หลังจากที่ประชาชนต่างถามหาถึงหนังสือ 'ตราแผ่นดิน ตราราชสกุล และสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ' พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรกเพียงจำนวน 2,000 เล่ม จนล่วงผ่านไปแล้ว 16 ปี กระทั่งเมื่อ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้รับพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือพระนิพนธ์เล่มนี้ขึ้นอีกครั้ง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จวบจนวันนี้ความต้องการเพื่อจะได้เป็นเจ้าของหนังสือดังกล่าวก็ยังไม่ลดน้อยถอยลง และกลับกลายเป็นของหายากที่นักสะสมจำนวนไม่น้อยกำลังตามหาอยู่เพื่อจะได้ครอบครอง ก็ยิ่งฉายชัดถึงความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้...ว่าเป็นอย่างไร
ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 6 พฤษภาคม ที่เวียนมาอีกคราวครั้ง เราจึงขอน้อมรำลึกถึงสมเด็จเจ้าฟ้าในดวงใจ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถอันเอนกอนันต์อีกวาระหนึ่ง...
บ่อเกิดงานประณีตศิลป์แห่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ
สืบเนื่องจากการที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ทรงค้นพบหนังสือสะสมดวงตราในตู้หนังสือส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นหนังสือที่ เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อทูลเกล้าถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการเสาะหาและเก็บรวบรวมดวงตรา และตราที่อยู่บนหัวจดหมายของเจ้านาย ข้าราชการ และหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนลายเซ็นพระนามและนามของบุคคลในยุคนั้น มายาวนานเป็นเวลาหลาย10 ปี
นับว่าเป็นจุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งอย่างมาก ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของงานศิลปะที่ซ่อนอยู่ในหนังสือต้นฉบับเล่มนี้ ด้วยทรงเห็นว่า หากทิ้งไว้ก็จะผุพังเสีย จึงทรงนำมาเก็บรักษาที่ตำหนักไว้อย่างดี จนเมื่อใกล้ถึงวาระแห่งการเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อปี 2535 ขณะที่พระองค์ทรงพิจารณาถึงสิ่งที่จะทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสพิเศษในครั้งนั้น ก็ทรงระลึกถึงความสวยงามของการบรรจุงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนของเจ้าจอมมารดาเลียม ซึ่งตรงกับพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงโปรดงานประณีตศิลป์ จึงไม่รอช้า มีพระดำริให้จัดทำหนังสือขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยทรงตั้งคณะทำงานขึ้นมาทั้งหมด 3 ท่าน
ประกอบด้วยผู้ค้นคว้าคือ พล.ต.ต.นพ.เฉลิมพล โกมารกุล ณ นคร ผู้มีศักดิ์เป็นหลานเจ้าจอมเลียม ที่สามารถไปสืบหาข้อมูลจากคนในตระกูลบุนนาค เนื่องจากอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันกับบ้านของเจ้าจอมเลียม นัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้ที่มีความสนิทสนมกับบรรดาลูกหลานตระกูลเก่าแก่หลายตระกูล ที่สามารถสืบค้นข้อมูลจากสายสัมพันธ์ของตัวเองได้ และ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ ข้าราชบริพารที่ถวายงานด้านหนังสือมามายาวนานตั้งแต่ปี 2513 เป็นผู้เรียบเรียง โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง และทรงมีพระประสงค์อันแน่วแน่ที่จะให้ หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมตราและอักษรย่อที่มีอยู่ให้ครบถ้วน เพราะทรงต้องการเพียงการเสนอผลงานอันสวยงามชิ้นหนึ่ง เพื่อฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โดยหนังสือเล่มนี้เป็นพระนิพนธ์เพียงเล่มเดียวที่แตกต่างจากเล่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระนิพนธ์ที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ และพระนิพนธ์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว ส่วนพระนิพนธ์เล่มนี้เป็นหนังสือที่เน้นการนำเสนอภาพมากกว่าเนื้อหา เพื่อถ่ายทอดผลงานประณีตศิลป์อันทรงคุณค่าของคนรุ่นก่อนให้ปรากฏต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป
สะท้อนพระปณิธานผ่านงานพระนิพนธ์
คุณหญิงวงจันทร์ หนึ่งในคณะทำงานของการจัดทำหนังสือ 'ตราแผ่นดิน ตราราชสกุล และสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ' ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2535 ย้อนเล่าถึงเบื้องหลังการจัดทำหนังสือเล่มนี้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระทัยในการทรงงานอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากแต่ละขั้นตอนของการทำงานที่ทรงใส่พระทัยในรายละเอียดอย่างมาก
เนื่องจากแต่เดิมหนังสือสะสมดวงตราเล่มนี้ เป็นหนังสือที่มีกรอบรูปแบบต่างๆ กันไปอยู่ทางด้านขวาของเล่ม ซึ่งเจ้าจอมจะต้องเลือกรูปตราสัญลักษณ์ที่มีขนาดเหมาะสมกับแต่ละกรอบที่มีอยู่ และตัดให้ได้รูปร่างที่มีขนาดพอดีกับกรอบนั้นๆ ส่วนทางด้านซ้ายของเล่มจะเป็นพื้นที่ว่าง ซึ่งของเดิมเจ้าจอมได้บันทึกรายละเอียดของตราสัญลักษณ์นั้นๆ ไว้เพียงสั้นๆ
ขณะที่ในการจัดทำหนังสือตามพระดำริ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ แม้จะโปรดให้คงรูปแบบเดิมของหนังสือไว้ค่อนข้างครบถ้วนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทรงแนะนำให้มีการปรับแก้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในเล่มให้ถูกต้องตามพระยศ และยศล่าสุดที่เจ้าของตราได้รับก่อนวายชนม์
ทรงกำชับกับคณะทำงานว่าข้อมูลที่ใส่ลงไปนั้นต้องกระชับ ไม่มาก-น้อยเกินไป ถึงพื้นที่จะมีจำกัด เพราะถูกบังคับด้วยหน้ากระดาษ แต่ก็ต้องให้มีสาระมากที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงแหล่งที่มาของตราสัญลักษณ์ โดยยังคงรูปแบบของรูปเล่มเดิมไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
เช่น ตราสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่เดิมนั้นเจ้าจอมเลียมบันทึกไว้เพียงว่า 'พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่' คณะทำงานจึงต้องเพิ่มเติม พระนามเต็มและพระประวัติโดยสังเขปลงไปเป็น
'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาสังวาล (อินทรกำแหง) เสนาบดีกระทรวงวังและกระทรวงกลาโหมในรัชกาลที่ 5 ต้นราชสกุล ทองใหญ่' ซึ่งก็เป็นไปตามพระประสงค์ที่ทรงต้องการให้ผู้อ่านทราบที่มาของบุคคล หรือหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของตรานั้นๆ
“ในการทำงานค้นคว้า ก็ใช่จะประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการทุกครั้งไป บางครั้งก็ไม่อาจทราบถึงที่มาของตราสัญลักษณ์ได้ทุกตรา หรือบางครั้งอาจจะเป็นการได้ข้อมูลเพียงบางส่วน ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ จะทรงมีพระดำริให้เว้นว่างคำบรรยายของตรานั้นไว้ ไม่ให้สันนิฐาน โดยใช้คำว่า 'อาจจะ' เด็ดขาด เพราะทรงให้ความสำคัญของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องอย่างที่สุด หรือหากมีการใส่ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามโดยไม่แน่ใจ ก็โปรดให้มีการระบุไว้ที่หมายเหตุทุกครั้ง นอกจากนี้ยังโปรดให้นำความรู้เรื่องพระราชลัญจกรและเครื่องหมายประจำรัชกาล จากหนังสือ 'ความรู้เรื่องตราต่างๆ พระราชลัญจกร' ของ ส.พลายน้อย มาเสริมไว้ในช่วงท้ายของหนังสือ เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้อ่านอีกด้วย แสดงถึงความเป็นครู ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงพิสูจน์แล้วว่าทรงเป็นนักวิชาการที่แท้จริง”
แม้วันเวลาจะล่วงเลยมาแล้วหลายปี แต่ความประทับใจที่ได้มีโอกาสถวายงานยังไม่เคยจางหาย คุณหญิงเล่าว่า พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทีมงานทุกคน โดยเฉพาะในการจัดทำหนังสือซึ่งต้องพิถีพิถันมากๆ อย่างหนังสือเล่มนี้ด้วยแล้ว ทรงใส่พระทัยในทุกรายละเอียด จะเห็นได้จากในการเสด็จมาประชุมงานทุกครั้ง ไม่เพียงแต่คณะทำงานเท่านั้นที่ต้องเตรียมเอกสารมาอ้างอิงเพื่อยืนยันข้อมูลของสิ่งที่ได้ค้นคว้ามาถวายรายงาน ขณะเดียวกันพระองค์ท่านก็ทรงปฏิบัติดั่งเช่นพวกเราทุกคน
“ทรงละเอียดถี่ถ้วนมาก ทรงตรวจทุกหน้า ทุกครั้งที่ตรวจเราต้องมีเอกสารมาถวายให้พระองค์ท่านทรงตรวจว่าถูกต้องจริง ด้านพระองค์ท่านเองก็ทรงปฏิบัติเหมือนเรา เมื่อทรงค้นพบข้อมูลมาอย่างไร ก็ทรงนำมาให้ดูว่าพระองค์ท่านได้ข้อมูลมาอย่างนี้ จริงแท้แน่นอน รับสั่งว่าในการทำหนังสือทุกเล่มล้วนมีความหมายทางประวัติศาสตร์ ทรงเห็นว่าในอนาคตอะไรต่ออะไรก็จะเปลี่ยน ข้อมูลเก่ามีแต่จะเลือนหาย ถ้าหากได้จัดพิมพ์ไว้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ หนังสือก็จะอยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์”
พระนิพนธ์แฝงไว้ด้วยคุณค่า เกินกว่าพรรณนา
หากนักอักษรศาสตร์ ย่อความด้วยตัวอักษร หรือถ้านักเขียนจะเลือกถ่ายทอดความรู้สึกด้วยถ้อยคำมหาศาล ทว่า... หากเอ่ยถึงนักออกแบบตราสัญลักษณ์ หน้าที่ของเขาเหล่านั้นกลับต้องสื่อสารความหมายของเรื่องราวทั้งหมดไว้อย่างครบถ้วนให้อยู่ในตราสัญลักษณ์ที่งดงามเพียงตราเดียวเท่านั้น
อาจารย์สุนทร วิไล นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร ผู้มากด้วยประสบการณ์ด้านการออกแบบตราสัญลักษณ์มายาวนานหลายสิบปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ซาบซึ้งในทุกรายละเอียดที่บรรจุไว้ในหนังสือ 'ตราแผ่นดิน ตราราชสกุล และสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ' เพราะด้วยอาชีพที่จำเป็นต้องใช้แรงบันดาลใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนตลอดเวลา
“ครั้งแรกที่ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ รู้สึกดีใจ ยังไม่เคยเห็นหนังสือลักษณะนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาก่อน ชอบใจมาก เพราะสำคัญต่อวิชาชีพของเรา สัมผัสได้ถึงความชอบเก็บสะสม ซึ่งใครที่จะทำได้อย่างนี้ต้องเป็นผู้ที่สนใจ รักในงานศิลปะ และต้องเห็นคุณค่าจริงๆ ถึงได้บรรจงตัดเก็บตราสัญลักษณ์ไว้อย่างเรียบร้อย มากไปกว่านั้น การที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ทรงเอาพระทัยใส่จนได้มีการจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมา ก็ทำให้หนังสือสะสมดวงตราของเจ้าจอมเลียมกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง”
อาจารย์ บอกว่า หากย้อนอดีตกลับไป การออกแบบตราสัญลักษณ์ต่างๆ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานเพื่อใช้ในงานต่างๆ เช่น หัวจดหมาย การประทับตราสิ่งของ ซึ่งในวังต่างๆ ของเจ้านายในสมัยโบราณต่างก็มีช่างศิลป์อาศัยอยู่ ช่างศิลป์เหล่านั้นล้วนมีฝีมือและมีหน้าที่ออกแบบตราสัญลักษณ์ตามพระอัธยาศัยของเจ้านายพระองค์นั้น โดยการออกแบบตราสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมาต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องกับเจ้าของตรา
เช่น ออกแบบให้เป็นตัวอักษรย่อของพระนาม อย่างตราสัญลักษณ์พระนามย่อของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้นราชสกุล รัชนี หรือออกแบบตราสัญลักษณ์ให้ออกมาเป็นภาพที่มีความหมายเกี่ยวข้อง อาทิ ตราสัญลักษณ์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ที่เป็นรูปพระอาทิตย์ เพราะเชื่อมโยงกับราชทินนามว่า 'สุริยะ' เป็นต้น
ประวัติการใช้ตราสัญลักษณ์ในบ้านเราได้รับอิทธิพลมาจากประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ในแถบยุโรป โดยเฉพาะธรรมเนียมการใช้ตราสัญลักษณ์จากประเทศอังกฤษที่เจ้านายส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลกลับมาด้วยภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษา ณ ที่นั่น
ที่น่าสังเกต คือ การนำธรรมเนียมเหล่านั้นกลับมาใช้ในเมืองไทย สิ่งที่เจ้านายและข้าราชการระดับสูงทุกคนต่างยึดถือและปฏิบัติสืบกันมา นั่นคือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์น้อยกว่าจะไม่ทำของที่เทียบเทียมกับผู้ที่สูงศักดิ์กว่า เช่น การทำเข็มกลัดพระนามเป็นลายฉลุ ในชั้นเจ้าฟ้าจะมีการประดับเพชร ซึ่งในบรรดาศักดิ์ชั้นอื่นๆ ตามมารยาทแล้ว จะใช้เพียงทองหรือวัสดุอื่นๆ และไม่มีการประดับเพชรแต่อย่างใด เป็นต้น ซึ่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นของหายากและห่างไกลคนรุ่นใหม่ ซึ่งใครก็ตามที่อยู่ในยุคนี้ หากได้มีโอกาสมาสัมผัสก็จะรับรู้ได้ทันทีว่า งานประณีตศิลป์อันทรงคุณค่าชนิดนี้ควรค่าต่อการสืบทอดให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย
“แม้ดูเหมือนเล็กน้อย แต่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ล้วนยิ่งใหญ่มหาศาล สะท้อนถึงความเป็นครูของพระองค์ท่านที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ทรงเป็นผู้ให้ที่ประเสริฐ ผมเองอยู่กับงานเช่นนี้มาทั้งชีวิต พอได้เห็นหนังสือเล่มนี้ที่ทรงนิพนธ์ไว้ ก็รู้ทันทีว่าเบื้องหลังการทรงงานนั้นไม่ง่ายเลย หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเพชร เป็นดั่งขุมปัญญาอีกแขนงหนึ่งที่ทรงฝากไว้ให้ลูกหลานชาวไทยตลอดไป”
**************
เรื่อง-ภาษิตา ภิบาลญาติ, ชนะพล โยธีพิทักษ์