xs
xsm
sm
md
lg

I'm fine สบายดีค่ะ หนังสั้นเพศที่สาม ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ว่าจะเรียกเขาเป็นเธอ หรือจะเรียกเธอเป็นเขา ไม่ว่าจะมองเขาเป็นเกย์ กะเทย ตุ๊ด หรือเพศที่สาม และไม่ว่าเธอจะมีสักกี่นาม สถานะ และสาขาอาชีพ ก็แล้วแต่, แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาหรือเธอคนนี้รักและยึดมั่นเสมอมาคือ การทำหนัง ตั้งแต่หนังสั้นเรื่อง แหวน, เปลือก, หนี, กะเทยนรก, รัก/ผิด/บาป, Phone Mood ฯลฯ และล่าสุด I'm fine สบายดีค่ะ เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 12 และยังมีอีกหลากหลายรางวัลและผลงานที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและที่ถูกนำออกไปสู่สายตาของชาวโลกหลายประเทศ (จะบอกว่าโกอินเตอร์ ก็เกรงใจนักร้องสาวบางคน) จนเราไม่อยากเอามานับให้เสียเวลา, มารู้จักกับตัวตนคนทำหนังสั้นคนนี้กันเลยดีกว่า นามของเขาหรือเธอคนนี้คือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์


กะเทยก็คือคน (ปกติ)
"ตั้งแต่เด็กก็ปกติ เล่นตุ๊กตา เล่นเป็นผู้หญิง แต่ก็เคยมีชอบผู้หญิงบ้างเหมือนกัน แต่ผู้หญิงที่ชอบก็เป็นผู้หญิงที่เป็นนักกีฬา แมนกว่า ดูแลปกป้องเราได้ อะไรอย่างนั้น" ธัญญ์วารินบอกเล่าความรู้สึกแบบผู้หญิงๆ ที่เขาเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ถามว่ารู้สึกเบื่อ หรือเซ็งกับการถูกเรียกว่า 'กะเทย' ไหม เขาบอกว่าไม่ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสังคม และคำว่ากะเทยก็เป็นคำที่คนเขาเรียกกัน

"เราเข้าใจว่าสังคมนี้ถูกบอกมาตลอดว่ามีแค่สองเพศ เราก็ไม่ว่าคนที่เขามองเราว่าแตกต่างหรอก เพราะเราเข้าใจเขา ว่าเขาก็ถูกสอนมาแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องประหลาด เขามองว่ามีผู้หญิงกับผู้ชาย เพราะฉะนั้นคนที่แตกต่างจากเขา เขาจะเรียกว่าเพศที่สาม หรือเรียกว่าเกย์ กะเทยก็ตาม แต่ในความรู้สึกจริงๆ เรารู้สึกว่าเราเป็นคนปกติ แต่ว่าเราเข้าใจคนที่เรียกเรา และเข้าใจว่าตัวเราเป็นอะไรก็จบ"
โอเค - ถ้าอย่างนั้นเราข้ามไปที่เรื่องหนังสั้นกันเลย...

หนังสั้นคืออะไรวะ!
ธัญญ์วารินเรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส จบแล้วเขามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นเขายังได้มีโอกาสเล่นละครทีวีช่อง 3 เรื่อง 'ชายไม่จริง หญิงแท้' แสดงเป็นกะเทยตัวอิจฉา

"เราเล่นละครสองสามเรื่อง แล้วมันเบียดบังเวลาสอนหนังสือ เราก็รู้สึกว่าสอนหนังสือไปด้วยเล่นละครไปด้วยไม่น่าจะเวิร์ก เราก็เลยเลือกสอนหนังสืออย่างเดียว เราเห็นว่ามันไม่มั่นคงด้วยแหละ เพราะเราอยู่โคราชก็นั่งรถไปๆ มาๆ เสร็จแล้วพอไม่ได้ทำละครมันก็เลยอึดอัด พอดีเขามีประกวดหนังสั้น เฮ้ย! หนังสั้นคืออะไรวะ กูก็ไม่รู้จัก แต่ว่ามันไม่น่าจะแตกต่างจากละครเวที ไม่แตกต่างจากละครโทรทัศน์ที่เราเคยเล่น เราก็เลยไปยืมกล้องมา รวมเพื่อนๆ มา แล้วเขียนบท กำกับ แสดง ถ่ายเอง และตัดต่อเองหมดทุกอย่าง แล้วก็ส่งประกวดมูลนิธิหนังไทย เรื่อง 'แหวน' ก็ได้รางวัลมา"

ตั้งแต่นั้นมา นอกจากรักสวยรักงามแล้ว ธัญญ์วารินยังรักหนังสั้นเป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย

"มันเป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือสื่อสารของเราที่เอาไว้สื่อสารกับคนอื่น เรียกว่าสนองตัญหาของตัวเองนิดหนึ่ง เหมือน... ไม่รู้ใครเป็นคนพูดนะว่า เหมือนเป็นการสำเร็จความใคร่ เพราะว่ามันมีความอยากที่จะพูดเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วมันต้องพูด เก็บไว้ก็อึดอัด เราจึงรู้สึกว่าหนังสั้นนี่แหละเป็นเครื่องมือที่เราจะใช้พูดกับคนอื่นได้โดยที่ไม่ต้องเดินไปพูดกับเขาด้วยตัวเอง ตอนทำมันก็เลยมีความสุข เราก็เลยรู้สึกว่ายังไงก็ต้องทำ เพราะตอนนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว"

ปัจจุบันนี้ธัญญ์วารินไม่ได้เป็นครูมาเกือบสิบปีแล้ว พอทำหนังได้รางวัลเรื่องที่สอง เขาได้ไปฝรั่งเศส ได้ไปประกวดเทศกาลหนังสั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก...

"พอไปฝรั่งเศสปุ๊บ ก็ลาออก บอกแม่ ตอนนั้นก็คิดมากอยู่เหมือนกัน เพราะครูก็เงินเดือนเป็นหมื่น แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ เราก็บอกแม่ว่าอยากลาออก ครูคนอื่นเขาก็ด่า บ้าหรือเปล่า เราก็บอกว่าชีวิตเราจะสั้นจะยาวเท่าไหร่เราไม่รู้ เรารู้แต่ว่าถ้าเราได้ทำสิ่งที่เรารักมันอาจจะมีความสุขกว่าไหม แต่เราก็เป็นกังวลอยู่ แต่แม่เป็นคนให้กำลังใจ แม่ก็บอกว่า ออกมาเถอะ ทำสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้ามันจะเป็นยังไงเดี๋ยวแม่เลี้ยงเองก็ได้ ไม่เป็นไร แค่อยากให้ลูกมีความสุข ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักก็พอแล้ว"

กะเทย, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และโสเภณีข้างถนน
หนังสั้นเรื่องแรกของธัญญ์วารินคือเรื่อง 'แหวน' เล่าเรื่องเกี่ยวกับวงจรชีวิตคนระดับล่างของสังคมว่าเขามีวงจรชีวิตแบบไหน ตัวละครเป็นกะเทยบ้านนอก เป็นใบ้ แล้วมาทำงานรับจ้างล้างจานอยู่ใต้โรงแรมจิ้งหรีด

"แรงบันดาลใจมาจากการที่บ้านเราขายขนม แล้วเราขายอยู่ตรงโรงแรมนั้นจริงๆ โรงแรมเก่าๆ ที่โคราช แล้วเราก็ได้เห็นชีวิตแบบนี้จริงๆ เราเห็นกะเทย เห็นผู้หญิงขายตัว, เราเคยเห็นผู้หญิงขายตัวที่แบบ... คือค่อนข้างเพื่อคนชั้นล่างๆ ไม่ใช่โสเภณีแบบแพงๆ แต่เป็นแบบถูกๆ เราเห็นทุกวัน เราก็รู้สึกอินกับชีวิตเขา เรารู้สึกว่าไม่เห็นมีใครไปมองชีวิตพวกเขาเลย เรารู้สึกว่าเราอยากเล่าชีวิตของเขา เราเห็นชีวิตนั้น เพราะว่าวงจรที่เราเล่านั้นมันมีกะเทย มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และโสเภณีข้างถนน สามคน ซึ่งเราจะเล่าเป็นวงจรชีวิตเขาที่มีวงจรชีวิตที่มันเหลื่อมกัน และสุดท้ายก็เป็นวงจรเดียวกัน เกี่ยวกันด้วยแหวนวงหนึ่งซึ่งแต่ละคนก็มีชีวิตของตัวเอง มีความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง"

ทางด้านผลตอบรับจากผู้ชม ธัญญ์วารินบอกว่าดีมาก มีฟีดแบ็คกลับมาว่าหนังมันดิบ มันจริง บางคนนึกว่าไปแอบถ่ายมา ประมาณว่า เรื่องจริงผ่านจอ หรือเปล่า ?

"เราบอกไม่ใช่ มันคือเซ็ตติ้งขึ้นมาหมด มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โสเภณีข้างถนนก็ไปยืนขายจริงๆ เหมือนมีคนมาซื้อจริงๆ แล้วที่สำคัญคือได้รางวัลชมเชยของประเทศไทย แต่ที่หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากก็คือ มันเป็นหนึ่งในร้อยหนังไทยที่คนไทยควรดู ที่ประกาศโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งหนังสั้นที่เข้าเป็นหนึ่งในร้อยหนังไทยมีแค่ 15 เรื่อง นอกนั้นเป็นหนังคลาสสิกไทยหมด เราก็ไม่เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้มันขนาดนั้นตรงไหน เราไปถามคุณโดม สุขวงศ์ ที่หอภาพยนตร์ฯ เขาบอกว่ามันเป็นหนังที่เหมือนกรรมกรทำหนัง เราก็เฮ้ย, นี่เขาด่ากูหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) หรือว่าอะไรกันแน่ เขาบอกว่าเหมือนเอากล้องให้กรรมกร แล้วให้กรรมกรทำหนัง แล้วสามารถนำเสนอชีวิตได้จริง เป็นชีวิตจริงโดยที่ไม่มีความรู้ มันเป็นหนังที่ทำมาจากหัวใจ ไม่ใช่ความรู้ เขาเลยยกย่องให้ว่าต้องดู"

อีบ้านนอกโกอินเตอร์
ธัญญ์วารินได้มีโอกาสเดินทางไปทำหนังและนำหนังของตัวเองไปเข้าสายประกวดมาแล้วร่วมสิบประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เกาหลี ญี่ปุ่น เบลเยียม นอร์เวย์ อิตาลี ฯลฯ มีครั้งหนึ่งที่เขารู้สึกประทับใจ...

"รู้สึกประทับใจตอนไปครั้งแรก แต่อันนั้นก็เป็นความโง่ด้วย ความบ้านนอกด้วย แต่ว่ามันก็สร้างจุดเปลี่ยนบางอย่างให้เทศกาลหนังที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยเหมือนกัน ก็คือตอนนั้นทำเรื่อง 'เปลือก' ได้รางวัลรองชนะเลิศที่มูลนิธิหนังไทย ปีเดียวกับย้ง แฟนฉัน ปรากฏว่าเทศกาลหนังสั้นที่ฝรั่งเศส (Internation Competition in Clerment-Ferrand Short Film Festival) เขาจะรับเฉพราะฟิล์ม ถ้าเป็นดิจิตอลเขาไม่เอา เขาไม่รับประกวด แต่เผอิญว่าเขาเลือกเรา เขาก็อีเมลถามเรามาว่าคุณสามารถ Transfer (เปลี่ยน) ให้เป็นฟิล์มได้ไหม เราก็บ้านนอก อยู่โคราช เราก็ไม่รู้ ไม่เคยทำหนัง เราก็ตอบว่าได้ ไม่เป็นไร ทำได้ แล้วเราก็ไปหาสปอนเซอร์ ไปถามเขาว่ามันต้องใช้เงินเท่าไหร่ เขาบอก 1 ล้าน อ้าว!, เอาแล้วไง จะทำยังไงดีล่ะ ไปขอสปอนเซอร์ที่นั่นที่นี่ หลายที่มาก อายเขานะ อายมากเลย เรารู้สึกว่าประเทศไทยนี่แบบ... คือเรารู้สึกภูมิใจที่เราได้เป็นตัวแทนประเทศไปนำเสนอความคิดของคนในชาติให้เขาได้รู้ ปรากฏว่าเราไปขอสปอนเซอร์จากองค์กร (ใหญ่มาก ระดับชาติ) แห่งหนึ่ง เขาก็บอก น้อง, เราต้องเงินต่อเงินนะคะ น้องไม่ให้ประโยชน์อะไรต่อเรา เราคงให้อะไรน้องไม่ได้หรอก จริงเหรอ! อันนี้เราไปเป็นตัวแทนประเทศเลยนะ"

จะบอกว่า 'โกอินเตอร์' ก็เกรงใจ ?

"เออ! (หัวเราะ) เขาจะได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้นนะ เขาก็บอก อ๋อไม่ค่ะ เราต้องเงินต่อเงิน เห็นตัวเงินชัดเจนที่เราจะได้จากคุณ อ้าวเชี่ย! ตายแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลยตอนนั้น ขอเงินใครก็ไม่ได้ หลังจากนั้นก็ไปกรมส่งเสริมการส่งออก สำนักนายกฯ ทำจดหมายถึงสำนักนายกฯ ไปที่การท่องเที่ยว ททท. อะไรเสร็จสรรพ... ไม่ได้! อะไรก็ไม่ได้ ตั๋วเครื่องบินก็ไม่ได้ เหมือนอะไรก็ไม่รู้ น่าเกลียดมาก จากนั้นเราก็เมล์ไปฝรั่งเศส แล้วเขาก็ด่ากลับมาน่ะสิ คุณทำอย่างนี้ไม่ได้! เพราะมันเป็นเทศกาลใหญ่มากที่สุดในโลก แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เขาก็บอก ถ้าอย่างนั้นทำเป็นเบต้ามา พอไปทรานซ์เฟอร์ลงเบต้ามันก็ไม่กี่ร้อยบาท แล้วก็เอาไปฉาย แต่หนังของคุณเป็นเรื่องเดียวในเทศกาลที่เคยมีมา ไม่ได้ประกวดนะ แต่ฉายในฐานะสายประกวด เราก็ เอ้า, ก็แล้วแต่ยูก็แล้วกัน กูไม่เอาอะไรแล้ว กูหงุดหงิดมาก (หัวเราะ) ปรากฏว่าได้สปอนเซอร์จากสถานทูตฝรั่งเศส สมาคมฝรั่งเศสฯ แอร์ฟรานซ์ให้ตั๋วเครื่องบิน เราก็เลยได้บินไปร่วมงาน"

พอได้ไปร่วมงานเขาจึงได้เห็นว่าทุกครั้งที่ฉายหนังของเขาจะมีพิธีกรส่วนตัวมาปะกาศว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ประกวด เพราะว่าผิดกติกาอย่างนั้นอย่างนี้ มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ว่า ทำไมยูถึงไม่ได้ประกวด เขาตอบว่า...

"ทุกคนที่มาที่นี่ต่างทำหนังด้วยเงินของรัฐบาล เงินของกรมส่งเสริมของประเทศตัวเอง และของบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศ แต่ของเรานี่เงินกูเอง กูลงทุนด้วยตัวเอง แล้วประเทศไทยก็เป็นแบบนี้แหละ เราก็ด่าประเทศตัวเองให้เขาฟัง ว่าไม่เคยส่งเสริมเลย คำว่าวัฒนธรรมร่วมสมัย มันคือความคิดของคนในชาติ ไม่มีใครสนับสนุน มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ประเทศเราเป็นแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้ ปรากฏว่าปีต่อมาเขาเปลี่ยนกฎ หนังทุกประเภทประกวดได้หมด"

ก็สิ้นเรื่อง... ?

"เอ้อ! ก็สิ้นเรื่อง (หัวเราะ) กูไม่มีเงินจะทำอยู่แล้ว เงินเป็นล้านจะทำได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เขาก็เปลี่ยนตรงนั้น เราก็รู้สึกว่า เออ, ดีนะ ความโง่ๆ แบบบ้านนอกๆ ของเราก็ทำให้การประกวดหนังมันโอเพ่นขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะเราคนเดียวหรอก เพราะคงถึงยุคที่ดิจิตอลเข้ามาเยอะแล้ว และเขาคงถกเถียงกันมานานแล้ว บังเอิญมันมีอีบ้านนอกคนนี้เข้ามาหนึ่งคน มันก็เลยแบบว่า..."

แต่งเป็นหญิง กินเหล้าเมา เอาผู้ชายไปนอน
การที่เทศกาลหนังยักษ์ใหญ่ระดับโลกเลือกหนังจากประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยไปฉาย มิหนำซ้ำยังเป็นหนังของอีบ้านนอกคนหนึ่ง อาจเป็นเพราะว่าเขาเห็นเป็นเรื่องแปลก ?

"เราไม่เคยคิดว่าหนังเราแปลกนะ หนังเรื่องนี้เดี๋ยวเล่าให้ฟัง มันเป็นชีวิตของตัวเองจริงๆ ตอนเป็นครู ตอนกลางวันเราเป็นครู (เป็นผู้ชาย) กลางคืนเราก็แต่งเป็นผู้หญิง ไปกินเหล้าเมา เอาผู้ชายไปนอน บางวันก็เจอลูกศิษย์ตัวเองบ้าง มันก็มี บางทีมีอะไรกับลูกศิษย์ไปโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่เป็นลูกศิษย์ของตัวเอง พอเช้ามาไปสอน อ้าว,เหี้ย! ตายแล้ว กูเพิ่งได้กันเมื่อคืน! อะไรอย่างนี้ ก็เอาเรื่องนี้มาทำ เรื่อง 'เปลือก' เราก็เล่าชีวิตของครูคนนี้ ว่ากลางวันเป็นครู กลางคืนเป็นกะเทยแต่งหญิงไปหากินกับผู้ชาย เล่าถึงเด็กนักเรียนผู้หญิง เด็กนักเรียนผู้ชาย กลางวันก็เป็นนักเรียนที่เราสอน กลางคืนก็ไปขายตัว ไปค้ายา อะไรอย่างนี้ คือเรามองเป็นเรื่องปกติ นี่มันโลกมนุษย์ แล้วมันมีอยู่จริงในสังคมที่เราสัมผัสได้ แต่ที่ฝรั่งเศสเขามองว่ามันมีความเป็นออริจินอล แล้วก็ดูแตกต่าง"

การที่ธัญญ์วารินทำหนังสั้นเกี่ยวกับเพศที่สามเยอะมากนั้น ไม่ใช่เขามีปมด้อย แต่เป็นเพราะเขาอยากบอก อยากสื่อสารว่าเขามีชีวิตแบบคนปกติ และหนังของเขาไม่ได้มีแค่เพศที่สามเพศเดียว แต่จะมีผู้ชายผู้หญิงเป็นตัวเปรียบเทียบด้วย เพื่อบอกว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นเพศไหนมันก็เหมือนกัน

"เรามองโลกว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง มีความสุขความทุกข์เหมือนกับเราทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นอะไรแล้วจะสุขกว่าทุกข์กว่า ไม่ได้บอกว่าเป็นกะเทยแล้วจะทุกข์กว่า ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้ชายแล้วจะสุขกว่า หนังเราจะบอกว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่บนโลกนี้ โดยไม่ได้เรียกร้องสิทธิอะไรด้วยนะ มึงไม่ต้องมาเห็นใจกู กูอยู่ดีมีความสุข มึงอยู่ตรงนี้ให้รอดเถอะ (หัวเราะ)"

หนังสั้นเรื่องหนึ่งของธัญญ์วารินชื่อ I'm fine สบายดีค่ะ เป็นเรื่องของกะเทยที่อยู่ในกรง เรื่องนี้, ธัญญ์วารินบอกว่าเป็นหนังเตือนสติคนไทย และหนังเรื่องนี้ได้รางวัลชนะเลิศ รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 12 และหนังสั้นอีกเรื่องของเขาคือ 'รักผิดบาป' (in the name of sin) เล่าเรื่องครูที่ปกปิดความเป็นกะเทยของตัวเอง และแอบรักลูกศิษย์

"ก็เป็นเรื่องจริงนะ เรารู้สึกว่าครูก็เป็นคน ก็เป็นมนุษย์ แล้วก็มีความต้องการทางเพศ มีความต้องการความรัก แล้ววันๆ จะเจอใคร ก็เจอแต่ลูกศิษย์ จะให้รักใคร เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นชีวิตปกติพื้นฐานของมนุษย์ แต่ว่าการต่อสู้กับจิตใจของตัวเองนี่แหละเป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุด เพราะว่าคนเรามักจะมีกรอบความเป็นครู กรอบความเป็นอาชีพของตัวเองจนลืมว่าจริงๆ แล้วตัวเองก็เป็นมนุษย์มีความต้องการอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็จะเล่าเรื่องการต่อสู้ในจิตใจของครูคนนี้ ว่าจะมีความรักสักครั้งหนึ่งก็ถูกมองเป็นสิ่งที่ผิด แล้วตัวเองก็ไม่กล้าเพราะมันเป็นสิ่งที่ผิด แล้วพอสุดท้ายมันมองสิ่งที่ผิด มองเขาไปในแบบผิดๆ แล้วก็เป็นบาปติดตัวเองไป เพราะสุดท้ายเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวเองคิด เขาไม่ได้ชั่วเลว แต่เขาก็ยังมีความเคารพ มีกรอบความเป็นครูของตัวเองอยู่ ก็เลยเจ็บปวดในภายหลัง เป็นประสบการณ์ตรงที่เราสัมผัสมาจริงๆ กับการเป็นครูที่เรามองหน้าลูกศิษย์ทุกวันแล้วเราหลงรักเขา หันหลังเข้ากระดานยังอยากจะหันหน้ากลับไปดู ได้มาคลุกคลีตีโมง ได้มาอยู่ด้วยกัน แต่จะทำอะไรบางทีมันก็ไม่กล้า เพราะเขาเป็นลูกศิษย์เรา เขายังไหว้เราอยู่ แล้วเราจะทำอย่างนั้นได้ไหม บางทีเราอยากให้เขาทำกับเราเหมือนที่เขาทำกับคนอื่น แต่ที่เขาทำกับคนอื่นเขาก็มีเหตุผลที่จะมาตอบแทนบุญคุณเรา ก็เลยรู้สึกว่าความรักสักครั้งช่างดูเจ็บปวดจังเลย"

สัตว์โลกต้องมีการปรับตัว
ในประเทศไทย , การทำหนังสั้นอย่างเดียวเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองไม่ได้แน่นอน คนอื่นไม่รู้, รู้แต่ว่าตอนนี้ธัญญ์วารินเป็นคนทำหนังสั้นที่ทำเองขายเองอยู่ที่สวนจตุจักร

"ถามว่าได้เงินกลับมาไหม ก็ได้เงินกลับมา แต่ไม่พอที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้แน่ๆ แต่ว่าเรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานเป็นแอ็คติ้งโค้ชหนังใหญ่ อย่างเขาชนไก่, Wonderful town, จูบ, ปัจจุบันทำให้พี่พจน์ อานนท์ แล้วมีอาชีพอย่างหนึ่งคือเป็นวิทยากรสอนทำหนังตามที่ต่างๆ คือทำหลายอาชีพเพื่อเอาเงินมาทำหนังสั้น"

ถึงแม้จะเป็นคนทำหนังอิสระ แต่เวลาเข้าไปทำงานในระบบสตูดิโอ ธัญญ์วารินก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองจะมีปัญหาอะไรกับระบบนี้

"แต่ก่อนตอนเขาติดต่อมา เขาถามว่าพี่กอล์ฟ (ธัญญ์วาริน) ทำงานง่ายหรือเปล่า เขาดูเราจะอินดี้ ยุ่งยาก ไม่เข้าใจระบบสตูดิโอหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวเราไม่มีปัญหาเลย เพราะเราแยกออกว่าเราทำงานตามคำสั่ง กับทำงานที่เรารักมันคนละแบบ เราต้องมีชีวิต เราต้อง Go on แล้วคุณจะมาเรื่องเยอะไปทำไม ไม่อยากได้เงินเขาเหรอ อยากได้! เพราะฉะนั้นถ้าเราทำงานสตูดิโอเราก็รู้แล้วว่าต้องทำอะไร เราทำงานเอาตังค์ ถามว่าเราได้เงินจากเขาไหม เราได้ แล้วเขาได้เงินจากสิ่งที่เราทำอยู่ เขาก็ต้องการเงินในการลงทุน เราก็เข้าใจ ก็ทำตามที่เขาต้องการทุกอย่าง อยากได้อะไรก็บอก เดี๋ยวจัดให้ ไม่มีปัญหา แต่หลายคนมันคิดไม่ได้แบบนี้ บางคนคิดว่ากูติสท์ กูติสท์แดก กูอินดี้ กูต้องไม่ทำสตูดิโอ กูต้องเกลียดนายทุน มัน Stupid ถ้าคิดอย่างนั้น แล้วจะมีชีวิตอยู่ยังไง สัตว์โลกต้องมีการปรับตัว เราก็บอกทีมงานที่ติดต่อมาว่า เฮ้ย, พี่ไม่เรื่องมากค่ะ พี่ทำได้หมดเลย อยากทำอะไรได้ บางทีเป็นช่างแต่งหน้ากองถ่ายเราก็ยังทำเลย"

เราได้ยินคำปรามาสว่า 'ตลกทำหนัง' แต่ไม่รู้ว่า ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เคยโดนปรามาสว่า 'กะเทยทำหนัง' บ้างหรือเปล่า ?

"ไม่มีคำปรามาสว่ากะเทยทำหนัง แต่ไม่รู้เป็นคำปรามาสหรือเปล่า คือเขาจะมองว่าที่เราทำแต่หนังกะเทย แล้วทำตัวเป็นกะเทย เพราะว่ามันเป็นหนทางหนึ่งที่คนจะสนใจ แต่ถ้าคนรู้จักเรา หรือเพื่อนเราจะรู้ว่าเราทำเพราะเรารักจริงๆ ทำมาตั้งแต่แบบล้มลุกคลุกคลาน ร้องไห้ก็ทำมาตลอด ก็มีคนมาถามจริงๆ ว่าทำหนังกะเทย แล้วทำตัวเป็นกะเทย เพราะว่ามันไม่มีใครเขาทำกันใช่ไหม จะได้เด่นจะได้ดังใช่ไหม ก็เปล่า, กูเป็นตัวของกูอย่างนี้ วันไหนกูอยากแต่งหญิงกูก็แต่ง วันไหนกูไม่อยากแต่งก็ไม่แต่ง มันเป็นชีวิตของเราจริงๆ เขาอาจจะดูถูกก็ได้ ก็อาจจะใช่ เพราะว่าดูแล้วก็แค่เหมือนกับเอาตัวเองมาขาย เรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆ แล้วถ้าเขาศึกษางานเราจริงๆ เขาจะรู้ว่าเราทำมาจากหัวใจ ไม่ใช่เพราะอยากเด่นอยากดังอะไรเลย"

ถึงแม้การทำหนังสั้นจะเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองไม่ได้ในประเทศไทย แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสั้น ธัญญ์วารินบอกว่า เขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน...

*****************************

เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ











กำลังโหลดความคิดเห็น