หากเอ่ยถึงการต่อสู้ในอดีต เชื่อว่า การยิงธนูบนหลังม้านับเป็นเครื่องมือของการรบพุ่งในลำดับต้นๆ แต่เมื่อการเวลาผันผ่านบทบาทของอาวุธที่อยู่เคียงคู่กัน อย่าง คันธนูและลูกศร ณ วันนี้ ถูกลดบทบาทในสมรภูมิจนแทบจะเลือนหายไปจากการใช้งาน ทว่า...เสน่ห์ของอาวุธธนู กลับฉายแววโดดเด่นในใจผู้หลงใหลกิจกรรมเอาต์ดอร์ในยุคนี้...เข้าอย่างจัง
กีฬายิงธนูเข้ามาในประเทศไทย ครั้งแรกเมื่อราว 40 ปีก่อน ซึ่ง ศิริพงษ์ ฟักเขียว นักกีฬายิงธนูทีมชาติไทย เล่าย้อนให้ฟังว่า สมัยก่อนกีฬายิงธนูยังไม่แพร่หลายนัก เริ่มต้นตจากความสนใจส่วนตัวของกลุ่มนักเรียนนอก ที่หาซื้ออุปกรณ์มายิงกันเองในสนามของที่บ้าน เมื่อเริ่มแพร่หลายจึงกลายเป็นสมาคมขึ้นมา เมื่อนักกีฬายิงปืนทีมชาติส่วนหนึ่ง เห็นว่ากีฬานี้น่าจะได้รับความนิยมในประเทศไทย
ถึงอย่างนั้นความสนใจที่มีต่อกีฬาประเภทนี้ของบ้านเราก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บ้าง บางช่วงได้รับความนิยมมาก มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันระดับนานาชาติได้สำเร็จ ขณะที่บางช่วง กีฬาชนิดนี้ก็หายไปเลยจากสังคมบ้านเรา แม้แต่การยิงธนูเป็นกิจกรรมยามว่างก็แทบจะไม่มีให้เห็น
“ยิงธนู เหมือนเป็นกีฬาของกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกันมากกว่า ที่เงียบหายไปในบางช่วง เพราะคงยังไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง การหาซื้ออุปกรณ์และสนามก็ยังมีน้อย คนที่เล่นกีฬายิงธนูส่วนใหญ่ก็มาจากกลุ่มข้าราชการทหารที่มีความสนใจ นักกีฬายิงธนู หรือไม่ก็พวกที่ชอบยิงปืนอยู่แล้ว แต่ก่อนยังค่อนข้าง จำกัดอยู่ในวงเฉพาะกลุ่ม จนเมื่อเริ่มได้รับความสนใจอีกครั้งพร้อมกระแสกิจกรรมแนวแอดเวนเจอร์ที่กำลังได้รับความนิยม”
การกลับมาอยู่ในกระแสความนิยมของการยิงธนูเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อสมาชิกชมรม ThailandOutdoor.com ส่วนหนึ่งให้ความสนใจ จนมีการเปิดสนามธนู ArcheryThai สนามยิงธนูเอกชนขนาดระยะยิงเป้า 30 เมตร รายแรกขึ้นอีกแห่ง เพื่อเป็นแหล่งรวมตัวของคนรักการยิงธนู ให้สามารถหาซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการยิงธนูได้ง่ายขึ้นและมีสนามฝึกซ้อมที่สะดวกสำหรับมือใหม่หัดเล่น จึงกลายเป็นที่มาของสังคมนักธนู ที่สร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ ที่แต่ละคนอยากจะเก็บเกี่ยวความสุขจากกีฬาชนิดนี้
สนามแห่งนี้เปิดมาราว 3 ปี ไม่นานนักการโคจรมาพบกันของกลุ่มคนทั่วไปที่มองหากิจกรรมสันทนาการในรูปแบบที่แตกต่าง ก็ขยายวงกว้างจนมีสมาชิกมากถึง 500 คน ในเว็บไซด์ Thailand Outdoor Archery Club ที่แวะเวียนกันมาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ของนักธนู ในมุมของศิริพงษ์ ถึงเขาจะเป็นนักกีฬายิงธนูทีมชาติ แต่กระแสความสนใจที่ทำให้คนหันมายิงธนูกันมากขึ้น ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้คนเก่งมาเป็นตัวแทนนักกีฬาด้วยเช่นกัน
“จากบางส่วนที่เคยยิงเล่นเองที่บ้าน เมื่อรู้ว่าสังคมตรงนี้เปิดกว้าง ก็เริ่มออกมาพบปะกันจนกลายเป็นสังคมใหม่ เพิ่มโอกาสสร้างนักกีฬาได้มากขึ้น เพราะจริงๆ เงื่อนไขของการยิงธนูมันไม่ได้มีอะไรมาก เล่นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ กลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาเล่นตรงนี้ก็มีเยอะ ส่วนเรื่องปัญหาสายตา หรือ เรื่องสรีระก็ไม่มีผล ถ้าอยากลองยิง ก็เข้ามาเรียนรู้เบื้องต้น ยิงเล่นสนุกๆ สัก 1 อาทิตย์ ก็ยิงได้แล้ว แต่ถ้าใครต้องการมีพื้นฐานท่าทางในการยิงที่ถูกต้อง ต้องใช้เวลาพอสมควร ประมาณ 1 เดือน และถ้าจะเล่นให้เก่ง วิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องยิง หมั่นยิงให้ได้จำนวนลูกเยอะๆ”
ประโยชน์ของกีฬายิงธนู หลายต่อหลายคนคนที่เข้ามาสัมผัส เรียกมันว่าเสน่ห์ ดูเหมือนว่า “ สมาธิ” ของทุกคนจะถูกเพิ่มเติมขึ้นจากกีฬาชนิดนี้ ขวัญ-พลพัฒน์ กิติคุณไพโรจน์ นักธนูมือใหม่ เพิ่งเข้ามจับคันธนูได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น จากการชักชวนของเพื่อนสนิท ที่เห็นว่าเจ้าตัวชอบเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ ในเรื่องของความนิ่ง นั่นคือ สิ่งที่เราได้จากการโฟกัสเป้าหมายข้างหน้า เขาบอกว่า การกำหนดลมหายใจ ท่วงท่าที่ต้องใช้กำลังแขน ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน หากมีอะไรผิดพลาด เช่น ท่าทางผิด แม้นิดเดียว นั่นหมายถึงเราพลาดเป้าไปเลย
“เดี๋ยวนี้ไม่เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สนใจ ผู้หญิงซึ่งเป็นเพื่อนๆ กัน เมื่อได้มาลองหลายคนก็บอกว่าชอบ ทำให้นิ่งขึ้น ได้ในเรื่องของสุขภาพจิตและการตัดสินใจ คล้ายกับโยคะ แม้ดูเหมือนไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว แต่แค่การกำหนดลมหายใจก็เรียกเหงื่อได้แล้ว”
ส่วนกลุ่มที่มาเป็นครอบครัว ก็มีให้เห็นเช่นกัน ณ กำแพงด้านขวาของสนาม ระยะเป้าหมายที่อยู่ใกล้เพียง 15 เมตร เป็นตำแหน่งยิงลูกธนูของ น้องอิง - อิงครัต วาจาพัฒนา หนูน้อยวัย 7 ขวบ ที่จะมาฝึกซ้อมทุกวันหยุดกับครอบครัว แถมยังเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปแข่งรุ่นจูเนียร์ (อายุไม่เกิน 12 ปี) ที่สิงคโปร์กับเพื่อนร่วมก๊วนมาแล้วด้วย
ชวนพิศ สำราญรื่น คุณแม่ของน้องอิงบอกว่า เป็นความโชคดีที่ทั้งตนและสามีชอบยิงธนูเหมือนกัน จึงเริ่มค้นข้อมูล ซื้ออุปกรณ์ ลองเล่นจนติดใจ และเห็นว่าธนูเป็นกีฬาที่ฝึกสมาธิจึงตัดสินใจให้ลูกเล่นเมื่อเขาโตพอที่จะมีสมาธิกับบางอย่างได้แล้ว ซึ่งกีฬายิงธนู เป็นกีฬาที่อุปกรณ์ไม่แพงมาก สามารถเริ่มเล่นได้ในราคาหลักพัน สำหรับเด็กคงต้องรอให้เขาโตพอที่จะเริ่มมีสมาธิแล้ว ถึงจะให้ลองเล่น เพราะเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความนิ่ง ในขั้นตอนของท่าทางการดึงลูก ปล่อยลูก ต้องใช้สมาธิสูง ถือว่าฝึกสมาธิให้กับลูก
“ลูกจะชอบหรือเปล่าเราไม่รู้ ธนูเป็นกีฬาที่เล่นกันในครอบครัวมากกว่า ซึ่งเราก็ไม่ได้ซีเรียสว่า...ลูกต้องเล่นเก่ง มองแค่ว่าการยิงธนูจะช่วยให้ลูกเรารู้จักแข่งกับตัวเอง ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ควบคุมจิตใจให้นิ่ง ฝึกฝนตรงนี้จากการยิงธนู เราคาดหวังจากตรงนี้มากกว่า ซึ่งพอเล่นมาสักพักจะเห็นผลชัดเลยว่า ลูกเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องทักษะการยิงธนู การพัฒนาในชีวิตประจำวัน เขาก็อยู่นิ่งๆ ได้มากขึ้น และมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆได้ดี”
ไม่เพียงแต่การเล่นเพื่อสันทนาการและฝึกสมาธิ ที่ฝันไกลถึงขั้นอยากเป็นนักกีฬาลงแข่งชิงรางวัลด้วยตัวเอง ฝันที่รอวันเป็นจริงของ เต๊น-ทศพล ถนอมมณีช่วง ก็ยังคงหมั่นฝึกซ้อมทุกวันเช่นกัน
จากคนที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ อุปกรณ์เดินป่า เพราะที่บ้านเปิดร้านขายอยู่ที่ ดิ โอลด์ สยาม บวกกับความชอบในกีฬาแนวผาดโผน ทั้งยิงปืน และแข่งรถ เขาผ่านสนามแข่งขันมาหมดแล้ว จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัว กีฬายิงธนู จึงเป็นความตั้งใจครั้งใหม่ ที่ตัวเขาอยากลงแข่งในสนามระดับอินเตอร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าไปวัดสมาธิกับนักยิงธนูระดับโลก
“พอมาจับธนู กีฬาอื่นก็เลิกหมดเลย เพราะมันถึงที่สุดแล้ว ยิงธนูมา 6 เดือน เราได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งสมาธิ หมั่นฝึกซ้อมให้สม่ำเสมอ จนเมื่อฝีมือเราพัฒนาขึ้น ก็ตั้งใจว่าจะใช้ทุนส่วนตัวส่งตัวเองลงแข่งในสนามที่ลาสเวกัส ชิงเงินรางวัล ประมาณ 5 หมื่นเหรียญ ซึ่งถ้าเราไปถึงจุดนั้นได้ เราก็เป็นนักยิงธนูคนไทยที่มีโอกาสเจอกับนักยิงธนูระดับโลกได้ ส่วนใครที่อยากเข้ามาเล่นตรงนี้ อยากให้ยิงแล้วรู้สึกว่าชอบก่อน ชอบที่จะยิง พอชอบแล้ว เราก็เริ่มฝึกซ้อม ยิงจนเรารักมันได้ พอเรารักเราก็ทำไปจนถึงสิ่งที่เป็นจุดหมายของเรา เราชนะได้แน่นอน”
ดูเหมือนแต่ละคนจะยังเพลิดเพลินไม่รู้เหนื่อย ถึงเย็นย่ำตะวันคล้อย สนามยิงธนูแห่งนี้ ก็ยังคงอบอุ่นด้วยคนในสังคมเดียวกัน ที่กำลังมองหาความผ่อนคลายจากสมาธิบนปลายลูกธนู