xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าหลังวัง ...ในหลวง กับ ช่างฉลองพระองค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับจนถึงวันนี้ เป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปีแล้ว จากรุ่นพ่อ...สู่รุ่นลูกของครอบครัว “หลุยลาภประเสริฐ” ตระกูลนายช่างฉลองพระองค์ ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นมงคลวาสนาอันหาที่สุดมิได้ของตระกูล

ด้วยฝีมืออันประณีตในการตัดเย็บเสื้อผ้า การดูแลเอาใจใส่ในงานตัดเย็บเสื้อผ้าทุกชิ้น การบริการด้วยใจต่อลูกค้า ทำให้ “ร้านยูไลย เทเลอร์” ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าหลากหลายวงการ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นเหล่าข้าราชการระดับสูง

ทว่าสิ่งที่ยังความภูมิใจสูงสุดอันหาที่สุดมิได้ของครอบครัวคือการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อถวายงานในการตัดเย็บฉลองพระองค์ให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

ก่อนที่จะมาเป็น “ร้านยูไลย เทเลอร์” ที่ตั้งอยู่บนถนนศาลาแดงในปัจจุบัน ในช่วงต้นพุทธศักราช 2500 คนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาอยู่เมืองในไทยนาม “นุ้ย แซ่หลุ่ย” หรือชื่อที่ใช้เรียกกันในหมู่ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าและลูกค้าสมัยนั้น คือ “ยูไลย” เป็นผู้ริเริ่มเริ่มดำเนินกิจการ

ในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินกิจการ “ยูไลย เทเลอร์” การตัดเย็บเสื้อผ้าของร้านได้รับการบอกเล่าจากลูกค้าปากต่อปากในหมู่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ ถึงฝีมืออันประณีตงดงาม ผนวกกับการทำงานแต่ละขั้นตอนด้วยมือแทบทั้งสิ้น บุคคลสำคัญ ๆ ล้วนแล้วแต่มาตัดเย็บเสื้อผ้าที่ร้าน ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อย่าง นายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช หรือ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช

จุดเริ่มต้นของทางร้านที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท คือ เมื่อลูกค้าที่ทำงานอยู่ในสำนักพระราชวัง ท่านชูภาสน์ ชูโต กรมวังผู้ใหญ่ในขณะนั้น และตุล บุนนาค (บิดา นายเตช บุญนาค) นำฉลองพระองค์ที่ตัดจากประเทศอังกฤษมาให้ทางร้านแก้ไข ถือได้ว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่ทางร้านยูไลยที่ได้ทำถวายแด่พระองค์

“เมื่อครั้งนำฉลองพระองค์มาทำการแก้ไขกับทางร้านนั่นเอง ทำให้นายช่างยูไลยได้รับคำชมจาก มิสเตอร์ วัตสัน แห่งห้องเสื้อ โฮลว์เวส ช่างตัดเย็บฉลองพระองค์แห่งเมืองผู้ดี ที่ได้ถวายการตัดเย็บฉลองพระองค์มาก่อนหน้านั้น”

ต่อมา มิสเตอร์ วัตสัน ได้กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าไม่ต้องให้เขาตัดฉลองพระองค์ให้อีกแล้ว เนื่องจากช่างคนไทย คือ นายช่างยูไลย มีความสามารถในการตัดฉลองพระองค์ได้อย่างประณีตไม่แพ้กับตัวเขาเช่นกัน

ยังความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัว เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับสั่งให้เข้าเฝ้า เพื่อวัดฉลองพระองค์ ในการตัดเย็บชุดสูทถวายพระองค์ท่าน นับจากนั้นก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ตัดชุดฉลองพระองค์เรื่อยมา

จนเมื่อ “นุ้ย แซ่หลุ่ย” หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในครอบครัวต้องมาเสียชีวิตไปในปี 2511 “สมภพ หลุยลาภประเสริฐ” จึงได้เข้ามารับต่อภารกิจสืบต่อจากผู้เป็นบิดา ซึ่งขณะนั้นเขาเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ๆ

“ทุกๆ วันหลังเลิกเรียนผมก็ต้องมาช่วยงานคุณพ่อ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการตัดเย็บจากคุณพ่อบ้างพอสมควร ตอนนั้นผมอายุ 18 เพิ่งจบมัธยม คุณพ่อเสียชีวิตลง ทำให้ผมต้องมาดูแลกิจการของยูไลยไทเลอร์ ต่อจากคุณพ่อ”

การที่บิดามาด่วนเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน “นายช่างสมภพ” จึงต้องใช้ความวิริยะอย่างหนัก เพื่อเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมกับนายช่างท่านอื่นๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนของพ่อและเป็นอดีตลูกมือของพ่อที่ออกไปเปิดกิจการเอง เมื่อ นายช่างสมภพ ที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เพียงพอ จึงได้รับโอกาสอันสูงสุดของชีวิตอีกครั้ง

“ท่านชูภาสน์ เห็นความสามารถของเราอีกครั้ง จึงได้กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า มีลูกชายของยูไลย สามารถทำงานถวายต่อได้ จากนั้นท่านชูภาสน์ ก็ได้นำเอาหนังสือของมิสเตอร์ วัตสัน มาให้เราศึกษาเพื่อดูแบบ จนเราได้เข้าเฝ้าเพื่อถวายงานพระองค์ท่าน”

ในการตัดเย็บฉลองพระองค์นั้น ต้องศึกษาความรู้อย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ต้องฝึกฝนฝีมือในการตัดเย็บให้ชำนาญเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับราชประเพณีด้วย ซึ่งการฉลองพระองค์ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ก็จะแตกต่างออกไป

“ฉลองพระองค์ที่เป็นสูทองค์แรกนั้นเป็น ชุดสูทสีเทา การตัดเย็บใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ ซึ่งสูทที่พระองค์ท่านทรงโปรดมักเป็นสูทแบบอังกฤษ ไม่ค่อยเข้ารูปมากนัก ทรงสวมแล้วสบายพระองค์ ส่วนสีที่ทรงโปรดก็จะเป็นสีโทนอ่อน สีเบส และสีที่สว่าง แต่หากเป็นงานกลางคืนแล้วนั้น พระองค์จะทรงโปรดสีเข้ม และแบบเรียบๆ”

นายช่างสมภพ เปิดเผยถึง ข้อคิดที่ได้จากการเข้าฟังพระองค์ท่านว่า เวลาที่เราไปเข้าเฝ้าวัดพระวรกาย เพื่อนำมาตัดชุดฉลองพระองค์ พระองค์ท่าน จะทรงรับสั่งให้จดรายละเอียดให้สมบูรณ์ จะได้ไม่ต้องวัดบ่อยมาก เนื่องจาก พระองค์ไม่มีเวลามากนัก ต้องทรงงานโดยตลอด

“ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้านั้น พระองค์มักจะตรัสให้จดงานที่สั่งให้ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนและชัดเจน เนื่องจากว่าพระองค์ท่านมิทรงโปรดที่จะลองฉลองพระองค์บ่อยๆ จะทำให้เสียเวลาในการทำงาน”

เมื่อตัดชุดฉลองพระองค์เสร็จ แต่งานก็ยังไม่เสร็จ เพราะจะต้องคอยดูข่าวในพระราชสำนัก ภาพที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อคอยดูพระอิริยาบถของพระองค์ท่าน และการจดบันทึกข้อบกพร่องเอาไว้ เพื่อนำปรับไปแก้ไขในการตัดเย็บฉลองพระองค์

“การนำฉลองพระองค์ถวายแด่พระองค์เพื่อลองสวมใส่ ก็เพื่อให้พระองค์ได้ลองเคลื่อนไหวพระวรกาย หากตรงไหนรู้สึกแน่นไป ผมก็จะได้นำกลับมาแก้ไขเพื่อให้พระองค์ท่านได้สวมใส่สบายมากขึ้น ตรงนี้ก็ต้องคอยเฝ้าสังเกตจากข่าวในพระราชสำนักหรือภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์”

สำหรับกระบวนการทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับฉลองพระองค์นั้น นายช่างสมภพจะได้รับการติดต่อประสานงานกับมหาดเล็กห้องบรรทม โดยมหาดเล็กนั้นจะเป็นผู้ดูแลฉลองพระองค์ทุกองค์ภายในมหาราชวัง ซึ่งจะเป็นผู้นำฉลองพระองค์มาให้แก้ไข

“ในช่วงปี 2510-2530 พระองค์จะไม่ค่อยได้แก้ไขฉลองพระองค์มากเท่าไหร่ เนื่องจากพระวรกายของพระองค์ทรงตัวไม่ค่อยมีการขยายมากนัก แต่มาในช่วงหลังปี 2540 พระวรกายสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะรับสั่งให้ตัดชุดใหม่ ในบางครั้งมหาดเล็กห้องบรรทมก็นำชุดเก่ามาขยายให้แด่พระองค์ท่าน”

เมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้เข้าเฝ้านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้นายช่างสมภพปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสในการได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเช่นนี้

นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว สิ่งที่พระองค์ตรัสให้ฟัง มักจะทรงเล่าเรื่องคุณทองแดง เมื่อพระองค์ได้ตรัสถึงคุณทองแดงทีไร พระองค์ท่านมักจะทรงพระสรวลทุกที

“ฉลองพระองค์บางองค์พระองค์ท่านสวมใส่มาแล้ว 8-9 ปี บางองค์ที่พระองค์ทรงโปรดมากก็ใช้นานถึง 12 ปี ชุดที่พระองค์โปรดที่สุดก็คือชุดลำลองที่พระองค์ทรงท่านทรงสวมเพื่อเล่นกับคุณทองแดง ใช้มาหลายปี ก็จะเป็นรอยขีดข่วนและฉีกขาด พระองค์ท่านไม่ทิ้ง ก็จะส่งให้เรานำกลับมาปะชุนบ่อยครั้ง”

สมภพ บอกว่า สิ่งนี้เองที่เราคิดว่าพระองค์ท่านทรงนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้แก่เราและครอบครัวด้วยเหมือนกัน

การได้ถวายงานมากกว่า 40 ปี ทำให้ครอบครัวของกิจการช่างตัดเย็บยูไลย เทเลอร์ ได้รับความไว้วางใจจนได้รับพระราชทานตราตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2550 ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัวจีนบนแผ่นดินไทย
สมภพ  หลุยลาภประเสริฐ ในห้องตัดเสื้อส่วนตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น