หลังจากที่รัฐมีนโยบายด้านการศึกษาโดยเน้นไปที่การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มากขึ้น รวมทั้ง กทม. ก็มีนโยบายสร้าง กทม. เป็นนครแห่งการเรียนรู้ โดยเพิ่มห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ให้ครบทุกเขตเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ E-learning และอินเทอร์เน็ตมาช่วยสืบค้นข้อมูล ให้ทันสมัยเหมาะกับชาวยุคไร้พรมแดนมากขึ้น
ไม่ใช่แค่ภาครัฐที่สนับสนุนด้านห้องสมุดแหล่งการเรียนรู้ ทุกภาคส่วนก็ร่วมด้วยช่วยส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยพัฒนาความรู้และศักยภาพให้สูงขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มแหล่งเรียนรู้ ขุมทรัพย์ทางปัญญา และปรับปรุง เพื่อให้ทันสมัยดึงดูดกลุ่มผู้ใฝ่รู้ อาทิ
“ห้องสมุดมารวย” เอกชนที่มองการณ์ไกล
ตลาดหลักทรัพย์หนึ่งในภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างห้องสมุดก็ได้จัดสร้าง “ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ขึ้นในปี พ.ศ.2518 ณ อาคารหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก และเปิดให้ประชาชนใช้บริการเรื่อยมา จนในปี พ.ศ.2548 ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ห้องสมุดมารวย” ตั้งแต่นั้นมา
ผาณิต เกิดโชคชัย ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าว่า
“เราอยากให้ตรงนี้เป็นศูนย์กลางทางเลือกการเรียนรู้การออมและก็การลงทุน อยากให้ตรงนี้เป็นแหล่งที่จะเพิ่มพูนความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชน และเป็นแหล่งที่จะค้นคว้าสำหรับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงนิสิตนักศึกษา หรือนักการศึกษาทั้งหลายที่ทำวิจัยที่เกี่ยวกับการออมการลงทุนด้วย
"และเมื่อเราปรับปรุงห้องสมุดใหม่ในปี 2548 เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อที่จะดึงดูดให้คนมาสนใจเรื่องของการอ่านมากขึ้น และก็การอ่านที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวเขาคือการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการเพิ่มความมั่นคงเกี่ยวกับการเงินให้กับตนเอง โดยเรามองภาพรวมคอนเซ็ปต์ว่าน่าจะเป็นห้องสมุดที่มีชีวิต"
ภายในห้องสมุดมารวยได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า “ชั้นกระซิบได้” เนื่องจากบางครั้งจะใช้ทำกิจกรรม โดยชั้นแรกนี้มีหลายหมวดหมู่ด้วยกัน อาทิ มุมหนังสือของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่พิมพ์จำหน่ายเอง มุมนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ มุมหนังสือสำหรับเด็กๆ มุมหนังสือขายดี มุมหนังสือใหม่ ซึ่งถ้าในเดือนไหนมีหนังสือใหม่เข้ามาทางห้องสมุดมารวยก็จะแนะนำ
มุมหนังสือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ ที่หาอ่านได้ยากก็มีรวบรวมให้อ่านเช่นกัน รวมทั้งยังมีคอมพิวเตอร์ มุมมัลติมีเดียที่มีเพลงให้เลือกฟัง หากเกิดเบื่ออ่านหนังสือขึ้นมาก็มีเกมสนุกๆ ประลองความคิดให้ได้เล่นกันด้วย
ส่วนชั้นบนเรียกว่า “ชั้นเงียบกริบ” สำหรับผู้มาใช้บริการที่ต้องการสมาธิมากสามารถเข้ามาใช้บริการในส่วนของชั้นบนได้ หนังสือที่มีจัดวางอยู่บนชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือแนววิชาการหลากหลายด้าน ให้ค้นคว้าหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา กฎหมาย การลงทุน เศรษฐศาสตร์ บทวิเคราะห์ วิจัยก็มี มากมายสารพัดอย่างที่เป็นหนังสือให้ความรู้ทั้งหลาย แต่ว่าก็มีหนังสืออ่านเบาสมองอย่างเรื่องท่องเที่ยวจัดวางสอดแทรกไว้ด้วย รวมถึงมีบริการคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่ต้องการค้นหว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า
“เมื่อก่อนเรามักมีความเห็นว่าคนที่เข้าห้องสมุดต้องใส่แว่นหนาเตอะ นั่งซุกตัวอยู่แต่กับหนังสือ แต่สมัยนี้การเข้าห้องสมุดแสดงถึงความเป็นคนสมัยใหม่ แสวงหาความรู้ แล้วก็ใช้ข้อมูลเพื่อเป็นการตัดสินใจ พี่คิดว่าเป็นการที่ดี การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่หนังสืออย่างเดียว เรื่องเกมก็เป็นการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้การวางแผนการเงิน เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ สนุกด้วย หรือการเรียนรู้โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต ในห้องสมุดมารวยก็มีให้บริการ”
และในปัจจุบันนี้ทางภาครัฐ และ กทม.เองก็มีนโยบายส่งเสริมการอ่าน และผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ทำให้ทางห้องสมุดหลายแห่งได้ปรับตัวให้ดึงดูดและตอบรับผู้มาใช้บริการมากขึ้น ภัทรา ปคุณวานิช หรือ น้องมีน เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงมหาวิทยาลัย และผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดมารวย เล่าว่า ตนมาใช้บริการที่นี่ประมาณ 2-3 ปี แล้ว โดยเฉพาะช่วงสอบ ตนจะมาอ่านหนังสือ อ่านข่าว นิตยสาร แล้วก็เอาหนังสือเรียนมานั่งอ่านที่นี่ด้วย
น้องมีน กล่าวว่า คนปัจจุบันนี้เข้าห้องสมุดน้อยลง ซึ่งตนเองก็เช่นกันเพราะเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะมันมีสื่ออย่างอื่นให้สนใจมากกว่า การอ่านหนังสือเลยน้อยลงถ้าไม่น่าสนใจจริงๆ แต่ที่ตนมาใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้เพราะเพื่อนแนะนำและชวนกันมา แล้วก็อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่ทำให้ตนชอบห้องสมุดมารวยแห่งนี้เพราะมีที่ให้อ่านหนังสือ มีหนังสือให้อ่านเล่น มีร้านกาแฟและสามารถเอาของกินเข้ามากินได้ และให้เข้ามาใช้บริการฟรีอีกด้วย
"การที่ภาคเอกชนให้การสนับสนุนจัดสร้างห้องสมุดให้กับประชาชนก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะแม้ทุกมหาวิทยาลัยจะมีห้องสมุดแต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนนักศึกษา ถ้าจะให้อ่านหนังสือแล้วไปอ่านที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียวมันก็ไม่สบายเท่าอ่านแถวบ้าน แล้วก็ชอบอ่านกับเพื่อนมากกว่า ห้องสมุดมารวยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้พวกเรา"
ด้าน อารัญ ต่อเจริญ หรือ น้องตู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า ตนก็มาใช้บริการบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงสอบจะเอาหนังสือของตนเองมานั่งอ่านที่นี่กับเพื่อนๆ ด้วย
“ที่ชอบมาอ่านหนังสือที่นี่เพราะที่นี่ไม่ได้มีเรื่องกฎระเบียบที่ซีเรียสมาก เอาของกินเข้ามาทานได้ บรรยากาศไม่เคร่งเครียดจนเกินไป มีที่จอดรถ มีรถไฟฟ้าผ่าน สะดวกสบาย”
น้องตู้ยังให้ความเห็นอีกว่า
“อยากให้มีจำนวนที่นั่งให้บริการเยอะๆ สำหรับห้องสมุดที่เวิร์คๆ ห้องสมุดบางแห่งอาจมีที่นั่งเยอะแต่ห้องสมุดนั้นไม่เวิร์คก็ไม่มีคนไป ถ้ารัฐช่วยสนับสนุนให้มีห้องสมุดเยอะๆ ก็จะได้ช่วยกระจายคนออกไป เพราะอย่างที่ห้องสมุดมารวยนี้มีคนมาเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีห้องสมุดหรือมีก็อาจจะไม่ค่อยเวิร์คก็ได้”
“อุทยานการเรียนรู้ TK PARK” ห้องสมุดครบวงจร
สำหรับด้านองค์การมหาชนก็ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ พัฒนาความคิด และบูรณาการภูมิปัญญา โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมการรักการอ่าน แสวงหาความรู้ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ (TK Park) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2548 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ชั้น 6 ด้วยความต้องการสร้างห้องสมุดมีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือดีๆ ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ตายตั้งแต่วันสร้าง ที่สำคัญคือเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างจริงจัง เปิดให้บริการเพื่อรองรับความต้องการไร้ขีดจำกัดของเยาวชน นั่นคือ เป็นห้องสมุดที่มีทั้งหนังสือ ข้อมูล สื่อมัลติมีเดียหลากหลายรูปแบบ
และด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ TK Park สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสมาชิก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้อย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้ย้ายไปยังบ้านหลังใหม่ บนชั้น 8 อาคารศูยน์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ด้วยรูปลักษณ์ความทันสมัยที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของ TK Park พร้อมพื้นที่ให้บริการกว่า 4,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ด้วยอรรถรสที่ครบครันสำหรับการแสวงหาความรู้ ควบคู่สุนทรียภาพทางอารมณ์ และความสนุกสนานในเวลาเดียวกัน
ภายในห้องสมุด TK PARK แห่งนี้ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนได้แก่ ห้องเด็กที่จัดพื้นที่และบรรยากาศการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยซนโดยเฉพาะ, มุมเงียบหรือห้องอ้างอิง สำหรับผู้ต้องการใช้สมาธิในการอ่านหนังสือและค้นคว้าข้อมูลจากหนังสืออ้างอิง รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลผ่านการบริการอินเตอร์เน็ตด้วย, ห้องสมุดดนตรี เป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการและเสริมสร้างความรู้ทางดนตรีทุกประเภทจากทุกมุมโลก ตลอดจนเครื่องดนตรีที่สามารถลองสัมผัสลองเล่นได้จริง
ห้องสมุดไอที พื้นที่สำหรับส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางไอที ผ่านทางหนังสือ คู่มือ ตลอดจนโปรแกรมต่างๆ รวมถึงความพร้อมในการให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเชื่อมโยงองค์ความรู้ในโลกอินเตอร์เน็ต, ห้องสื่อเสมือนจริง ที่สามารถสนุกไปกับเรื่องราวในมิติใหม่กับเกมเสมือนจริงทั้งวิถีไทยและสไตล์สากล, ห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก เรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานในการผลิตภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้แสดงผลงานทางแผ่นฟิล์มของเยาวชนอีกด้วย
ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี พื้นที่สร้างสรรค์และเพิ่มพูนความรู้เรื่องไอทีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ, ลานสานฝัน เวทีพร้อมด้วยอุปกรณ์แสง เสียง และศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ ที่สามารถปรับพื้นที่ใช้งานได้กับทุกแนวคิดทุกจินตนาการ
น้องมะปราง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งที่มาใช้บริการที่ห้องสมุด TK PARK เล่าว่า ตนมาใช้บริการที่นี่ไม่บ่อยนักแต่รู้ว่าที่นี่มีหนังสือและสื่อมัลติมีเดียเยอะ เวลามาก็จะมากับเพื่อนๆ รู้สึกว่าถูกใจเพราะมีหนังสือหลายแนวให้เลือกอ่านมากมาย มีทั้งหนังสือวิชาการและหนังสือทั่วๆ ไป แถมมีนิตยสาร การ์ตูนให้อ่านเพลินๆ สนุกมาก
“การที่รัฐส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการอ่านและการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการที่มีห้องสมุดมากๆ ที่เปิดให้เข้าไปใช้บริการได้ เป็นเหมือนการเปิดโลกกว้างให้กับเด็กๆ ให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมายผ่านจากหนังสือดีๆ น่าจะมีการจัดทำห้องสมุดที่ดีๆ อย่างทีเคพาร์คอีกหลายๆ ที่ และกระจายไปให้ทั่วทุกเขตทั่วทั้งประเทศ” มะปรางกล่าวอย่างเห็นด้วย
***********
นอกจากห้องสมุดมารวยและอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ TK PARK แล้ว ยังมีห้องสมุดอีกมากมายที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน อาทิ ห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน อาคารเฮนรี่ บี ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุม ห้องสมุดเฉพาะทางที่ส่วนใหญ่เน้นไปทางหนังสือผ้าและศิลปะร่วมสมัย, ห้องสมุดสิกขาเอเชีย คลองเตย/สวนพลู/ชุมชนเชื้อเพลิง ห้องสมุดสิกขาเอเชียทั้ง 3 แห่งนี้ เน้นด้านหนังสือเด็ก และนิทาน
ห้องสมุด TCDC ชั้น 6 ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ, ห้องสมุดแสงอรุณ ซอยสาทร 10, ห้องสมุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เน้นหนังสือด้านการท่องเที่ยวต่างๆ, ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง (ราชวิถี 4), ห้องสมุดสวนลุมพินี บริเวณสวนลุมพินี ถนนราชดำริ, ห้องสมุดหอวชิราวุธานุสรณ์ หรือหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
และอีกหลายห้องสมุดทั้งเล็กและใหญ่ที่เปิดบริการให้ประชาชนได้ค้นคว้าส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนโยบายกรุงเทพฯ เมืองแห่งการอ่านและการเรียนรู้
***********
เรื่อง-ทีมข่าวท่องเที่ยว