คำว่า ‘โทรธิปไตย’ แม้จะเป็นชื่อเพลงของวงดนตรี ‘อพาร์ตเมนต์คุณป้า’ ที่มีเนื้อหาของเพลงบางส่วนว่า
“เพียงกระดิกนิ้วแล้วส่งกำลังใจ กำหนดชะตากรรมเพื่อพี่ชายตัวใหญ่ ทำให้คนเล็กๆ โด่งดังเป็นดารา ไม่มีมันนิคและเอ็มคงไม่ได้เป็น The Star ไม่มีมันโลกเราขาดเสียงดนตรี นี่คือยุคที่ริงโทนขายมากกว่าซีดี ทำให้คนสามัญสามารถตัดสินใจโหวตครั้งละ 3 บาท เพื่อประชาธิปไตย
“มันกลายเป็นอัตรา กลายเป็นตัวตน กลายเป็น Lifestyle มันทำให้เรื่องที่ยาก เป็นเรื่องที่ง่ายได้ มันทำลายกำแพงระหว่างผู้คนให้มลาย มันอาจจะทำให้ลงแดงในวันที่ผมทำมันหาย”
ซึ่งเนื้อหาของเพลงดังกล่าวสามารถทำหน้าที่อธิบายและให้ความเห็นเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของรายการเรียลิตีโชว์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะของ ‘การปกครองโดยโทรศัพท์’
‘เรียลิตีโชว์’ แม้ถนนสายนี้จะเปิดต้อนรับผู้เข้าแข่งขันโดยไม่มีการปิดกั้นรูปลักษณ์หรือสถานะ แต่ก็ใช่ว่านักล่าฝันจะสามารถเดินกันไปได้จนสุดทาง เพราะนักล่าฝันที่ได้รับเลือกจากคะแนนประชานิยม ต้องร่วมลงทุนโดยการลงแรงเข้าร่วมเป็นผู้แสดงในรายการตลอด 24 ชั่วโมง แสดงชีวิตการไต่บันไดดาราโดยการรับการฝึกฝนการ้อง การเต้น และการแสดง (และการนอน) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จากครูผู้สอนที่ทางรายการหาไว้ให้
หากการลงทุนประสบผลสำเร็จ หมายถึง การได้รับคะแนนประชานิยมหรือจำนวนโหวตผ่านการส่งข้อความสั้น (Short Messaging Service – SMS) จากฝ่ายผู้ชมหรือผู้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก นักล่าฝันจะได้รับผลประโยชน์จากรายการในรูปของรางวัล เงินสด และได้รับเกียรติยศเป็น ‘เดอะวินเนอร์’ หากการร่วมลงทุนประสบผลโหวตน้องกว่านักล่าฝันคนอื่นๆ การร่วมลงทันก็เป็นอันยุติ ทั้งนี้มิได้หมายรวมถึงคุณภาพการแสดงของผู้ร่วมลงทุน หากแต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ชมหรือผู้บริโภคเป็นหลัก
จากกรณีศึกษา ‘แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับรายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาล 4’ และการศึกษาเรื่อง ‘มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอะเคเดมี แฟนเทเชีย’ ในการประชุมวิชาการทางด้านมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8 ทำให้เห็นภาพของระบอบการปกครองแบบโทรธิปไตยของบรรดาแฟนคลับรายการอะเคเดมี แฟนเทเชียได้อย่างชัดเจน และนอกจากนั้นยังเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาเข้าสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสื่อต่างๆ อีกด้วย
การปกครองโดยโทรศัพท์
การปกครองระบบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเลือกผู้แทนราษฎรไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่มีสิทธิ ประชาชน 1 คนมีสิทธิเท่ากับ 1 เสียง และประชาชนที่อายุต่ำหว่า 18 ปี ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง เพียงเท่านี้อาจจำให้คิดต่อและเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยกับโทรธิปไตย ในปรากฏการณ์ของรายการเรียลิตีโชว์ อะเคเดมี แฟนเทเชีย ได้ว่า
หากประชาชนหรือผู้ชมไม่มีโทรศัพท์ และไม่มีซิมการ์ด (ที่เจาะลงเฉพาะบริษัท) ย่อมหมายถึงการไม่มีสิทธิโหวต แต่เมื่อมีโทรศัพท์และมีซิมการ์ด ก็จะมีสิทธิในการโหวตได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งหรืออายุของผู้โหวต มีเงื่อนไขก็แต่เพียงจำนวนเงินทุนในกระเป๋าของผู้มีสิทธิโหวตเท่านั้นที่เป็นตัวกำกับการใช้สิทธิ
ขณะเดียวกันรายการที่เปรียบเสมือนพรรคการเมือง ออกแบบนโยบายที่สร้างประชานิยม และประโคมประชาสัมพันธ์ทุกยุทธวิธีเพื่อสร้างความนิยมในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค และก็มีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ คือบริษัทที่เป็นเจ้าของทุนผลิตรายการ เปรียบได้กับผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ดังนั้นโทรธิปไตยจึงโยงใยกับทุนนิยมอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้
ณัฏฐชา วงษ์วานิช ผู้ศึกษาเรื่อง ‘Simolution กับปรากฎการณ์แฟนคลับรายการอะเคเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4’ บอกว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการโหวตของกลุ่มเป้าหมายทำให้สามารถแบ่งพฤติกรรมการโหวตของกลุ่มผู้ชมได้เป็นอย่างน้อย 2 กลุ่ม ตามระดับของการเข้ามีส่วนร่วมกับรายการ
“กลุ่มแรกคือ กลุ่มผู้ชมที่โหวตเพื่อสนับสนุนนักล่าฝันที่ตนชื่นชอบ โดยจำนวนเงินที่ใช้โหวตจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ และเงินรายได้ที่ผู้ชมมี โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชมกลุ่มนี้จะโหวตเท่าๆ กันทุกสัปดาห์ เพื่อให้นักล่าฝันที่ตนชื่นชอบมีคะแนนโหวตมากพอที่จะอยู่ในบ้านอะเคเดมีต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำให้ใครเดือนร้อน ทำนองที่ว่า “มีมากโหวตมาก มีน้อยโหวตน้อย” และถึงแม้ว่าผู้ชมกลุ่มนี้จะต้องการให้นักล่าฝันที่ตนชื่นชอบได้อยู่ในบ้านนานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ชัยชนะของนักล่าฝันที่ตนชื่นชอบก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ชมกลุ่มนี้แต่อย่างใด
“อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ชมที่โหวตให้กับนักล่าฝันที่ตนชื่นชอบอย่างจริงจัง กลุ่มนี้จะทุ่มเทเงินจำนวนมากตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาทขึ้นไป โดยมีเป้าหมายให้นักล่าฝันที่ตนชื่นชอบได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ผู้ชมกลุ่มนี้จะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบทรูมูฟสำหรับการโหวตโดยเฉพาะอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง และจะติดตามคะแนนโหวตที่แสดงให้เห็นทางจอโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ
“นอกจากการโหวตในช่วงวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดีแล้ว กลุ่มผู้ชมกลุ่มนี้จะ ‘ทุ่มโหวต’ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ไปจนถึงเวลาที่พิธีกรบนเวทีจะประกาศปิดโหวต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางรายการจะไม่แสดงผลโหวตให้เห็น”
กระดิกนิ้วแล้วส่งกำลังใจ
เซอร์ หญิงสาวพนักงานประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าว่า เธอเป็นแฟนคลับของนักล่าฝัน 2 คนที่มีความสนิทสนมกันตั้งแต่อยู่ในบ้านอะคาเดมี จนกระทั่งออกจากบ้านก็ยังคงมีงานคู่กันอย่างสม่ำเสมอได้เล่าถึงลักษณะเฉพาะของการเป็นแฟนคลับของนักล่าฝัน 2 คนในเวลาเดียวกันให้ฟังว่า
“คืออย่างแรกเราต้องเหนื่อยมากขึ้นเป็นสองเท่า ด้วยความที่ว่าอยากเห็นเขาอยู่ด้วยกัน ผูกพันกัน สนิทสนมกัน และดูแลกันในบ้านอย่างนี้ เราก็เลยอยากให้เขาอยู่ด้วยกันจนวีคสุดท้าย น้องเขาเองก็อยากได้อย่างนั้น พูดง่ายๆ เหมือนเราช่วยต่อความฝันของเขาให้ถึงทีสุด ถ้าโหวตเราก็ต้องโหวตทั้งสองคน ต้องเหนื่อยมากขึ้นเป็นสองเท่า
“ถามว่าวันที่เราจะมีความสุขมากที่สุดเลpก็คือวันที่เหลือน้องทั้งสองคนบนเวที ก่อนที่จะประกาศผลว่า ใครเป็นคนชนะ ณ ตอนนั้นพอผลออกมาว่าพะแพงได้ที่สาม แล้วมันเหลือนัทกับต้อล ทุกคนร้องไห้ ตอนนั้นเราไม่สนแล้วว่าเดอะวินเนอร์คือใคร เราชนะแล้ว เราได้แล้วสองคน นัทหรือต้อลใครจะเป็นก็ได้ให้เขาได้ยืนรับรางวัลด้วยกัน เวลานั้นไม่คิดเสียดายเงินสักบาท”
และเมื่อถามถึงความโปร่งใสในการนับคะแนนโหวตเซอร์เชื่อว่าผลการแข่งขันน่าจะโปร่งใสและตรงไปตรงมา แต่อาจเกิดความผิดพลาดในตัวระบบได้บ้าง
“โดยส่วนตัวไม่คิดว่ามันจะมีการล็อคโหวตนะ แต่จะคิดในลักษณะที่ว่า ระบบมันไม่เสถียร พูดง่ายๆ คอมพิวเตอร์มันมีข้อผิดพลาดเองอยู่แล้วไม่ว่าคุณจะตรวจสอบมันมากเท่าไหร่ ถามว่าอย่างเรื่องการโหวตกันตอนปี 4 คือตัวเองไม่ได้เป็นคนที่โหวตเยอะ แต่ก็เห็นคนที่เขาโหวตเยอะเขาจะนั่งกดกันทั้งวันทั้งคืน ถ้าจะล็อคกันจริงๆ มันคงยาก
“เคยไปดูอันดับมันก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ก็จะมีบางคนที่ทิ้งขึ้นไป อาจจะขึ้นอยู่กับฐานกำลังของแฟนคลับว่ามีมากน้อยแค่ไหน ฐานะแฟนคลับเป็นอย่างไร การที่จะมานั่งทุ่มเป็นล้านเพื่อที่จะมาโหวตพี่ว่ามันคงไม่ขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะมีการเฉลี่ยกันโหวตมากกว่า อย่างอาทิตย์ละพันสองพัน บางคนเป็นหมื่น อยู่ที่บ้านก็กดไป แต่ผลโหวตมันไม่ได้ล็อคหรอก ระบบมันอาจไม่เสถียร ตรงนี้พี่เองก็ไม่แน่ใจ เพราะก็มีเพื่อนที่บ่นว่า เอ๊ะ! ทำไมโหวตแล้วมันไม่เข้า แล้วทำไมมันไม่มีระบบส่งข้อความเอสเอ็มเอสตอบกลับมา ซึ่งตรงนี้เราเองก็ตอบไม่ได้ว่ามันคืออะไร”
เช่นเดียวกับ ออม หญิงสาวพนักงานบริษัทที่โหวตให้กับนักล่าฝันทั้ง 2 คนไปกว่าแสนบาท โดยเธอทยอยโหวตไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากให้น้องได้เรียนนานๆ และเชื่อมั่นว่าการนับคะแนนโปร่งใส มีมาตรฐาน แต่ในขณะเดียวกันออมก็มองว่า รายการนี้ก็อยู่ในระบบบริษัท ดังนั้น การหากำไรก็ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด
ความปรารถนาดีที่ออมมีให้กับนักล่าฝันนั้นเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับรายการโทรทัศน์ที่เธอติดตามรับชมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 3 เดือน
ระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่
กรณีสุดท้ายที่ณัฏฐชาแนะนำ และเห็นว่าควรนำเสนออย่างยิ่งคือประเด็นของ แม่ต้อย ซึ่งเธอประกอบอาชีพรับราชการทหาร และใช้ระบบโทรธิปไตยโหวตให้แก่นักล่าฝันที่ชื่นชอบตลอดฤดูกาลที่ 4 ไปกว่า 6 แสนบาท ทำให้ชื่อของแม่ตอยกลายเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนคลับฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ ที่ได้รับเชิญจากผู้ปกครองของนักล่าฝันให้ไปดูคอนเสิร์ตที่บุตรหลานของเขาและเธอแสดงอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้การชมรายการและการไปดูคอนเสิร์ตถือเป็นกิจกรรมของครอบครัวแม่ต้อยที่ดูและเชียร์คนๆ เดียวกันทั้งบ้าน โดยเงินจำนวนมากที่เธอจ่ายเป็นค่าโหวตก็เป็นเงินส่วนตัวที่เหลือหลังจากที่แบ่งปันให้ลูกๆ เรียบร้อยแล้ว
“ต้อล 4 แสนกว่า สองคนรวมกันก็เกือบ 6-7 แสน ฝ้ายแสนกว่าๆ งงมากโหวตเยอะขนาดนี้ยังไม่ได้ หรือต้องเยอะขนาดไหนถึงจะอยู่ถึงโหวตสุดท้าย ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาโหวตขนาดไหน”
ส่วนเรื่องวิธีการโหวตผ่านระบบการส่งข้อความสั้น SMS จำนวนมากๆ แม่ต้อยอธิบายว่า
“เราเป็นคนดูคนไม่ค่อยผิด ที่บ้านเชียร์บอย แต่ออกเร็ว ลูกๆ เชียร์ออฟ แต่ตอนหลังบอยกลับเข้ามาก็ไม่โหวต เพราะรู้ว่าโหวตไปก็ไม่ได้ AF4 บอกตรงๆ กับฝ้ายหมดไปมาก
“มีส่วนน้อยที่โหวตอย่างเรา ทีแรกคิดว่าอยู่ไม่นานเราก็โหวตเอาให้รอด อย่าไปยืนปากเหว พอใกล้ๆ วันเห็นคะแนนไม่คิด วันศุกร์ทุ่มโหวตฝ้าย 4 เครื่อง ทุกเครื่องพร้อมๆ กัน คนใช้ คนขับรถ แม่บ้านเลี้ยงเด็ก แม่ครัว จ้างโหวตอาทิตย์ละ 100 บาท จะโปรแกรมไว้เลยว่า V9 ก็จะกด
“เฮิร์ตมากตอนที่ฝ้ายออก รับไม่ได้ เพราะโหวตหมดไปเยอะมาก ฝ้ายคนเดียวหมดไปเกือบสองแสน คิดดูว่าไม่กี่อาทิตย์หมดไปสองแสน ถ้าอยู่จนถึงสุดท้ายคงพอๆ กับตุ้ย เหมือนกับว่าแฟนคลับโหวตน้อย ขณะที่เราโหวตเยอะยังหลุด งงมาก
“เท่าที่รู้จักแฟนคลับเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีนักศึกษาศรีปทุม กลุ่มที่เชียร์ฝ้ายจะรู้จักแม่ทุกคน กลุ่มที่เชียร์ฝ้ายจะเข้ามากอดแม่ ชวนแม่ไปงานที่หมาวิทยาลัย วันที่ไปดูคอนเสิร์ตของฝ้ายตอนที่ฝ้ายยังอยู่ แม่จะไม่นั่งจะไปยืนอยู่ข้างหน้า เพื่อให้อยู่ใกล้ๆ ลูก เป็นห่วงว่าจะไหวหรือฝ้าย
“นั่งอยู่ก็จะเห็นไกลๆ แล้วส่งสัญญาณให้รู้ว่าแม่มาเชียร์ ฝ้ายเห็นก็ยกมือไหว้ ตอนนั้นพูดคุยกันไม่ได้ แต่ฝ้ายรับรู้ตลอดว่าแม่มาเชียร์ พอฝ้ายออกจากบ้านก็โทรมาร้องไห้ แม่ก็บอกว่าจะช่วยเต็มที่ถ้ามีงาน ฝ้ายมีฝีมือ เสียดายหวังว่าจะได้โหวตกลับแต่ไม่มี
อย่างไรก็ดีแม่ต้อยมั่นใจว่าระบบการนับคะแนนนั้นโปร่งใส เนื่องจากบุตรชายของแม่ต้อยได้เข้าไปทำงานกับกลุ่มทรู โดยมีตำแหน่งในส่วนงานคอมพิวเตอร์ที่รับผิดชอยในการจัดการเรื่องคะแนนโหวตโดยตรง ทำให้แม้ต้อยเชื่อมั่นในความตรงไปตรงมา และมีกำลังใจที่จะโหวตมากขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า ระบบอุปถัมภ์ยังคงความเข้มข้นอยู่ในสังคมไทย แม้จะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปเป็นอื่นบ้าง
ระบบอุปถัมภ์ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของศิลปะในสังคมไทย เพียงตาการอุปถัมภ์นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาศิลปะเพื่อสร้างสุนทรียะในสังคมไทย หรือเป็นไปเพื่อปลุกเร้าพฤติกรรมการบริโภคที่มุ่งตอบสนองต่อระบบทุนนิยม
สุนทรียะหลอกๆ ของเรียลิตี
ฤดูกาลที่ 5 หรือ AF 5 ที่ผ่านมา การไล่ล่าความฝันที่ขึ้นอยู่กับความนิยมของบรรดาแฟนคลับที่จะส่ง SMS โหวตให้คะแนน มียอดการโหวตสูงกว่าทุกๆ ฤดูกาลคือ 22 ล้านโหวต ทำให้รายได้ที่ยังไม่นับรวมงบประมาณจากผู้สนับสนุนรายการ และอื่นๆ สูงกว่าละครโทรทัศน์หลายๆ เรื่องรวมกัน
พนิดา ฐปนางกูร ผู้ทำการศึกษาเรื่อง ‘มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอะเคเดมี แฟนเทเชีย’ บอกว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงมหาชนทุกครัวเรือน เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลและมีอิทธิฤทธิ์สะกดให้มหาชนกลายเป็นฝูงแกะไปได้โดยง่าย ศิลปะการแสดง เป็นศาสตร์ที่มีหลักวิชา เป็นศิลป์ที่ต้องอาศัยเวลา เพื่อฝึกฝนทักษะในการสำแดงออก อาศัยการวิจารณ์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่าฝีมืออยู่ในระดับใด เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับความสามารถ
“หลักสูตรเร่งรัด และความตื้นเขินเป็นบ่อเกิดความไร้รสนิยม หากมองผาดเพียงเป็นเรื่องของความบันเทิง และตัดสินว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องนี่ต่างหากที่กำลังกำหนดรสนิยมของสังคมไทย ความบันเทิงจึงควรได้รับการพิจารณา
“ระบบทุนนิยมไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัว ผู้ใช้ระบบทุนนิยมเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้ระบบนี้อย่างไร การมุ่งตอบสนองแต่เพียงระบบทุนโดยไม่ได้สนใจต่อระบบคุณค่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และมีผู้รับ ผู้เสพ ผู้บริโภคที่ให้การสนับสนุนรายการที่ ’ฉาบ’ เบื้องหน้าด้วย ’ศิลปะการแสดง’ และ ‘ฉวย’ โอกาสในการสร้างความนิยมในนามของการไล่ล่าความฝัน
“เมื่อระบบทุนได้ยื่นมือมาหยิบใช้ศิลปะ และบิดให้ประสบการณ์ทางสุนทรียะที่มุ่งความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนผิดรูปไปด้วยกระบวนการที่สอดแทรกค่านิยมในแนวทางของการสร้างประชานิยมในระบบโทรธิปไตย ให้กลายเป็นทุนสำหรับการต่อทุน
“ศิลปะไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็นโสเภณีที่ยินยอมบริการทุกระดับประทับใจ ถ้าหากรูปการไม่ได้เป็นดังที่ว่านี้ คำถามที่ตามมาก็คือ วิธีคิดต่อระบบคุณค่าของสังคมไทยกำลังทำงานผิดปกติอยู่หรือไม่?”
รายการเรียลิตีโชว์จึงถือเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งทำการค้ากับอารมณ์ของมนุษย์ เป็นกลยุทธ์ที่เห็นได้ทั่วไปตามโฆษณาเกินจริงทั้งหลายในจอโทรทัศน์ ตั้งแต่ สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำอัดลม ขนม น้ำเมา ไปจนกระทั่งประกันชีวิต เพียงแต่การซื้อขายนั้น ไม่ได้เป็นการซื้อขายเพื่อการอุปโภค แต่เป็นการซื้อความพึงพอใจหรือประสบการณ์สุนทรียะ โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับคุณภาพ แม้จะมีผู้ชมหรือผู้บริโภคที่เรียกร้องคุณภาพหรือคุณค่างทางสุนทรียะ แต่คุณภาพของนักล่าฝันไม่ใช่เป้าหมายของรายการ
*************