รมณีย์ดอกไม้
turn on
ผลิดอกออกช่อรอสายฝน
ร่วงหล่นลงชะช่อมะม่วง
ที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม พราวพุ่มพวง
ผลิกลางเดือนไม้ร่วงลงลาใบ
พวงแสด พวงครามพรายสายถนน
หนาวพ้นผ่านหาย ร้อนกรายใกล้
บนรอยต่อลี้ลับกลับเรืองไร
เพลิงไสวดอกงิ้วแดงแข่งดอกจาน
ร่วงพราย ผลิรออย่างพอเหมาะ
จำเพาะสีสันบรรสาน
แดดกรำจนกลิ่นกรุ่นดินดาน
กระพือหอมขึ้นกลางม่านฝนโปรยปราย...
tune in
บนถนนสายนั้น ถึงวันนี้
บรรสานสีสันทอดตลอดสาย
จำหลักในวัยหนุ่มนั้นจนบั้นปลาย
กรุ่นกลิ่นอาย ภาพทั้งมวลอยู่ถ้วนครบ
รักทุกต้นทุกใบไม้ทุกดอก
เบ่งบานออกบอกความฝัน-จริงบรรจบ
สยาย ‘วงษ์สวรรค์’ บรรณพิภพ
อวลตลบหอมผ่านกาลเวลา
รมณีย์ดอกไม้ในผู้สร้าง
หยัดหนทางมลังเมลืองสู่เบื้องหน้า
ดอกไม้ปลูกดอกไม้ประกายผกา
เบ่งบานเนิ่นนานช้าบุปผาชน...
drop out
มิร้าง ’รงค์รมณีย์สีดอกไม้
กลีบทุกกลีบ ใบทุกใบ ต้นทุกต้น
ชีวิตมอบสวนสวรรค์ดาลใจดล
รักดอกผลงานสะพรั่งอยู่ยั่งยืน...
*2552 มีนาคมอาลัย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ - เพิ่มเติมจากบันทึกระหว่างเดินทางสู่สวนทูนอิน กุมภาพันธ์ 2550
อังคาร จันทาทิพย์
ยังจะต้องมีคำบรรยายอะไรอีกสำหรับ ‘พญาอินทรีแห่งสวนอักษร’ ฉายาที่ยิ่งใหญ่โดยตัวมันเอง โดยไม่ต้องเปลืองคำสรรเสริญ และโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อเจ้าของฉายาด้วยซ้ำ
‘ปริทรรศน์’ ขอนำคำไว้อาลัยของผองเพื่อนน้ำหมึกมาลงไว้ ณ ที่นี่
อัคราจารย์แห่งวงวรรณกรรม
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ เอ่ยความรู้สึกรักและอาลัย ต่อดวงวิญญาณและเนื้องาน ของพญาอินทรี ว่า
“ในบรรดานักเขียนที่กล่าวได้ว่าเป็น ‘สกุลช่าง’ อย่างแท้จริงนั้น มี ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นหนึ่งในนั้น เป็นพญาอินทรีแห่งสวนอักษร เป็นอัคราจารย์แห่งวงการวรรณกรรม งานเขียนของ ’รงค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครเทียบเทียม เปรียบเสมือนการฉายภาพ ฉายมุมมอง แล้วถ่ายทอดเป็นตัวอักษรที่ผ่านการเจียระไนอย่างดี
“ทุกๆ ถ้อยคำ ทุกๆ ตัวอักษรที่ปรากฏในงานของ ’รงค์ ควรค่าแก่การศึกษา ทั้งตีความไม่สิ้นสุด นับเป็นงานของกวี ที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบดั้งเดิม ซึ่งนิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะเรื่องราวไม่ได้ดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน จากเริ่มต้นสู่บทสรุป แต่ดำเนินไปตามขนบของตนเอง ที่มีเสน่ห์ มีทั้งความแวววาว และเปี่ยมด้วยรสอารมณ์ปรากฏอยู่ในแต่ละถ้อยคำ ถือเป็นศิลปะแห่งวงการวรรณกรรม
“กล่าวได้ว่า ความตาย ได้นำ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปสู่ความไม่ตาย นำไปสู่การเป็นอมตะของผลงานที่ร้างสรรค์ไว้”
ปรากฏนามสูงสง่า ‘พญาอินทรี’
ประชาคม ลุนาชัย เขียนบทกวีรำลึกถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ดังนี้
ผู้เคยอยู่ใต้ถุนป่าคอนกรีต
สนิมสร้อยร้อยจารีตเคยฝ่าข้าม
เป็นผู้นำทางภาษาแก่ผู้ตาม
ปรากฏนามสูงสง่า... ‘พญาอินทรี’
ผู้เคยเสพกัญชาธิปไตย
เยี่ยงโกเมนนักเลงใหญ่ในทุกที่
ตั๋วจำนำเป็นเสบียงเลี้ยงชีวี
สร้างผู้ดีขึ้นกลางพงดงน้ำครำ
สยายปีกแกร่งกล้าเนื้อฟ้ากว้าง
ทระนงในเส้นทางเคยย่างย่ำ
เมื่อถึงวันลาจากยังฝากคำ
เป็นลำนำ ‘ลำพู’ ผู้รำพัน
ไม่มีทั้งน้ำตามาร่ำไห้
พจน อาลัย อย่าไปฝัน
ป้องปรบมือและโค้งค้อมลงพร้อมกัน
เพื่อร่วมส่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์…สู่สุขาวดี
บทกวี โดย ประชาคม ลุนาชัย
สำนวนเพรียวนม
ใช่เพียงกวีซีไรต์รุ่นลายคราม อย่างเนาวรัตน์ กวีแห่งร้าน “หมี่เป็ด” มนตรี ศรียงค์ เจ้าของผลงานซีไรต์ “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ก็ร่วมแสดงความอาลัย ต่อปรมาจารย์แห่งวงการน้ำหมึก ด้วยความอาดูรไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งเห็นพ้องในมุมที่ว่า การจากไปนั้น ถือว่าจากเพียงร่างกาย หากคุณค่าในผลงานของ พญาอินทรี ยังคงมีชีวิตโลดแล่น โบกปีกบินเหนือกาลเวลา
“การจากไปของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวง และเป็นการสูญเสียบุคลากรครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการนักอ่านนักเขียนเมืองไทย จริงอยู่ ความตายนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถึงอย่างไร คุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็คู่ควรกับคำว่า ‘ตาย แต่ไม่ตาย’ เพราะผลงานของท่านไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังคงอยู่เหนือยุคสมัย อ่านได้ทุกห้วงเวลา เพราะความคิดของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่เคยตกยุค สมัยใหม่อยู่เสมอ
“เคยมีใครคนหนึ่ง กล่าวเอาไว้ ซึ่งผมก็จำไม่ได้แล้ว ว่าคนที่บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นคือใคร แต่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่เขาบอกว่า สำนวนภาษาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ‘เพรียวนม’ ทั้งที่ผมก็ไม่ทราบที่มา หรือนัยของคำคำนี้หรอก แต่ฟังแล้ว รู้สึกว่า อืม..ม คำนี้ ใช่เลย ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ เพราะงานของ ’รงค์ เป็นงานที่อ่านแล้ว ก็สมดังคำที่ใครๆ เขาว่ากระชากใจ โดนใจโจ๋”
“นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองหรือปรัชญาการดำเนินชีวิตที่แฝงไว้ในผลงาน ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สามารถทำให้ประเด็นหนักๆ คลี่คลายได้ด้วยสำนวนภาษาที่เมื่ออ่านแล้ว เราไม่ต้องขมวดคิ้วเป็นปม ทั้งที่งานเหล่านั้นเต็มไปด้วยทัศนะทางการเมืองที่แหลมคม เหล่านี้คือคุณูปการใหญ่หลวงที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้สร้างไว้ให้นักเขียนนักอ่าน”
แม้คุณค่าของผลงาน คู่ควรกับคำว่า “เป็นอมตะ” กระนั้น มนตรี ก็สะท้อนก่อนจบการสนทนา ว่า
“การเสียชีวิตของคุณ ’รงค์ ไม่ต่างจากการสูญเสียเสาหลักของวงการวรรณกรรม”
พญาอินทรีแห่งสวนอักษร
นอกจากนักเขียนซีไรต์ทั้ง 2 ท่านแล้ว วัชระ สัจจะสารสิน นักเขียนรางวัลซีไรต์คนล่าสุด จากผลงาน “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” เป็นอีกคนจากแวดวงน้ำหมึก ที่ร่วมคารวะ ดวงวิญญาณ ต่อเจ้าของสำนวน “เพรียวนม” ผ่านถ้อยคำที่บอกกล่าวด้วยความอาลัย ระลึกถึง
“การเสียชีวิตของคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่เพียงถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมไทย แต่ยังนับเป็นการสูญเสียของวงการวรรณกรรมระดับโลกด้วย เพราะงานของคุณ ’รงค์ เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย สำคัญกว่านั้น ผลงานของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนรุ่นแล้ว รุ่นเล่า กล่าวได้ว่า นักเขียนแทบทุกคน ย่อมต้องผ่านการศึกษาเนื้องานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แทบทั้งสิ้น”
นอกจากนี้ วัชระได้ขยายความถึงเอกลักษณ์สำคัญที่ปรากฏผ่านทั้งผลงานและการใช้ชีวิต ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ส่งผลสะเทือนต่อความคิดของผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งก่อเกิดเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้มวลมิตรมากหน้า บนถนนสายน้ำหมึก
“ความโดดเด่นที่ปรากฏในงานของคุณ ’รงค์ คือ สำนวนภาษา รวมทั้งเนื้อหาที่แตกต่างไปจากขนบเดิมๆ ทั้งยังสะท้อนภาพของสังคมในทุกยุคสมัย และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ดังที่เราเห็นได้จากงานเขียนของท่านในปัจจุบัน เช่น คอลัมน์ที่ตีพิมพ์ประจำในมติชนสุดสัปดาห์ ทัศนคติหรือความคิดที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาษาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือความปรารถนาดีต่อสังคมที่เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความปรารถนาดีนั้นก็ไม่เคยลดน้อยลง แม้บ่อยครั้งเต็มไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงรุนแรง แต่คำวิพากษ์นั้น ก็มาพร้อมกับความมีเหตุมีผลที่หนักแน่นด้วยเช่นกัน
“คุณูปการใหญ่หลวงที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มอบไว้ให้แก่สังคม จึงไม่ได้มีแค่ผลงาน แต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตลอดมา ซึ่งการใช้ชีวิตเช่นนั้น ก็สะท้อนผ่านงานเขียนที่ไม่เคยหยุดวิพากษ์สังคม เพราะฉะนั้น คำว่า “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” จึงเป็นสมญานามที่ทุกคนยอมรับ เป็นฉันทมติที่ทั้งวงการวรรณกรรมและนักอ่านเห็นพ้องต้องกันว่า คุณ ’รงค์ เหมาะสมอย่างยิ่งกับคำคำนี้
“ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน แม้จะผ่านไปสัก 100 ปี งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ไม่มีวันตาย ทั้งจะคอยเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนและคอลัมนิสต์ในรุ่นหลังๆ อีกมากมาย”
............
ขอแสดงความอาลัย
ลาก่อน ‘พญาอินทรี’
หมายเหตุ-เชิญร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ศาลาสหัสหงส์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเชิญชวนร่วมไว้อาลัยด้วยการเปลี่ยนจากพวงหรีดเป็นกล้าไม้ เพื่อสานต่อปณิธานการอนุรักษ์
*************
รวบรวม-ทีมข่าวปริทรรศน์