xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิกเกมส์ มิตรภาพจอมปลอม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อบารอน เดอ คูเบอร์แตง ผู้ให้กำเนิดโอลิมปิกสมัยใหม่ตั้งวัตถุประสงค์ให้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติคือโอกาสแห่งการสร้าง "จิตวิญญาณแห่งมิตรภาพ ระหว่างนานาประเทศ” แต่ทว่าจนถึงวันนี้สิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศที่ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแอบแฝงทั้งสิ้น และสามเหตุการณ์ด้านมืดของโอลิมปิกซึ่งสื่อแถวหน้าอย่างซีเอ็นเอ็นหยิบประเด็นมานำเสนอน่าจะยืนยันข้อความข้างต้นได้เป็นอย่างดี บรรทัดต่อจากนี้ทีมข่าวกีฬา “ผู้จัดการรายวัน” ขอนำภาพดังกล่าวมาขยายต่อด้วยเนื้อความที่ย้อนกลับไปรำลึกถึงโอลิมปิกในด้านมืด ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ลอนดอนปี 1908 ชัยชนะของผู้แพ้ - การแข่งขันรายการสุดท้ายของมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติกำลังจะได้เจ้าของเหรียญทองวิ่งมาราธอนเมื่อโนรานโด ปิเอทริ นักวิ่งมาราธอนตัวแทนจากอิตาลี เป็นนักกีฬาคนแรกที่เร่งฝีเท้าเข้าสู่เส้นชัย โดยเหลืออีกเพียง 385 หลาร่างกายของ ปิเอทริ จะสัมผัสกับเส้นชัย เฉพาะหน้าพระพักตร์ของควีน อเล็กซานดรา ที่เสด็จฯ ทอดพระเนตรอยู่บน รอยัล บ็อกซ์

แต่แล้วผู้ชมใน โอลิมปิก สเตเดียม กลับต้องแปลกใจกับภาพที่ได้เห็น เมื่อ ปิเอทริ เริ่มวิ่งช้าลง แถมเซไปเซมาอยู่สักพัก ก่อนจะทิ้งตัวลงบนลู่ แม้จะฮึดสู้เฮือกสุดท้ายเพื่อพยายามประคองตัวไปถึงเส้นชัยให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาช่วยหิ้วปีกร่างกายอันไร้เรี่ยวแรงของปอดเหล็กจากแดนมะกะโรนีผ่านเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยสภาพที่ทุลักทุเล พร้อมกับเสียงปรบมือให้กับความใจสู้ของเจ้าตัวดังกึกก้องไปทั่วสนาม

เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง กว่าที่ ปิเอทริ จะได้สติกลับมา และรู้ว่าคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ตัดสิทธิ์ริบเหรียญทองไปให้แก่ จอห์น เฮย์ส นักกีฬาจากสหรัฐฯ ที่ตามเข้ามาเป็นอันดับ 2 เนื่องจาก ปิเอทริ ทำผิดกฎการแข่งขันด้วยสาเหตุมีบุคคลอื่นช่วยประคองเจ้าตัวเข้าเส้นชัยนั่นเอง

แม้ เฮย์ส จะได้เป็นเจ้าของเหรียญทองวิ่งมาราธอนโอลิมปิกเกมส์ แต่ชื่อของ ปิเอทริ ที่ภายหลังได้รับถ้วยพิเศษจาก ควีน อเล็กซานดรา คงอยู่ในใจชาวลอนดอนทุกคนที่ประทับใจในเลือดนักสู้ของยอดนักวิ่งจากอิตาลีรายนี้ตลอดไป

เมลเบิร์นเกมส์ ปี 1956 เมื่อการเมืองแทรกเข้ามาในเกม – ขณะที่เหล่าพี่น้องเพื่อนร่วมชาติกำลังออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพฯ และถูกกองทัพทหารโซเวียตใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างทารุณ ฮังการี กับ สหภาพโซเวียต ก็ได้โคจรมาพบกันในรอบรองชนะเลิศกีฬาโปโลน้ำ โอลิมปิกเกมส์ ในเกมกีฬาที่ควรปราศจากเรื่องของการเมืองกลับกลายเป็นการต่อสู้กันของแนวความคิดทางการเมืองระหว่าง "ประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์"

ในเกมดังกล่าว ทันทีที่เสียงนกหวีดเริ่มแข่งดังขึ้น เดสโซ จยาร์มาติ ของฮังการี กระชากคอผู้เล่น โซเวียต แล้วหลุดเข้าไปยิงประตูให้ทีมขึ้นนำ 1-0 พร้อมกับเสียงโห่ของกองเชียร์จากดินแดนหลังม่านเหล็กที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของกรรมการ

แม้ตลอดเกมการแข่งขัน ฮังการี จะเหนือกว่าทุกกระบวนท่า โดยได้อีก 2 ประตูจาก เออร์วิน ซาดอร์ สตาร์ประจำทีม แต่อุณหภูมิในสนามกลับไม่ได้ลดลงเลย จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงท้ายมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกินขึ้น เมื่อผิวน้ำบริเวณรอบตัวของ ซาดอร์ เต็มไปด้วยสีแดงจากเลือดที่ไหลลงมาจากบริเวณใบหน้าด้วยการปะทะกับผู้เล่นรัสเซีย สถานการณ์ชุลมุนไปหมดไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ความรุนแรงมีตั้งแต่ข้างสระไปจนถึงบนอัฒจันทร์ จนสุดท้ายตำรวจต้องเข้ามาเคลียร์บรรดาแฟนกีฬาที่กำลังอยู่ในอารมณ์บ้าคลั่งและคุ้มกันนักกีฬาของทั้งสองชาติออกจากสนามโดยเร็ว

สุดท้าย ฮังการี ก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองได้อีกสมัย แต่กลับไม่มีโอกาสให้คนในชาติได้ชื่นชม เมื่อนักกีฬาโปโลน้ำทั้งหมดตัดสินใจขอลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลียและสหรัฐฯ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

มิวนิคปี 1972 โอลิมปิกเลือดที่ยากจะลืม – ในยุคสงครามเย็นซึ่งทำให้สาธารณรัฐเยอรมนีแบ่งเป็นฟากตะวันตกและตะวันออกด้วยกำแพงเบอร์ลิน เวลานั้นฟากตะวันตกหวังจะแสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็นถึงความเจริญจากแนวทางสร้างชาติในวิถีประชาธิปไตยเป็นผลให้มิวนิค เกมส์ เปิดรับผู้คนจากทั่วโลกโดยปราศจากความระมัดระวัง เช่นเดียวกับระบบการรักษาความปลอดภัยบริเวณหมู่บ้านนักกีฬา ที่ปราศจากเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ หรือแม้แต่การป้องกันภัยตามแนวรั้ว จนหลายคนมองว่า เยอรมนี ประมาทเกินไปกับมหกรรมกีฬา "โอลิมปิก" ที่กลุ่มก่อการร้ายต่างจับจ้องหมายจะแสดงศักยภาพกันอยู่

แล้วเหตุการณ์เศร้าสลดที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกก็เริ่มขึ้นเมื่อเช้ามืดของวันที่ 5 กันยายน หลังกลุ่มชายฉกรรจ์ 9 คน พร้อมอาวุธครบมือในชุดคลุมหน้าบุกเข้ามายังหมู่บ้านนักกีฬา และฆ่าเจ้าหน้าที่ทิ้งทันที 2 นาย ก่อนจะจับนักกีฬารวมทั้งโค้ชทีมชาติฮังการีเป็นตัวประกันอีก 9 คน

ทั้งนี้ กลุ่มก่อการร้ายที่รู้จักกันในนาม “แบล็ก เซปเทมเบอร์” (Black September) เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คน ที่ถูกทางการอิสราเอลจับตัวไป แต่ตำรวจตัดสินใจบุกเข้าชาร์จ ก่อนยิงต่อสู้กัน จนกระทั่งมีเสียงระเบิดดังขึ้น ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 คนเป็นนักกีฬาและโค้ชชาวอิสราเอล 11 คนและตำรวจ 1 นาย แม้นักกีฬาทุกคนกำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าหมอง ทว่า อเวรี บรันเดก ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กลับประกาศยืนยันว่า “โอลิมปิกต้องดำเนินต่อไป”

ทั้งหมดนี้คือสามเหตุการณ์ตัวอย่างที่น่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่า การแข่งขันกีฬาแห่งมนุษยชาติซึ่งแต่เดิมมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้สปิริตแห่งกีฬานั้น อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างที่คิดตราบใดที่สังคมโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยการแก่งแย่งเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
ชัยชนะของผู้แพ้ ปิเอทริ
เออร์วิน ซาดอร์ นักโปโลทีมชาติฮังการีกับใบหน้าเปื้อนเลือด
ซาดอร์ หลังขึ้นจากสระ
นักกีฬาอิสราเอลเหยื่อในมิวนิค 1972 หรือ Munich Massacre
ภาพเหตุการณ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์กับเหตุการณ์นองเลือด
กำลังโหลดความคิดเห็น