xs
xsm
sm
md
lg

ตุ๊เจ้ (า) ...ใต้เงาสลัวของร่มกาสาวพัสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยภาคเหนือมีคำเรียกขานพระสงฆ์ว่า "ตุ๊เจ้า" มาช้านาน แต่หลังยุคกึ่งพุทธกาลผ่านไปเพียง 50 ปี กลับปรากฏคำเรียกหาพระเณรใหม่ขึ้นว่า “ตุ๊เจ้” อันหมายถึง พระภิกษุสงฆ์ที่ไม่สำรวมตน แสดงกิริยาออกอาการลักษณะท่าทางกระตุ้งกระติ้งแบบเพศที่สาม

ในช่วงที่เรากำลังเดินทางขึ้นเหนือ กระแสข่าวพระเกย์ หรือพระตุ๊ด เณรแต๋วกำลังคึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์ และยิ่งเมื่อมีบุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนกระบอกเสียงของกลุ่มเกย์หรือเพศที่สาม ร่วมกระโจนลงสู่สนามสื่อเพื่อถกประเด็นดังกล่าว สังคมยิ่งตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงวัฒนธรรม และมหาเถระสมาคมว่าจะมีมาตรการหรือออกกฎระเบียบจัดการกับกรณีนี้อย่างไร

“ปริทรรศน์” จะพาไปสัมผัสและพูดคุยในบางแง่มุมกับกระแสข่าวร้อนประเด็นนี้ ที่บางทีคุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน


จีวรเกาะอก โอบิ สไบเฉียง

“เสื่อม”

คำอุทานตามมาด้วยเสียงสบถเบาๆ อีกสองสามคำจากรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์เป็นรูปของพระภิกษุกับสามเณรที่กำลังแสดงกิริยาท่าทาง หรือเรียกว่า “โพส” ท่าถ่ายรูปอย่างไม่สำรวมในชุดจีวรเต็มยศ โดยไม่หวั่นต่อสายตาประชาชนรอบข้าง

ฟอร์เวิร์ดเมล์ทำนองนี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาแพร่หลาย หากแต่มีมานานแล้วและนับวันจะยิ่งมากขึ้นทั้งปริมาณและบุคคลในภาพที่มีทั้งพระภิกษุวัยฉกรรจ์ และสามเณรน้อยวัยละอ่อน

แต่สำหรับคนเชียงใหม่เองแล้ว กลับคุ้นชินกับภาพเหล่านี้มาเป็นเวลานานหลายปี

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกตอกย้ำด้วยภาพ “แฟชั่นจีวร” ที่ถูกสื่อตั้งชื่อให้ว่า จีวรเกาะอกบ้าง การมัดอกผูกเอวแบบโอบิ หรือห่มสไบเฉียงบ้าง สุดแต่ใครจะมองให้คล้ายการแต่งกายของฆราวาสแบบไหน ยิ่งกระพือกระแสให้เรื่องของพระเณรที่เป็นเพศที่สามเหล่านี้ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ยิ่งขึ้น

สีรุ้งท่ามกลางจีวรสีกลัก

หมู่เจดีย์สีขาวน้อยใหญ่ สว่างเรืองอยู่ใต้แสงอาทิตย์ยามใกล้เที่ยงวันของเดือนมกราคม มองเห็นทิวเขาสีน้ำเงินเป็นฉากหลังอยู่ไม่ไกล เสียงกระดิ่งระฆังรอบโบสถ์และศาลาแว่วมาในสายลม ชวนให้จิตใจสงบ แม้ถนนที่มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพจะคึกคักไปด้วยยวดยานสัญจร และรถบัสที่นำนักท่องเที่ยวขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุและครูบาศรีวิชัยเหมือนเช่นปกติ แต่คนที่คุ้นเคยกับตัวเมืองเชียงใหม่ดีอาจรู้สึกว่ามีบางอย่างแปลกตาไป

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากรายการถกประเด็นข่าวของพิธีกรชื่อดังนำเสนอประเด็นเรื่อง พระเณรเกย์ออกไป ราวกับว่าเชียงใหม่แทบทั้งเมือง มีความกดดันที่มองไม่เห็นลอยอยู่ในบรรยากาศ อาจเป็นเพราะเราคิดไปเองหรือเป็นเหตุบังเอิญก็ตาม แต่เช้าวันนั้น กลับไม่ปรากฏพระเณรที่มีลักษณะกระตุ้งกระติ้งให้เห็นตามถนนหนทางเลย

“ปกติไม่หายากขนาดนี้ วันนี้เหมือนตุ๊เจ้าองค์ไหนๆ เปิ้นก็เป็นแมนไปหมดทุกรูป” เสียงน้องสาวชาวเหนือคนหนึ่งที่เราวานให้เธอช่วยเป็นคนติดต่อประสานหาเณร หรือตุ๊เจ๊เพื่อให้สัมภาษณ์ บ่นอย่างติดตลกเมื่อใกล้จะพ้นเวลาเที่ยงหรือหลังฉันภัตตาหารเพลไปแล้ว ก็ยังไม่พบเจอพระเณรลักษณะที่ว่าเลยสักคน

แต่ในที่สุด เราก็ได้พบและพูดคุยกับสามเณรสองรูป ซึ่งยินยอมพูดคุย เณรไผ่ และเณรโอ๋ (นามสมมติ) อาจเป็นเพราะเราเปิดเผยที่มาตรงๆ หรือเพราะความอัดอั้นเกี่ยวกับรายการทีวีที่ทั้งเณรสองรูปได้ชมเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ตามแต่ และแล้วที่มาของการก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของเณรทั้งสองรูปนี้จึงพรั่งพรูตามมาหลังจากนั้น

เณรไผ่เล่าว่า มาจากครอบครัวฐานะค่อนข้างลำบาก พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก ทิ้งเณรไผ่ซึ่งเป็นลูกคนเดียวให้อยู่กับแม่เพียงลำพัง จึงตัดสินใจบวชเพื่อทดแทนคุณมารดาและเรียนหนังสือทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่มาด้วยตั้งแต่ขึ้นชั้น ม .1 จนได้เข้ามาบวชเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่

“ไม่อยากเป็นภาระพ่อแม่มาก เพราะว่าเรามาบวชเรียนอีกอย่างก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ตอนนั้นพอพ่อเสีย โยมแม่ก็มาทำงานในเมือง รับจ้าง ก็เลยตัดสินใจบวช แม่ก็ไม่ว่ายังไง บวชก็คือบวช”

นอกจากไรคิ้วที่มองเห็นจางๆ จะบางไปสักหน่อยแล้ว ลักษณะภายนอกของเณรไผ่นั้นแทบไม่แตกต่างจากเณรรูปอื่นๆ ที่เคยเห็นทั่วไป ทั้งการห่มจีวรเฉลียงบ่านั้นก็มิดชิดเรียบร้อย อากัปกิริยาก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “จริต” ปรากฏให้เห็น หากรุ่นน้องทั้งสองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับพระอยู่แล้ว ไม่ยืนยัน...เราก็คงไม่ทราบว่าท่านแตกต่างจากพระเณรรูปอื่นอย่างไร

แตกต่างจากเณรโอ๋ที่ดู “ชัดเจน” กว่า ด้วยผิวพรรณที่ขาวหมดจด ริมฝีปากที่ชมพูระเรื่อด้วยธรรมชาติหรือสิ่งใดก็สุดจะคาดเดา แต่นอกจากนั้นแล้วเณรโอ๋ก็ไม่ได้แสดงกิริยาอะไรที่ไม่เหมาะสมอะไรออกมา ทั้งสองดูจะระมัดระวังตัว จนเกือบเรียกว่า “เกร็ง” ในตอนแรกด้วยซ้ำ

เณรโอ๋นั้นต่างจากเณรไผ่ตรงที่เขาไม่ได้เริ่มเป็นคนอยากจะบวชเอง แต่ครอบครัวต้องการให้บวชเพื่อทดแทนพระคุณ หากเมื่อเป็นสามเณรแล้วจะบวชต่อไปอีกหรือไม่ ก็แล้วแต่ตัวเณรโอ๋

“ตอนนั้นไม่คิดอยากบวชเพราะติดนิสัยของการเป็นฆราวาส ติดเพื่อนด้วย ตอนเด็กๆ ก็จะไปเล่นน้ำด้วยกัน เล่นขายของอะไรพวกนั้น แต่พอเริ่มโตเรามีความคิดว่าเราควรจะบวชเพื่อลดภาระของพ่อแม่ ช่วยเหลือตัวเองบ้าง”

เรียกได้ว่า จุดเริ่มต้นของการสู่ร่มเงาพุทธศาสนาของทั้งสองนั้น มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่พระธรรมคำสอนเป็นหลัก แต่มุ่งหวังได้รับการศึกษาเล่าเรียนควบคู่ไปด้วย ซึ่งในอดีต...ในสมัยที่วัดยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสังคมไทย ผู้ชายไทยส่วนใหญ่ก็มักจะมาบวชเรียนเป็นเรื่องปกติ

คำถามก็คือ ในวันที่อุปสมบทตอนแรกนั้น พระอุปัชฌาย์ของเณรทั้งสองรูปรู้หรือไม่? ว่าผู้ที่กำลังจะบวชให้ทั้งสองนั้นสถานภาพทางเพศเป็นเช่นไร ประเด็นเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเพศที่สามแล้วไม่ควรให้บวช หากแต่เรากำลังถกเถียงถึงการวางตัวที่เหมาะสมของพระหรือสามเณรเหล่านี้ต่างหาก

เณรไผ่บอกว่า ตอนนี้โดนจับตามอง เพราะสื่อนำเสนอภาพลักษณ์ในทางลบ โดยที่ไม่เคยถามหรือมีใครลงมาหาข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรกันแน่

“แค่มันมีภาพ เราก็ว่าแล้วว่าเป็น แต่ที่จริงเขาเป็นอะไรเราก็ไม่ได้รู้ เพราะว่ามีแต่ภาพ เราไม่ได้เข้าไปถามเขา บางครั้งเห็นแค่สายย่ามสีชมพูก็บอกว่าเป็นพระตุ๊ดเณรแต๋ว แต่ที่จริงย่ามมันมีทั้งสีชมพู สีฟ้า สีม่วง เยอะแยะทั่วไป คนที่เขาไปให้ข่าวเขาไม่เคยคิดว่าจะเข้าไปคุยเข้าไปถาม” เณรไผ่อธิบายถึงย่ามสีชมพูที่สามเณรสะพายในภาพข่าวจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การห่มจีวรแบบที่เรียกว่า "ห่มดอง" ที่ถูกมองว่าคล้ายกับการห่มกิโมโนแบบโอบิ หรือนุ่งผ้าอังสะห่มสไบแบบชุดไทยบรมพิมาน

“มันไม่ใช่ความจริงที่ว่าห่มสไบ ห่มมัดอกก็คือมัดอก เพราะว่า พระพุทธเจ้าก็บัญญัติไว้ในวิชาพระธรรมวินัย เขาบอกไว้ว่าการห่มผ้า ถ้าเราทับกันมันก็จะเป็นแบบนั้น คำว่าหนึ่งคืบพระสุคตก็จะเป็นมาตรฐาน อยู่ใต้ราวนมหนึ่งคืบพระสุคตก็คือหนึ่งคืบนิ้ว มันไม่ใช่การมัดอกแบบโอบิ มีส่วนน้อยที่จะเป็นอย่างนั้น แต่สมัยนี้โลกเปลี่ยนไป มันไม่ค่อยมีพระมัดอกเท่าเดิมแบบนี้ ก็จะเหลือประมาณเท่าเอว ก็คือพอสมควรพอเรียบร้อย นักข่าวก็จะเอาไปบอกว่าเป็นการมัดอกแบบโอบิ ที่จริงมัดอกก็ไม่ผิด เพราะมันคือ “ผ้ามัดอก” ตามพระธรรมวินัยก็มัดอก”

เณรไผ่ชี้แจงว่า ถ้าห่มจีวรหนึ่งคืบพระสุคต แล้วรัดผ้าประมาณเอวก็ถือว่าเป็นมาตรฐานที่เรียบร้อย เพราะในปัจจุบันนี้จะหามัดอกจีวรสูงราวนมก็ค่อนข้างหายาก

“แล้วที่ว่าสะพายย่ามแบบหลุยส์วิตตอง ตัดย่ามให้เล็กลง ที่จริงไม่มีหรอก ย่ามก็คือขนาดเดียวกันนี้เป็นมาตรฐานทุกใบ แล้วย่ามหลุยส์วิตตองที่เขาว่า มันก็คือถุงย่ามที่ระลึกที่ทางสมาคมพระเณรเขาจัดทำขึ้น และมีตราสัญลักษณ์ด้วย เราก็ไม่ได้ไปแก้อะไรเลย คือมีขนาดเท่านั้นอยู่แล้ว” เณรโอ๋กล่าวเสริม ก่อนที่เณรไผ่จะอธิบายต่อไปว่า

“การเรียนไม่ใช่ว่าเราจะเอาสมุดหนังสือมาแค่เล่มเดียว หากเราเอาใส่ย่ามทั้งหมดมันก็หนักบ่า เพราะเรียนอย่างนี้ก็ต้องพกเอกสารมาเยอะ ต้องแบ่งใส่ถุง แล้วข่าวก็จะบอกว่า ไปเดินแคทวอล์ก เดินแบบที่หน้าวัดพระสิงห์ ทั้งที่จริงมันไม่มี ส่วนมากก็จะเดินไปรอขึ้นรถ ตามความจริงที่พระเณรจะเดินเรียกรถไปมหาลัยหรือที่ไหน แต่เผอิญต้องเดินข้ามถนนไป แล้วช่างภาพจับจังหวะนั้นพอดี เขาก็หาว่าเราไปเดินแบบ แล้วเวลาเราโบก เราก้มถามรถ มันก็เหมือนเราอรชรอ้อนแอ้น ซึ่งที่จริงแล้วคนที่เป็นก็รู้จักการแสดงออก รู้กิริยามารยาทว่าที่ไหนควรแสดง ที่ไหนควรไม่แสดง”

ทั้งสองยอมรับกลายๆ ว่าพวกเขาแตกต่างจากพระเณรทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีแค่กลุ่มน้อยในเชียงใหม่เท่านั้นที่มีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม

“แล้วที่บอกเจาะจงว่าเป็นทั้งกลุ่มของเชียงใหม่ แต่ตามจริงแล้วมันเป็นบางกลุ่มเท่านั้น เจ็ดสิบ-สามสิบ อย่างสมมติว่ากลุ่มพวกพระตุ๊ดเณรแต๋วมีอยู่ร้อยคน แต่ที่แสดงออกกิริยามารยาทไม่เหมาะสมเวลาไปเที่ยวตามงานก็มีน้อย ประมาณแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ บางทีอาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ” เณรโอ๋พยายามแก้ความเข้าใจใหม่

อาจจะเป็นเพราะด้วยสภาพบริบทของชนบทในภาคเหนือนี่เอง ที่ทำให้วัดในต่างอำเภอหลายแห่งที่มีพระหรือเณรเกย์ สามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ ในขณะที่ในตัวเมืองเชียงใหม่เองกลับแตกต่างออกไป

“คือว่าคนในเชียงใหม่ถ้ามองเมื่อก่อนกับปัจจุบันจะแตกต่างกัน ช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นมาเที่ยว เขาก็จะตกใจกัน แต่คนเชียงใหม่จะมองเป็นธรรมดา กับเฉยๆ รู้แล้วว่ามีแต่เขาไม่แตกตื่น เขาไม่สนใจ เพราะเราไม่ได้ไปเอิกเริกอะไร จนกระทั่งช่วงที่มีรูปพระเณรที่ทำตัวไม่เหมาะสมออกมา แต่ภาพนั้นเป็นภาพเก่าแล้ว ช่วงนั้นทางสมาคมฯ ก็ได้เรียกพระเณรเหล่านั้นไปตักเตือนแล้ว ซึ่งภาพนั้นมันผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่เขาก็ขุดขึ้นมาพูดใหม่ ทำให้เมืองเชียงใหม่ถูกผู้คนโจมตีในด้านนี้”

“นั่นทำให้พุทธศาสนิกชนมองเราในแง่ลบไป สังคมในเชียงใหม่กับข้างนอกต่างอำเภอมันไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นอยู่วัดข้างนอก ต่างอำเภอเขาก็ถือว่าธรรมดาเฉยๆ เขายอมรับได้ เขาเห็นความดีเวลาเราไปช่วยจัดงานทำงานให้ จัดดอกไม้ ทำบายศรี งานใบตอง รถบุพผาชาตินี่ก็พระเณรนะ เพราะภิกษุสงฆ์แต่ละรูปก็จะมีความสามารถแตกต่างกันไป แต่พระตุ๊ดเณรแต๋วแบบนี้ก็มักจะถนัดในการเทศนาธรรม มันต้องไปด้วยกัน อย่างเณรเข้ามาเรียนวันหนึ่งใช้เงินเป็นร้อย ถ้าเราจะหวังแต่ธรรมาสน์หรือรับทาน คงไม่พอ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปรับเหมา โยมเขาก็จะมาขอไปช่วยที เราก็ไป เขาก็จะถวายน้ำใจเป็นค่าตอบแทน ไม่ใช่ว่าเราไปเรียกจากเขา”

เณรไผ่และเณรโอ๋ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีพระเณรที่รับจัดดอกไม้ให้ญาติโยมเป็นธุรกิจถึงขั้นทำนามบัตรตามที่เป็นข่าว “คนเราความคิดไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีอคติต่อคนกลุ่มนี้ เราคงไปห้ามความคิดเขาไม่ได้ แต่เราก็รู้ตัวเองว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรจะทำ แต่คนเรามักจะมองโลกในแง่ลบ ถึงแม้ทำดีมาตลอดชีวิต ถ้าทำผิดครั้งเดียวก็โดนเหยียบจนตาย ตอนนี้เราก็เหมือนตัวคนเดียวที่ต้องส่งตัวเองเรียน ก็ต้องพึ่งตนเอง เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ หากใครไม่เคยเข้ามาบวชไม่รู้หรอกว่า ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์มันเป็นยังไง” เณรไผ่ทิ้งท้าย

กะเทยกับพุทธศาสนา : ความเสื่อมของสถาบันสงฆ์?

บัณเฑาะก์ หรือกะเทยที่เข้ามาเป็นนักบวชในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยในสมัยนั้นบัณเฑาะก์คนหนึ่งได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ แล้วเข้าไปหาพวกคนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้า พูดชวนให้คนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้า กระทำชำเราตน จากนั้นเหล่าคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้าจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาสมณะเหล่านี้แม้มิใช่บัณเฑาะก์ ก็ชำเราบัณเฑาะก์เหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะเหล่านี้จึงมิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นบัณเฑาะก์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วพึงให้สึกเสีย

ตามพระไตรปิฎก ได้มีการบัญญัติถึง "บัณเฑาะก์" มาจากคำว่า "ปณฺฑก" หมายถึง ผู้ที่มีเครื่องหมายของบุรุษหรือสตรีเพศขาดตกบกพร่องไป หรือที่เรียกบุคคลประเภทนี้ว่า “กะเทย" แบ่งออกเป็น 5 จำพวก ได้แก่

1.นปุงสกบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่ไม่ปรากฏเพศ (คือ มีรูปร่างลักษณะสัณฐานเป็นชาย แต่ไม่มีอวัยวะเพศ) มีเพียงแต่ช่องปัสสาวะเท่านั้น อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจได้ดั่งบุรุษเพศโดยทั่วไป

2.อาสิตตกะบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่เมื่อมีความกระวนกระวายด้วยอำนาจกามราคะขึ้นแล้ว กระทำโอษฐ์กามกับบุรุษอื่น ครั้นดูดกินซึ่งน้ำอสุจินั้นแล้ว จึงระงับความกระวนกระวายลงได้

3.อุสสูยบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยซึ่งเมื่อได้โอกาสแอบดูบุรุษและสตรีร่วมเสพกามรสกัน

4.โอปักกะมิกะบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่เป็นโดยการถูกตอน เพื่อไม่ให้เกิดความกำหนัดยินดี อาทิ พวกขันทีในสมัยโบราณ (กะเทยจำพวกนี้ มิได้เป็นมาแต่กำเนิด)

5.ปักขะบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยซึ่งเมื่อเวลาข้างแรม (กาฬปักษ์) มาถึง มักเกิดความยินดี และกระวนกระวายในกามด้วยอำนาจอกุศลกรรม

บัณเฑาะก์ ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่า เป็น “อภัพบุคคล” คือ บุคคลผู้ไม่สมควรอุปสมบทเป็นภิกษุ ถูกห้ามบวช และห้ามพระอุปัชฌาย์บวชให้เด็ดขาด ถ้าพระอุปัชฌาย์ฝ่าฝืน ย่อมมีความผิด ถึงขั้นให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์

โดยพุทธบัญญัติจะอนุญาตให้เฉพาะบัณเฑาะก์ประเภทที่ 2 และ 3 บวชเป็นสามเณรได้เท่านั้น แต่ประเภทใดใน 5 ประเภทนี้จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุไม่ได้เลย

ด้านพระณรงค์ฤทธิ์ ขตฺติโย (ตุ๊เอ๋) พระนักพัฒนาจากวัดศรีสุพรรณ ในชุมชนเขตเทศบาลเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กรณีพระตุ๊ดเณรแต๋วที่เป็นเกย์หรือกะเทยเหล่านี้ ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตามที่สังเกตดูพบว่ามากจะเป็นกลุ่มของสามเณรมากกว่าพระ และมักจะเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบเมื่ออยู่รวมกลุ่มกันมากๆ แต่หากแยกเดี่ยวอยู่ในวัดมักจะสำรวมกว่าเมื่ออยู่ในกลุ่มเดียวกัน

“ถ้าเรามองพระเหมือนดอกไม้ พระวินัยเป็นเหมือนแจกัน ดอกไม้ย่อมมีความหลากหลาย มีทั้งกลิ่นหอมและกลิ่นเหม็น บางอย่างก็มีคุณประโยชน์ ดอกไม้ที่มีกลิ่นเหม็นบางทีก็มีประโยชน์ในการไล่แมลงได้ การที่เรามองพระแบบนั้น บางมีแค่ส่วนเล็กๆ ที่เอามาตีแผ่กัน แต่พระส่วนใหญ่ที่มีลักษณะแบบนั้นก็อาจสร้างคุณประโยชน์ให้กับวัดกับวาได้ เช่นจัดสถานที่ในวัดให้น่าอยู่น่ารื่นรมย์ ภาพตรงนี้ยังไม่ได้นำเสนอออกไป งานบางอย่างในวัดเวลามีพิธีกรรมบางอย่างก็อาศัยครูบาอาจารย์เหล่านี้มาทำงานก็เรียบร้อยดี แทนที่เราจะมาประโคมข่าวตรงนี้มาช่วยกันแก้ปัญหาดีกว่า ลองให้โอกาสเขาดูดีไหม เพราะคงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นแบบนี้”

ขณะที่ภิกษุณีธัมมนันทา แห่งวัดทรงธรรมกัลยาณี มองต่างมุมในประเด็นนี้ว่า ต้องแยกให้ออกระหว่างประเด็นการพัฒนาวัด กับการประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นตุ๊ดหรือเกย์ มิฉะนั้น อาจเกิดความสับสนได้ว่า พระที่เป็นเพศที่สามคือผู้ที่สามารถสร้างสรรค์พัฒนาวัดและชุมชนได้ เนื่องจากไม่เคยมีงานวิจัยในประเด็นนี้มาก่อน

“ปัญหาที่คนตั้งใจถามก็คือว่า คนที่เป็นตุ๊ดหรือเป็นเกย์นี่บวชได้ไหม ต้องถามต่อไปอีก ตุ๊ดหรือเกย์ที่คุณพูดถึงนี่หมายความว่าไง ถ้าเป็นผู้ชายที่มีร่างกายเป็นผู้ชายโดยสมบูรณ์ โดยพระวินัยบวชพระได้ ถ้าหากความพึงพอใจทางเพศในอดีต เขาอาจจะชอบผู้ชายด้วยกัน ซึ่งเป็นอดีต พอเป็นพระแล้วมันก็ต้องละวางตรงนั้น คือจบแล้ว ไม่ว่าจะพึงพอใจในเพศหญิงหรือเพศชายเมื่อเข้ามาบวชแล้วก็ต้องละวางอันนั้นโดยสินเชิง”

แต่สำหรับผู้ชายที่แปลงเพศ ก็คือตัดอวัยวะเพศแล้ว ภิกษุณีธัมมนันทา อธิบายว่าถ้าโดยพระวินัย พระอุปัชฌาย์จะถามว่า เป็นผู้ชายหรือเปล่า? อันนี้ดูทางภายนอก ถ้าพระอุปัชฌาย์พิจารณาจากรูปกายภายนอก ก็ต้องบอกว่าไม่เป็นเพราะไม่มีอวัยวะเพศ กรณีนี้อุปัชฌาย์อาจไม่บวชให้

“คนที่เป็นเกย์หรือเป็นตุ๊ด เมื่อเข้ามาบวชแล้วต้องทิ้งตรงนั้น ทิ้งความพึงพอใจในเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม แต่ว่าหากยังไม่มีการแสดงออกทางกาย เราก็เอาผิดเขาไม่ได้ การบวชคนบวชจะบอกกับอุปัชฌาย์ว่า จะพยายามทำทุกข์ให้สิ้น จะพยายามทำพระวินัยให้แจ้ง นั่นคือเป้าหมายการบวชของเรา ถ้าคนที่เข้ามาบวชมีเป้าหมายชัดเจนอย่างนี้ ประเด็นพระตุ๊ดพระเกย์มันก็ไม่เป็นปัญหา”

สิ่งสำคัญคือ เมื่อตัดสินใจเข้าสู่ร่มเงาของพุทธศาสนา ใต้ผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว จะไม่มีอัตตา ทั้งตัวตนและเพศเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ล้วนแต่เป็นบุตรของพระพุทธองค์

“เราเข้ามาบวชเพื่อละวางตัวตน สืบต่อพระพุทธสาสนา พระถ้าจะเป็นพระจริงๆ หรือคนที่ตั้งใจเข้ามาบวชจริงๆ คำว่าพระแปลว่า ประเสริฐ ฉะนั้น คนที่จะเป็นพระอาจจะเป็นตุ๊ดเป็นเกย์มาก่อน แต่เมื่อเป็นพระแล้วก็คือพระ ไม่มีพระตุ๊ด พระพุทธเจ้าบอกว่า ความปรารถนาในกามเป็นยางเหนียวที่สุด มันจะเป็นอุปสรรคที่สุด ถึงแม้ว่าเราจะเข้ามาบวชแล้ว ก็ยังมีความต้องการอยู่ แต่คนที่บวชแล้วจะต้องมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวข้ามความต้องการทางเพศและการแสดงออกซึ่งความต้องการทางเพศ”

และนั่นก็หมายถึง…การแสดงออกตัวตนทางเพศด้วยเช่นกัน

ภิกษุสามเณรที่แต่งกายคล้ายการห่มจีวรกิโมโนแบบโอบิ (ภาพจากฟอร์เวิร์ดเมล์)
ตุ๊เจ้มักทำหน้าที่จัดตกแต่งปะรำพิธีต่างๆ เวลามีงานพิธี

กำลังโหลดความคิดเห็น