“ผมไม่ค่อยชอบเที่ยวเตร่ ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน ผมว่ามันเสียเวลาเปล่า ไม่แต่ใช่ว่าผมจะไม่เที่ยวผับ เที่ยวบาร์เลย เพราะนั่นถือว่าเป็นการปิดโอกาส ปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถ้าผมจะไปเที่ยวร้านอาหาร ไปผับ ไปบาร์ ... ร้านอาหาร ผับ บาร์นั้น จะต้องหรูหรา หรือมีสไตล์และมีชื่อเสี่ยงได้รับการการันตีว่าดีที่สุด เพราะที่ผมไปผมไปเพื่อเปิดหูเปิดตา เปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปดูรูปแบบการออกแบบ การตกแต่ง และดีไซน์ห้องใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่ง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสนองความต้องการของผู้บริโภค” กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด หนึ่งใน กลุ่มบริษัท บางกอก อินเตอร์เฟิร์น เล่าถึงทัศนคติและแนวคิดส่วนตัว
ในวันนี้ผมยังคงทำงานหนัก เพราะผมรู้ศึกว่าเราทำงานแล้ว สนุก มีความสุข ใน 1 สัปดาห์ผมทำงาน 6วัน วันหยุด 1 วัน ในช่วงเช้าผมใช้เวลากับครอบครัว แต่ช่วงบ่ายผมจะต้องไปเดินดูตลาด และเฝ้าดูลูกค้าใน Index Living Mall สาขาต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้า แต่ผมก็ตั้งปณิธานว่าในทุก ๆ 1 สัปดาห์ผมจะต้องได้ว่ายน้ำ หรือตีกอล์ฟ ซักหนึ่งครั้ง และในทุก ๆ 1ปีจะต้องเดินทางไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ไปเพื่อเปิดหู เปิดตา รับแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาสินค้า
ถามว่ามุมมองการบริหารธุรกิจในภาวะที่มีปัจจัยลบรอบด้านวันนี้ ... ผมมีความเห็นอย่างไรนั้น? จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมากว่าตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนออกมาให้เห็นว่า เราต้องรู้จักจุดหมาย มองไปที่จุดหมาย กำหนดจุดหมายให้ชัดเจน และใช้ความมุ่งมั่นเป็นส่วนประกอบเดินหน้าไปให้ถึงจุดหมาย เหมือนเช่นที่อินเด็กซ์ฯ กำลังทำในวันนี้ คือการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะรอบด้านยังไม่ดี
นั่นเป็นเพราะว่าผมมองว่าในวิกฤตย่อมมีช่องว่างของโอกาส ในขณะที่มีอุปสรรคทุกคนชะลอการลงทุน เพื่อรอภาวะที่ดีและกลับมาขยายการลงทุน แต่ผมมองว่าหากเราไม่ลงทุนขณะที่ภาวะคนอื่นชะลอกัน แต่กลับรอเวลาให้ภาวะดีแล้วจึงลงทุนนั้น จะทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤต เพราะเมื่อภาวะดีทุกคนก็ขยายการลงทุนทำให้การแข่งขันรุนแรง นั่นจึงกลายเป็นภาวะเสี่ยง
ในขณะที่หากเราลงทุนในช่วงที่คนอื่นชะลอลงทุนเราก็จะมีโอกาส ขยายตลาดได้มากกว่า เมื่อถึงช่วงที่ทุกอย่างกลับมาอยู่ในภาวะที่ดี เราจะกลายเป็นผู้ที่มีความพร้อมและได้เปรียบคู่แข่ง และเป็นผู้นำตลาดสามารถชี้นำตลาดได้
“ในการทำธุรกิจนั้น จงเป็นเบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 แต่อย่าเป็นเบอร์ 3, 4, ... เพราะมันจะเหนื่อยจากการตามผู้นำ เนื่องจากเราไม่สามารถชี้นำตลาดได้ ทำให้เราต้องเป็นผู้ตามด้วยความเหน็ดเหนื่อย .. และการทำธุรกิจนั้น จงอย่าเป็นผู้อยู่กลางน้ำ แต่จงเป็นผู้อยู่ต้นน้ำ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้อยู่ปลายน้ำ เพราะการเป็นผู้อยู่กลางน้ำนั้นทำให้เราไม่สามารถชี้นำตลาดเช่นกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือน เราเป็นผู้ผลิต ที่ไม่สามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งถูกควบคุมโดยผู้อยู่ต้นน้ำได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถชี้นำราคาได้ เพราะหากตั้งราคาขายแพงเกินไปก็จะทำให้ ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ขาย ไม่รับสินค้าของเราไปขาย แต่ถ้าหากเราเป็นผู้อยู่ปลายน้ำ เราคือผู้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง เรารู้ถึงความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมลูกค้า ทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้า และสามารถสร้างแบรนด์ของเราเองได้อย่างแข็งแกร่ง และยังสามารถชีนำราคาได้อีกด้วย” นายกิจจา กล่าวแนวคิดส่วนตัว
กรรมการผู้จัดการ “อินเด็กซ์” เส้นทางก้าวสู่ผู้บริหารธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ว่า “... ย้อนกลับไปเมื่อ23ปีที่ผ่านมา ผมเดินเข้าไปคุยกับ “ท่านประธาน” กลุ่มบริษัท บางกอก อินเตอร์เฟิร์น คุณพิศิษฐ์ ปัทมสัตยาสนธิ ผู้เป็นอา ขณะนั้นได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ และอยู่ระหว่างการขยายการผลิต ว่าต้องการจะทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการกว้าสู่เส้นทางการสร้างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จุดเริ่มต้นของผมไม่ใช่จะได้มาด้วยการทำงานโดยหน้าที่ แต่เกิดจากความรักในธุรกิจ และสนุกกับการทำงาน ซึ่งทำให้เรามีความสุขกับงาน ซึ่งเป็นที่มาของความทุ่มเทและการทำงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จนทำให้เรากลายมาเป็นผู้นำตลาด เป็นเบอร์ 1 ทั้งด้านมูลค่าขาย ยอดขาย การครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาด และเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจของผู้บริโภค
ในช่วงแรก อินเด็กซ์ฯ ยังเป็นผู้ผลิต House hall furniture ซึ่งผลิตเฉพาะเฟอร์นิเจอร์เหล็ก ชั้นวางของ ชั้นวาง TV, โต๊ะ, เก้าอี้ ของผู้ซื้อชาวสิงคโปร์เพื่อส่งไปขายในประเทศตะวันออกกลาง หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้ามาบริหารธุรกิจนี้ ผมเริ่มผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายเพื่อส่งออกไปเจาะตลาดในประเทศ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และประเทศญี่ปุ่น หลังจากได้การตอบรับที่ดีจากตลาด ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้รู้จักกับคู่ค้าจากประเทศ ญี่ปุ่นเข้ามาสนใจสินค้าของบริษัท เพราะประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของสินค้ามาก
ต่อมาคู่ค้าดังกล่าวได้ชักชวนให้ผมไปดูงานที่เมือง นาโกย่า ซึ่งเป็นแหล่งผลิต และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูง แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ญี่ปุ่นสูงมาก ทำให้คู่ค้าของเราชักชวนไปดูงาน และส่งวิศวกรมาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ เพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการผลิตสินค้า โดยมีจุดประสงค์ เพื่อต้องการให้บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าให้ หรือ OEM ซึ่งทำให้สินค้าของบริษัทพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายกิจจา กล่าวว่า แรงกดดันเรื่องคุณภาพสินค้า ทำให้ต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถส่งออกประเทศญี่ปุ่นได้ และในที่สุดญี่ปุ่นจึงกลายเป็นตลาดส่งออกหลัก ต่อมาเราเริ่มขยายการส่งออกไปที่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และในที่สุดก็สามารถส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปตีตลาดอเมริกาซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่สำเร็จ
จากการขยายตลาดส่งออกไปประเทศต่าง ๆ นี้เองทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ความต้องการของแต่ละตลาดแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก “ญี่ปุ่นเน้นคุณภาพ ยุโรปเน้นดีไซน์ อเมริกาเน้นเรื่องราคา” จากการสัมผัสตลาดโดยตรงทำให้ผม เปลี่ยนแนวคิดการทำตลาดใหม่ โดยนำแนวคิดการทำ Index Living Mall มาทำตลาดในประเทศ ทำให้เราเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายในเวลาเดียวกัน
การทำตลาดผ่าน Index Living Mallนั้น ได้มาจากการสัมผัสตลาดในอเมริกา ซึ่งผมเห็นว่าหากเราทำตลาดเฟอร์นิเจอร์ผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอย่างเดี่ยว โดยการเป็นผู้ผลิตอย่างเดี่ยวนั้น ยิ่งนานวัน ยิ่งทำให้อัตราการเติบโตถดถอย ในขณะที่การทำตลาดแบบ House Furnishing Store หรือทำตลาดผ่าน Index Living Mall ซึ่งเป็นแหล่งรวมเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้านที่ครบวงจร โดยมีสินค้าหลากหลาย และมีการจัดรูปแบบ ดีไซน์ และคัดเลือกสินค้าให้สอดคล้องกันเข้ากันในด้านการตกแต่ง ซึ่งทำให้เราอัตราการเติบโตของธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และทำให้อินเด็กซ์ฯ ก้าวมาสู่จุดแห่งความสำเร็จในปัจจุบัน