หากหันมองรอบ ๆ ตัวจะพบว่า ปัจจุบัน โลกของเรามีนักคิดนักวิเคราะห์มากมายที่กำลังมองหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของสมองให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแนวทางการศึกษาในยุคที่ผ่านมาอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้มากเพียงพอ โดยเฉพาะรูปแบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นด้านที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล จนละเลยสมองซีกขวาซึ่งมีพลังในการเรียนรู้ได้แบบรวดเร็ว และใช้จินตนาการสูง จนทำให้ความสามารถของมันลดน้อยถอยลงในที่สุด
"ศาสตราจารย์ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ" ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่น ผู้ริเริ่มแนวทางการสอนสไตล์ "ชิจิดะ" คืออีกหนึ่งนักวิจัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมองอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี และเขาได้ค้นพบว่า หากฝึกให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้พร้อม ๆ กัน จะทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถดึงความเป็นอัจฉริยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และจะดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถฝึกสมองทั้งสองซีกได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0 - 6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการรวดเร็วถึงขีดสุด
MGR Lite มีโอกาสสัมภาษณ์ "คุณชิจิดะ มายูมิ" รองประธาน Shichida Educational Institute ซึ่งบินตรงมาจากสำนักงานใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน เธอเป็นลูกสะใภ้ของ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ และเป็นอีกหนึ่งคนที่รับหน้าที่สานต่อรูปแบบการเรียนการสอนสไตล์ "ชิจิดะ" โดยเธอเล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนของประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้เด็กนักเรียนตกอยู่ในภาวะกดดัน ทั้งจากความคาดหวังของพ่อแม่ และการแข่งขันในตลาดแรงงานเมื่อจบการศึกษาออกไป
"พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นส่วนมากอยากให้ลูกเรียนเก่ง สอบเข้าโรงเรียนดี ๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ จบออกมาจะได้มีงานดี ๆ ทำ นั่นจึงทำให้เด็กส่วนหนึ่งถูกกดดัน เครียด ไม่มีความสุข อาจารย์มาโกโตะ (ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ) เคยสอนเด็กนักเรียนอยู่สัมผัสได้ถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี"
ปัญหาของเด็กญี่ปุ่นที่ ดร.มาโกโตะพบคือ เรียนไปแล้วจำไม่ได้ เมื่อจะเริ่มบทเรียนต่อไปในวันรุ่งขึ้นปรากฏว่า บทเรียนของเมื่อวานหายไปจากความทรงจำของเด็ก ๆ แล้ว เขาจึงนำปัญหาดังกล่าวนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจนค้นพบว่า ต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวเป็นเพราะแนวทางการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของสมองนั่นเอง
ทั้งนี้ เนื่องจากการศึกษารูปแบบเก่าเน้นกระตุ้นแต่สมองซีกซ้ายเพียงด้านเดียว ทำให้สมองขาดความสมดุล และไม่สามารถดึงความสามารถออกมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมก็ไม่เน้นความสำคัญด้านจิตใจ ขาดการโอบกอด คำชื่นชม ตลอดจนความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง
ขณะที่แนวทางของชิจิดะ จะเป็นการฝึกสมองทั้งสองซีกให้ทำงานร่วมกัน และกระตุ้นให้สมองทุกส่วนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อของใยประสาทของสมองทั้งสองข้าง โดยกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป อาทิตย์หนึ่ง ๆ ใช้เวลาฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง ๆ ละ 15 - 20 กิจกรรม เช่นการใช้แฟลชการ์ดที่มีการสลับภาพให้ดูอย่างรวดเร็ว หรือการใช้สื่อการสอนที่กระตุ้นด้านความทรงจำของเด็ก รวมถึงฝึกจินตนาการในการคิดและการสร้างสรรค์โดยอิงจากเรื่องราวในชีวิตจริงที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกสมองซีกขวา
คุณมายูมิยกตัวอย่างว่า "ธรรมชาติของสมองซีกขวาจะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่ามาก แต่การเรียนการสอนในปัจจุบัน จะใช้การจำผ่านสมองซีกซ้าย ซึ่งต้องคิด วิเคราะห์ก่อน แล้วถึงจะจำ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของสมองซีกซ้ายเท่าไร ดังนั้น เด็ก ๆ ก็เลยมักจะลืมได้ง่าย ๆ"
สมองซีกขวาเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนได้ แต่ก็ต้องคิดหารูปแบบวิธีการจำที่เหมาะสมกับความ "รวดเร็วฉับไว" ของสมองซีกขวาด้วยเช่นกัน สไตล์ของชิจิดะจึงเป็นการใช้การ์ดรูปภาพ เช่น ภาพธงชาติของประเทศต่าง ๆ มาเปิดสลับให้เด็กดูด้วยความเร็วเหนือกว่าปกติ ซึ่งนอกจากเด็กจะจำภาพธงชาติของประเทศต่าง ๆ ได้แล้ว ยังเป็นการฝึกสมองซีกขวาไปด้วยในตัว
"จากการวิจัยของ ดร.มาโกโตะ เราได้พบว่า เด็ก ๆ นั้นมีอัจฉริยภาพแฝงอยู่มากมาย โดยที่เราไม่เคยทราบว่ามีอยู่ การเฝ้าสังเกตทำให้พบว่าเด็กจดจำข้อมูลจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถระลึกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การค้นพบเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูเด็กแบบดั้งเดิมสู่มิติใหม่ได้เลยทีเดียว"
นอกจากนั้น คุณมายูมิยังได้เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ และจำเป็นไม่แพ้กันก็คือ การฝึกในด้านจิตใจ โดยในห้องเรียนของชิจิดะ จะมีผู้ปกครองเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองได้เห็นว่าลูกมีพัฒนาการอย่างไร หรือได้รู้ว่าควรจะเล่นกับลูกอย่างไร
"การที่ผู้ปกครองโอบกอด บอกรัก หรือชื่นชมเด็กก็เป็นการฝึกพัฒนาการด้านจิตใจของเด็กให้ดียิ่งขึ้นด้วย เราเชื่อว่า บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักจากพ่อแม่เป็นสภาวะที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กมากที่สุด"
การเรียนการสอนสไตล์ชิจิดะนี้จะเริ่มกับเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปิดรับความรู้ และเป็นวัยที่มีพลัง สามารถนำเอาอัจฉริยภาพที่แฝงอยู่ออกมาใช้ได้ เมื่อฝึกสมองสองด้านนี้อย่างถูกต้อง เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เช่น การสร้างจินตนาการ การเรียนภาษา ความจำ การคำนวณและการอ่านอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน แนวคิดสไตล์ "ชิจิดะ" นี้ได้รับการเผยแพร่มาแล้วกว่า 30 ปีในญี่ปุ่น และขยายออกสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างสูงจากผู้ปกครอง จำนวนนักเรียนที่ผ่านการฝึกสไตล์ดังกล่าวแล้วจึงมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนทั่วโลก
เมื่อถามถึงคุณมายูมิในบทบาทของคุณแม่แล้ว เธอบอกว่า สิ่งที่เธอต้องการเห็นจากลูก ๆ ของเธอ อาจจะแตกต่างจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นทั่วไป เพราะเธอต้องการให้ลูก ๆ นั้นเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข และมีสำนึกที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ สามารถใช้พลังนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ก็เพียงพอแล้ว
"ความคาดหวังของพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่อยากให้บังคับลูกมากเกินไป เพราะถ้าบังคับให้เรียน เด็กจะรู้สึกถึงภาระหนักอึ้ง วันหนึ่งเขาอาจจะปฏิเสธได้ แต่ถ้าเรียนไปตามธรรมชาติ เด็กก็จะเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับความรู้เข้ามาได้เอง จึงไม่รู้สึกกดดันหรือเครียดค่ะ นอกจากนั้น ควรให้เด็กได้มีประสบการณ์ในด้านอื่นบ้าง เช่น รู้จักช่วยเหลือสังคม หรือคนรอบข้างด้วยค่ะ"