xs
xsm
sm
md
lg

หอศิลป์ร่วมสมัย ฝากไว้คู่กระบี่คมฝีมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ควนแก้วแนวไม้ทรายหาด
ผาลาดถ้ำทุ่งทอรุ้งศิลป์
ปาดเส้นเป็นสีปลุกชีวิน
คืนถิ่นกระบี่อยู่ที่ใจ

โพธิ์ใหญ่ร่ายร่มบ่มเบิก
งามฤกษ์ หอศิลป์ร่วมสมัย
เยือนยลดลฝันปัญญาไทย
ฝากไว้คู่กระบี่คมฝีมือ

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ ปี 2532


โมงยามนี้กลายเป็นความฝันที่จับต้องได้แล้ว สำหรับหอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่ หลังจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆที่ถูกโยนลงผืนดิน จะงอกเป็นกล้าอ่อนได้หรือไม่ ต้องรอลุ้นแทบใจหาย

แต่แล้วมันก็ผุดขึ้นบนผืนดินด้ามขวานจนได้ และดูเหมือนว่าจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่ให้เงาร่มรื่น เพราะได้รับการรดน้ำพรวนดินจากหลายๆฝ่ายที่เห็นคุณค่า

นอกเหนือจากเหล่าศิลปินชื่อดังหลายคน ที่ล่องใต้ไปซึมซับความเป็นกระบี่สร้างงานศิลป์รอคอยหอศิลป์กันหลายระลอก อีกหลายฟันเฟืองที่สำคัญที่ทยอยกันเข้ามาเสริมทัพก็ไล่เลียงกันมาได้ตั้งแต่ท่านพ่อเมือง ไปจนถึงอดีตนายกเทศมนตรี,นายกเทศมนตรี ,เจ้าของโรงแรม ธุรกิจห้างร้าน และพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดกระบี่ ไม่เสียแรงเลยที่มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก”

จึงทำให้จากนี้ต่อไปคนที่แวะผ่านไปเที่ยวเมืองกระบี่ เมืองเล็กๆที่ร่ำรวยในเรื่องความงามทางธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องนึกถึงแต่เฉพาะภูเขาลูกโต ทะเลสีฟ้าคราม ทว่ายังสามารถนึกถึงด้านที่สวยงามของศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะหยั่งรากงอกงามบนผืนแผ่นดินกระบี่ในอีกไม่ช้า หากว่าคนกระบี่ไม่ได้ตื่นเห่อของใหม่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว

กระบี่อยู่ที่ใจ หอศิลป์กระบี่อยู่ที่ใคร?

“จังหวัดกระบี่บ้านเกิดของผมเป็นเมืองเล็กๆที่มีความงดงามลงตัวในหลายด้านๆ ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต หลังจากเรียนศิลปะจบมา ผมได้ช่วยทางบ้านทำธุรกิจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ผลคือไม่สำเร็จ ธุรกิจจบลง ชีวิตผมตั้งแต่นั้นมาก็ได้กลับสู่เส้นทางศิลปะอีกครั้งและครั้งนี้ทำให้ผมได้เห็นความเป็นกระบี่ที่มีชีวิตชีวา งดงาม เต็มไปด้วยสีสันมากมาย ผมได้ลงมือทำงานศิลปะ(วาดภาพ)โดยการขอทุนสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่างๆทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดอยู่เป็นเวลาหลายปี

ช่วงเวลาของการเดินทางที่ต้องพบปะกลุ่มคนทำงานศิลปะในหลายที่ โดยเฉพาะที่กระบี่มีคนทำงานศิลปะกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และทำงานศิลปะอิสระอีกมากมาย มีอยู่ช่วงหนึ่งผมได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศได้พบเห็นการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของเขา โดยเฉพาะหอศิลป์ต่างๆ กลับมาก็เริ่มฝันถึงบ้านตัวเองว่าน่าจะมีหอศิลป์กับเขาบ้าง

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2547 ผมทำโครงการขอทุนวาดภาพ แล้วมีงบประมาณบางส่วนที่จะเชิญเพื่อนๆศิลปินลงมาทำงานเพื่อสร้างหอศิลป์ และผมได้รู้จักกับคุณลลิดา และคุณพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล หรือ น้ำผึ้ง และได้พูดคุยเล่าเรื่องหอศิลป์ให้ฟัง คุณแม่และคุณน้ำผึ้งเลยตกลงเป็นสปอนเซอร์เรื่องที่พัก อาหาร รถ เรือ และความฝันก็เริ่มขึ้น กับโครงการนำร่องหอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่
ช่วงศิลปินมาวาดภาพได้รับความช่วยเหลือที่น่ารักมากจากหลายฝ่าย เช่น โกเลี้ยง ร้านเรือนไม้ โกกี่ โรงแรมเวียงทอง คุณหมอกลณี ร้านบ้านคุณหมอ โกอ้วน พี่แก้ว ร้านฮกกี่เหลา ที่ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารคณะศิลปินของเรา

เสร็จงานแล้วทางโครงการได้นำภาพผลงานเก็บสะสมไว้เพื่อหอศิลป์ชุดหนึ่ง ระหว่างช่วงดำเนินงาน 3 ปีนั้น ผมได้รู้จักกับคุณลุงชวน และคุณรอง ภูเก้าล้วน จากการแนะนำของคุณน้ำผึ้ง คุณลุงชวนได้ถามถึงความคืบหน้าของโครงการหอศิลป์ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร จะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แล้วโครงการของพวกเราก็เดินหน้าต่อไป โดยผมได้รับงบสนับสนุนจากคุณชวน ในการการเดินทางติดต่อประสานงานติดตามภาพผลงานของศิลปินจากทั่วประเทศ แล้วเราก็ได้ภาพผลงานรวมกับของเก่า 60 กว่าชิ้นและโชคดีของเราชาวกระบี่ที่ได้มีอาคารหลังใหม่ข้างโบสถ์เก่าวัดแก้ว ซึ่งได้รับการประสานงานจากคุณลุงชวนช่วยดำเนินกิจการทุกอย่างจนได้ใช้เป็นอาคารหอศิลป์ในวันนี้”

บุญเกษม แซ่โค้ว ศิลปินแนวเอ็กเพรสชั่นนิสต์ชาวกระบี่ ผู้จุดประกายให้เกิดหอศิลป์ฯ เล่าถึงความฝันของเขา ที่วันนี้ได้รับการสานต่อ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเกือบจะถอดใจวาง เพราะชีวิตส่วนตัวยังประสบปัญหากับการหาเลี้ยงปากท้อง ขณะเดียวกันก็มีหลายเสียงที่แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เขามุ่งมั่นตั้งใจ ไม่มีทางไปถึงฝั่งฝัน

“บ้าทำหอศิลป์จนรถเกือบจะโดนยึด ไม่ได้ผ่อนรถสองสามเดือน แต่พอคิดว่าเป็นเรื่องทำบุญมันก็รู้สึกดี มันก็เลยได้รับอานิสงค์ พอผมเดือดร้อนก็จะมีคนมายื่นมือมาช่วย ขายงานศิลปะได้บ้างพอประมาณ มีรายได้ไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และชำระหนี้สิน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นผลพวงมาจากเราตั้งใจทำในสิ่งที่ดี

บางทีก็มีเสียงกระแนะกระแหนมาจากเพื่อนๆศิลปินด้วยกัน ว่าเราไม่น่าจะทำหอศิลป์ได้สำเร็จ คงทำไม่หรอก จังหวัดเล็กๆ อย่างกระบี่ ผมก็ไม่ได้ทะเยอทะยานที่จะลบคำสบประมาทของทุกคน แต่ผมถือว่าผมทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ได้ทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ผมคิดว่าตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ เวลาไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่า หอศิลป์จะสำเร็จหรือไม่”

เวลานี้กระบี่มีหอศิลป์และตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป์ตกเป็นหน้าที่ของเขาโดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งท่าน ผอ.ใหม่หมาด ของหอศิลป์บ้านนอก ที่ทำเล็กๆแต่เป็นจริง ได้บอกถึงเป้าหมายอันสำคัญของหอศิลป์ที่ร่วมปลุกปั้นมากับมือว่า

“ต้องบอกก่อน ว่าเราไม่ได้ทำหอศิลป์นี้เพื่อใครอื่น แต่เราทำเพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ของคนในท้องถิ่น เป็นที่สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือเด็กและเยาวชน ส่วนเป้าหมายรองก็คือชุมชนที่เราอยู่ร่วมกันในจังหวัดกระบี่ เราพยามขับเคลื่อนด้วยตัวเราเอง แต่เราก็ต้องออกตัวว่าเราเป็นหอศิลป์เล็กๆ ของเมืองเล็กๆ แต่เราก็พยายามทำสิ่งที่ดี ด้วยใจที่ปรารถนาดี ด้วยภูมิปัญญาของเราเองให้มากที่สุด เพื่อคนในบ้านเราเอง”

อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่ ถูกปลูกขึ้นเคียงข้างอุโบสถหลังเก่าอายุร่วมร้อยปีของวัดแก้วโกรวาราม กลางเมืองกระบี่ ที่เวลานี้ได้ถูกใช้เป็นพิพิธภัณณ์สงฆ์ ขณะที่ภายในอาคารของหอศิลป์ร่วมสมัยมีภาพเขียนที่สร้างสรรค์โดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชื่อดัง และศิลปินรุ่นใหม่ แขวนผนังรอให้ชาวกระบี่ เดินเข้าไปรับเอาสุนทรียะทางศิลปะของงานศิลปะร่วมสมัยกันได้ตลอดทั้งวัน

ชวน ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่สามสมัย ผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยสนับสนุนให้เกิดหอศิลป์ฯ ในนามองค์กรสาธารณะกุศล มูลนิธินายศรีผ่อง – นางกี่ ภูเก้าล้วน กล่าวว่า

“เราอยากจะให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งฝึกลูกหลานของเรา เพราะโดยรอบหอศิลป์มีโรงเรียนอยู่รายรอบ โรงเรียนสามารถที่พาเด็กนักนักเรียนมาดู มาสร้างความคุ้นเคย และสร้างความรักในศิลปะให้เกิดขึ้นและสักวันหนึ่งเขาอาจจะกลายเป็นศิลปินก็ได้

ตามคำขวัญของจังหวัด กระบี่เป็นเมืองน่าอยู่จริง เพราะเรามีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน แต่เรื่องผู้คนน่ารัก เราก็พยายามมาตลอดที่จะทำให้ผู้คนน่ารักให้ได้ ปลูกฝังให้เขามีคุณธรรม มีระเบียบวินัย และต่อไปนี้แนวทางหนึ่งที่จะทำคือการปลูกฝังผ่านศิลปะ”

เช่นเดียวกัน กีรศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีจังหวัดกระบี่คนปัจจุบัน ผู้เป็นน้องชาย ที่กล่าวยืนยันว่า เทศบาลในฐานะที่เป็นห้องรับแขกของเมือง ยินดีที่จะให้การสนับกิจกรรมของหอศิลป์ในทุกด้านรวมถึงด้านงบประมาณในการบำรุงรักษา จนกว่าหอศิลป์จะสามารถยืนหยัดเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้

งามฤกษ์ หอศิลป์ร่วมสมัย

หอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากเสียงเพลงจากวงดนตรีด้ามขวานและการแสดงของนักเรียนโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ที่สร้างบรรยากาศให้กับงาน ยังมีกิจกรรมอบรมศิลปะเด็กโดยศิลปินสีน้ำอาวุโส โกศล พิณกุล และการประมูลภาพเขียนของเหล่าศิลปิน อาทิ สมชาย วัชระสมบัติ,นุกูล ปัญญาดี,วสันต์ สิทธิเขตต์,ปริทรรศ หุตางกูร,เมืองไทย บุษมาโร และจรัสศรี รูปขำดี ที่ก่อเกิดเป็นทุนสะสมให้หอศิลป์ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างและจัดการไปแล้วร่วม 7 ล้าน เก็บไว้ใช้เป็นทุนดำเนินการ ร่วม 600,000 กว่าบาท

รวมถึง วินัย อุกฤษณ์,วุฒิ วัฒนสิน,ศักดิ์สิริ มีสมสืบ,พจนีย์ ตีระวนิช,พรชัย เลิศธรรมศิริ ,มาโนชน์ เพ็งทอง,หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ,ปิ่นนุช ปิ่นจินดา,จุไรรัตน์ กุลพานิช,ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ,ประสาท นิรันดรประเสริฐ,ไชยยันต์ จงจงประเสริฐ,จุลจิตร เสน่ห์งามเจริญ,สุเมธ ลีลาวิวัฒน์และสุเทพ จันทระ ศิลปินเจ้าบ้านครูศิลปะของบุญเกษม เหล่านี้ก็คือส่วนหนึ่งของศิลปินที่เดินทางไปร่วมงานเปิดหอศิลป์ฯ และบริจาคผลงานศิลปะไว้เป็นสมบัติของหอศิลป์

ส่วนที่ไม่สามารถไปร่วมงานแต่มีผลงานสะสมอยู่ในคอลเลคชั่นของหอศิลป์ฯ ด้วยก็คือ อารี สุทธิพันธุ์,ประเทือง เอมเจริญ,ทวี รัชนีกร,สงัด ปุยอ๊อก,จรูญ บุญสวน,แนบ โสตถิพันธ์,ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ,บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส,ประทีป คชบัว,พยงค์ พรหมชาติ,รัช รัชนีกร,วินัย ผู้นำพล,อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์,ธนากร ศิลา บุญรัตน์, บุญยิ่ง เอมเจริญ,ประสงค์ ลือเมือง,พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล และเรวัตร ยธิกุล

เวลานี้หอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่จึงเปรียบได้ดังบ้านหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ รอเวลาต่อเติมและตกแต่งให้สวยงามน่าอยู่ ทั้งมีความหมายต่อผู้ที่แวะเข้าไปรับคุณค่าทางด้านจิตใจ

สมชาย วัชระสมบัติ กล่าวแสดงความเห็นถึงความพร้อมของหอศิลป์ในการเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของชาวกระบี่

“ผมไม่มองไปที่เรื่องของตัวอาคารที่ติดตั้งรูปหรือโชว์รูป สิ่งต่างๆเหล่านี้มันยังพัฒนาไปได้อีก เมื่อเงินพร้อมและบุคลากรพร้อมที่จะสนับสนุน ผมมองเรื่องของกิจกรรมที่ทำให้งานศิลปะมันเข้าไปหาชุมชนมากกว่า ถ้าเราไปมองเรื่องอาคารว่ามันเพอร์เฟ็กต์ไม๊ ทุกวันนี้มันอาจจะไม่มีอาคารหลังไหนในเมืองไทยเลยที่เพอร์เฟ็กต์ แต่เราต้องมองไปที่จะทำยังไงให้กลุ่มคนที่ดูงานศิลปะ หรือเด็กๆที่กำลังเติบโตขึ้นเนี่ยมีรสนิยมทางศิลปะ เพราะถ้าเขามีรสนิยมทางศิลปะแล้วเนี่ย เราอาจจะไม่ต้องพุดคุยกับเขามากแล้ว เขาอาจจะมาดูรูป แล้วเป็นคนให้แง่คิดเราด้วยซ้ำ

คือถ้าเราไปคิดว่าอาคารมันสวยไหม มันพร้อมหรือยัง เพราะอาจจะไม่ต้องทำอะไรกันเลย เพราะฉะนั้นให้มันเติบโตไปตามวิถีทางของมัน มีหอศิลป์เยอะแยะ ที่ทำมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มีอายุสั้น มันเกิดจากการเสียสละของกลุ่มชน หรือคนที่ทำงานมันยังไม่พอ เพราะคิดเรื่องของสิ่งที่จะได้เป็นเงินทองมากกว่าประโยชน์ของคนที่จะมารับเอาเรื่องรสนิยมทางศิลปะ เราต้องมองว่าฐานของเด็กรุ่นใหม่ เป็นฐานที่สำคัญ เรามีกำลัง เราต้องให้เขาให้เยอะ และเขาจะเป็นคนเลือกเองว่าสิ่งที่เราให้ มันมีประโยชน์ไหม แต่การให้ต้องเป็นการให้ที่มีขั้นตอน ให้แล้วมันจะก่อประโยชน์อย่างไรกับเขาบ้าง”

ต่อไปหอศิลป์กระบี่จะเดินไปทิศทางไหน เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องติดตามและให้กำลังใจ เวลานี้เชื่อว่าหลายคนย่อมมีใจร่วมยินดี ที่กระบี่มีหอศิลป์ ดังเช่น ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรท์ ปี 2535 ที่ได้ร่ายกวีฝากเอาไว้ว่า

น่ายินดีมนุษย์มีศิลปะ
เป็นพาหนะพาตนพ้นฉาบฉวย
สายลมแห่งศิลป์ระรินระรวย
จะโบกโบยโชยช่วยอำนวยชัย

พามนุษย์ผ่านประตูสู่อารยะ
พ้นกักขฬะมายาสาไถย์
สู่ความละเอียดละเมียดละไม
แห่งโลกภายในหทัยงาม

น่ายินดีคนกระบี่รักศิลปะ
ผู้คนจะสว่างใจไสวอร่าม
เมืองกระบี่จะเลื่องลือระบือนาม
ว่ารักความงามวิจิตรแห่งจิตใจ


เรื่อง : ฮักก้า

ศิลปินผู้มีผลงานสะสมอยู่ใน  “หอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่”
 
 ประเทือง  เอมเจริญ
 โกศล  พิณกุล
 จุลจิต  เสน่ห์งามเจริญ
 จุไรรัตน์ กุลพานิช
 ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ
 นุกูล  ปัญญาดี
 บรรลุ  วิริยาภรณ์ประภาส
 บุญเกษม  แซ่โคว้
 ประทีป  คชบัว
 ปริทรรศ  หุตางกูร
 พรชัย  เลิศธรรมศิริ
 พยงค์  พรหมชาติ
 มาโนชญ์  เพ็งทอง
 รัช  รัชนีกร
 วสันต์  สิทธิเขตต์ 
 วินัย  ผู้นำพล
 สมชาย  วัชระสมบัติ
 สุเมธ   ลีลาวิวัฒน์
 ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ
 อภิรักษ์  ปันมูลศิลป์
 ทวี  รัชนีกร
 จรูญ  บุญสวน
 จรัสศรี  รูปขำดี
 ชัยยันต์  จงจงประเสริฐ
 ธนากร  ศิลา บุญรัตน์
 แนบ  โสตถิพันธ์
 บุญยิ่ง  เอมเจริญ
 ประสงค์  ลือเมือง
 ประสาท  นิรันดรประเสริฐ
 ปิ่นนุช  ปิ่นจินดา
 พิบูลย์ศักดิ์  ละครพล
 ภาณุวัฒน์  จิตติวุฒิการ
 เมืองไทย  บุษมาโร
 เรวัตร ยธิกุล
 วินัย อุกฤษณ์
 วุฒิ วัฒนสิน
 สงัด ปุยอ๊อก
 สุเทพ จันทระ
 หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ
 อารี สุทธิพันธุ์

 
บุญเกษม แซ่โค้ว(ที่1 จากซ้าย),ศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าฯ จ.กระบี่(ที่ 3 จากซ้าย),ชวน ภูเก้าล้วน และ กีรศักดิ์ ภูเก้าล้วน (ที่ 3และ2 จากขวา)


















[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น