห็นของ แวง พลังวรรณ นักเขียนผู้ศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง ขณะที่ แคน สาลิกา คอลัมนิสต์เพลงลูกทุ่งแห่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า

“ผมไม่เห็นด้วยกับคำว่า ลูกทุ่งภาคกลาง เพราะจริงๆ แล้วถ้าย้อนกลับไปในอดีตมันไม่มีการแยก ลูกทุ่งก็เป็นเพลงลูกทุ่งเพียงแต่จะเป็นสำเนียงเหนือ สำเนียงใต้ สำเนียงอีสานก็ว่าไป”

ส่วน ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์ ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งของเขาที่ไม่ค่อยมีใครรับรู้ก็คือนักแต่งเพลง ไพวรินทร์มีความเห็นคล้ายคลึงกับแคน สาลิกา ในประเด็นว่าไม่มีเพลงลูกทุ่งภาคกลาง มีก็แต่เพลงลูกทุ่ง

“ถ้าจะมีแยกภาค น่าจะเป็นการเหลื่อมซ้อนกันทางการใช้ภาษา ท่วงทำนองดนตรี วัฒนธรรม เช่นทำนองเพลงลูกทุ่งทั่วไป แต่สอดแทรกกลิ่นอายอีสาน จะเรียกว่า เพลงลูกทุ่งอีสานทั้งหมด คงไม่ได้ ยกเว้นที่ออกไปทางพื้นบ้านอีสานท้องถิ่นต่างๆ ล้วนๆ ทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ เช่น หมอลำ และกันตรึม”

เมื่อ แวง พลังวรรณ เห็นว่าสามารถจำแนกประเภทได้ เขาจึงอธิบายต่อถึงสิ่งที่เรียกว่าเพลงลูกทุ่งอีสาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ว่า แวง พลังวรรณ ชอบที่จะเรียกว่าเพลงอีสานมากกว่าเพลงลูกทุ่งอีสาน เพราะ

“กระแสที่เป็นเพลงอีสาน ผมไม่อยากเรียกว่าเพลงลูกทุ่งอีสาน ผมเรียกว่าเพลงอีสานดีกว่า เพราะเพลงลูกทุ่งอีสานก็มีที่มาของมัน แต่นี่ผมคิดว่าไม่ใช่เพลงที่จะจัดเข้าประเภทของลูกทุ่งอีสาน เพราะว่าเพลงลูกทุ่งอีสานจะมีถ้อยคำภาษาอีสานไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่นี่ใช้เกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นภาษาอีสาน เพียงแต่ใช้รูปแบบของเพลงลูกทุ่งเท่านั้นเอง”

2

แคน สาลิกา มองว่ากระแสเพลงลูกทุ่งภาคกลางกำลังจะตายหรือตายแล้วนั้น น่าจะเกิดจากนักร้อง-นักแต่งเพลงกลุ่มหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีเวที จึงเกิดความรู้สึกต่อต้านลึกกับเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน จึงป่าวประกาศว่าเพลงลูกทุ่งภาคกลางใกล้หมดลมหายใจ

เขายังยกตัวอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ครูเพลงลูกทุ่งและเจ้าพ่อเพลงแหล่ ที่ในอดีตก็มีเพลงดังอย่าง ‘สาวคนโก้’ หรือ ‘สาละวันรำวง’ ซึ่งเป็นเพลงที่นำท่วงทำนองและภาษาอีสานมารับใช้ กลับไม่เห็นมีใครบอกว่าเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน หนำซ้ำยังได้รับบการยอมรับ

“เพราะถ้าเราพูดถึงสมัยไวพจน์ ไวพจน์ก็ร้องเพลงพวกนี้อยู่ แต่ถามว่าทำไมในยุคนั้นจึงไม่ค่อยมีใครทำเพลงพวกนี้ เพราะตลาดอีสานยังฟังวิทยุน้อย ไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่คนที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง ฟังวิทยุ และมีกำลังซื้อคือคนภาคกลาง เพราะฉะนั้นก็ต้องทำเพลงป้อนคนในส่วนนี้ แต่ก็ยังมีเพลงเฉพาะถิ่นเกิดขึ้น อย่างภาคกลางก็มีวงของสมัย อ่อนวงศ์ ซึ่งเป็นวงแคน ร้องเพลงสำเนียงอีสาน แต่เขาก็ไม่ได้แยกว่าเพลงบ่เป็นหยังดอก ของ สมัย อ่อนวงศ์ เป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน หนำซ้ำบางคนยังเข้าใจผิดว่าสมัย อ่อนวงศ์ เป็นคนอีสาน ทั้งที่เขาเป็นคนเพชรบุรี เป็นลาวโซ่ง

“ทำไมเพลงลูกทุ่งอีสานมันถึงสอดรับจริตคน เพราะเพลงลูกทุ่งอีสานมันเขียนจากสิ่งที่ใกล้ตัวพวกเขา แล้วอย่าเถียงว่าภาษาไม่สวย ภาษาสวยเยอะที่เป็นภาษาท้องถิ่น คือถ้าไม่มีใครโวยวายก็ไม่มีปัญหาตรงนี้หรอก ทุกสิ่งทุกอย่างผมยืนยันหลายครั้งแล้วว่าเพลงทุกเพลงอยู่ได้ด้วยคนฟัง ถ้าคนฟังไม่ยอมรับมันก็ต้องหาย มันไปตามกระแสของผู้คนในสังคมแค่นั้นแหละ”

3

พอนิยามคำว่า เพลงลูกทุ่งภาคกลาง แยกเป็น 2 ทาง อาการฟูของเพลงลูกทุ่งที่ใช้ท่วงทำนองและภาษาถิ่นอีสาน และอาการแฟบของเพลงลูกทุ่งที่ใช้ท่วงทำนองและภาษากลาง จึงมีคำอธิบายแยกเป็น 2 สาย

เมื่อ แคน สาลิกา ยืนอยู่บนข้อสันนิษฐานข้างต้น เขาจึงมองอาการแฟบของเพลงลูกทุ่งภาคกลางเกิดจากการไม่พัฒนาตัวเองของนักแต่งเพลงและวิถีชีวิตที่ผันเปลี่ยน

“นักแต่งเพลงที่ใช้ภาษากลางไม่พัฒนาตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าหมดสภาพแล้วก็ยังไม่ยอมรับ มันต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง คนที่ปรับตัวได้ก็อยู่ได้ คนที่ปรับตัวไม่ได้ก็โวยวาย ต้องย้อนกลับไปดูว่าเพลงลูกทุ่งแบบเดิมมันมีอะไรที่ใหม่กว่า มีอะไรที่น่าสนใจมั้ย ถ้าคุณยังร้องแบบเดิม พล็อตแบบเดิม เนื้อแบบเดิม มันก็ไม่ถูกจริตคน อย่างเคยร้องว่า ทุ่งนาแดนนี้คงร้างไปอีกนาน เดี๋ยวนี้คุณก็ยังแต่งเพลงแบบนี้อีก ทั้งที่ทุ่งนามันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่มีควายแล้ว”

เขาเชื่อว่าความนิยมของเพลงถูกกำหนดโดยคนฟังหรือตลาด ถ้าตลาดยอมรับ เพลงก็ต้องดังเป็นธรรมดา แน่นอนว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนอีสานที่กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ ย่อมเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของความแพร่หลาย แต่เขาก็คิดว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนทุกภาคต่างก็ฟังเพลงลูกทุ่งอีสาน

“กำแพงภาษาถิ่นมันถูกทำลายแล้ว ทุกภาคฟังได้หมด จะไม่มีใครมองประเด็นนี้แล้ว ชาตินิยมคับแคบมันจบแล้ว มันพังทลายด้วยเพลงลูกทุ่งสำเนียงอีสาน สำเนียงใต้ สำเนียงเหนือ ไปฟังเพลงลูกทุ่งแถวราชบุรี เพชรบุรี แถวนี้เลย วงทุกวงร้องหมอลำ ร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน แถวสุพรรณด้วย เพราะถ้าเพลงมันถูกหู คนก็ฟังได้หมด เหมือนผมลงไปภาคใต้ ไปงานภาคใต้ เขาก็เปิดหมอลำฟังกัน มันจึงอยู่ที่คนฟัง”

4

แต่ แวง พลังวรรณ มองอีกมุมหนึ่ง เขาเชื่อมโยงแง่มุมทางเศรษฐกิจและอิทธิพลของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ครอบงำตลาดเพลงลูกทุ่ง เขาอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ว่าช่วงหนึ่งที่เพลงลูกทุ่งซบเซา เพลงสตริงบูมสุดขีด ค่ายเพลงบางค่ายก่อตั้งสายเพลงลูกทุ่งขึ้นมาเพื่อรองรับตลาด เพราะมองเห็นว่าแม้เพลงสตริงจะดังแรง ดังเร็ว แต่ก็มีอายุสั้น การค้นหานักแต่งเพลงลูกทุ่งหน้าใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นในช่วงนั้น

“ยกตัวอย่างค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ค่ายหนึ่ง โดยวิธีการทำงานเพลงของเขาจะทำในรูปของคณะกรรมการ เหมือนกับทำเพลงสตริงทั่วไป คุยกัน กำหนดประเด็นว่าจะทำเพลงที่มีเนื้อหายังไง พอได้โครงแล้วก็ไปสร้างเพลงขึ้นมา ทำวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายแล้วก็สร้างเพลงเพื่อตอบโจทย์ตลาด

“ในยุคแรกเขาจึงรับนักแต่งเพลงลูกทุ่งระดับกลางๆ ถึงหน้าใหม่ แต่ระดับใหญ่ไม่ค่อยเท่าไหร่เพราะกลุ่มนี้จะติดหลายเรื่อง กลุ่มนักแต่งเพลงระดับกลางและใหม่ก็เข้าโครงสร้างของค่ายเพลง อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป ซึ่งวิธีการแบบนี้มันจะมีจุดอ่อนจุดแข็งของมัน จุดแข็งคือเพลงจะเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของการตลาด นักแต่งเพลงต้องแต่งให้เข้าคอนเซ็ปต์ ส่วนใหญ่ก็หนีออกมา ส่วนที่รับได้ก็อยู่”

เวลาผ่าน อำนาจทางการตลาดของค่ายยักษ์แข็งแกร่งขึ้น ทั้งการโฆษณา ทั้งกุมสื่อ ทั้งการจับมือกับบริษัทรถทัวร์ให้เปิดเพลง หรือเสียงเล่าลือว่ามีการกำหนดให้ต้องมีเพลงที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือเพื่อเรียกรายได้จากการโหลดริงโทน ขณะที่นักแต่งเพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็มีอิทธิพลในแวดวงสูงขึ้น ส่วนนักแต่งเพลงอิสระค่อยๆ เฉาลงไปและไม่มีพื้นที่หรือโอกาสให้ปล่อยของ

“จริงๆ มีคนทำเพลงเยอะแยะ แต่เขาไม่มีโอกาส เพราะโดนค่ายใหญ่คุมไว้หมดจนไม่มีช่องทาง พวกที่ยังมีวงดนตรีของตัวเองอยู่ก็ยังพอหาช่องทางได้ แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีวงหรือไม่ยอมเข้าสู่โครงสร้างแบบนี้จะไม่มีโอกาส แม้จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้การฟังเพลงง่ายขึ้น แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการตลาด

“ถ้าเพลงของนักแต่งเพลงจากค่ายยักษ์ยังครองกระแสอย่างนี้อยู่ต่อไป คนภาคกลางที่แต่งเพลงที่อายุมากๆ ไม่สามารถตามทันกระแสสังคม แล้วมันจะเหลืออะไร อีกสัก 10 ปีข้างหน้า กลุ่มนี้ก็จะยิ่งขยายฐาน คนใหม่ๆ ที่จะได้แสดงศักยภาพไม่มีกำลังใจหรอก แล้วจะไม่ตายได้ยังไง กลิ่นอายของลิเก ลำตัด เพลงอีแซว มันหายไปแล้ว”

เขาคิดว่าการครอบงำจากระบบธุรกิจทำให้ความหลากหลายของเพลงลดทอนลง ถือเป็นอาชญากรทางวัฒนธรรม

5

ไพวรินทร์มีมุมมองในแง่ดีว่า เรื่องกระแสเพลงลูกทุ่งตอนนี้เป็นเรื่องของการผสมผสานพลิกแพลงไปตามยุคสมัย ครูเพลงภาคใต้ก็แต่งเพลงลูกทุ่งอีสานได้ เพลงลูกทุ่งอีสานเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ลูกทุ่งอีสานล้วนๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว หรือคนอีสานเองก็ยังฟังเพลงของมาลีฮวนนา บ่าววี สาวแต ถึงขั้นคลั่งไคล้ด้วยซ้ำ

“ที่ว่านักแต่งเพลงลูกทุ่งภาคกลางทันโลก ไม่ทันโลก ผมว่าน่าจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับภาค นักแต่งเพลงที่แต่งเพลงภาษาภาคกลาง อาจเป็นทั้งคนเหนือ คนอีสาน คนใต้ หรือคนภาคกลางเอง

“ผมว่าคนทุกภาค ลูกทุ่งทุกท้องถิ่น ถึงจะใช้ภาษากลาง แต่ย่อมมีการศึกษาสมัยใหม่ของตัวเอง มีต้นทุนจากท้องถิ่นตัวเอง อยู่ที่คนแต่งจะสอดแทรกเสน่ห์ท้องถิ่นลงไปมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวนี้แม้เพลงลูกทุ่งที่ออกไปทางอีสานจะมาก จนอาจเรียกว่าครองตลาด แต่สัดส่วนของเพลงลูกทุ่งที่ออกไปทางใต้ก็มี เพลงลูกทุ่งที่ออกไปทางเหนือก็มี ขณะเดียวกัน นักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ชาวอีสาน อย่างเช่น ไผ่ พงศธร ก็เน้นบุคลิกหน้าใสๆ เสียงใสๆ แบบภาคกลาง ไม่เน้นบุคลิกหมอลำล้วนๆ หรือไม่เน้นใช้คำอีสานเต็มเพลง อย่างมากก็ใช้คำว่า อ้าย คำว่า คึดฮอด ซึ่งเป็นคำพื้นๆ ที่มีเสน่ห์สำหรับคนทุกภาค”

เชื่อมั้ย? ขณะที่ถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดแบบนี้ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตำนานเพลงลูกทุ่งคนแรกที่ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานโด่งดังจากเพลงสาวคนโก้และสาละวันรำวง กลับบอกว่าอย่าไปซีเรียสมาก ส่วนหนึ่งเพราะครูไวพจน์เลี้ยงชีพจากการแหล่เป็นหลักจึงไม่กระทบกับความวูบไหวของกระแส

“เพลงลูกทุ่งคนอีสานเขาก็ฟัง เดี๋ยวนี้คนใต้ คนเหนือ เขาก็ฟังเพลงอีสานเป็นหมด เพราะเพลงอีสานมันฟังง่าย มันแปลความมาง่าย แต่ก่อนเขาจะร้องภาษาลาวออกไปเต็มๆ แต่เดี๋ยวนี้เขาแปลเป็นภาษาให้คนฟังได้ชัด เพลงลูกทุ่งภาคกลางไม่ตายหรอก อย่าไปซีเรียสเลย เพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย เพลงหมอลำก็ไปจากลูกทุ่ง ก็ร้องลูกทุ่งเหมือนกัน เพียงแต่ไปดัดสำเนียงให้เป็นลาวเท่านั้นแหละ ไปจากลูกทุ่งจะมาอ้างว่าเพลงลาวได้ยังไง เพลงลาวก็ต้องเล่นกับแคนจะมาเล่นกับดนตรีสากลได้ยังไง มันใช้ทำนองลูกทุ่งทั้งดุ้นนั่นแหละ ที่ร้องกันทุกวันนี้ก็ลูกทุ่งทั้งนั้น เพียงแต่เป็นลูกทุ่งสำเนียงลาว เอาสำเนียงภาษาลาวมาใส่ แต่เนื้อหาก็ลูกทุ่งชัดๆ”

ครูไวพจน์เชื่อว่ามันเป็นเพียงกระแส เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อะไรดัง อะไรอยู่ในกระแสก็จะทำตามๆ กันไป พอถึงเวลาหนึ่งวัฏจักรเกิดดับก็จะวนมาเอง

“ไม่มีใครเป็นเจ้าโลกได้หรอกไอ้การทำเพลง อย่ามาอ้างว่าครองตลาดได้ ไม่จริงหรอก อย่างลิเก ช่วงหนึ่งก็บอกว่าลิเกตกต่ำ แต่พอมีไชยา มิตรไชย กุ้ง สุทธิราช พวกนี้มีงานทั้งปี อย่างนี้เรียกตกต่ำเหรอ อย่างผมตอนนี้อายุ 67 มีงานทั้งปี ผมทำขวัญนาคไม่เคยหยุดเลย มันเป็นไปตามกระแส อย่าไปซีเรียสเลย เดี๋ยวก็มีวันตกต่ำ ร้อยเนื้อทำนองเดียวตอนนี้ก็เริ่มแล้ว ออกมาทำนองเดียว กี่ร้อยเพลงก็ทำนองนั้นแหละ โทรศัพท์ไม่รู้กี่พันเครื่องแล้ว คนนี้ก็โทรศัพท์ คนนี้ก็ไม่โทร โทรมาบ้างนะ อย่าโทรเลยเด้อ คิดหรือว่าต่อไปคนจะไม่เบื่อ”

............

วิวาทะเรื่องเพลงลูกทุ่งภาคกลางกำลังจะตาย เพลงลูกทุ่งอีสานครองตลาด อาจจะต้องถกเถียงกันต่อและหาข้อมูลทางวิชาการรองรับ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ แคน สาลิกา และ แวง พลังวรรณ ก็มีแง่มุมให้ต้องใคร่ครวญทั้งคู่ การสลายของกำแพงภาษาและวัฒนธรรมการฟังเพลงที่เปิดกว้างเราถือว่าเป็นสัญญาณดีมากกว่าไม่ดี แต่เราก็เห็นด้วยกับ แวง พลังวรรณ ในประเด็นการครอบงำตลาดของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ด้วยว่า ความหลากหลายของเพลงก็เป็นสิ่งสำคัญ หากถูกจำกัดด้วยเนื้อหา รูปแบบ ทำนอง และผู้แต่งเพียงแบบเดียว คนเดียว เราถือว่าเป็นสัญญาณไม่ดีมากกว่าดี

แต่ถึงที่สุดแล้ว คนฟังย่อมต้องเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกฟังเพลงแบบไหนที่ตนเองฟังแล้วรู้สึกว่าถูกหูที่สุด

************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น