xs
xsm
sm
md
lg

"การเมือง" เงามืดของหนังไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



"การเมือง" เงามืดของหนังไทย


     193 วันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายทั้งทุกข์และสุข
     193 วันที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม-คราบน้ำตา
     193 วันที่มีทั้งเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้ และเสียงดนตรี
     193 วันที่จะอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนนับแสน
     193 วันที่มากไปด้วยเรื่องราวข้อเท็จจริงมากมายจากการชุมนุมของพันธิมตรฯ ที่กำลังจะถูกถ่ายทอดออกมาให้สังคมได้รับรู้บนคำถามถึงโอกาสความเป็นไปได้?

              ...............

     บทบาทบนเวทีของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่กินระยะเวลาของการชุมนุมยาวนาน 193 วันอาจจะสิ้นสุดลงไปแล้ว ทว่าภารกิจของพระเอกขวัญใจแม่ยกอย่าง "ตั้ว-ศรัณยู วงศ์กระจ่าง" ก็หาใช่จะยุติตามไปด้วย

 
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่เขามีความคิดที่จะนำเอาเหตุการณ์ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้สาธารณะชนได้รับรู้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย โดยบ้างก็ด้วยอารมณ์ความรู้สึกห่วงใย ขณะที่บ้างก็ถามถึงเรื่องความเหมาะสม และก็มีไม่น้อยทีเดียวที่มองว่าโอกาสที่เขาจะทำมันออกมากระทั่งเป็นรูปเป็นร่างนั้นมีมาก-น้อยเพียงใด?

 
     โครงการที่ว่านี้อาจจะยังมีความไม่แน่นอนถึงรูปแบบลักษณะของตัวงาน แต่เมื่อถามถึงความตั้งใจของเขาแล้วต้องบอกว่าเต็มเปี่ยม โดยมีจำนวนคนอีกหลายร้อยพันชีวิตที่พร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ซึ่งวัดได้จากภาพของประชาชนที่มาร่วมสมัครคัดตัวกันอย่างเนืองแน่นที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา

 
     ทั้งนี้ ตั้วได้บอกถึงแรงบันดาลใจของความคิดที่จะทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาว่า เป็นเพราะเขารู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ที่มีเรื่องราวความประทับใจมากมาย ขณะที่หลายคนก็มีความเห็นตรงกันที่อยากให้มีการสร้างหนัเรื่องนี้ขึ้นมา และก็น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่มีอารมณ์ครบถ้วน

 
     "สำหรับการคัดเลือกนักแสดงนั้น มันเป็นการสนองในเหตุผล ว่าต้องการการตอบรับว่ามีพี่น้องต้องการมาร่วมอุดมการณ์กับเรากี่คน ที่ผ่านมาก็ได้ประมาณ 200 คน ก็เป็นที่น่าพอใจ และจากการสัมภาษณ์ ก็ทำให้รู้ว่ามีคนอยากร่วมกับเราเยอะ และทำให้รู้มุมมองของแต่ละคน ตรงนี้เป็นตัวกำหนดว่าจะสร้างอย่างไร และเราก็จะมีการประชาสัมพันธ์ทางรายการจอเหลือง(ออกอากาศทุกวันเสาร์ อาทิตย์ บ่าย 2 โมง ทาง ASTV News1) ให้คนที่ชมสามารถส่งเรื่องราวมาทางรายการได้

 
     "พี่คิดว่าแนวคิดในการสร้างภาพยนต์เรื่องนี้มันเป็นแนวคิดใหม่ ไม่ใช่แนวคิดของนักลงทุน ส่วนเรื่องการจัดเรต พี่ว่าการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่รุนแรง ยกตัวอย่างที่ตำรวจทำร้ายประชาชน ถ้าสังคมมองว่าเป็นเรื่องที่รุนแรง ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้"

 
     ว่ากันถึงความเป็น "หนังการเมือง" ที่จับเอาประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนการต่อสู้ของภาคประชาชนที่มีต่ออำนาจภาครัฐฯ การเปิดโปงการทุจริตอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเป็นไปแบบซ่อนรูป แอบเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชันในบ้านเราแล้ว ห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาต้องถือว่ามีไม่มากและก็มักจะไม่พ้นถูกดูด ตัด หั่น ห้าม จากกองเซ็นเซอร์ซึ่งเป็นการบั่นทอนจินตนาการของคนสร้างในทางตรง และเป็นการปิดกั้นโอกาสรับรู้ของประชาชนไปในทางอ้อม

 
     ภาพยนตร์ที่ว่ากันว่าเป็นหนังการเมืองมากที่สุดของบ้านเราก็คือ "ทองปาน" จากการกำกับของ ไพจง ไหลสกุล, สุรชัย จันทิมาธร และ ยุทธนา มุกดาสนิท ว่าด้วยเรื่องราวของชาวนาผู้ยากจนในอีสาน ที่ทั้งลูกและเมียถูกบังคับให้ต้องทิ้งที่นาซ้ำสอง ด้วยข้ออ้าง "จำยอม" ในการสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนา ตามนโยบายของรัฐบาล

 
     ด้วยความที่หนังสะท้อนออกมาได้ตามจุดประสงค์ ทำให้รัฐบาลไทยในสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วรับความจริงไม่ได้ ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนังต้องห้ามไปแม้จะคว้าเอารางวัลเกีรติยศ "Outstanding Film Of Southeast Asia" มาได้ก็ตาม

 
     "จริงๆ แล้วหนังไทยในยุคหนึ่งก็พูดถึงปัญหาสังคมเยอะครับ ไม่ว่าหนังคุณเพิ่มพูล เชยอรุณ เพียงแต่ว่าไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่พูดถึงปัญหาการเมืองชัดเจน เพราะต้องเข้าใจว่าการพิจารณาหรือการเซ็นเซอร์อยู่ในมือของตำรวจแล้วตำรวจเป็นอย่างไรเราก็พอจะนึกออก เห็นอะไรที่จะทำให้ตัวเองเดือดร้อนก็เอาออกหมด ตัดหมดนิดหน่อยก็ตัดหมด ก็ไม่มีใครกล้าทำ"
     ผู้กำกับรุ่นใหญ่ "บัณฑิต ฤทธิ์ถกล" บอกถึงบรรยากาศการทำหนัง(ไทย) การเมือง

 
     นอกจากอุปสรรคที่เกิดจากกลุ่มคนที่ถืออำนาจกฏหมายอยู่ในมือแล้ว ต้องยอมรับว่าในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ผ่านมานั้นมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย, กลุ่มคนที่ด่า-กลุ่มคนที่ชื่นชม, กลุ่มคนที่ไม่ขอออกความเห็น หรือแม้กระทั่งข้อมูล-ข้อเท็จจริงที่เป็นข้อขัดแย้งที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งหมดต่างก็ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง อันนำมาซึ่งคำถามที่ว่านี่คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่นิ่งพอที่จะนำเสนอต่อสาธารณชนในแง่ใดแง่หนึ่งได้แล้วหรือ?

 
     ที่สำคัญก็คือตลอดเวลาของการชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาฯ ที่มีการสลายผู้ชุมนุมอย่างโหดร้ายกระทั่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนว่า "ผู้ร้าย" ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง

 
     บัณฑิตได้ยกตัวอย่างของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ในการทำ 14 ตุลาสงครามประชาชน ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อครั้งเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาอีกหลายต่อหลายคนว่า แม้บ้านเราจะผ่านเลยยุคคอมมิวนิสต์อะไรมาแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี

 
     "ก็มีคณะกรรมการเซ็นเซอร์คนหนึ่งเป็นคนจากสมาคมหนังสือพิมพ์ ซึ่งจริงๆ ก็ควรจะอยู่ในฝ่ายของความถูกต้อง บังเอิญเขาเคยอยู่หนังสือพิมพ์ดาวสยามในยุค 6 ตุลาฯ ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เขาก็บอกว่าหนังเรื่องนี้เขาต้องจัดการ ประกาศเลยในที่ประชุม ผมโวยเลย ผมก็บอกถ้ากรรมการเซ็นเซอร์หรือตัดหนังผมแม้แต่นิดเดียว ต้องมีเหตุผลนะว่าเพราะอะไร ผิดกฎหมายข้อไหน ถ้าไม่มีผมเอาขึ้นศาลปกครอง เป็นครั้งแรกที่คนทำหนังมาพูดถึงศาลปกครอง ผลก็คือวันนั้นนักข่าวไปกันเต็มเลยไม่ตัดเลยสักนิด

 
     "มันมีข้อมูลประวัติศาสตร์ แล้วกฎหมายทำหนังมันมีสองอย่างคือทำความฝ่าฝืนต่อการเป็นระเบียบของประเทศ ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี คุณบอกมาเลยอันไหน ฝ่าฝืนความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศ เขาไม่กล้าตัด แต่ที่ทุเรศที่สุดคืออะไรรู้มั้ย ทีวีเซ็นเซอร์
 
     "หนังตัวอย่างที่ไปฉายในทีวีมันก็จะมีตัวอย่างนักศึกษาถือธงเดิน ถือรูปในหลวงเดิน มันบอกว่าถือธงไม่ได้ เห็นธงชาติไม่ได้ต้องตัดธงชาติออก ช็อตไหนที่เห็นธงชาติไม่ได้ ดูเอาความคิดของคน แล้วมันเปลี่ยนอะไรตรงไหนระหว่างที่เห็นธงชาติกับไม่เห็นธงชาติ"

 
     ต่อข้อสงสัยในการเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ของ 14 ตุลา 2516 กับการชุมนุมของพันธมิตรฯ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรจากความจริงที่จะเป็นหนัง และความยุ่งยากของสองเหตุการณ์ เรื่องนี้ผู้กำกับรุ่นใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า...

 
     "ถ้าเกิดทางคุณตั้วและทาง ASTV ทำหนังกันเองมันจะง่ายกว่าเยอะเพราะถือว่าอยู่ในเหตุการณ์ หนังเรื่องนี้มันจะได้ข้อเท็จจริงมากกว่า ผมอยากเห็นรายละเอียดที่ทำเป็นหนังในมุมกว้าง มุมของเหตุการณ์จริง ส่วนเรื่องที่เป็นดราม่าของบุคคลในกลุ่มพันธมิตรคือสิ่งที่สอดแทรก ความรู้สึกผมนะครับ คือจริงๆ ถ้าจะทำหนังเรื่องนี้ เมนจริงๆ ของมันก็คือให้คนที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะเสื้อแดง เสื้อชมพู เสื้อขาวหรืออะไรก็ตามแต่ ให้รู้ว่า จริงๆ คืออะไร มันถึงจะมีประโยชน์ แล้วในหนัง เวลาที่พูดถึงฝ่ายตรงข้ามมันพูดโดยองค์รวมว่าเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนตัวบุคคลที่เห็นก็ไม่ต้องระบุรายชื่อ ก็เอาตัวละครมาให้ดูว่าไอ้นี้คือใคร ไอ้นี้คือไอ้นั้น ไอ้นั้นก็คือไอ้นี้ ให้คนคิดเอาเอง"

                ............

     กระจกสะท้อนสังคม

     หลังใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาตั้งแต่ปี 2473 ในปีพ.ศ.2551 ประเทศไทยก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยท่ามกลางความหวังของคนในวงการฯ ที่ร่วมกันต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานหลายปี

 
     ทว่าเมื่อมองไปยังโครงสร้างของการทำงานซึ่งส่วนใหญ่อำนาจการเซ็นเซอร์, การจัดเรทติ้ง ยังคงวนเวียนอยู่ในมือของภาครัฐฯ สิ่งที่หลายคนวาดฝันไว้ถึงความมีอิสระเสรีในการคิดการแสดงออกผ่านโลกแผ่นฟิล์มก็ค่อยๆ รางเลือนลงไป

 
     "คือถามว่าทำยากไหม มันก็ไม่ยาก ถ้าคนทำหนังเขาได้โอกาสในการทำ"
 
     บรรณาธิการบริหารนิตยสาร BIOSCOPE "หมู สุภาพ หริมเทพาธิป" ให้ทัศนะของการทำหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของอำนาจการเมืองการปกครอง พร้อมบอกถึงจุดเด่นของหนังในแนวนี้ว่า เป็นหนังที่มีพลังอยู่ในตัวและสามารถพัฒนาความคิดของคนในสังคมได้

 
     "เนื้อหาสาระของมันมีพลังในตัวมันเอง ความเข้มข้นของเนื้อหามันพร้อมที่จะปลุกเร้าคน ดึงคน จะดูดคน จะชวนให้ติดตามอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านๆ มาเราไม่ได้รับโอกาส คนทำหนังไทยไม่ได้รับโอกาสในการจะเอาเรื่องราวเหล่านี้มาพูด"

 
     "ถามว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะการเซ็นเซอร์ โดยระบบการเซ็นเซอร์ที่มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ แน่นอนคนทำธุรกิจหนังเขากลัวความเอาแน่เอานอนไม่ได้ คือถ้ามันไม่ได้ฉายมันก็เจ๊งไปเลย เพราะถ้าถูกแบนมันก็เท่ากับไม่มีโอกาสได้รายได้กลับมาเลย"

 
     โดยทัศนะส่วนตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร BIOSCOPE มองว่าที่ผ่านมาบ้านเราแทบจะไม่มีหนังที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพลังอำนาจของประชาชนมันมีอยู่ และเมื่อคนรู้ว่ามันมีอยู่ก็ย่อมที่จะทำให้ประชาชนไม่อยู่เฉย

 
     "เมื่อไหร่ที่เขาได้รับความอยุติธรรม ก็จะลุกขึ้นมาเพื่อที่จะเรียกร้องหาความยุติธรรมที่เขาถูกกระทำทางการเมือง ผมว่ามันมีความสำคัญแต่ว่าเราไม่ได้รับโอกาสนั้น มันก็เลยทำให้สะท้อนกันไปสะท้อนกันมา เพราะว่าหนังไม่ได้ทำ คนก็เลยรู้สึกว่าเราไม่มีอำนาจพอ เขาก็จะไม่รู้สึกว่าการต่อสู้ทางการเมืองมันมีความสำคัญ

     "แต่ถ้าเกิดเขารู้ เขาลงมือทำ มันก็จะเกิดพลังใหม่ๆ ขึ้นมา เมื่อการเมืองมันมีความอยุติธรรมอยู่"

 
     สำหรับแนวทางของการนำเสนอนั้น สุภาพบอกว่าหนังประเภทนี้ถ้าเป็นในแนวภาษาหนังจะเรียกว่าแนว "โรมานซ์" คือหนังที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Algiers ที่พูดถึงสงครามกองโจรที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพและต้องการปลดปล่อยประเทศแอลจีเรียจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยมีพื้นฐานมาจากหนังสือเล่มหนึ่งในชื่อเดียวกัน เขียนโดยซาดี ยาเซฟ หนึ่งในบรรดาผู้นำของการปฏิวัติของชาวแอลจีเรีย ซึ่งเหตุการณ์การปฏิวัติในครั้งนั้นว่ากันว่า "เป็นการปฏิวัติที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” เลยทีเดียว

 
     "หนังพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะพูดถึงชัยชนะของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น The Battle of Algiers (หนังจะบอกเล่าเรื่องราวที่มาจากมุมมองของทั้งสองฝ่าย นั่นคือจากฝ่ายทหารฝรั่งเศส และจากฝ่ายก่อการกบฏแอลจีเรีย) ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการปลุกเร้า เราพูดถึงลัทธิทางการเมือง ยกตัวอย่างประชาธิปไตยก็จะพูดถึงเรื่องประชาชนมีอำนาจสูงสุด หนังก็ทำให้คนดูรู้สึกถึงอำนาจที่มีของประชาชนในการที่จะขจัดความอยุติธรรมทางการเมือง

 
     "คำอธิบายเกี่ยวกับ 'โรมานซ์' ก็คือต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม แล้วก็ให้เห็นในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่สูงค่า นั่นคือเป้าหมายในการนำเสนอของหนังแนวโรมานซ์ ไม่ใช่โรแมนติคอย่างที่เราเข้าใจ โรมานซ์มันคือการเชิดชูความยิ่งใหญ่ของความศรัทธาต่อสิ่งนั้นๆ ถ้าพูดถึงแนวทางของหนังก็ควรจะเป็นประมาณนั้น เมื่อคนดูหนังก็จะรู้สึกฮึกเหิม รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของแนวความคิดนั้นๆ"

               ............
    
     ***ล้อมกรอบ***

 
     ฤาจะเป็นหนังรัก?

 
     หนึ่งในความหลากหลายของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นสีสันไม่แพ้ความเข้มข้นของฉากบู๊ เลือดสาด ก็คือภาพฉากหวานๆ ของบรรดาคู่รักหลายต่อหลายคู่ที่พานมาพบด้วยอุดมการณ์เดียวกัน
อาทิ คู่ของสาวโคราชกับหนุ่มพะเยา "เกษมมณี เกตุแก้ว-คล้อย ทินกระโทก" ที่จัดงานวิวาห์กันขึ้นอย่างเป็นทางการในการชุมนุมโดยมีพ่อแม่พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
 
     ขณะที่คู่บ่าวสาวอย่าง "นายปรัชญา สิงโต-น.ส.ศิวาพร ไขศรี" ก็ได้เลือกทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ถ่ายภาพงานวิวาห์ของตนเองพร้อมกับเผยว่าหากมีทายาทก็อาจจะตั้งชื่อลูกว่า “ไทยคู่ฟ้า”

 
     ทั้งนี้หากมีการทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ขึ้นมาจริง นี่อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ผลิตสามารถเลือกหยิบมานำเสนอได้ ซึ่งไม่แน่เหมือนกันว่าเรื่องราวที่ออกมาอาจจะยิ่งใหญ่เหมือนกับภาพยนตร์เรื่องอื้อฉาวอย่าง "Summer Palace" ที่สร้างความฮือฮาในเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อ 3 ปีก่อนมาแล้ว ด้วยการถูกเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด และกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ไปอย่างล้นหลาม

 
     หนังเล่าเรื่องของหนุ่มสาวนักศึกษาคู่หนึ่ง ที่พบรักกันในปักกิ่ง พวกเขาเข้าร่วมการประท้วงที่เทียนอันเหมินด้วยกัน ก่อนที่ชะตาชีวิตจะลากให้ทั้งคู่ออกห่างกันไกลแสนไกล ซึ่งแม้จะเป็นหนังรักทว่าก็มีการพูดถึงสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์การนองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าที่จีนไม่อยากเปิดดู และนั่นเองที่เป็นหนึ่งในสองเหตุผลที่ทำให้ทางการจีนสั่งแบนภาพยนตร์เรื่องนี้นอกเหนือไปจากการมีฉากรักที่ค่อนข้างจะโจ๋งครึ่ม

 
     ขณะที่ตัวของผู้กำกับอย่าง "โหลวเย่" เอง ก็ถูกสั่งห้ามทำหนังเป็นเวลาถึง 5 ปีเลยทีเดียว
 
                 ............

        เรื่องโดย : ทีมข่าวบันเทิง




ตั้ว ศรัณยู ระหว่างสัมภาษณ์-คัดเลือกนักแสดง
ประชาชนจำนวนมากที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในหนังประวัติศาสตร์
ฉากแอ็กชั่น ที่เกิดขึ้นจริงในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น