เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สำหรับแต่ละคนย่อมมีแง่มุมและความสำคัญในแบบของตัวเอง กับ สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มันถือเป็นจุดกระทบที่ทำให้หลายสิ่งในชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคำว่า ‘เพื่อน’ และ ‘มิตรภาพ’
ตอนจบของ ‘สุริยะใส สไตล์ชิล ชิล (ภาคต่อจากปี 49)’ บางคำถามเคยถูกถามไปแล้วในอดีต แต่คำตอบ ณ ปัจจุบัน ไม่เหมือนเดิม บางคำถามเป็นคำถามใหม่ที่สะท้อนความเป็นไปของช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่าน...
*หลังจาก 19 กันยายน 2549 นิยามความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ หรือ ‘มิตรภาพ’ ของคุณเป็นยังไงบ้าง มันเปลี่ยนไปหรือเปล่า
คำสองคำนี้ในนิยามของผมก็คงไม่แตกต่างกันมาก เพื่อนคือคนที่พร้อมจะยื่นไมตรีจิตหรือมิตรภาพให้เราตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะคิดต่างกันยังไงก็ตาม มันมีมิตรภาพ 2 แบบที่ประสบการณ์ผมจำแนกด้วยตัวมันเอง
มันมีเพื่อน มีมิตรภาพ 2 ระดับ ระดับหนึ่งในเชิงเผินๆ คือรู้จัก เคยทำงานกันมา เคยกินนอน เคยเที่ยวกันมา นี่เป็นระดับทั่วๆ ไป แต่วันนี้ความเป็นเพื่อนและมิตรภาพของผมมันแคบลงและกลั่นกรองมากขึ้น เพื่อนในความหมายของผมคือคนที่ให้โอกาสและไม่พิพากษาเรากับสถานการณ์บางสถานการณ์ ยิ่งโดยเฉพาะเพื่อนในนิยามแรก เคยต่อสู้ เคยเคลื่อนไหวกันมา มาวันนี้พอเราอยู่พันธมิตรฯ คุณพิพากษาตัดสินเราเลย อย่างนี้ผมพร้อมจะไม่เป็นเพื่อนกับเขา ฟันธงเลย ผมว่าไม่ใช่เพื่อนแล้วล่ะแบบนี้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ให้โอกาส ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ได้บอกว่าผมถูกหรือผิด แต่เขาก็ว่าผมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ตรงนี้เป็นเพื่อน เป็นมิตรภาพที่ต้องรักษาไว้ ก็มีเยอะ
แต่ผมก็รู้สึกว่าผมมีเพื่อนใหม่มากขึ้นนะ ในอีกด้านหนึ่งของการต่อสู้ ในสนามรบ ในความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย เราก็เห็นเพื่อนใหม่ๆ มิตรภาพใหม่ๆ เข้ามาแทนที่เยอะแยะ ผมว่าสถานการณ์ก็ทั้งสร้างเพื่อนและทำลายเพื่อน ต้องทำใจ ไม่ซีเรียสอะไร เรามีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องหนักแน่นเรื่องนี้ ฟังเพื่อนดี เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่บางทีไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับเราทำให้ความเชื่อและความศรัทธาให้พรรคพวกเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่งดงาม
บางทีพรรคพวกผมเอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมาวิจารณ์ผม ตรงนี้ผมรู้สึกผิดหวัง เช่น วิจารณ์ผมว่ารับเงิน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) คือมันตลกมากๆ ทั้งที่ผมไม่เคยที่จะรับตำแหน่งใดๆ ใน คมช. หรือวิจารณ์ผมว่าไม่เห็นหัวคนจน ผมก็โตมากับการต่อสู้ของคนจน หรือวิจารณ์ผมว่ามีรถป้ายแดงขับ สิ่งเหล่านี้บางทีมันออกจากงานเขียนของเพื่อน เป็นคำติฉินนินทาที่มาจากเพื่อน อย่างนี้ผมถือว่าใช้ไม่ได้ และคนแบบนี้ก็ต้องหมายหัวเหมือนกัน อย่าไปเสียเวลาหรือให้ราคากับคนพรรค์นี้ มีหลายคนที่ผมรู้สึกว่าเสียเวลาที่จะคุย มีไม่น้อย เพราะคุยทีไร เจอหน้าเมื่อไหร่ก็อย่างนี้ อธิบายยังไงก็ไม่มีวันเข้าใจ ก็ไม่เป็นไร บางทีผมก็มองเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรม เขาก็มีความเชื่อ มีชุดความคิดของเขา
*อะไรที่ทำให้คุณเสียใจที่สุด
มันก็มีบ้าง แต่ที่เป็นเรื่องที่เสียใจมากก็คือเรื่องที่กล่าวหาผมว่ามีผลประโยชน์ รับเงินมาเคลื่อนไหว หรือใกล้ชิด คมช. ผมค่อนข้างผิดหวัง โดยเฉพาะมันออกมาจากหมู่มิตรสหายที่เคยทำงานร่วมกันมา ถ้าวิจารณ์ผมในเชิงความคิดความอ่านหรือจุดยืนผมไม่ซีเรียสอะไร เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตั้งข้อกล่าวหากันถึงขนาดว่าขายตัว ขายอุดมการณ์ ผมว่ามันค่อนข้างจะทำให้ผมรู้สึกผิดหวัง และทำให้มิตรภาพที่สร้างสมกันมาเป็นสิบๆ ปีมันพังทลายไปชั่วพริบตาเพราะข้อกล่าวหาแบบนี้
เรื่องอื่นผมไม่เป็นปัญหาหรอก ต้องบอกว่าเข้าใจและรับได้ด้วยซ้ำไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจจะมองต่างกันในเรื่องอุดมการณ์ ความเชื่อ ยุทธวิธี หลายคนที่เคยเห็นต่างก็เข้าใจเราก็มี ถึงได้บอกว่าเวลามันจะคลี่คลายตัวของมันเอง ผมถือคติว่าเรามีหน้าที่พิสูจน์ความเชื่อ หนักแน่นมากขึ้น ผมยอมรับว่าหลังๆ นี่ผมแทบจะ...ไม่อยากบอกว่าตายด้านกับการวิพากษ์วิจารณ์ของหมู่มิตร บางทีผมขำกลิ้งเลย รู้สึกเป็นเรื่องตลก พอมีน้องหรือพรรคพวกมาเล่าให้ฟังว่า คนนั้น คนนี้ พอเอ่ยชื่อมาเรารู้เลยว่าเขาจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร จนเรารู้สึกว่าเป็นแผ่นเสียงตกร่องแล้ว วิจารณ์มุมใหม่ไม่ได้หรือไง ขำๆ ฮาๆ น่ะ เพราะผมผูกตัวเองกับความเชื่อ ความฝันชุดหนึ่งแล้วในช่วงสองสามปีที่ผมเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ และผมต้องพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้บอกว่าใครถูก ใครผิด
ทุกคนมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง โดยเฉพาะคนที่อวดอ้างว่าตัวเองก้าวหน้า ผมว่าคำคำนี้บางทีมันก็เฟ้อ เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย ผมเห็นคนรุ่นหลังๆ หรือรุ่นผมใช้คำนี้เฟ้อเกินไปจนคำว่าก้าวหน้ามันหดแคบลงเหลือเพียงแค่ถ้าคุณกล้าเขียนหรือกล้าพูดอะไรที่เป็นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คุณถูกแปะป้ายทันทีว่าเป็นพลังก้าวหน้า อันนี้ผมยอมรับว่ามันเป็นเรื่องน่าเวทนาและน่าสมเพชที่สุด และในหมู่คนรุ่นหลังๆ ก็เป็นแบบนี้ ความก้าวหน้ากลายเป็นแฟชั่นของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ การเอาตำราฝ่ายซ้ายมาเขียนแถลงการณ์ การเอาคำอภิปรายของมาร์กซิสต์หรือ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แล้วก็นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า พอออกจากห้องไป คุณก็ใช้ชีวิตแบบไม่เอาไหน ผมเห็นมาเยอะ
*ในฐานะเพื่อนไม่คิดจะกลับไปเคลียร์?
อยู่ในพันธมิตรก็เยอะแยะ ส่วนเพื่อนที่หมางเมินกันไป ไม่ดีกว่า ยังไม่ใช่ตอนนี้ แต่ไม่ใช่ถึงขั้นต้องตัดกัน ไม่คบกัน หรือต้องขัดแย้งกันไปตลอด ผมยังเชื่อว่าสถานการณ์หนึ่งอาจทำให้เรากลับมาคุยกัน ถ้าเรามีอุดมคติ มีจุดยืนที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของสาธารณะ แต่ถ้าจุดนี้เปลี่ยนไปก็คงคุยกันไม่ได้
*งานศพคุณนันทโชติ ชัยรัตน์ (ปุ๋ย) ได้ยินว่ามีปัญหา
เหตุที่ไม่ได้ไปทั้งที่ผมกับพี่ปุ๋ยสนิทกัน ตั้งสมัชชาคนจนปี 38 มาด้วยกัน เพราะมีการฉวยโอกาสใช้งานศพพี่ปุ๋ยโจมตีผมกับพี่พิภพ จนทำให้งานศพกลายเป็นการเมืองไป ผมก็ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะพี่ปุ๋ยเสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงอะไร ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปพูดอะไร
ผมเข้าใจ เพราะแม้กระทั่งงานศพพี่สุวิทย์ วัดหนู บรรยากาศก็ไม่ต่างกันหรอก ผมอยู่ตรงนั้นก็พยายามเคลียร์ พยายามอธิบาย พยายามห้ามปรามคนในพันธมิตรด้วยซ้ำที่จะไปโห่หรือต่อว่าอีกฝ่ายที่มางานศพ เพราะเราต้องแยกแยะได้ ต้องให้เกียรติผู้ตาย งานศพพี่ปุ๋ยผมจึงไม่ได้ไป ไม่มีปัญหาอะไร เราก็ไม่อยากทำให้ความขัดแย้งมันไม่เว้นแม้กระทั่งในงานศพ
เราต้องจัดการอย่าให้การเมืองอยู่เหนือชีวิต เราต้องคิดว่าชีวิตนี้ต้องมีพื้นที่ที่ปลอดจากการเมืองบ้าง อย่างงานศพ ไม่ว่าจะเป็นซ้าย เป็นขวา ผมว่าพอซะทีที่เทิดทูนผู้ตายด้วยอุดมการณ์สักอย่าง ด้านเดียว โดยไม่สนใจว่าเขาก็เป็นคนคนหนึ่ง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย วัยของผมก็อายุมากขึ้นแล้วเลยไม่ค่อยเก็บมาคิดอะไรมาก ปล่อยวางได้ก็ปล่อย ไม่อย่างนั้นก็เหนื่อยทุกเรื่อง
*แม่ยกเป็นยังไงบ้างครับ
(หัวเราะ) แม่ยกก็อุ่นหนาฝาคั่งเหมือนเดิมนะ แต่ส่วนหนึ่งที่ผมเห็นคือแม่ยกเมื่อปี 49 กับปีนี้ต่างกัน ต่างกันตรงที่คำถามของแม่ยกปี 49 เหนื่อยมั้ย จะทานอะไรมั้ย จะทำโน่นทำนี่มาฝาก เดี๋ยวเอาซุปไก่ เสื้อผ้า เดี๋ยวขอถ่ายรูป ขอลายเซ็น เชิญไปเที่ยวบ้าน ปีนี้คำถามแม่ยกค่อนข้างเปลี่ยนไปมากทีเดียว เช่น การเมืองใหม่มันคืออะไร หรือสัปดาห์หน้าเราจะทำอะไรบ้าง เราจะไปกันต่อยังไง จะให้เขาช่วยอะไรมั้ย คือมันมีลักษณะที่เป็นเนื้อหาหรือมีความเป็นสาระ มันไม่ได้ฉาบฉวยเหมือนปี 49 ไม่ได้เป็นแฟชั่นแบบนั้น แต่มีมิติของเนื้อหาและความเข้าใจต่อสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งมันสะท้อนว่าเขารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเขาไม่ได้มาเพราะแค่เกลียดทักษิณ แต่เขามีพันธะใหม่ที่ต้องสร้างสังคมการเมืองใหม่ด้วย ความคิดความอ่านทางการเมืองของเขามันเติบโตขึ้น ผมถึงเชื่อว่าคนสามารถเปลี่ยนแปลงเรียนรู้ได้ถ้าให้โอกาสเขา นี่เป็นการกระบวนการเรียนรู้ที่เราต้องเชื่อมั่นว่าถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เขาเปลี่ยนได้ เป็นคนที่มีคุณภาพหรือเป็นพลังก้าวหน้าที่แท้จริงได้
*ตอนปี 49 คุณบอกว่าสอบตกเรื่องโรแมนติก ตอนนี้สอบผ่านบ้างหรือยัง
ก็มีคนบอกผมว่าผมยิ้มมากขึ้นเวลาปราศรัย ถ้าพูดถึงปี 49 เวลาอยู่บนเวที ให้สัมภาษณ์ หรือแถลงข่าว บึ้งตึง ปีนี้เขาก็บอกว่ายิ้มมากขึ้น มีความเป็นคน มีมุมที่เป็นคนมากขึ้น ไม่ใช่เห็นหน้าแล้วต้องงาน ต้องเครียด
มีคำหนึ่งที่ดีมากที่ป้าคนหนึ่งมาพูดกับผมว่า นี่ สุริยะใส เราต้องทำให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสนุกให้ได้ อย่าทำให้มันเป็นเรื่องที่ซีเรียส เคร่งขรึม แบกโลก ผมว่าคำคำนี้ดี หลายคนที่เจอผมก็รู้สึกสบายใจเวลาผมคุย ผมยิ้ม และก็มีความเป็นคนมากขึ้น ไม่ใช่มนุษย์งาน ปี 49 หลายคนก็อยากให้เราสบายๆ ตอนนี้ผมก็อยู่ตัวและไม่เครียดเหมือนปี 49 มันลงตัวแล้ว และผมคิดว่าผมเห็นเส้นทางมันมายังไงและจะไปยังไง เราก็นั่งดู นั่งวิเคราะห์ เห็นพลัง เห็นการเติบโตของขบวนการตรงนี้ มันอยู่ที่ว่าวันข้างหน้าเราจะรับมือ จะรองรับ ตั้งรับพลังตรงนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่ผมคิดอยู่
*ยังไม่คิดมีครอบครัว
ยังไม่มีเลยครับ ไม่ได้มีผลต่อชีวิตคู่อะไรเลย ผมอาจจะเลยวัยที่อ่อนไหวต่อความรักไปแล้วก็ได้ มันไม่ได้ทำให้ผมอ่อนไหวอะไรมากที่ต้องเปลี่ยนความรู้สึก ที่ต้องทำให้ตัวเองทำการทำงานไม่ได้ ผมว่าเป็นเรื่องท้ายๆ ไปเลย ก็มีบ้างที่มีคนใหม่ๆ เขามาชวนคุย ก็เป็นความรู้สึกดี แต่ว่ามันก็มีกรอบของมันอยู่ ผมเองก็มีกรอบของผมว่า ถ้าเราไม่ตั้งธงที่จะแต่งงานก็ไม่เห็นว่ามันต้องรีบ ต้องมาตอนนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ต่อสู้แบบนี้ เรื่องการจัดวางตัวเองกับบทบาทผู้ประสานงานมันเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และเราเป็นเป้าที่ถูกมองด้วยยิ่งต้องระมัดระวัง
*หลังจากจบตรงนี้แล้วจะทำอะไรต่อ
ยังคิดเรื่องเรียนต่อนะ ยังไม่ทิ้งเลย เมื่อปลายปีที่แล้วก็ไปที่นิวยอร์กกับชิคาโก ไปดูมหาวิทยาลัย สนใจมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นิวยอร์ก มีอาจารย์หลายคนที่ Recommend ไป ส่ง Resume ไปแล้ว ก็ติดอยู่ที่ผมอีกแหละว่าจะเข้าไปคุยให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็ยังไม่ได้คุยเลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
พอหลังรัฐบาลสมัคร มาเจอเรื่องพันธมิตรฯ ภาค 2 อีกก็ต้องพักไว้เลย พอจบงานนี้ก็กำลังเจอคำถามใหม่เหมือนกันว่ายังจำเป็นต้องไปเรียนอีกมั้ย มีคนบอกว่าการสานต่องานของพันธมิตรฯ ยังจำเป็นอยู่ น่าจะทำงานตรงนี้ เพราะหลายคนก็ให้ความคิดว่าเรียนกว่าจะจบก็เสียเวลา จบมาเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ก็มีเกลื่อนเมือง ทำตรงนี้ ช่วยกัน เซตอัปพรรคพวกขึ้นมาทำงานตรงนี้ต่อ เพราะแกนนำทั้ง 5 คนเขาอาจจะพักหรือเว้นวรรค การสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมก็ถูกเรียกร้องตรงนี้สูงเหมือนกันจากคนที่ต่อสู้ตรงนี้ ก็กำลังชั่งน้ำหนักอยู่หรืออาจจะเลือกเรียนเมืองไทยไปก่อนในระยะนี้เพื่อเซตอัปพกระบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนโฉมไป ถ้ามันลงตัวแล้วค่อยโยกย้ายไปเรียนที่อื่น แต่เรื่องเรียนไม่ทิ้ง
*ลงเล่นการเมือง?
การเมืองมีคิดๆ บ้าง แต่ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เข้าไปแล้วจะทำได้เป็นเรื่องเป็นราว มีพรรคการเมืองใหญ่สองสามพรรคมาทาบทามเป็นเรื่องเป็นราว ผมก็ปฏิเสธไป แม้แต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยนี้ก็มีคนที่มีประสบการณ์ชุดหนึ่งเซตทีมขึ้นมาและจะชวนผมลงก็มี ผมก็ปฏิเสธไปว่ายังไม่พร้อม พูดตรงๆ ยังไม่คิด
*ความเป็นเพื่อนกับคุณสุภิญญา กลางณรงค์เป็นอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่หลังรัฐประหารมา เป็นปีเลยที่ผมไม่ได้คุยกับเก๋ ปี 49 ข้ามมาถึง 50 ไม่ได้คุยกันเลย มาคุยกันตอนปี 51 ผมก็เข้าใจเก๋ และเก๋ก็เข้าใจผม เราเคารพกัน เก๋ก็ทำงานของเขาไป บางทีก็วิจารณ์พาดพิงมาถึงผม ถึงพันธมิตรฯ บ้าง เรื่องไหนเคลียร์ได้ก็เคลียร์ เรื่องไหนไม่ได้ก็ต้องเคารพกัน เก๋เขาก็เข้าใจผม พี่พิภพ เข้าใจ ครป. ผมก็เข้าใจเก๋-สุภิญญา เข้าอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ มันเป็นการกำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน ก็ต้องปล่อยให้สถานการณ์เคลื่อนไป
คุยกับเก๋ล่าสุดก็เป็นการให้กำลังใจ เก๋ไม่เอาทักษิณนะ เก๋ไม่มีวันไปภักดีหรือชื่นชมระบอบทักษิณหรอก เพราะเขาก็สู้มาก่อนๆ ใครด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เขาเห็นว่าแนวทางพันธมิตรฯ มันไม่ใช่ก็ต้องเคารพกัน ผมก็ถามเก๋ว่าแล้วแนวที่ 3 ล่ะ ฝากเก๋ให้ช่วยคิดหน่อย ถ้ามันดี มันชัด ผมอาจจะกระโดดจากพันธมิตรฯ มาอยู่ก็ได้ ซึ่งผมบอกว่าผมไม่เห็น
*การมาอยู่ตรงนี้ก่อเกิดบทเรียนอะไรบ้างต่อชีวิต โลกทรรศน์ ชีวทรรศน์ของคุณ
ชีวทรรศน์ไม่เปลี่ยน ผมยังเลือกที่จะอยู่โลกแคบๆ ของผม งานกับบ้านพักกับญาติพี่น้อง ครอบครัว หลานสาว กับทีวี กับหนังสักเรื่อง แค่นั้นเอง แม้ผมจะรู้จักคนมากขึ้นก็ตาม ผมถูกลากไปประชุมสัมมนาที่ไหนก็ต้องกลับมานอนที่บ้าน ต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง ตัวตนผมอยู่ในจุดที่เรียกว่าโลกกว้าง ทางแคบ เจ็ดแปดปีมาแล้ว ผมเลือกโลกทรรศน์ ชีวทรรศน์แบบนี้ ก็เลยไม่รู้สึกว่าจะต้องตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่พลิกผันไป ไม่เป็นปัญหา ถ้ามันจะเปลี่ยนก็คือการเข้ามาใหม่ๆ ของมิตรภาพ ของมวลชนมากกว่าที่เราต้องบริหารจัดการ แต่ถึงที่สุดก็ต้องรักษาตัวตนและอุดมการณ์ของเราด้วย
*คุณทนทานต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ คำติฉินนินทามานานหรือยัง
ผมถึงได้บอกว่าบางทีมันเหมือนด้านชาจริงๆ ผมว่านานแล้วนะ ตั้งแต่ตอนอยู่ ศนนท. ด้วยซ้ำไป รุ่นพี่หลายคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับผม ผมเป็นเลขาฯ ศนนท. รุ่นสุดท้ายที่มีมายาคติชุดหนึ่งว่าเลขาฯ ศนนท. ต้องเป็นเด็กมหาวิทยาลัยปิด เพราะรุ่นหลังผมคือรามคำแหง คือสุริยัน ทองหนูเอียด รุ่นพี่หลายคนถึงขนาดมาด่าผมว่าคุณกำลังจะทำให้ ศนนท. พัง คุณกำลังจะทำให้ ศนนท. พอจุดจบในที่สุด เพราะมีฐานคิดชุดหนึ่งว่าเด็กรามฯ เป็นเลขาฯ ศนนท. ไม่ได้ รามคำแหงจะถูกแทรกจากการเมือง เครดิตของรามฯ จะมีไม่เท่ากับนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรฯ มหิดล หรือมหาวิทยาลัยปิด
แต่ผมสู้เรื่องนี้ เพราะตอนนั้นผมคิดว่าสุริยันได้รับการยอมรับจากรามคำแหง ผมก็ว่าเลิกคิดซะเถอะว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยปิดหรือเปิด เอาเป็นว่าใครที่ทำงานด้วยกันยอมรับนับถือ คิดว่าเป็นผู้นำได้ก็ให้เลือกจากตรงนั้น หลังจากนั้นมาเด็กรามคำแหงก็ทยอยกันเป็นเลขาฯ ศนนท. พังไม่พัง ไม่ได้อยู่ที่รามฯ หรือเด็กมหาวิทยาลัยปิด-เปิดหรอก มันอยู่ที่ขบวนการนักศึกษาถูกกระทำจากปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งมันถูกกำหนดจากสถานการณ์อื่นมากกว่า โดยเฉพาะเงื่อนไขสังคมที่เสรี บทบาทของทุนนิยม วัฒนธรรมบริโภคนิยม ตรงนั้นต่างหากที่ผมคิดว่าอาจทำให้พลังนักศึกษาถดถอย ต่อให้วันนี้เลขาฯ ศนนท. มาจากมหาวิทยาลัยปิดก็ตาม
อย่างตอนที่ไปวางหรีดผมก็ไม่โกรธ เพราะผมรู้สึกว่า ศนนท. สองสามรุ่นหลังไม่เป็นตัวของตัวเองในสถานการณ์วิกฤตทางการเมือง หมายความว่าไม่มีธงที่ชัดเจน ไม่มีข้อเสนอ ไม่มีแคมเปญอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว หรือรูปธรรมที่เป็นจุดยืนของ ศนนท. จึงเหมือนกลายเป็นไม้ประดับในสถานการณ์ไป
*สำหรับคนบางคนเมื่อผ่านเหตุการณ์บางอย่างไปสัก 20-30 ปีแล้วย้อนกลับมามองอดีตก็มักจะรู้สึกดีใจหรือเสียใจหรือภูมิใจ คุณเคยคิดมั้ยว่าวันข้างหน้าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์วันนี้
ผมมีปรัชญาในการใช้ชีวิตและการทำงานว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตต้องมองเป็นด้านบวกเสมอ จึงไม่ได้คิดว่าต้องกลับมาเสียใจหรือเสียดายกับสิ่งที่เราตัดสินใจไป เพราะผมคิดว่าสุดท้ายเราไม่หยั่งรู้อนาคตหรอก เราอยู่กับสถานการณ์ กับการเผชิญหน้า เราจึงต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะในจุดที่เราไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมาก อย่าไปโทษตัวเอง อย่าโกรธตัวเองหรือระอากับคำวิพากษ์วิจารณ์ และที่บอกว่าดีที่สุดคือเราไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือวาระซ่อนเร้นในช่วงที่เราตัดสินใจอะไรสักอย่างต่อสถานการณ์หนึ่ง เราอยู่บนจุดยืนที่เราคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น ซึ่งพอจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้บ้าง
***************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล