สิ่งที่กำลังจะบอกต่อไปนี้ ไม่ใช่คำประกาศหาเสียงของใคร
ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อของสินค้าตัวไหนๆ
ไม่ใช่แม้กระทั่งคำโกหก คำลวงจากปากของคนใด
สิ่งที่คุณจะได้รู้ต่อไปนี้คือ..
ใช้ 'ถุงพลาสติก' ก็สามารถลดโลกร้อนได้
...
ถ้าเริ่มรู้สึกว่าคิ้วของตัวเองเริ่มขมวดเป็นปม หลังจากอ่านประโยคเมื่อสักครู่แล้ว
ลองควานหาถุงพลาสติกข้างตัว พร้อมกับอุปกรณ์อีกสองสามอย่าง
แล้วทำ 'ใช้' ไปพร้อมๆ กัน
ใช้ 'ถุงพลาสติก'ลดโลกร้อนได้
พัชมน แซ่เตีย หัวหน้ากลุ่ม Recycle Paper Product ผู้นำร่องไอเดียลดโลกร้อน ด้วยการลดถุงพลาสติก เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของความคิดเพื่อโลกนี้ว่า แต่ก่อนสิ่งที่เธอทำ คือการนำกระดาษเหลือใช้มารีไซเคิล แต่มีอยู่วันหนึ่ง มีชายชาวอังกฤษคนหนึ่งมาเห็นงานของเรา เขาก็พูดกับเราว่าเขาอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถุงพลาสติกเหลือใช้ คล้ายๆ กับเขามาแนะนำไอเดียให้เรา
ประกอบกับทุกวันนี้ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วในบ้านเมืองเรามันมีเยอะมาก มันเลยทำให้เราเริ่มสนใจ จึงลองทำขึ้นมาควบคู่กับกระดาษรีไซเคิลที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งตอนนี้ทำมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวช่วยจุดประกายคือ การที่เธอได้มีโอกาสไปออกรายการโทรทัศน์ที่ชื่อว่า สู้แล้วรวย ทำให้เริ่มมีคนรู้จัก สนใจกันมากขึ้น
ขณะที่มือยังทำหน้าที่ถักไป เสียงคุยก็ยังดำเนินต่อ เธอเริ่มเล่าย้อนไปถึงช่วงบุกเบิก
"ในช่วงแรกๆ ที่ทำวัตถุดิบยังหายากอยู่ ตอนนั้นอาศัยถุงพลาสติกที่หามาเองบ้าง เพื่อนๆ ให้มาบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถรับออเดอร์จากต่างประเทศได้ เพราะในช่วงนั้นบ้านเรายังไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่"
"จากนั้นจึงได้เข้าร่วมกลุ่มกับบริษัท Thai Craft เพราะเคยเอากระดาษรีไซเคิลที่ทางกลุ่มทำขึ้น ไปร่วมกลุ่มงาน Fair-Trade กับเขามาแล้ว ก็ขอความร่วมมือประสานไปว่าเราต้องการรับบริจาคถุงพลาสติกเก่า จึงได้วัตถุดิบสนับสนุนจากทั้ง โรงเรียนที่เป็นอินเตอร์ทั่วประเทศ จากสถานทูตต่างๆ แล้วก็จะมีกลุ่มของคุณ สุภัค เธียรลิขิต อีกคนที่เป็นคนช่วยหาถุงพลาสติกมาให้ ซึ่งเขาก็มานั่งหัดทำกับเราด้วย คือคุณสุภัคค่อนข้างจะมีจิตอาสา และใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน"
นอกจากนั้น พัชมนยังขอความร่วมมือไปยังผู้ที่สนใจทั่วไป ให้ส่งถุงพลาสติกเหลือใช้เข้ามา จากนั้นเธอจะแจกเทปรายการที่เธอเคยไปออก ที่มีการสาธิตวิธีการทำ การฝึกให้ไปศึกษาเป็นแนวทางเพื่อไปฝึกหัดเองได้ แต่สำหรับคนที่ถักนิตติ้งเป็นอยู่แล้ว นำไปดูเป็นไกด์ไลน์ ก็สามารถทำเองได้
ขั้นตอนการแปลงร่าง
พัชมนเล่าให้เราฟังถึงวิธีการแปรสภาพจากถุงพลาสติกไร้ค่ามาเป็นของใช้โฉมใหม่ว่า ต้องเริ่มจากการเก็บถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่สะอาดและไม่มีรอยขีดข่วนมาก่อน จากนั้นก็เอามาพับ วางเรียงซ้อนกัน จากนั้นให้หาของหนักๆ มาทับไว้ ต่อไปคือตัดมันออกมาเป็นเส้น มันจะได้ลักษณะออกมาเป็นวงกลม เป็นเส้นที่มีความกว้างประมาณ 1 นิ้ว ตัดไปเรื่อยๆ พอถึงปากถุงให้ตัดปากถุงทิ้งไป จากนั้นก็เอามาคล้องกันเหมือนคล้องหนังยาง จับให้เสมอกัน แล้วก็คล้องพันกันไป จากนั้นจึงนำไปสาน หรือถักแบบนิตติ้ง
ซึ่งพัชมนกล่าวว่า ไอเดียตรงนี้สามารถทำเป็นกระเป๋าก็ได้ ทำเป็นเสื้อกั๊กก็ได้ คือแล้วแต่ไอเดียของแต่ละคน ซึ่งวิธีทำก็คล้ายกับการถักเสื้อไหมพรม เธอเล่าว่างานที่ถักออกมาสามารถนำไปใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหา อย่างถ้าถักเป็นกระเป๋า มันสามารถรับน้ำหนักของได้ถึง 2 กิโลกรัม เพราะมันจะมีความยืดหยุ่น สามารถยืดออกได้เหมือนเวลาเราใส่เสื้อยืด นอกจากถักแบบนิตติ้งแล้ว ถ้าใครถักโครเชต์เป็นก็สามารถลองถักเป็นหมวกได้
โดยวัตถุดิบที่ใช้ สามารถใช้ถุงพลาสติกได้ทุกชนิด ทุกขนาด จะเป็นถุงใส่แตงกวาที่ซื้อจากตลาด ถุงใส่ของจากห้างฯ สามารถนำมาใช้ได้หมด ยกเว้นแต่ถุงใส่เสื้อผ้าแข็งๆ จะใช้ไม่ได้คือความแข็งมันต้องมีความพอดีด้วย
ให้โอกาส ด้วยงาน
ความคิดดีๆ แบบนี้ เก็บไว้ใช้คนเดียว คงช่วยโลกไม่ได้มากไปกว่าการเผยแพร่
"ได้ไปสอนให้เด็กยากจนที่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดพระบาทน้ำพุ ไปสอนวิธีทำให้เขา จากนั้นเมื่อเขาทำเป็นก็จัดส่งวัตถุดิบไปให้ แล้วจากนั้นก็รับซื้อของที่เขาทำมาส่งให้ มันก็เป็นการช่วยกระจายงานได้ทางหนึ่ง" พัชมนกล่าว ก่อนเล่าต่อว่า
"ตอนนี้เป็นกังวลอยู่เรื่องเดียวคือเวลาออกสื่อ เพราะมันอาจนำมาทั้งข้อดีและข้อเสียหลายอย่าง เพราะถ้าเราออกรายการไปแล้วมันเกิดขายดี คือเราก็ยังสนับสนุนให้คนทำกันนะ เราไม่เคยขัดข้องที่จะไปบอกไปแนะนำให้ แต่กลัวว่าคนที่สนใจอยากทำเขาจะไปซื้อถุงพลาสติกใหม่มาทำ ซึ่งมันจะผิดหลัก เพราะสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ในตอนนี้คือการ 'ลด' จำนวนถุงพลาสติกที่มีอยู่ให้น้อยลงโดยการเอามาดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ใหม่ แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจหลักการตรงนี้มองแต่เรื่องลวดลายเพื่อประโยชน์ทางการค้าอย่างเดียว เขาก็จะไป 'เพิ่ม' จำนวนถุงพลาสติก ทำให้โลกยิ่งโลกขึ้นไปอีก เราก็พยายามจะย้ำในจุดนี้กับทุกๆ คนที่มาฝึกหัดกับเรา ก็ยังเป็นกังวลเรื่องนี้อยู่"
คนไทยกับถุงพลาสติก
ไอเดียดีๆ ที่ทำโดยคนไทยแบบนี้ คนไทยด้วยกันเองมีเสียงตอบรับอย่างไร?
ในเรื่องนี้พัชมนเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วอยากให้คนไทยใช้มากกว่า แต่พอเอาเข้าจริงคนไทยกลับไม่ค่อยสนใจเท่าคนต่างชาติ คนไทยบางคนก็ยังไม่ค่อยรู้จัก Fair-Trade เท่าไหร่ เธอเล่าว่าจะมีไปขายประจำอยู่ทุกเดือน ซึ่งในเดือนนี้จะขายในวันที่ 6 กันยายน จะไปจัดกันที่โรงแรม The Ambassador
"เคยมีครั้งหนึ่งเราไปวางขายในงาน ตอนนั้นบูทเราตั้งอยู่ข้างบูทที่มาจากประเทศอินเดีย ก็มีลูกค้าคนไทยมาหยิบงานเราดู เราก็ดีใจ ภูมิใจนำเสนอออกไปเต็มที่เลยว่า นี่เป็นฝีมือของคนไทยทำเอง เท่านั้นแหละ จากที่หยิบดูอยู่ดีๆ เขาก็วางมันลงเสียอย่างนั้น เราเห็นแบบนี้ก็รู้สึกแย่ๆ"
"อย่าว่าแต่ประชาชนเลย รัฐบาลเองก็ไม่เคยสนใจ ไม่เคยให้การสนับสนุนใดๆ เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้" พัชมนเล่าด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูน้อยใจ
ชวนกันทำ ชวนกันใช้ ชวนกันลด
พัชมนกล่าวว่า อยากสนับสนุนให้คนทำกันเยอะๆ เพราะตอนนี้ถุงพลาสติกในบ้านเรามันเริ่มเยอะเกินไปแล้ว ถ้าเราเก็บถุงพลาสติกมาสัก 50 ใบแล้วเอามาทำ แล้วใช้สักปีหนึ่ง เท่านี้มันก็คุ้มค่าแล้ว เพราะการที่เราเอามันมาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเอาไปถักเอาไปสาน อย่างน้อยมันก็จะย่อยสลายได้ง่ายกว่าปล่อยให้มันเป็นถุงปลิวว่อนไปมา อยากให้เราสอนหรือแนะนำ เรายินดีเสมอ
"แต่ขออย่างเดียวอย่าซื้อถุงพลาสติกใหม่เพื่อมาทำ ควรใช้ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำเท่านั้น มิฉะนั้นมันจะกลายเป็นการเพิ่มขยะให้สังคมอีก เราค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้มากๆ ไม่อยากให้ทำอย่างนั้น เพราะมันไม่ใช่ความตั้งใจของเรา อยากให้เขาช่วยกันรักษาแนวคิดนี้ไว้" พัชมนทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ออกแบบให้ 'ใช้ได้จริง'
ถึงแม้ว่าคนไทยคนไหนจะไม่สน แต่รับรองว่าไม่ใช่สาวคนนี้แน่ๆ
ศิริวรรณ บุญทโชติ นักออกแบบสาวเปรยให้เราฟังว่า เธอเองก็เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของพัชมน
"ได้รู้จักไอเดียนี้จากคุณพัชมนที่ออกในรายการสู้แล้วรวย ได้เห็นสาธิตการถักกระเป๋าจากถุงพลาสติก เห็นว่าน่าสนใจจึงดูเป็นไอเดียเก็บไว้" ศิริวรรณเล่าย้อนให้ฟังถึงครั้งแรกที่ได้พบไอเดียนี้
เธอเล่าต่อว่าด้วยความที่เธอทำงานอยู่ในสายงานออกแบบ และงาน Craft เธอจึงต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเสมอๆ
"มีอยู่วันหนึ่งขณะที่เปิดหาข้อมูลงานออกแบบอยู่ ได้ไปเจอเว็บไซต์ plasticbagbag.com เลยลองเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บ ซึ่งในเว็บมีลิงก์ไปที่วิดีโอในเว็บยูทูบ ซึ่งเป็นโครงการของแม่บ้านในต่างประเทศ ที่กำลังทำโครงการนี้กันอยู่" ศิริวรรณเล่าถึงสองแหล่งบันดาลใจที่จุดประกายให้เธอยิ่งสนใจในประเด็นนี้มากขึ้น
หลังจากที่ได้รู้จักไอเดียดีๆ แบบนี้ เธอไม่รอช้า รีบศึกษาจากคลิปวิดีโอตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วลองลงมือทำดู
"รู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก เลยลองเอามาทำเป็นงานอดิเรกยามว่างดู ก็นั่งคิดว่าจะทำอะไรดี ที่เอามาใช้ประโยชน์ใกล้ๆ ตัวได้ด้วย เลยลองทำเป็นจานรองแก้ว โดยเลือกถุงเก่าๆ สีสดๆ ที่เก็บไว้มาทำ เพราะคิดว่างานถักแบบนี้น่าจะเหมาะกับสีสันที่สดใส" ศิริวรรณเล่าให้ฟังถึงผลงานชิ้นแรกของเธอ
ศิริวรรณเล่าว่าไอเดียแบบนี้ให้ประโยชน์มาก เพราะเป็นไอเดียที่ 'ใช้ได้จริง' ในการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง เป็นงานที่มีไอเดียในแง่การออกแบบที่ดี สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย อีกทั้งยังสามารถสร้างเป็นรายได้ได้ด้วย
"สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนมีหลายวิธี บางครั้งเราอาจมองทางแก้ปัญหา โดยมุ่งไปทิศทางเริ่มแรกซึ่งอาจเป็นทางที่ง่ายที่สุดเพียงทางเดียวก่อน เช่น การใช้ถุงผ้า การปิดไฟเมื่อไม่ใช้ แต่ก็ไม่อยากให้หยุดคิดกันต่อ เพราะมันยังมีทางอื่นๆ ที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อีกมากมาย คือพอเราหยุดคิดเพิ่ม หรือมุ่งแก้ไปในทางเดียว มันก็จะเกิดคำถาม เกิดความไม่แน่ใจ อย่างที่มีคนเริ่มสงสัยว่า การใช้ถุงผ้ามันจะช่วยได้จริงหรือเปล่า? เพราะวิธีแก้ปัญหาทุกวิธี มีข้อดีหมด แต่เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเพิ่มมุมมองใหม่ๆ บางทีอาจเป็นวิธีง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวที่เหมาะกับเรา สามารถทำได้ และที่สำคัญคือ ต้องลงมือทำจริงๆ ด้วย" ศิริวรรณเล่าทิ้งท้าย
(Re) Maker
ไม่ใช่แค่กระดาษ หรือถุงพลาสติกเท่านั้น ที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อลดโลกร้อนได้
เสื้อผ้าเก่าๆ เสื้อผ้าหลุดเทรนด์ เสื้อผ้ามือสอง ก็สามารถนำกลับมาใช้ลดโลกร้อนได้เช่นกัน
อย่า..อย่าเพิ่งรีบหันหน้าหนี เพราะคิดว่าเรากำลังขอรับบริจาคเสื้อผ้า เปล่าเลย..ไม่ใช่
เพราะเสื้อผ้ามือสองเหล่านี้ มันสามารถนำมาใช้ได้มากกว่าแค่ 'การสวมใส่'
หนึ่งในไอเดียลดโลกร้อน แถมความเทรนดี้นี้ เป็นผลพลอยมาจากความคิดที่ซุกซนของ ยุทธนา อโนทัยสินทวี เจ้าของแบรนด์ The Remaker by Yuttana
"มันเริ่มต้นจากการลองทำใช้เองก่อน พอใช้ได้สักพักก็มีเพื่อนมาเห็นไอเดีย เขาก็ขอให้ทำให้เขาใช้บ้าง เราเลยเริ่มเอาเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว หลุดแฟชั่นไปแล้ว แต่สภาพยังดีอยู่ เอามาดัดแปลงทำให้มันแปลกใหม่ขึ้น จากนั้นผ่านไปสักพัก งานเราก็ไปเตะตาเพื่อนที่เป็นชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่าที่ประเทศญี่ปุ่นก็นิยมงานแบบนี้เหมือนกัน เขาแนะนำให้เราทำเสนอ เราก็ลองทำส่งไป จนกลายเป็นธุรกิจมาถึงทุกวันนี้ โดยมีการส่งออกไปที่ญี่ปุ่นกับอเมริกา ส่วนในบ้านเราจะมีวางขายที่ร้าน Loft"
"ถ้าแบรนด์นี้เป็นคนตอนนี้คงมีอายุได้ 4 ขวบกว่าแล้ว" ยุทธนากล่าว
ยุทธนาเล่าว่าความคิดแรกที่พาเขามาจนถึงวันนี้คือ อยากเอาของที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาดัดแปลงเพื่อเอากลับมาใส่ มาใช้ใหม่ คือได้เห็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน ที่ใช้ได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องทิ้ง เนื่องจากมันเสียเร็ว คุณภาพมันไม่ดี ใส่ตามแฟชั่น 2-3 ครั้งก็เสียแล้ว มันทำให้คนต้องซื้อใหม่ ตรงนั้นมันจึงกลายเป็นขยะเต็มไปหมดเลย จึงคิดลองเอามาดัดแปลงดู
สลายเสื้อ ให้เหลือแต่ผ้า
ยุทธนาอธิบายถึงขั้นตอนการทำว่า พอได้วัตถุดิบมา ก็จะเอามาคัดคุณภาพของผ้าก่อน โดยขั้นตอนนี้เขาจะทำด้วยตัวเอง คัดเองทุกชิ้นเพราะเขาจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าแบบที่ดีไซน์มา กับผ้าที่ได้มามันเข้ากันไหม เช่น ลายสกรีนจะต้องพอดีกับแบบที่ดีไซน์ไว้ บางครั้งเสื้อยืดมาถึงเป็นพันๆ ตัว บางตัวมีลายสกรีนแค่เล็กน้อย บางตัวมีลายสกรีนที่ใหญ่ล้นไป มันอาจไม่สวย มันควรจะต้องพอดีกัน
จากนั้นจะส่งเข้าโรงงานเพื่อทำความสะอาด ซักอบรีดผ่านความร้อนก่อน ขั้นตอนต่อมาคือ เอาเสื้อที่คัดได้ มาเลาะออกเป็นผ้าผืนๆ จากนั้นก็เอาแพตเทิร์นมาลง เพื่อตัดให้ได้รูปแบบหรือรูปทรงตามที่ต้องการ จากนั้นก็นำเข้าเย็บ จัดแพก และนำส่งออกต่อไป
ยุทธนาเล่าว่า ตอนนี้มีพนักงาน 15 คน ในส่วนหน้าที่คนเย็บประกอบ จะใช้วิธีจ้างคนข้างนอกเข้ามาทำ ส่วนงานถักงานเย็บปักจะให้กลุ่มแม่บ้านที่อยู่รอบบริเวณบริษัททำ เพราะมันเป็นการช่วยสร้างงานให้ชุมชนได้อีกวิธีหนึ่งด้วย
เปลี่ยนกระโปรงให้เป็นกระเป๋า
ยุทธนาเล่าว่า แต่เดิมจะดัดแปลงจากเสื้อผ้าให้กลายเป็นเสื้อผ้า อาจจะเอาเสื้อเก่ามาทำใหม่ให้เป็นกระโปรง จากกางเกงมาเป็นเสื้อ
"พอตอนหลังที่เริ่มมีการส่งออกไปต่างประเทศ มันจะเริ่มมีปัญหาเรื่องไซส์ เริ่มไม่แน่ใจในการตัดเย็บขนาด เพราะธรรมชาติสรีระของคนแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว มันเลยยากที่จะกะเกณฑ์ได้ เลยลองทำเป็นกระเป๋าเพราะว่ามันจะได้มาตรฐานกว่า ชาติไหน ประเทศไหนก็ถือได้ นอกจากนั้นยังมีเข็มขัดที่นำเอาฝาน้ำอัดลม ฝาเบียร์มาทำ มีเสื้อหนังโอเวอร์โคต หมวก เข็มกลัด สร้อยคอ กำไลข้อมือ รองเท้า"
ยุทธนายังเล่าต่ออีกว่า สำหรับลูกค้าที่สนใจงานแนวนี้ลูกค้าชาวต่างประเทศจะให้ความสนใจมากกว่าคนไทย เพราะในบ้านเราเรียกได้ว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สื่อต่างๆ กำลังช่วยกันรณรงค์ประเด็นนี้ รณรงค์ให้คนนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ พัฒนาการและกระแสการตอบรับคงต้องรอดูในระยะยาว
สำหรับต่างประเทศนั้น ประเทศที่เขาสั่งซื้อ มีทั้งคำนึงถึงการรีไซเคิล สิ่งแวดล้อม แต่บางประเทศเขาก็ไม่ได้มองเรื่องนั้นเป็นใหญ่ แค่เห็นว่ามันสวยดี ก็ซื้อไปใช้เฉยๆ คืองานจะต้องมีความสวยงามควบคู่ไปด้วย เพราะบางทีจิตสำนึกของคนเราจริงๆ อาจจะมองเรื่องความสวยงามเป็นหลัก ความสะอาดของโลกเป็นรองก็ได้ ยุทธนากล่าวทิ้งท้าย
เริ่มต้นกระบวนการกลับชาติมาเกิดใหม่ให้ 'ถุงพลาสติก' ตั้งแต่วันนี้..
แค่เราช่วยนำสิ่งที่เพิ่ง 'ไร้ประโยชน์' หลังจากที่หมดหน้าที่ในการห่อหุ้มสินค้า
แล้วหยิบมันมาถัก มาร้อย มาสาน แล้วนำกลับมาใช้ใหม่
แม้แต่นำเสื้อผ้าเก่ามาแปลงร่าง อาบน้ำประแป้ง เพื่อเปลี่ยนโฉมมันใหม่
ลองคิดดูว่า..โลกของเราจะหายร้อนได้มากขนาดไหน
*****************************
เรื่อง - วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม