xs
xsm
sm
md
lg

วชิราวุธวิทยาลัย มหาดเล็กหลวง…ข้ารับใช้พระเจ้าแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงรายตีนตอง
ทุกครั้งที่มีพระราชพิธีสำคัญ เราชาวไทยล้วนต่างทำหน้าที่กันอย่างสุดความสามารถ หากแต่คนไทยในฐานะข้าพระบาทแห่งวชิราวุธวิทยาลัยนั้น บทบาทความเป็น “มหาดเล็กหลวง" ยังคงเด่นชัดตลอดมาไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

ตามพระราชพินัยกรรมเรื่องการจัดการพระบรมศพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบัญญัติไว้ในข้อ 12 ความว่า “ในกระบวนแห่พระบรมศพนี้ นอกจากทหาร ขอให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือมาสมทบกระบวนด้วย และขอให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ากระบวนด้วย”

ถึงวันนี้โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ยังคงเหลืออยู่ นั่นคือ “โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ” หรือที่ภายหลังรู้จักในนามของ “วชิราวุธวิทยาลัย”  ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลที่สืบทอดต่อกันมา สร้างขึ้นโดย รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ด้วยทรงใฝ่พระราชหฤทัยต่อการศึกษาของคนในประเทศ

เป็นเหตุให้ลูกวชิราวุธทุกคน ต่างสำนึกเสมอว่าตนเป็นโรงเรียนในพระองค์

ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วชิราวุธวิทยาลัยมีโอกาสรับใช้สถาบันสูงสุดอีกครั้ง กับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของริ้วขบวนอัญเชิญพระศพ ในตำแหน่ง “ มหาดเล็กหลวง” และ “ตำรวจหลวง” ตามโบราณราชประเพณี เช่นเดียวกับอดีต เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน ร.7และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ผ่านมา


* บทบาทมหาดเล็กหลวงในพระองค์

วรชาติ มีชูบท อดีตอาจารย์และศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย ย้อนเล่าว่า โดยสถานะดั้งเดิมของโรงเรียนแห่งนี้ ตามพระราชปณิธานของ รัชกาลที่ 6 ทรงมีจุดมุ่งหมายให้เด็กที่จบออกไปเข้ารับใช้เจ้านายในรั้วในวัง ซึ่งในยุคเริ่มแรก นักเรียนมหาดเล็กหลวงจะมี 2 ประเภท พวกแรก คือ นักเรียนที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง กลุ่มนี้เป็นนักเรียนหลวง ที่ในหลวงทรงออกค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ทั้งหมด อีกประเภทคือ กลุ่มที่ต้องออกค่าเล่าเรียนเอง ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย และใครที่ถวายตัวแล้ว ถือเป็นคนของหลวง เมื่อเรียนจบต้องเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ทำให้ในอดีต นักเรียนที่เข้าเรียนที่นี่ มีโอกาสฝึกฝน และเรียนรู้วิชามหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 6 ตามแต่พระราชนิยมว่าพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์จะทรงโปรดอย่างไร

ถึงวันนี้ แม้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เน้นวิชาการตามยุคสมัยมากขึ้น แต่ในความเป็นวชิราวุธวิทยาลัย ผู้ถือว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้านายสูงสุดนั้นยังคงอยู่เหนือกาลเวลา มหาดเล็กหลวงจากสถาบันแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่สนองต่อพระบัญชาที่ทรงมีรับสั่งลงมาเสมอ ภายใต้การนำของ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยคนปัจจุบัน ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ย้ำถึงหน้าที่มหาดเล็กหลวงว่า แม้จะปรับเปลี่ยนบทบาทไปบ้างจากอดีต แต่เมื่อมีรับสั่งมาถึงมหาดเล็กหลวงคราใด ชาววชิราวุธทุกคนจะต้องพร้อมด้วยความเต็มใจ ถือเป็นหน้าที่ ต้องทำให้สำเร็จและต้องทำให้ดีด้วย

โดยเฉพาะเมื่อถึงงานพระราชพิธีสำคัญๆ ที่ต้องการกำลังคนจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังไม่เพียงพอ ก็นับเป็นอีกช่วงเวลาที่นักเรียนวชิราวุธฯ จะเข้าถวายงานในฐานะมหาดเล็กหลวงรับใช้ ได้ฝึกฝนวิชามหาดเล็กจากภาคปฏิบัติ อาทิ การตั้งแถวรับ-ส่งเสด็จพระราชวงศ์ แขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ การเสิร์ฟอาหารบนโต๊ะเสวย และล่าสุด การได้รับมอบหมายให้ร่วมเดินในริ้วขบวนส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สู่สวรรคาลัย จากพระบรมมหาราชวังสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ก็เป็นอีกครั้งกับทำหน้าที่ตามโบราณราชประเพณี ของมหาดเล็กหลวงจากรั้วแห่งนี้

* เตรียมพร้อมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อริ้วขบวนสมพระเกียรติ

เมื่อวชิราวุธวิทยาลัยได้ร่วมในพระราชพิธีครั้งสำคัญยิ่ง ความพิถีพิถันเพื่อคัดเลือกนักเรียนก็ถูกลงรายละเอียดกันตั้งแต่เริ่มแรก อ.รวิน ยันตรดิลก ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการเตรียมความพร้อมแทบทุกขั้นตอน บอกว่า ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ จะแบ่งการเดินออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกเดินในชุดตามโบราณประเพณี มหาดเล็กหลวง แต่งกาย หมวก-ทรงประพาสกำมะหยี่สีน้ำเงินยอดเกี้ยว เสื้อ-นอกขาวแขนทุกข์ ผ้า-นุ่งผ้าม่วงเชิง รัดประคด-น้ำเงินดอกขาว ถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ เชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้า พระแสงหว่างเครื่องหลัง มหาดเล็กหลวงคู่แห่พระศพ มหาดเล็กเชิญพระแสงรายตีนตอง และผู้ควบคุมกำกับพระแสงหว่างเครื่องหน้า-หลัง

ส่วน ตำรวจหลวง แต่งกาย สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีดำยอดเกี้ยว เสื้อ-สักหลาดสีน้ำเงิน รัดประคด-ไหมทองพู่แดงสายกระบี่ ผ้า-นุ่งผ้าม่วงเชิง ถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ คู่แห่พระศพ 2 ข้าง ข้างละ 10 นาย อีกกลุ่มเป็นการเดินในนามของวชิราวุธวิทยาลัย แต่งกายเครื่องแบบอาจารย์และนักเรียนตามปกติ

การคัดเลือกกำลังคนทุกอย่างเป็นไปตามคุณสมบัติที่ฝ่ายทหาร ซึ่งรับผิดชอบริ้วขบวนทั้งหมดกำหนดมา เริ่มตั้งแต่การวัดส่วนสูงของเด็ก เฉลี่ยแล้วความสูงของทุกคนอยู่ที่ 165-175 ซม.โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของรูปร่างที่ต้องสมส่วน ความแข็งแรงของร่างกาย รวมแล้วราว 300 ชีวิต คละกันไปทั้งอาจารย์และนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1- ม.6

โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้เดินในตำแหน่งสำคัญของริ้วขบวน อย่าง การเชิญพระแสงรายตีนตองทั้ง 8 คน ซึ่ง 4 คนแรกจะต้องขนาบข้างตามขบวนเสลี่ยงพระนำ ที่สมเด็จพระสังฆราชหรือผู้แทนพระองค์ประทับอยู่ และอีก 4 คน จะต้องขนาบข้างตามขบวนอัญเชิญพระโกศ เริ่มตั้งแต่การเชิญพระโกศบนพระยานมาศสามลำคาน การขึ้นประจำบนพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระแสงรายตีนตองไปจนถึงริ้วขบวนที่ 3 เพื่อเวียนรอบพระเมรุนั้น ยิ่งต้องพิจารณา คำนึงถึงความอาวุโสเป็นพิเศษ เพราะรุ่นพี่จะมีความรับผิดชอบสูงกว่ารุ่นน้อง ทำให้เด็กชั้น ม. 5 และ ม.6 ในระดับหัวหน้าคณะนักเรียน และ นักกีฬา เป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่สำคัญตรงนี้

จนกว่าจะถึงวันงานพระราชพิธี ทุกชีวิตในริ้วขบวนจากวชิราวุธฯ ฝึกซ้อมเดินตามจังหวะกลอง และเดินสโลว์มาร์ช ตามเพลงพญาโศก มาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ครั้ง ทั้งการซ้อมย่อยในโรงเรียน การซ้อมในพื้นที่ของทหาร รวมถึงการซ้อมในสถานที่จริง ครั้งล่าสุด คือ การซ้อมใหญ่ริ้วขบวนอัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งในครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงร่วมฝึกซ้อมในริ้วขบวนด้วย

ไม่เพียงแต่การฝึกซ้อมเดินเพื่อความพร้อมเพรียง การแต่งกายตามแบบแผนในชุดมหาดเล็กหลวง และตำรวจหลวง ปีนี้ ทางสำนักพระราชวัง มาวัดตัวและสั่งให้ตัดใหม่ทั้งชุด ก็มีส่วนทำให้ริ้วขบวนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในขั้นตอนนี้ ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมืออย่างดี จากกองศิลปกรรมเครื่องแต่งกายพระราชพิธี
 
เมื่อเจ้าหน้าที่มาฝึกซ้อมการนุ่งผ้าม่วง นักเรียนทุกคนต้องจับคู่เรียนรู้การแต่งกายในตำแหน่งของตนให้ถูกต้องตามแบบแผนดั้งเดิม ขั้นตอนนี้แม้จะไม่คุ้นชินมาก่อน แต่เมื่อผ่านการฝึกฝน แถมยังได้คู่ของตนและคณะอาจารย์ช่วยตรวจความเรียบร้อยของชุดอีกครั้ง ไม่นานเกินรอราว 1 ชั่วโมง การแต่งกายก็แน่นหนา รัดกุมไม่หลุดง่าย เพิ่มความพร้อมให้ทุกคนอยู่ในเครื่องแบบเต็มยศ สง่างามขณะทำหน้าที่ในริ้วขบวน


* ความภาคภูมิใจอีกครั้งในพระราชพิธี

รัฐพล ศรีวชิโรทัย ศิษย์เก่าวชิราวุธและปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้ช่วยผู้กำกับคณะดุสิต เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คน ที่ได้ร่วมริ้วขบวนในนามวชิราวุธวิทยาลัย ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกในปี 2538 เมื่อสมัยเป็นนักเรียนชั้น ม.5 ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตอนนั้นเขาเข้าร่วมโดยการอาสาตัว ด้วยรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

“การทำหน้าที่ตรงนี้ถือเป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล และในฐานะรุ่นน้อง ที่เคยได้ฟังถึงประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของรุ่นพี่ที่เคยร่วมในริ้วขบวนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ด้วยแล้ว เมื่อโอกาสรับใช้สมเด็จย่าในวาระสุดท้ายมาถึง จึงตัดสินใจง่ายมาก เมื่อประกาศในหอประชุมว่าต้องการอาสาสมัคร เพียงไม่นานทุกคนก็แห่กันไปลงชื่อจนเกินจำนวนที่ต้องการ”

ในการร่วมริ้วขบวนครั้งแรก เขาอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กหลวงเดินเคียงข้างราชรถ ส่วนในครั้งนี้ก็เช่นกัน ยังคงอยู่ในชุดมหาดเล็กหลวง แต่จะรับหน้าที่เชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้าอยู่ในริ้วขบวนอันทรงเกียรติ ถึงจะเคยมีประสบการณ์ร่วมริ้วขบวนมาแล้ว แต่เขาก็รู้สึกตื่นเต้นไม่แพ้ครั้งแรก นอกจากนี้ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ความอดทนของร่างกายที่น้อยลง ประกอบกับบทบาทที่เปลี่ยนไป เพราะครั้งนี้ต้องเดินในฐานะของอาจารย์ สิ่งสำคัญที่เขาต้องคำนึงถึงด้วย นั่นคือ ความเป็นตัวอย่างที่ดี

“ผมโชคดีที่ชีวิตนี้มีโอกาสรับใช้เจ้านายในวาระสุดท้าย ถึง 2 ครั้ง ยิ่งครั้งนี้อายุมากขึ้น ความฟิตของร่างกายคงไม่เหมือนตอนเป็นนักเรียน แต่ก็ตั้งใจเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เพื่อทำหน้าที่ส่งเสด็จให้ดีที่สุดในฐานะมหาดเล็กหลวงคนหนึ่ง”


* ประสบการณ์มหาดเล็กหลวง ครั้งแรกในชีวิต
 
สำหรับผม การเข้ามาทำตรงนี้ ถือเป็นการสืบทอดชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้คงอยู่ต่อไป” นั่นเป็นความในใจของ ณ ปรัชญ์ รัตนนิตย์ นักเรียนชั้น ม. 6 ซึ่งผูกพันกับโรงเรียนมานานถึง 8 ปี หนึ่งในมหาดเล็กหลวงผู้เชิญพระแสงรายตีนตอง บอกว่า แม้โรงเรียนเปลี่ยนชื่อ แต่หน้าที่ของเรายังอยู่ ระเบียบวินัย ความเรียบร้อย ชื่อเสียงที่รุ่นพี่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่รุ่นน้องยินดีสืบทอดต่อไปให้ดีที่สุด

ในความเป็นเด็กรุ่นใหม่ ส่วนตัวแล้วคงไม่อาจเข้าถึงความเป็นมหาดเล็กหลวงได้เท่าคนรุ่นก่อน แต่หนุ่มน้อยรู้สึกปลาบปลื้มใจที่สุด กับการทำหน้าที่มหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเก็บไว้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวก่อนจบการศึกษา แม้ในช่วงฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อให้การทำหน้าที่ขอตัวเองออกมาสมพระเกียรติที่สุดจะต้องแลกกับโอกาสสอบตรงเพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ต้องการก็ตาม

“เป็นสิ่งที่ต้องเลือกครับ ระหว่างอนาคตของตัวเองและการรับใช้ในฐานะมหาดเล็กหลวง ไม่มีใครมาบังคับได้ แต่เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใช้พระราชวงศ์ ซึ่งหากปล่อยโอกาสนี้ให้ผ่านเลยไป ผมก็คงไม่ต่างอะไรกับคนที่มาอาศัยวิชาความรู้จากโรงเรียน แล้วพอถึงเวลาก็จากไปเรียนต่อที่อื่น

 
ธุระของสถาบันย่อมสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว เป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีร่วมกัน ถึงจะเหนื่อย เมื่อย ร้อน แต่ต้องอดทน เพราะมีคนจำนวนมากเฝ้าดูอยู่ การไปยืนตรงจุดนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเรา แต่เรากำลังแบกชื่อเสียงของโรงเรียนไว้ด้วย ซึ่งต้องทำให้ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางพระราชหฤทัยที่ทรงมอบหมายไว้ให้แก่ชาววชิราวุธทุกคน”


                 * * * * * * * * * * * * * *

เรื่อง : ภาษิตา ภิบาลญาติ

ภาพ : ศิวกร เสนสอน
 
ตำรวจหลวงในเครื่องแบบเต็มยศ
ณ ปรัชญ์ รัตนนิตย์
มหาดเล็หลวงในชุดนักเรียนขณะซ้อมในริ้วขบวน
อ.รวิน ยันตดิลก ขณะเตรียมเครื่องแต่งกายมหาดเล็กหลวง
อ.วรชาติ มีชูบท
ดร. สาโรจน์ ลีสวรรค์ ถ่ายภาพร่วมกับคณะอาจารย์ในชุดมหาดเล็กหลวง
อัฑฒวรรษ วุฒิกูล ขณะสาธิตการนุ่งผ้าม่วงให้ รัฐพล ศรีวชิโรทัย
พ.ต.อภิรักษ์ อารีย์มิตร ขณะนำนักเรียนเข้ารับศาสตราวุธที่ใช้ในการเดินริ้วขบวน
กำลังโหลดความคิดเห็น