ในโลกนี้ มีสิ่งของเพียงไม่กี่อย่างที่ยิ่งเก่ายิ่งแพง ยิ่งผ่านกาลเวลามานานเท่าใด ยิ่งทวีคุณค่าเพิ่มขึ้นตามอายุขัยของมัน หนึ่งในนี้ คือสิ่งที่เราเห็นอยู่ใกล้ตัวทุกเมื่อเชื่อวัน แต่น้อยคนนักจะให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จริงจังอย่างเห็นคุณค่า
ไม่ใช่เพชรพลอย ไม่ใช่พระเครื่องเก่าแก่ แต่เป็นสมบัติที่ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางกองกระดาษสีเหลืองกรอบ หน้าปกซีดจางตามกาลเวลา สถานที่เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ ไม่ใช่ตู้เซฟในธนาคาร แต่เป็นห้องสมุดเล็กๆ ตามบ้านนักอ่านหรือนักสะสม ไปจนถึงคลังหนังสือมหึมาขนาดใกล้เคียงกับโกดังย่อมๆ ที่จากพื้นจรดเพดาน ล้วนอัดแน่นไปด้วยหนังสือนับหมื่นรายชื่อ
ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างพยายามเสาะหาหนังสือเก่าหายากเหล่านี้ไว้ในครอบครอง เพราะไม่ใช่เพียงคุณค่าที่อยู่ในเนื้อหาข้างใน แต่ยังรวมถึง “มูลค่า” ที่บางเล่มมีราคาสูงลิ่วยิ่งกว่ารถยนต์ต่างประเทศบางคัน ไม่ว่าตลาดหุ้นจะผันผวน ค่าเงินบาทจะตก หรือวิกฤตซับพรามในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลย่ำแย่เพียงใด ธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนหนังสือเก่าหายากเหล่านี้แทบไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้ซื้อหากันเพื่อเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งคนซื้อคนขายต่างเป็นผู้ที่รักและอยู่ในแวดวงหนังสือเก่า…ที่ “คุณค่า” สำคัญยิ่งกว่าราคา บางเล่มแม้มีเงินแต่ก็ซื้อหามิได้
เรื่องเล่า..ของคนขายหนังสือ (เก่า)
ในแวดวงคนขายหนังสือเก่า ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อชายชราผู้เป็นตำนานคนนี้ ประยงค์ อนันทวงศ์ ผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวงหนังสือมานานเกือบเท่าอายุของเขาเอง เขาเคยเป็นทั้งบรรณาธิการ นักเขียน คนทำหนังสือ ก่อนจะผันตัวมาขายหนังสือเก่าและหนังสือมือสอง ปัจจุบันลุงประยงค์มีร้านขายหนังสืออยู่ทั้งที่สนามหลวงสอง และละแวกพระรามสาม ในชื่อเดียวกันคือ “ร้านบุ๊ค”
ลุงประยงค์เล่าว่า นักสะสมหนังสือเก่ามีอยู่สองประเภท คือ หนึ่งกลุ่มที่สะสมหนังสือสารพัด ทุกประเภท ทุกแนว และกลุ่มที่สะสมเป็นเรื่องๆ แต่ละประเภทไป อย่างบางคนเล่นหนังสือแนวกฎหมาย ก็ซื้อเฉพาะแต่หนังสือกฎหมาย สำหรับตัวเขาเองนั้นเริ่มต้นจากนักอ่านที่รักหนังสือมาก่อน อ่านหนังสือทุกประเภทตั้งแต่เซ็กส์จนถึงศาสนา มีหนังสือที่สะสมอยู่นับหมื่นเล่ม ก่อนจะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนที่ร้านในปัจจุบันนี้
โดยแหล่งขายหนังสือเก่าในอดีตนั้น ก่อนที่จะมาถึงยุคสนามหลวงและจตุจักรในปัจจุบัน จะมีซาเล้งที่รับซื้อของเก่าไปเหมาซื้อหนังสือจากห้องสมุดส่วนบุคคลตามบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านขุนน้ำขุนนางที่เสียชีวิตแล้วลูกหลานเอามาขาย ก่อนซาเล้งจะเอาไปขายร้านรับซื้อของเก่า ร้านหนังสือเก่าก็จะไปคัดมาขายต่ออีกที ซึ่งแหล่งขายหนังสือเก่ายุคแรกในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นจะอยู่ที่แถบเวิ้งนาครเกษม ก่อนจะขยับขยายมายังหลังวัดราชประดิษฐ์, หน้ากระทรวงมหาดไทย, ละแวกรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม และสนามหลวงตามลำดับ ในช่วงต้น พ.ศ.2500 ก่อนจะย้ายไปที่ตลาดนัดสวนจตุจักรในปี พ.ศ.2530
ลุงประยงค์บอกว่าการขายหนังสือเก่าจะเป็นไปในลักษณะน้ำซึมบ่อทราย หรือเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน เพราะร้านหนังสือเก่าไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่จะมีห้องสมุดสั่งทีหนึ่งเป็นร้อยเล่ม อย่างร้านของเขาสมมติได้มาทีร้อยเล่ม แต่ขายได้ทีละเล่มสองเล่ม กว่าจะหมดร้อยเล่มเป็นปี คนที่คิดจะมาทำธุรกิจนี้จึงต้องขายหนังสืออื่นควบคู่ไปด้วย
ลุงประยงค์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หนังสือเก่าแม้จะเก่าก็จริง แต่มันมีเสน่ห์ แม้ว่าปก รูปเล่มของหนังสือในอดีตจะเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ เพราะเทคนิคการพิมพ์เดี๋ยวนี้ก้าวหน้ากว่า แต่ปกของหนังสือเก่านั้นคลาสสิค อย่างหนังสือดำรงประเทศ ของเวทางค์ ฉบับที่ลุงประยงค์มีเล่มหนึ่งนั้น หน้าปกไม่มีรูปภาพเลย มีแต่ตัวหนังสือบนปก แต่ก็มีคนขอซื้อไปในราคาถึง 4,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีหนังสือเก่าที่ได้ราคาดีมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ทั้งสามก๊ก และพระอภัยมณี ชุดหนึ่งราคาเป็นแสน อีกประเภทหนึ่งคือหนังสืองานศพบุคคลสำคัญ อาทิ หนังสือในพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนางเรือล่ม ที่เชื่อกันว่าเป็นหนังสืองานศพเล่มแรก ซึ่งหายากมาก มีอายุร้อยกว่าปี แม้ด้านในจะเป็นเพียงหนังสือสวดมนต์ธรรมดา แต่ก็ซื้อขายกันในราคาเล่มละเฉียดหมื่น
หนังสืองานศพที่จัดเป็นตำนานในวงการนักเล่นหนังสือหายากอีก 2 เล่ม คือ หนังสือที่ระลึกงานศพของสมหมาย ฮุนตระกูล อดีต รมว.คลัง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำต้นฉบับหนังสือเก่าหายากมาจัดพิมพ์พระราชทาน นั่นคือ หนังสือจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ และหนังสือที่ระลึกงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ท่านอาจารย์ภาวาส บุนนาค อดีตรองราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นำหนังสือเสด็จประพาสต้นมาพิมพ์ซ้ำเป็นหนังสือที่ระลึก
มีเรื่องเล่าจากเจ้าของร้านหนังสือมือสองบางรายที่ไม่ขอเอ่ยนาม บอกว่าเขาเคยบังเอิญเจอแม้กระทั่งเอกสาร แผ่นโฆษณาของเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง “มาเป็นเซตเลย” เขาว่า เอกสารเก่าชุดนั้นเป็นเอกสารรายงานข่าวของเยอรมัน แต่เขาไม่เห็นค่าก็เลยขายไปในราคาแค่หมื่นเดียว
นอกจากนี้ก็มีหนังสือของเทียนวรรณ, หนังสือสมัยร.5 ร.6 งานพระราชนิพนธ์ เป็นหนังสือดิ้นทอง ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันก็คือ ปั๊มทอง เย็บกี่หมด ตัวหนังสือ ภาพประกอบ สวยมาก และได้มาในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ นอกจากนั้นก็จะมีเอกสารเก่า แผนที่เก่าสมัยสงครามโลก แล้วเขาเคยกระทั่งไปเหมาห้องสมุดของคนทำหนังสือคนหนึ่ง แต่ลูกเป็นคนขาย และขายแบบถูกๆ ด้วย เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนน้ำตาจะไหล แต่ก็ซื้อ เพราะเป็นหนังสือดีมาก หนังสือหายากทั้งตู้เลย
สุพัตร์ คงอาษา เจ้าของร้านหนังสือคุณากร กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจหนังสือมือสองเติบโตมาก โดยเริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2540 เริ่มจากการเปิดท้ายขายของ แต่มันเป็นแบบจุลภาค หมายความว่าทำเพื่อดำรงชีวิต กำไรวันละสามร้อยห้าร้อย แต่การกระจายตัวของคนทำอาชีพนี้เยอะขึ้น เพราะมันง่าย เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่ในส่วนของคนที่ทำเป็นร้านแบบจริงๆ จังๆ ทำเป็นอาชีพหลักจะยากขึ้น เพราะแหล่งที่มาของสินค้าจะน้อยลง
“อย่างหนึ่งที่ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของร้านหนังสือมือสอง คือ หนังสือมันไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่ครั้งแรกที่พิมพ์หนังสือ พิมพ์เอกสาร พิมพ์เป็นลายมือ เขียนขึ้นมา จนถึงปัจจุบัน นี่คือเสน่ห์ของร้านหนังสือมือสอง มันไม่มีที่สิ้นสุด คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคุณจะเจออะไรในร้านหนังสือมือสองบ้าง”
ด้านเจริญชัย พลายแก้ว เจ้าของร้านหนังสือแก้วตา บอกว่าแต่ก่อนผู้ค้าหนังสือกลุ่มเก่าก็มาจากสนามหลวง สินค้าที่ได้มาก็เป็นในลักษณะซื้อมาขายไป แต่ว่าระยะหลังก็มีกลุ่มคนที่ค่อนข้างจะมีความรู้เข้ามาทำตรงนี้ บางรายขายหนังสือเฉพาะแนวซ้าย วรรณกรรมหายาก หนังสือต้องห้าม ซึ่งพวกนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจว่าหนังสือชนิดไหนประเภทไหนที่น่าจะเอามาขายทำราคาได้ ก็ไปรับจากร้านหนังสือที่เป็นร้านทั่วไป “บางร้านเขาก็เล่นหนังสือเก่าอย่างเดียว ซึ่งร้านประเภทนี้น่าจะเพิ่งมาเกิดในช่วงหลังๆ บางร้านเป็นร้านหนังสือเฉพาะทาง บางร้านเป็นร้านหนังสือเก่าไปเลย ซึ่งพวกนี้ค่อนข้างจะอาศัยความรู้หน่อย รู้จักหนังสือ รู้จักประเภท รู้ว่าเล่มไหนหายากหาง่าย”
“ส่วนรายที่ขายหนังสือเก่า หนังสือหายาก มีบางรายที่พลิกข้อจำกัดนี้คือ การนำหนังสือที่ค่อนข้างหายากมาพิมพ์ใหม่ เอาต้นฉบับเดิมมาพิมพ์ใหม่ คือ พอมองเห็นจุดด้อยปุ๊บ เขาก็เริ่มมาตัดหนังสือที่สำนักพิมพ์ แล้วก็กระโดดข้ามข้อจำกัดที่ว่า กระทั่งกลายมาเป็นผู้พิมพ์หนังสือเอง”
หนังสือเก่า…เล่าใหม่
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ผู้พลิกฟื้นหนังสือเก่าหายากให้กลับคืนมามีชีวิต ด้วยการนำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง บอกเล่าว่า แวดวงการซื้อขายหนังสือเก่านั้น ไม่มีมาตรฐานตายตัวว่าต้องมีระบบการซื้อขายยังไง เพราะหนังสือเก่าจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ หนังสือที่ออกจากเชลฟ์ในร้านหนังสือแล้ว ก็ถือว่าเป็นหนังสือ “เซคคั่นแฮนด์” ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย อีกกลุ่มหนึ่งคือ หนังสือเก่าหายาก ซึ่งขึ้นอยู่กับหมวดหมู่ประเภทของหนังสือเล่มนั้น ถ้าหากเป็นหนังสือหมวดประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือหนังสืองานศพบุคคลสำคัญจะมีราคาแพง ในขณะที่หนังสือหมวดศาสนาจะถูกที่สุด เพราะพิมพ์จำนวนมาก
“เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงหนังสือเก่า หนังสือหายาก เราควรจะแบ่งเป็นหมวด เช่น พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม กฎหมาย ปรัชญา ศาสนา แบบเรียนการเรียนการสอน หมวดท่องเที่ยวสถานที่ แบบนี้มันจะเรียงตามลำดับความสำคัญ ซึ่งหนังสือหายากจะอัพราคาเป็นหลักพันหลักหมื่นขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็นิยมใช้หนังสือชุดประชุมพงศาวดารภาคต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมี 82 ภาค เขาก็ใช้ชุดนั้นเป็นมาตรฐานว่า หนังสือชุดนั้นแพงที่สุด”
สาเหตุที่มีราคาแพงขนาดนี้ ธงชัยกล่าวว่า เพราะหนังสือชุดนี้จะรวมประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ดที่กรมศิลปากรในอดีต คือ ราชบัณฑิตและกรมหอพระสมุดวชิรญาณจัดรวบรวมพิมพ์ นอกจากนี้ก็จะมีหนังสือเก่าหายากชุดต่างๆ ที่คนในวงการรู้กันว่ามีคุณค่า มีความนิยมสูง ส่วนใหญ่จะเน้นหนังสือเก่าที่มีการพิมพ์ในสมัย ร.ที่ 4-5 ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ
กรณีที่ยกให้เห็นง่ายๆ คือ ชุดหนังสือชื่อ ราชกิจจานุเบกษา ร.5 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเหมือนราชกิจจานุเบกษาในปัจจุบัน แต่ราชกิจจานุเบกษาในยุค ร.5 จะเหมือนกับมติชนหรือเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งลงข่าวหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน ข่าวแต่งตั้งข้าราชการ ข่าวไฟไหม้ เรื่องแปล วรรณกรรมสั้น ซึ่งธงชัยได้นำมาพิมพ์ซ้ำ จากต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกราคาเล่มละ 2 หมื่นบาท (ทั้งหมดในชุดที่มีอยู่ 35 เล่ม ) คำนวณทั้งหมดตกเป็นเงินก็ประมาณ 7 แสน
“มีคนซื้อนะฮะ ฝรั่งกับญี่ปุ่นซื้อ ชุดปกสีน้ำเงิน 6 เล่มนี้หายากมาก หอสมุดแห่งชาติยังมีไม่ครบเลย แต่กระทรวงการต่างประเทศมีครบ ผมก็ต้องไปขอร้องกระทรวงการต่างประเทศนำมาพิมพ์ซ้ำ หนังสือหายากเหล่านี้ไม่มีลิขสิทธิ์ ใครจะพิมพ์ซ้ำก็ได้ แล้วแต่ว่าใครครอบครองต้นฉบับ อย่างผมมีต้นฉบับ ผมก็เอามาพรินต์ได้เลย เพราะว่ามันไม่มีลิขสิทธิ์ มันเป็นแค่กรรมสิทธิ์”
ด้วยเหตุนี้ สำนักพิมพ์ต้นฉบับจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อนำหนังสือเก่าหายากทรงคุณค่าที่แทบจะสาบสูญไปแล้ว กลับมาพิมพ์ใหม่เผยแพร่ให้คนทั่วไปมีโอกาสซื้อหาเป็นสมบัติของตนเอง
“แต่ในกรณีบางเล่มหายากมาก พิมพ์น้อย โดยเฉพาะที่พิมพ์ในยุครัชกาลที่ 4 แพงมากเลย ผมเคยซื้อมาเล่มหนึ่ง 73,000 บาท แล้วก็เอามาพิมพ์ซ้ำ ขายเล่มละ 650 คือ Grammatica Linguae Thai เป็นหนังสือที่สอนชาวต่างชาติให้เรียนภาษาไทย โดยใช้จินดามณีเป็นฐาน เป็นภาษาละติน แต่ว่ามันมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ เพราะว่าใน part หลัง มันมีประวัติศาสตร์ย่อ และมีสำนวนการพูดจาของสังคมในยุคนั้น เช่น นายพูดกับบ่าวว่าไง ขุนนางพูดกับคุณพระว่ายังไง พระเจ้าอยู่หัวพูดกับพระสงฆ์ยังไง พระสงฆ์พูดกับลูกวัดยังไง มีความสำคัญมาก” ธงชัยประมูลหนังสือเล่มนี้จากสถาบันคริสตี้ ซึ่งเข้ามาทำการประมูลรายการหนังสือเก่าหายากในเมืองไทยได้เพียง 2 ครั้งก็ต้องเลิกไป
‘กรุ’ สมบัตินักเล่นหนังสือเก่าหายาก
ธงชัยกล่าวว่าปกติแล้วคนที่อยู่ในวงการหนังสือเก่าหายาก จะทราบข่าวโดยมีผู้ขายแจ้งมาโดยตรงมากกว่าประมูลแข่งขันกัน “ส่วนใหญ่หนังสือสำคัญหนังสือหายากจะอยู่ตามบ้าน คนรับซื้อเขาจะเหมาออกมาคัดแยก อย่างเขารู้ว่าผมเล่นแนวประวัติศาสตร์ เขาก็จะคัดแนวแนวประวัติศาสตร์ส่งมาให้ เขารู้ว่าคนโน้นเล่นแนวศาสนา เขาก็ส่งหนังสือศาสนาให้ฝั่งโน้น คนนี้เล่นแนวกฎหมาย ส่งกฎหมายอย่างเดียวเลย ไม่มีประมูล กรณีที่มีประมูลคือ บริษัทฝรั่งอย่างคริสตี้มาตั้งกิจการเมื่อปี พ.ศ.2541 ก็เริ่มมีวัฒนธรรมการประมูลเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ยั่งยืน ประมูลได้สักครั้งสองครั้งก็เจ๊งไป”
หนังสืออีกเล่มที่ธงชัยประมูลได้มาจากคริสตี้นั้น คือ แมนดาริน เทล (Mandarin's tale) ว่าด้วยเรื่องนิยายของขุนนางในภาคเหนือ พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่นิวยอร์ก สมัย พ.ศ.2331 ซึ่งในการประมูลแต่ละครั้งนั้นจะมีหนังสือเป็นร้อยรายการ นักสะสมหนังสือเก่าหลายคนก็ได้หนังสือหายากจากการประมูลไปไม่น้อย อาทิ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้ประมูลหนังสือหายากเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือดีๆ หลายรายการ
นอกจากนี้ นักเล่นหนังสือเก่าในเมืองไทยที่คุ้นชื่อยังมีอีกหลายคน อาทิ อธึก อัศวานนท์ รองประธาน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยธงชัยบอกว่าในเมืองไทยมีนักเล่นหนังสือเก่ามีระดับอยู่ไม่มาก แต่ถ้าเล่นก็เล่นแบบจริงจังมหาศาล อย่างคุณอธึกนั้นจะเน้นหนังสือเก่าหายากแนวกฎหมาย หนังสือกฎหมายดีที่สุดในเมืองไทยหลายเล่มล้วนแต่อยู่ในห้องสมุดส่วนตัวของนักสะสมผู้นี้
ส่วนนักเลงหนังสือเก่าในอดีตที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งมีชื่อเสียงโดดเด่นมากผู้หนึ่งคือ อาจารย์จรัส พิกุล ซึ่งก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตนั้น ว่ากันว่ามีหนังสือในครอบครองที่ท่านสะสมไว้นับหมื่นรายการ และได้ประกาศขายเหมาหนังสือทั้งหมดของท่านในปี พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนหรือหน่วยงานรัฐใดในเมืองไทยสนใจเลย จนกระทั่งมีโพรเฟสเซอร์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ศ.อิชึอิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้ทราบข่าว จึงขออนุมัติงบ 1 ล้านบาทมาซื้อไป ปัจจุบันนี้หนังสือทั้งหมดของอ.จรัสจึงอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต นักศึกษาวิจัยชาวไทยหลายคนยังต้องเดินทางไปค้นคว้าถึงที่นั่น
“ในยุคตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ต้องถือว่าอาจารย์จรัส พิกุล เป็นนักสะสมหนังสือมือหนึ่งของประเทศไทย และท่านเป็นแหล่งที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศจะหาหนังสือหายากจากอ.จรัสได้ดีที่สุด ท่านเสียเมื่อปี พ.ศ.2537 สองปีหลังจากประกาศขายหนังสือ เพราะมันไม่ไหวแล้ว ท่านเช่าตึก 16 ปีไว้ให้หนังสืออยู่ ทั้งตึกแถวเต็มไปด้วยหนังสือจนแทบไม่มีทางเดิน ทั้งหมดที่ท่านขายไป 6 พันกว่ารายชื่อ ไม่ใช่น้อยๆ”
ธงชัยเล่าอีกว่า บ้านของอ.จรัสไม่ใช่ร้านค้าหนังสือเก่า แต่ท่านจะซื้อหนังสือเก่าจากร้านค้าไปสต๊อคที่บ้าน และเชิญคอหนังสือเก่าไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติไปเยี่ยม แล้วต่างคนต่างคัดหนังสือที่ตนสนใจให้อาจารย์ตีราคาขาย ซึ่งอ.จรัสได้คัดแต่เฉพาะหนังสือเก่าดีๆ จากที่กองปะปนกันตามแผงสนามหลวง หรือร้านหนังสือเก่ามาหมดแล้ว
“ฉะนั้น การจะเป็นพ่อค้าหรือเซียนหนังสือเก่าต้องอ่านเยอะ ไม่ใช่ว่าไม่มีภูมิแล้วก็ขายมั่วๆ ผิดราคา หนังสือบางเล่มดูเหมือนไม่มีอะไรเลยแต่สำคัญ ขายผิดราคา เสร็จเรา เพราะฉะนั้น ผมยังยกย่องว่าคนขายหนังสือเก่าจะต้องเป็นคนมีภูมิพอสมควร อย่างกรณีผม ผมไม่ใช่คนขายหนังสือเก่า ผมเป็นคนเอาหนังสือเก่ามารีพรินต์ใหม่ แต่คนขายหนังสือเก่าก็รู้จักผม เพราะเราซื้อเขา เราไม่ได้ขายหนังสือ เราจึงต้องอ่านเยอะตามไปด้วย”
สำหรับธงชัยแล้ว หนังสือเก่าเป็นสีสันที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านเชนสโตร์ทั่วไป เสน่ห์ของหนังสือเก่าหายากจะเชื่อมต่อเข้ากับยุคสมัยใหม่ โดยการนำมาพิมพ์ซ้ำ เพราะเขาถือคติว่า หนังสือมีประโยชน์คือหนังสือที่ต้องเปิดอ่าน ไม่ใช่เก็บเอาไว้บนชั้นหรือในตู้ เฉกเช่นคำสอนของ มรว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี ที่ธงชัยยังจำได้ไม่ลืมเลือนว่า “หนังสือต้องอ่าน ต้องเผยแพร่” ให้องค์ความรู้ในหนังสือต่อยอดไปเรื่อยๆ
ขณะที่ลุงประยงค์ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือเก่ากล่าวว่า ปัจจุบันนี้จะหาร้านหนังสือเก่าแท้ๆ หายาก เพราะเริ่มอิ่มตัว คนที่เล่นหนังสือเก่าล้มหายตายจากไปบ้าง คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยซื้อ เพราะหนังสือเก่ามีราคาแพง คนที่ไม่สนใจจึงไม่เห็นคุณค่า คนซื้อส่วนมากคือขาประจำที่คุ้นหน้ากันดี แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนที่รักและสะสมหนังสือเก่าหายากก็ยังคงรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น เพราะเสน่ห์ของตัวหนังสืออันทรงคุณค่าที่ไม่มีวันจางไปตามวันเวลา
***********************************
5 อันดับหนังสือเก่าหายาก
ที่เซียนหนังสือเก่าลงความเห็นว่าทั้งหายาก และมีราคาแพง แต่ไม่ได้เรียงลำดับตามสนนราคา หากขึ้นอยู่กับความหายากเป็นสำคัญ
1.ประชุมพงศาวดารภาค 1-82 หนังสือที่รวบรวมพงศาวดารต่างๆ และตำนานเก่าแก่ที่สำคัญในสยามประเทศแต่โบราณมา มีทั้งหมด 82 ภาค ตั้งแต่ภาคแรกที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2456 จนถึงภาค 82 ที่พิมพ์ปี พ.ศ.2537 ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ชุดละ 2 แสนบาท
2.ราชกิจจานุเบกษา ร.5 เป็นเอกสารที่หายากมาก มีการนำมารวบรวมได้ทั้งหมดครบชุด 35 เล่ม ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ประมาณชุดละ 7 แสนบาท
3.จดหมายเหตุสยามไสมย เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือน/รายสัปดาห์ที่ออกระหว่างปี พ.ศ.2425-2429 ต้นสมัยรัชกาลที่ 5 บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์คือหมอสมิท (Rev. Samuel J. Smith) มิชชันนารีชาวอังกฤษผู้บุกเบิกการพิมพ์ เท่าที่ปรากฏแก่สาธารณชนในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเหลืออยู่เพียงสองชุดในเมืองไทย ชุดหนึ่งเป็นของหอสมุดแห่งชาติ กับอีกชุดหนึ่งตกเป็นสมบัติของนักสะสมเอกชน และชุดหลังนี้เองที่ทางสำนักพิมพ์ต้นฉบับได้รับอนุญาตให้ถ่ายสำเนามาใช้เป็นต้นฉบับในการพิมพ์ซ้ำครั้งนี้ ขณะที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้นราคาพุ่งไปถึงหลักแสน
4.ธรรมศาสตร์วินิจฉัย มีทั้งหมด 4 เล่ม ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ชุดละ 2-3 แสนบาท
5.วชิรญาณวิเศษ เป็นหนังสือรายสัปดาห์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มออก พ.ศ.2429-2437 โดยพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าคคณางค์ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ขณะดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ทรงนำเรื่องราวที่รวบรวมได้จากกรรมการ หรือสมาชิกของหอพระสมุด มาตีพิมพ์ออกเป็นวารสารหรือหนังสือ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เองที่เริ่มมีการแปลวรรณกรรมตะวันตกในรูปของนิทาน เช่น นิทานอีสปปกรณัม เพื่อสอนคติธรรมและให้ความบันเทิงเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก มีทั้งหมด 9 เล่ม ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ชุดละ 3 แสนบาท
(อันดับ 6 คือ สาส์นสมเด็จ มีทั้งหมด 55 ภาค เป็นพระราชหัตเลขาส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนรานุวัตติวงศ์ พิมพ์ครั้งที่หนึ่งเป็นหนังสือชุดที่พิมพ์งานศพ 55 ภาค พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยคุรุสภานำมาพิมพ์เป็นเล่มแรก มีทั้งหมด 27 เล่ม)