xs
xsm
sm
md
lg

พลิกโฉม"โปงลางสะออน" กลับสู่วัยเด็กในแบบฉบับการ์ตูนแอนิเมชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"หัวใจในการทำแอนิเมชันอยู่ที่เรื่องเป็นหลัก เพราะแอนิเมชันคือการเล่าเรื่อง ถ้าเรื่องไม่สนุก เล่าอย่างไรก็สนุกยาก ถึงแม้คาแร็กเตอร์จะสวยดีแค่ไหน คนดูจะไม่ติดตาม" นี่ความเห็นส่วนตัวที่กลั่นออกมาจากสมองซีกซ้ายของ คุณสุรเชษฐ เฑียรบุญเลิศรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บลู-แฟรี่ จำกัด ผู้มีผลงานสร้างชื่ออันโด่งดังอย่าง "ปักษาวายุ" และผู้สร้างศิลปินไซเบอร์รายแรกของประเทศอย่าง DDZ กับหัน-ปิ้ง(หมูหัน-หมูปิ้ง)

สุรเชษฐ ผู้แปลงโฉมศิลปินโปงลางสะออนให้อยู่ในฉบับการ์ตูนแอนิเมชัน เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเป็นบริษัท บลู-แฟรี่ ได้เคยทำภาพยนตร์เรื่องปักษาวายุมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ทำงานโฆษณาซึ่งมีผลงานออกสู่สายตาสาธารณชนหลายชิ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยทำในส่วนของวิชวล เอฟเฟกต์เป็นหลัก ซึ่งความจริงงานแบบนี้ต้องการความหลากหลาย เพราะว่าโจทย์ที่ได้จะเปลี่ยนตลอด จึงต้องทำงานให้ได้หลายสไตล์ ปัจจุบันบลู-แฟรี่ มีอายุการก่อตั้งรวมได้ 4 ปี หลังจากที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเมื่อปี 2004 ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่อาร์เอสถือหุ้น 100% แต่มีความอิสระในการเลี้ยงดูบริษัทด้วยตัวเอง

"ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทลูกในเครืออาร์เอส แต่ยังคงมีการจ้างงานกันตามปกติ เป็นการดีลงานแบบบิสิเนสทูบิสิเนส งานที่บริษัททำอยู่ส่วนใหญ่เป็นงานโฆษณา และงานภาพยนตร์ของต่างประเทศ ซึ่งรายได้ในส่วนของต่างประเทศนั้นอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์"

โลว์คอสต์การ์ตูนแอนิเมชันไทย

ผลงานก่อนหน้านี้ได้ร่วมงานเป็นพาร์ตเนอร์ในเชิงการผลิตศิลปินไซเบอร์อย่าง DDZ หลังจากนั้นได้คุยกับทางผู้บริหารของอาร์เอส ซึ่งขณะนั้นต้องการจะให้ขยายตลาดในเชิงของมิวสิกบิสิเนส โดยสร้างคาแร็กเตอร์แอนิเมชันที่เป็นนักร้อง ครั้งนั้นได้ทำหัน-ปิ้ง(หมูหัน-หมูปิ้ง) ออกมา ซึ่งได้รับผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้เป็นอย่างดี

สุรเชษฐ เล่าต่อว่า จนมาถึงวันนี้มองว่าส่วนที่เป็นแอนิเมชันจริงๆ คือ การเล่าเรื่อง จึงได้ไอเดียว่า จะนำคาแร็กเตอร์ของซูเปอร์สตาร์ในเครืออาร์เอสที่ดัง ซึ่งที่ดูแล้วมีอยู่กลุ่มหนึ่งคือ "โปงลางสะออน" โดยการนำมาประยุกต์เรื่องราวใหม่ เปลี่ยนลุคให้ดูเด็ก น่ารักขึ้น ให้เหมาะสมกับเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ จึงได้ตั้งชื่อใหม่เป็น "โปงลางอะอ่อน"

"ถ้าพูดภาษาบ้าน ๆ คือ ตัวละครเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว คาแร็กเตอร์ก็ชัดมาก เรียกได้ว่ามีโอกาสเกิดสูงกว่าตัวอื่น ๆ ไม่ต้องไปเซ็ตอัปคาแร็กเตอร์เยอะ เพียงแค่หยิบส่วนที่ดีที่สุด หรือส่วนที่เหมาะกับเด็กออกมาวาง แล้วเราจึงสร้างบทจากคาแร็กเตอร์ตรงนั้น สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นจุดให้เลือกทำเรื่องนี้ขึ้นมา และใช้ชื่อตอนว่าเปิดตำนานแคนวิเศษ"

ผู้บริหารบลู-แฟรี่ เผยถึงแรงบันดาลใจที่ช่วยผลักดันในการทำโปงลางละอ่อนว่า มาจากการที่อยากทำแอนิเมชันเรื่องยาว ซึ่งคิดไว้ในใจอยู่แล้ว และตอนนี้ตลาดได้เปิดมากขึ้น คนยอมรับแอนิเมชันมากขึ้น จึงเล็งเห็นว่าตลาดน่าจะไปด้วยวิธีนี้ แต่คีย์ที่วาดไว้ควบคู่ไปด้วย คือ จะพาคาแร็กเตอร์ที่คิดไว้ไปด้วยวิธีใดถึงจะประสบความสำเร็จ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าสิ่งอื่น

เนื่องจากทีมเราเป็นทีมที่รู้ขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงเป็นทีมในบ้านหลังเดียวกัน จึงสามารถคอนโทรลสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้นเรื่องของตัวเลขในการลงทุนจะค่อนข้างถูก โดยสามารถบีบในส่วนนี้ลงมาได้มาก เบ็ดเสร็จเมื่อรวมแล้วไม่สูงอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท ทุกอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ในครอบครัว เหมือนกับสินค้าโอท็อป

ละอ่อนตามวัย

เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะนำซูเปอร์สตาร์ 3 ท่านนี้มาประยุกต์ใหม่ทำเป็นงานแอนนิเมชัน จึงได้มีการเซตทีม โดยทีมแรกเป็นครีเอทีฟ ลงเก็บรายละเอียดเรื่องบุคลิกลักษณะตัวจริงของทั้ง 3 ท่าน ว่ามีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน อย่างไร หลังจากนั้นจึงเลือกจุดที่เหมาะกับความเป็นเด็ก ลดสเกลของอายุลงมา โดยให้อี๊ดอายุ 10 ปี ที่เหลือก็ลดหลั่นลงมาคือ 9 ปี และ 7 ปี

หลังจากได้โครงสร้างของตัวคาแร็กเตอร์เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป คือลงรายละเอียดในส่วนของเรื่อง โดยการเซตธีมว่าจะให้เป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวเกี่ยวกับเด็ก ฉะนั้นจึงเป็นทิศทางที่ต้องค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อนมาก จึงได้นำธีมของความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความขยันและอดทน เข้ามาเล่นในธีมหลัก โดยใช้การเดินทางตามหาแคนวิเศษเป็นตัวไกด์ให้เรื่องเดินไปข้างหน้า

"ในเมื่อมีฝ่ายตัวเอกแล้ว ต้องมีฝ่ายร้ายด้วยเพื่อที่จะคอยแย่งแคน เราจึงได้เซตตัวร้ายขึ้นมาชื่อว่า ดร.จิ๋ว ซึ่งจะคอยส่งเหล่าวายร้ายมาแย่งแผนที่ในการเดินทางจากน้องอี๊ดผู้เป็นเด็กมีน้ำใจ มีความกตัญญูที่จะช่วยเหลือหมู่บ้านตัวเองที่เกิดความแห้งแล้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยที่แผนที่นั้นจะนำไปสู่การค้นหาแคนวิเศษ เมื่อขออะไรจะได้ตามคำที่ขอ"

สุรเชษฐ อธิบายต่อว่า เมื่อได้คาแรกเตอร์เรียบร้อยแล้ว อีกทีมจะเป็นทีมโปรดักต์ชัน ซึ่งจะเริ่มดีไซน์ว่า เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ผู้กำกับจะเข้ามาดูว่า ตอนที่หนึ่งจะเริ่มเน้นที่ตัวอี๊ดเป็นหลัก ว่าอี๊ดเป็นใครมีนิสัยอย่างไร เพื่อจะบอกเรื่องราวของตัวคาแร็กเตอร์ และจะเริ่มแตกรายละเอียดว่าแต่ละตอนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเริ่มลงสตอรี่บอร์ด เมื่อทำส่วนนี้เสร็จ จะทำการภาคเสียงไกด์ และทำแอนิเมติก คือการนำสตอรี่บอร์ดมาตัดให้ได้ตามเวลาหนังหนึ่งตอนจริงๆ จากนั้นภาคเสียงจริงลงไป แล้วเพล์ดูอีกทีว่าสนุกหรือยัง มีอะไรขาดอยู่ ทุกขั้นตอนจะทำควบคู่กันไป

"เรื่องระยะเวลานั้นถือว่าไม่นานสำหรับการทำหนังแอนิเมชันแบบนี้ เพราะว่าแอนนิเมชันแบบนี้หลาย ๆ เรื่องที่เราเห็นกัน จะใช้เวลาทำค่อนข้างนาน บางเรื่องจะนานกว่านี้ อาจเนื่องด้วยทีมเราเป็นทีมที่เคยทำแอนิเมชันอยู่แล้ว ทำให้รู้จุดว่าเราจะควรทำอย่างไร มีการลดขั้นตอนต่างๆทำให้เวลากระชับส่งผลให้งานเร็วขึ้นได้"
นายยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) และ นายสุรเชษฐ เฑียรบุญเลิศรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บลู-แฟรี่ จำกัด (ขวา) ในวันแถลงข่าวเปิดตัวโปงลางละอ่อน
กลเม็ดพิชิตเด็ก

ส่วนวิธีในการเล่าเรื่องให้เด็กคุ้นเคยนั้น ใช้กลยุทธ์ในการเล่าเรื่องใกล้เคียงกับการเล่นเกมส์ คือมีการเก็บสะสมของ เก็บสะสมไอเทมเพื่อนำกลับมาสู้กับบอส เป็นจิตวิทยาใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย ซึ่งเกมส์เก็บสะสมของมีมานานแล้ว เพียงแต่เรานำกลวิธีมาเล่าให้เป็นแบบนั้น ที่สำคัญเด็กสมัยนี้ชินกับการเล่าเรื่องลักษณะแบบนี้

ผู้บริหารบลู-แฟรี่ เผยถึงรายเรื่องของโปงลางละอ่อนว่า การเดินทางตามหาแคนนั้น ได้ใช้จังหวัดในประเทศไทยทั้งหมด 13 จังหวัด เป็นจุดแลนด์มาร์กในการตามหาแคน ซึ่งจะดึงรายละเอียดจุดเด่นของแต่ละจังหวัดขึ้นมานำเสนอในตอนท้ายเรื่อง โดยจะมีตัวศิลปินจริง ๆ เข้ามาบอกว่า ในแต่ละจังหวัดที่ดูอยู่มีอะไรเด่น ของกินอะไรเด่น เป็นโอท็อปนิด ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจ และรักที่จะไปในจังหวัดนั้น ๆ เป็นข้อมูล ความรู้ มากกว่าดูแล้วจบไป

"เสียงในการพากษ์นั้นเป็นเสียงของการ์ตูนเนื่องจากอยู่วัยเด็ก ไม่ได้ใช้เสียงจากตัวจริง แต่จะมีการใช้เสียงจากศิลปินจริงโดยการเข้ามาพูดคุยกับน้อง ๆ ในแบบวอยซ์โอเวอร์มากกว่า คอยชี้แนะว่าตอนต่อไปจะมีทิศทางอย่างไร ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมต่าง ๆ ของตลาด"

สำหรับเหล่าวายร้ายในเรื่องจะมีทั้งหมด 13 ตัวตามจังหวัดที่อยู่ในเนื้อเรื่อง โดยมีตัวเอกฝ่ายร้ายชื่อว่า ดร.จิ๋ว เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยส่งเหล่าวายร้ายเพื่อมาแย่งแคนวิเศษจากน้องอี๊ด ตัวอย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมีแพนด้า ลพบุรีเป็นลิง โดยการดึงคาแรกเตอร์สัตว์พวกนี้มาเป็นตัวร้อยเรื่องให้กับโปงลางละอ่อนเดินทางไปให้สนุกขึ้น ส่วนสิ่งที่จูงใจในเรื่องนี้ที่ไม่อยากให้เด็กพลาด คือ เรื่องของคาแร็กเตอร์ดีไซน์กับรายเรื่องที่เข้าใจง่ายและสนุก ยังมีการเล่นตลกขบขัน มีการแกล้งกันสนุกสนาน เรียกว่าเป็นมุกเก๋ไก๋ของฉบับเด็ก

"การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนั้น จะเริ่มหลังจากที่หนังเริ่มฉาย จะมีการเดินสายไปตามโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆได้รู้จักตัวละครมากขึ้น โดยจะมีสกู๊ปโปรแกรม การออกบูทเล่นเกมส์ต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และดูภาพรวมเด็กให้รู้จักกับตัวละครในอีกมุมหนึ่งจากตัวศิลปินจริงที่เป็นพี่ให้กลายเป็นน้องอี๊ด น้องลาล่า น้องลูลู่"

น้ำจิ้มคนละสูตร

สุรเชษฐ ได้บรรยายถึงความแตกต่างระหว่างแอนิเมชันเรื่องนี้กับแอนิเมชันอื่นๆว่า เรื่องนี้คาแร็กเตอร์มีความเป็นตัวตนที่ชัดเจน และคนสามารถรับรู้ถึงความเป็นจริงได้บ้างในบางส่วน เช่น ลูลู่จะพูดไม่ชัดนิดนึง นำสำเนียงการพูดมาเล่น ทำให้เกิดมุกสนุก ๆ ในคำพูด ส่วนลาล่าจะพูดอังกฤษปนไทย ซึ่งเรียกได้ว่าคาแร็กเตอร์แต่ละตัวจะมีน้ำจิ้มความกลมกล่อมในตรงนั้น ทำให้เมื่อดูแล้วไม่จืด ดำเนินเรื่องไปได้ตลอดเวลา และตัวประกอบอื่นๆจะมีมุกตลกในแบบฉบับของตัวเอง

"หากเปรียบเทียบกับ DDZ ที่เคยทำก่อนหน้านี้ ด้านเทคนิคจะต่างกัน เนื่องจากเรื่องนี้เป็น 2 มิติแอนิเมชัน ซึ่งเหตุผลที่เลือกแบบนี้เพราะจะเข้ากับเด็กได้ง่ายกว่า 3มิติ หากเป็นแบบ 3 มิติ จะทำให้ดูยากขึ้น รายละเอียดต่างๆจะดูเยอะ แต่ถ้าเป็นแบบ 2 มิติจะจำง่าย โดยดีไซน์เนอร์จะพยายามทำให้มีรายละเอียดเส้นน้อยลง เมื่อเด็กได้ดูจะเกิดการจำแล้วนำไปเขียน วาดได้ นี่คือคีย์หลักที่คิดไว้ ฉะนั้นคาแร็กเตอร์จะดูสะอาดใส และวิธีการจะรวดเร็วขึ้นด้วย"

เมื่อถามถึงความยากในการทำแอนิเมชัน ผู้บริหารบลู-แฟรี่ได้เปรียบเปรยเหมือนกับการอ่านหนังสือหลายๆเล่มกับอ่านหนังสื่อที่จบในเล่มเดียว ความยากนั้นคนละแบบ ถ้าเป็นเรื่องยาวยากตรงที่จะทำอย่างไรให้คนดูติดตามตอนต่อไป ทำอย่างไรให้รอดูสัปดาห์หน้า และในเรื่องนี้ข้อนี้เป็นข้อยากจุดนึง ที่จะทำอย่างไรให้คนดูไม่อยากพลาดในตอนต่อไป จุดเด่นของหนังแอนิเมชันคือต้องดูแล้วสนุก ถ้าไม่สนุกทุกอย่างก็จบ อย่างที่บอกว่าเรื่องคือสิ่งสำคัญ

ส่วนความเห็นเรื่องการเทียบชั้นกับเวทีโลกนั้น ผู้บริหารบลู-แฟรี่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่แอนิเมชันไทยจะไปสู่ระดับสากล แต่ขณะนี้บุคลากรของไทยประสบการณ์ยังน้อยกว่าตลาดโลก ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีอายุประสบการณ์เฉลี่ยในการทำงานที่ 10 ปี แต่ขณะของเรานั้นอยู่แค่ 3 ปี ฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการคืบคลานไป ถึงบอกว่ามีความต่างพอสมควร แต่เชื่อว่าวันหนึ่งจะไปถึงเหมือนกับหนังไทย

"เมื่อคนไทยมีประสบการณ์มากขึ้น คนไทยที่อยู่ต่างประเทศจะกลับมาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ความรู้ประสบการณ์จะกระจายมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าวันหนึ่งจะไปถึงแน่นอน"

สำหรับการ์ตูน แอนิเมชัน "โปงลางละอ่อน เปิดตำนานแคนวิเศษ" นี้จะฉายทุกวันพฤหัสและวันศุกร์ หลังเวลาเคารพธงชาติ ทางช่อง 7 ซึ่งได้คาดหวังกับกระแสตอบรับอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเราลงทุนลงแรง ในเชิงของความคิด, การผลิตลงไปพอสมควร และที่สำคัญอยากให้เด็กได้ดูแอนิเมชันไทยที่สอดแทรกความรู้โดยที่ไม่ได้ถูกบังคับ ผู้บริหารบลู-แฟรี่กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น