ความสวยเท่านั้นที่ขับเคลื่อนโลกทุกวันนี้ (เหรอ?)
ในประวัติศาสตร์ของ 'ความอ้วน' ครั้งหนึ่ง 'ความอ้วน' เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ 'ความสมบูรณ์พูนสุข', 'ความร่ำรวย' และ 'สุขภาพดี' แต่เมื่อมีการวิเคราะห์วิจัยจนได้ข้อสรุปจากนักโภชนาการว่า "ความอ้วนเป็นบ่อเกิดของโรค" ทุบซ้ำด้วยพิมพ์นิยมตามหมากเกมของสื่อโฆษณาว่า ความงามต้อง "ผอมบางดุจนางแบบ พุงแฟบดุจดารา" ชายหญิงทั้งหลายจึงพากันตั้งข้อรังเกียจความอ้วนกันใหญ่ ใครอ้วนต้องรีบรีด เพราะเดี๋ยวเพื่อนจะแอบนินทาหมู่ประชาจะยิ้มมุมปาก
กว่าครึ่งของคำเรียกคนอ้วนในสื่อต่างๆ ทั้งในเกมโชว์ รายการตลก รายการละคร และภาพยนตร์โฆษณา ไม่เคยพ้นไปจาก ตุ้ยนุ้ย ตุ่มสามโคก พังแป้น ช้างน้ำ ฮิปโป หมูอ้วน ยักษ์ ฯลฯ
กว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ของภาพของคนอ้วนในโทรทัศน์คือการเป็นคนใช้ เป็นตัวประกอบเพื่อช่วยนางเอกพระเอก หรือบางทีก็เป็นสมุนของตัวโกงหรือนางอิจฉา เป็นตัวตลก เฟอะฟะ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะและความบันเทิงจากท่านผู้ชม ไม่เคยมีภาพของคนอ้วนที่จะได้ตำแหน่งผู้บริหารในละคร แต่ถ้ามีคนอ้วน คนนั้นก็จะเป็นเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ของแก๊งอันธพาล
กว่าพันเปอร์เซ็นต์ของภาพผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อ เราจะได้เห็นแต่ภาพของผู้หญิงที่สวยมากและผอมมาก ใส่เสื้อผ้าตัวเล็กๆ ผ้ายืดแนบเนื้อ กางเกงเอวต่ำ ทรงแคบ ภาพดังกล่าวถูกนำเสนอควบคู่ไปกับคอลัมน์ลดต้นขาให้เพรียวสวย เซย์กู๊ดบายบั้นท้ายดินระเบิด พร้อมๆ กับโฆษณาอาหารลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดไขมัน ลดเซลลูไลต์ กระชับสัดส่วน ศูนย์บริการความงาม และสถาบันลดความอ้วน
ในขณะเดียวกัน เนื้อหาหรือเรื่องราวในสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นละคร นวนิยาย คอลัมน์ปรึกษาปัญหาใจทางหน้าหนังสือพิมพ์ และในนิตยสารสำหรับผู้หญิง ยังตอกย้ำปัญหาให้ได้รับรู้กันอยู่เสมอว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมักจะนอกใจภรรยาไปตกหลุมรักผู้หญิงที่อายุยังน้อย ทั้งสวยและทั้งผอม
ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถอ่านนัยยะระหว่างบรรทัดของสื่อมวลชนได้ว่า "ความอ้วนเป็นสิ่งเลวร้ายแปลกปลอมที่ผู้หญิงควรหลีกไกล" ขณะเดียวกัน ภาพของนางแบบที่ผอมซึ่งถูกนำเสนอควบคู่มากับความสวยได้กลายเป็นมาตรฐานในการตัดสินคน เรามีคุณค่าแค่ไหน เราเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ได้หรือไม่ ภาพลักษณ์ความอ้วน ผอมของเราจะเป็นตัวตัดสินชี้ชะตา
อืด อ้วน บวม เต็มชาม
แต่ในปัจจุบันตัวตนของคนอ้วนถูกสร้างความหมายใหม่จากอิทธิพลของสังคมตะวันตก ความอ้วนที่รับรู้ และที่อยู่ในความคิดความเชื่อ คือ การปล่อยตัว การไม่รู้จักดูแลตัวเอง การไม่รักตัวเอง และหมายถึงการนำไปสู่การหมดคุณค่าในสังคม
ปิยะ บุณฑริก Executive Vice President - Executive Creative Director ทีมงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดหนึ่ง ที่มีชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งหน้าเซ็งมองเส้นบะหมี่ในชาม ภาพตัดไปที่กลุ่มหญิงสาวรูปร่างท้วมนอนอืดๆ ไม่น่าดู ไม่น่ารับประทานอยู่ในชามบะหมี่ โฆษกจึงแนะนำบะหมี่อีกชามที่ดูน่ารับประทานกว่าเยอะ ภาพตัดไปที่กลุ่มหญิงสาวรูปร่างดีกำลังดี๊ด๊าหยอกล้อเล่นกันอยู่ในชาม ดูตึงเต่งเด้งดึ๋งน่ารับประทาน จึงทำให้ชายหนุ่มอดไม่ได้ที่จะรีบซดบะหมี่ในชามอย่างเอร็ดอร่อย
ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้มีชื่อภาพยนตร์โฆษณาว่า 'ไม่อืด' มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย, สร้างภาพลักษณ์ และตอกย้ำจุดขายที่โดดเด่นและแตกต่างของผลิตภัณฑ์ คือเรื่องเส้นที่มีความเหนียวนุ่มไม่อืด
จุดประสงค์ของภาพยนตร์โฆษณาก็เพื่อสร้างภาพเปรียบเทียบความอืดของเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ดูไม่น่ารับประทาน ตรงกันข้ามกับเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เหนียวนุ่ม เด้งดึ๋งดั๋งน่ารับประทานมากๆ โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านจินตนาการของคนกินบะหมี่
"โฆษณาตัวนี้มีความน่าสนใจอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก เริ่มเปิดเรื่องด้วยภาพผู้ชายนั่งมองชามสีดำ พร้อมคีบตะเกียบรอด้วยสีหน้าไม่พอใจ เป็นการเปิดประเด็นให้ผู้ชมสนใจอยากรู้ว่าผู้ชายคนนั้นไม่พอใจอะไรในชามนั้นๆ ตรงนี้เป็นการเล่นกับความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นซึ่งมักได้ผลดีกับการโฆษณา สังเกตได้จากโฆษณาหลายๆ ชิ้น เช่น โฆษณาเครื่องสำอาง แชมพู หรือสบู่ จะไม่เล่นกับความรู้สึกแบบนี้ หากแต่จะมีแต่คำเชิญชวนให้ใช้ ซึ่งหากถามผู้ชมโดยมากแล้ว จำโฆษณาเหล่านั้นได้หรือไม่? โดยส่วนมากแล้วจะตอบว่าไม่ได้ เหตุเพราะมีโฆษณาแบบนี้เป็นจำนวนมาก และทุกยี่ห้อก็โฆษณาเชิญชวนให้ใช้เหมือนกัน ดังนั้นการเล่นด้วยการที่ทำให้ผู้ชมคิดตามหรือเกิดความสนใจเป็นการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ
"ประการที่สอง ภาพถูกตัดมาที่สิ่งที่อยู่ในชาม คือ ภาพผู้หญิงนั่งแช่น้ำอยู่จนเต็มชาม ผู้หญิงเหล่านั้นมีลักษณะที่อ้วนมาก ลอยนิ่งไม่ขยับเขยื้อน ทำให้ไม่ดึงดูดแต่อย่างใด แล้วก็ถูกตัดฉากมาที่หน้าผู้ชายที่คีบตะเกียบรอ เขายังทำหน้าไม่พอใจอยู่เช่นเดิม เมื่อตัดฉากมาอีกทีในชามไม่ได้มีผู้หญิงนั่งอืดอยู่แล้ว แต่กลับมีสาวสวยนั่งอยู่เต็มชาม แถมพวกเธอเหล่านั้นยังหัวเราะด้วยความเชิญชวน เห็นได้ว่าตรงนี้เป็นการเล่นกันระหว่างเพศและความรู้สึก เพราะคนที่คีบตะเกียบเป็นผู้ชาย เมื่อเขาเห็นผู้หญิงอ้วนเขาจึงไม่สนใจ แต่เมื่อเห็นผู้หญิงผอมสวยเขาเริ่มมีความสนใจขึ้นมาในทันที ส่วนเรื่องความรู้สึกนั้นก็ถูกตีออกมาในรูปแบบของลักษณะของคน เช่น อืดไม่ดี ไม่ชอบ ไม่อืดคือดี
"ประการสุดท้าย คือ เมื่อผู้ชายที่คีบตะเกียบนั้นเห็นหญิงสาวเขาให้ความสนใจและรีบคีบเส้นบะหมี่นั้นทันใดด้วยความรวดเร็ว ตรงนี้คำบรรยายคือ ไว ไว เป็นการสื่อแบบสอดคล้องคือภาพการรับประทานนั้นไวมาก จึงเป็นการบอกผู้ชมโดยรวมว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นไม่อืดน่ารับประทานทานนั่นเอง"
ปลาเส้นเจ้าปัญหา
นอกจากนั้น โฆษณาปลาเส้นยี่ห้อดังซึ่งถูกโจมตีเป็นอย่างมากจากสังคม เนื่องจากการนำเสนอความคิดที่บอกว่า "คนขี้เหล่ แต่ได้แฟนหล่อ, คนสูง แต่ได้แฟนเตี้ย, คนขาว แต่ได้แฟนเป็นคนดำ ฯลฯ" แต่สุดท้าย คนอ้วนต้องยืนคนเดียวไร้คู่ เหมือนจะเปรียบเทียบว่า ถ้าอ้วนยังไงก็หาคู่ไม่ได้ แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า "เอ่อ...กิน....ก่อนเดี๋ยวก็มีเอง"
ปรีชา ประมรกุล ตัวแทนจากทางบริษัทผู้ผลิตปลาเส้นยี่ห้อดังกล่าวได้ออกมาแสดงความรู้สึกหลังจากถูกสังคมมองว่านำจุดด้อยของคนมาล้อเลียน อย่างไร้จรรยาบรรณว่า
"ทางบริษัทรู้สึกเป็นกังวลเหมือนกันว่าเนื้อหาในโฆษณาที่ทางครีเอทีฟคิดมานั้น มีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งเจตนาการทำหนังโฆษณาชุดนี้ ทำมาเพื่อตอกย้ำจุดขายของผลิตภัณฑ์ว่าไม่มีไขมันเท่านั้น กินในปริมาณปกติก็ไม่อ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานขนมที่ไม่มีไขมัน ซึ่งครีเอทีฟที่คิดงานก็เป็นคนอ้วนเหมือนกัน
"อีกทั้งสิ่งที่ทางบริษัท อยากรณรงค์ก็คือความอ้วนจะก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพที่ไม่ดี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็พยายามให้เยาวชนไทยมีสุขภาพดี ตัวอย่างเช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกแคมเปญ 'คนไทยไร้พุง' เพื่อสนับสนุนให้เด็กไทยมี 3 อ. คือ อาหาร / ออกกำลัง / อารมณ์ ดังนั้นการรณรงค์เพื่อไม่ให้อ้วน จึงเป็นเรื่องปกติที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในภาพรวม
"ดังนั้น บริษัทของเราไม่ได้มีค่านิยมนับถือคนผอม เรานับถือคนที่ความสามารถและเป็นคนดี ทั้งนี้ด้วยจุดขายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีไขมัน เราจึงนำเสนอแง่มุมของความไม่อ้วนเพื่อให้ผู้บริโภคขนมได้เห็นสินค้าเราเป็นทางเลือกในการจะรับประทานขนมสัก 1 ซอง ว่าควรเลือกรับประทานแบบที่มีไขมันหรือไม่มีไขมัน แต่ทั้งนี้เวลาในการโฆษณามีจำกัด เราจึงจำเป็นต้องใช้ภาษาสัญลักษณ์นำเสนอว่า ไขมัน เท่ากับ ความอ้วน ซึ่งผู้ชมจะเข้าใจง่าย และเรื่องการมีแฟนหรือไม่นั้น เราก็รู้กันอยู่ทั่วไปว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าเลือกได้ทุกคนอยากมีสุขภาพดีและไม่อ้วน เราไม่ได้มีเจตนาดูถูกหรือทำร้ายจิตใจผู้ใดเลย"
น้องยุ้ยจะสู้เพื่อใคร
หลังจาก "ระวัง! มันจะมาโดยไม่รู้ตัว" สโลแกนของกาแฟลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่งกลายเป็นประโยคฮิตติดปากไปทั้งบ้านทั้งเมือง กาแฟลดน้ำหนักยี่ห้อดังกล่าวจึงได้ออกมาตอกย้ำความทรงจำของผู้บริโภคด้วยการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์แบบฉบับซีรี่ส์ 'น้องยุ้ย' หญิงสาวร่างอวบอ้วนซึ่งทำได้ทุกอย่างเพื่อศิลปินเกาหลีที่เธอชื่นชอบ แต่วันหนึ่งต้องกลับเสียใจเพราะพบว่าเขาคนนั้นเป็นเกย์
เสียงสะท้อนของ ทิพย์สุดา คล้ายสุบรรณ ผู้ติดตามชมโฆษณาชุดดังกล่าวบอกว่า
"โฆษณาสนุกดี แต่สงสัยว่า อย. ควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มประเภทนี้หรือเปล่า การลดน้ำหนักแค่ลดอาหารกับออกกำลังกายก็พอแล้วมั้ง เพราะโฆษณาทั้งหลายนี่แหละที่บีบคั้นให้คนอ้วนไม่มีที่ยืนในสังคม เหมือนกับโฆษณาผิวขาวที่สร้างค่านิยมผิดๆ คนดูก็ฝังใจ ทีนี้ก็เลยเห็นคนอ้วนๆ ไม่ได้ จะมองเป็นตัวประหลาดไป เหมือนบีบบังคบให้คนอ้วนๆ ต้องซื้อสินค้ามาใช้
"แต่โฆษณาน้องยุ้ยนี่ไม่ไหวนะ พยายามลดความอ้วนเพื่อนักร้องเกาหลี มันก็เป็นแรงผลักดันชั้นเยี่ยมจริงๆ แต่คนทำโฆษณาน่าจะเล็งเห็นบ้างว่า ชีวิตคนอ้วนมีอะไรอีกมากมาย นอกจากการฝันถึงดารา
"ไม่ค่อยชอบที่ครีเอทีฟ เอาเเง่มุมนี้มาเล่นเลย คนอ้วนก็น่ารัก ก็มีเเฟนได้ ไม่ชอบการสร้างค่านิยม ผ่านสื่อที่ชอบปลูกฝังว่า ความสวย คือ ขาว ผอม และสูง ทุกคนสวยเเละน่ารักในเเบบของตัวเองได้ ถึงจะคล้ำหรือ อ้วน เเต่มันก็มีองค์ประกอบมากกว่านั้นอีกมากมายที่ทำให้เรารู้สึกดีต่อใครได้ เบื่อโฆษณาที่สร้างสังคม 'เปลือก'เเบบนี้ โดยรวมทำให้รู้สึกดรอปกับโปรดักชันเฮ้าส์ผู้ผลิตไปพอสมควร
"จะว่าไป คนไทยส่วนใหญ่ก็ชอบมองกันแต่เปลือกภายนอก มองแบบให้ความสำคัญด้วย คนนี้หน้าตาสวย คนนั้นขี้เหร่ อ้วน ต่ำ ดำขาว พวกสื่อโฆษณาเขารู้ไงว่าค่านิยมของคนไทยส่วนใหญ่เป็นแนวไหน เลยโฟกัสมาทำเป็นโฆษณาเสียเลย เพราะรู้ว่าต้องโดนใจคนไทยส่วนใหญ่แน่ๆ"
ค่านิยมมองภายนอก
ปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ที่มุ่งเป้าโจมตีมายังพื้นที่ร่างกายของผู้หญิง เป็นไปเพื่อเร่งเร้าให้คนอ้วนหาทางออกหรือใช้กลไกในการระบายความรู้สึกต่ำต้อย ชดเชยความรู้สึกเจ็บปวดด้วยโลกที่ตนเองมีอำนาจจากการซื้อ ด้วยการกระหน่ำซื้อ กระหน่ำชอปปิ้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สวมเสียบแทนความหมายของคำว่า 'ผอม' คำว่า 'สวย'
สังคมทุนนิยมแยกผู้หญิงอ้วนที่มีกำลังซื้อด้วยการส่งเสริมให้ซื้อ แยกผู้หญิงอ้วนที่จนให้ทนทรมานยอมทำงานหนักทุกวิถีทางเพื่อให้มีเงินไปซื้อ สังคมทุนนิยมเปลี่ยนคนอ้วนไม่ว่าจะชนชั้นใดให้กลายเป็นมนุษย์ผู้บริโภคอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง
นอกจากนั้นแล้ว ที่น่าเศร้าและสะเทือนใจอย่างยิ่งก็คือ การที่สังคมทุนนิยมนำผู้หญิงผอมมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการขยายระดับการบริโภคของผู้หญิงอ้วนให้มากมายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถาบันเสริมความงามลดความอ้วนในประเทศไทยผุดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ดบาน เช่น การนำเสนอภาพของนางแบบที่สวย ที่ผอม ที่ใช้สินค้าหรือบริการต่างๆ ในภาพโฆษณา ไม่ว่าจะเป็น ครูเคท-เนตปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย, อารยา เอฮาร์เก็ต จากบอดี้เชฟ หรือใหม่ เจริญปุระ ในโฉมใหม่จากแมรีฟรานซ์
สาวร่างอวบ ทิพย์กัลยา ชั้นบุญ อายุ 22 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงการนำจุดด้อยของคนในสังคมมาล้อเลียนในภาพยนตร์โฆษณาว่า
"ขอบอกว่าเกลียดโฆษณาประเภทนี้มากๆ โฆษณาต่ำช้าแบบนี้ ตอบโจทย์ได้ตรงเป้าคือ กระตุ้นให้คนอยากสวย อยากซื้อสินค้าของคุณ แต่ไร้จรรยาบรรณมากๆ เหมือนคุณสร้างมาตรฐานสังคมว่า ผู้หญิงต้องสวยเท่านั้น ไม่อย่างนั้นชีวิตจะฉิบหาย ซึ่งทุเรศมากๆ
"ตั้งแต่ครั้งโฆษณาผิวไม่ใสผัวทิ้ง พอผิวใสเนียนผัวกลับมาขอแต่งงาน ถามจริงๆ ในชีวิตจริง คุณอยากได้ผู้ชายอย่างนี้มาเป็นสามีหรือพ่อของลูกเหรอ? คนผิวดำ คนอ้วน เตี้ย โดนล้อเลียน โดนผู้ชายนินทา ตั้งฉายาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าครีเอทีฟและทีมมาร์เกตติ้งเติบโตมากับสังคมยังไง ครอบครัว และสถานศึกษาสั่งสอนอบรมกันมายังไง
"ทุกวันนี้คนอ้วนเป็นตัวตลกกลายเป็นเหมือนสัตว์ประหลาด ก่อความวุ่นวายเดือดร้อนให้สังคม ทำเก้าอี้พังบ้าง เดินทีพื้นทรุดบ้าง เปรียบกับสัตว์ตัวโตๆ เช่น แรด ฮิปโป ค่านิยมบ้าบออะไรกัน เอาคนไปเปรียบกับเดรัจฉานเพียงเพราะเขาอ้วน
"ขอบอกเลยว่าสังคมไทย กำลังสร้างความหายนะด้วยการย้ำค่านิยม 'มองภายนอก' อย่างรุนแรง คือเรายอมรับว่าคนทุกคนต้องเริ่มจากการมองที่ภายนอกอยู่แล้ว แต่สื่อเหล่านี้กำลังย้ำให้ค่านิยมรุนแรงลุกลามมากขึ้น แล้วผลที่ได้เป็นยังไง? ก็ออกมาคอยทำวิจัย คอยทำข่าวสลดใจ วัยรุ่นไทยเอาแต่หมกมุ่นทำศัลยกรรม หาหมอสิว หาหมอเถื่อนเพราะอยากสวย ฉีดนั่น ฉีดนี่ อ่านหนังสือยังไม่ออก แต่อยากนมโต สูตรคูณยังท่องไม่เป็นแต่หมกมุ่นหายามาทาให้รักแร้ขาว เมนส์ยังไม่มาก็เริ่มกินยาลดความอ้วนจนสมองฝ่อ นักเรียน นักศึกษาแต่งตัวยั่วยวนเสื้อรัดติ้วโชว์ร่องนม แทนที่จะโชว์สมองระดับปัญญาชน ฯลฯ
"โฆษณาในต่างประเทศที่เจริญแล้วด้วยอารยะ เขาไม่ทำแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นว่า ความสวย ทำให้บุคลิคดี ก่อให้เกิดความมั่นใจ และรักตัวเอง สังเกตดีๆ ยี่ห้อต่างประเทศจะมีสโลแกนอย่างไร เช่น คุณค่าที่คุณคู่ควร อย่างนี้ เขาเน้นว่าของเขาดีจริง เหมาะกับคนมีคุณค่าอย่างคุณ (เน้นให้คนรักตัวเอง) หรืออย่างแคมเปญของหลายๆ ยี่ห้อ เช่น The Body shop ที่เคยเน้นให้ผู้หญิงสวยในแบบของตนเอง ไม่ใช่ตามแบบซูปเปอร์โมเดล และอื่นๆ" ทิพย์กัลยา ทิ้งท้าย
ค่านิยม และคำนิยามต่างๆ ในสังคมใครเป็นผู้กำหนด คนกำหนดคือ คนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่กำหนดหรือไม่ วันนี้ 'ความอ้วน' กลายเป็นนิยามของคนมีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ดูจะเชื่อว่าค่านิยมของ 'คนสวย' ต้องหุ่นเพรียวลม คล่องตัวเหมือนนางแบบ
การเปิดพื้นที่สำหรับคนอ้วนจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำให้คนอ้วนกระเด็นออกจากพื้นที่ของสังคมไกลออกไปยิ่งกว่าเดิม เป็นคนอื่นที่ช่างแตกต่าง ต้อยต่ำ และไร้ค่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นทฤษฎีอย่างหนึ่งของสื่อในการสร้างอารมณ์ขัน โดยการนำจุดด้อยของตัวละครมานำเสนอ เพราะวิธีนี้จะช่วยสร้างการจำภาพลักษณ์ของสินค้าที่โฆษณาหรือภาพยนตร์ที่นำเสนอได้เป็นอย่างดี
************
เรื่อง - เพลงมนตรา บุปผามาศ