xs
xsm
sm
md
lg

Sid Vicious…3 ทศวรรษ การคืนกลับของพระเจ้าชาวพังค์?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ความรักของคู่เราไม่จบลงแบบซิด วิชซัส กับ แนนซี่ สปึนเจน หรอกนะ เพราะเรากำลังอินเลิฟ เปี่ยมไปด้วยแรงใจในการใช้ชีวิต”

“เอมี่ ไวน์เฮาส์” ราชินีแห่งเวทีแกรมมี่ครั้งล่าสุด เคยเอ่ยประโยคเด็ดที่ได้รับการกล่าวขวัญให้เป็น “ Quote Of The Week”

ส่วน “โคะมัตสึ นานะ” เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เรน” แฟนหนุ่มของ “โอซากิ นานะ” ดูคล้ายกับ “ซิด วิชซัส” แห่งวง “The Sex Pistols” ไม่น้อย แต่โอซากิ นานะ นักร้องนำวงพังค์ร็อคอย่าง “บราสต์” แย้งว่า


“ซิด เท่ห์กว่าเรนตั้ง 100 เท่า”

...ใครคือ ‘ซิด’ ?


-1- “Sid Vicious” นามนี้สำคัญไฉน?

หาก เอมี่ ไวน์เฮาส์ ไม่เอ่ยชื่อดังกล่าว ประโยคเชิดชูความรักของเธอกับแฟนหนุ่มจะกลายเป็นวาทะประจำสัปดาห์หรือเปล่า

แล้วเพราะเหตุใด ในเล่มแรกๆ ของการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องดัง อย่าง NANA ผลงานโดย ไอ ยาซาว่า นักเขียนมากฝีมือ จึงมุ่งเน้นให้นามของ “ซิด วิชซัส” และ “เดอะ เซ็กส์ พิสเทิลส์” ได้รับการเอื้อนเอ่ยบ่อยครั้ง ผ่านปากตัวเอกของเรื่องคือ “โคะมัตสึ นานะ” และ “โอซากิ นานะ” ...ราวกับเพื่อต้องการเชิดชู คารวะใครบางคนผู้เป็นเจ้าของนาม “ซิด” อย่างมีนัยสำคัญ

แม้แต่ “Proud” แกเลอรี่แห่งมหานครลอนดอน ยังอุทิศพื้นที่ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนเรื่อยไปกระทั่งถึงปลายเดือนกรกฎาคมของปีนี้ เพื่อจัดนิทรรศการรำลึกถึงชายผู้มีนามว่า ซิด วิชซัส ภายใต้ชื่อ
“Sid Vicious : No-one Is Innocent”

เพียงเพื่อร่วมรำลึกวาระแห่งการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ในการตายของซิด หรือเนื่องในวาระแห่งการถือกำเนิดขึ้นบนโลกครบ 50 ปี หากวันนี้เขายังมีชีวิต

ซิด เป็นใคร? จึงยังคงโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของผู้คนแม้จะหมดลมหายใจไปแล้วเนิ่นนาน

-2- นามนั้นสำคัญฉะนี้

‘ซาตานผู้โศกเศร้า’ ‘พระเจ้าชาวพังค์ผู้อาภัพ’...คำจำกัดความที่ว่านี้ อาจยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำสำหรับซิด วิชซัส ผู้มีนามจริงว่า จอห์น ไซมอน ริชชี เบเวอร์ลี (John Simon Ritchie-Beverly) มือเบสแห่งวงดนตรีพังค์ร็อคระดับตำนานของลอนดอนและของโลก อย่าง The Sex Pistols ที่ก่อตั้งขึ้นนับแต่ปี 1975 และยังคงอยู่ในใจสาวกชาวพังค์มาตราบทุกวันนี้ เช่นเดียวกับหลายบทเพลงอมตะที่แสดงถึงความขบถ อหังการ บ้าดีเดือดของพวกเขา เป็นต้นว่า God Save the Queen ,Anarchy in the U.K, My Way

สมาชิกของ เดอะ เซ็กส์ พิสเทิลส์ หรือที่เรียกอย่างย่นย่อว่า ’พิสเทิลส์ ประกอบด้วย นักร้องนำ นาม จอห์น ไลดอน (หรือ จอห์นนี รอทเทน (Johnny Rotten), มือกีตาร์ สตีฟ โจนส์ (Steve Jones) , มือกลอง พอล คุ๊ก (Paul Cook) และมือเบส เกล็น แม็ตล็อค (Glen Matlock) ก่อนที่แม็ตล็อคจะขอแยกทางกับวง ในปี 1977 รอทเทน จึงชักชวนซิดซึ่งเป็นเพื่อนร่วมวิทยาลัยเทคนิคแฮคนีย์ ให้มารั บตำแหน่งมือเบสของวง

นับแต่นั้น พระเจ้าชาวพังค์ ในร่างของซิด วิชซัส ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ภาพลักษณ์ความดิบ เถื่อน ก้าวร้าว หยาบคาย ไม่อินังขังขอบกับสิ่งใดของซิด แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วราวกับลัทธิมนต์ดำที่แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายจนยากจะต้านทาน ทั้งที่โดยปรกติวิถีของ ‘พังค์’ ก็คล้ายจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่การมาถึงของซิด มือเบสหน้าตาดีวัยเพียง 19 ปี ที่พกความมืดดำของชีวิตมาเต็มพิกัด ได้เติมเชื้อไฟใส่วิญญาณที่คุกรุ่นของเหล่าวัยรุ่นยุคนั้นให้คุโชนยิ่งขึ้นไปอีก

ซิดลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1957 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พ่อของเขาชื่อจอห์น ริทชี่ (John Ritchie) แม่ชื่อ แอนน์ เบเวอร์ลีย์ (Anne Beverly) พ่อทิ้งซิดกับแม่ไปตั้งแต่เขายังเล็กๆ เมื่อแม่แต่งงานใหม่ได้ไม่นาน พ่อเลี้ยงของเขาก็ตายจากไปอีก การต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกตามลำพังในเมืองใหญ่ เป็นงานที่หนาหนักสำหรับแอนน์ เป็นไปได้ว่าความเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า และความต้องการ “หนีปัญหา” แม้จะในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ผลักให้เธฮเดินสู่เส้นทางของการค้าและเสพยาเสพติด เมื่อซิดก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขากับแอนน์ จึงกลายเป็นคู่ ‘แม่-ลูกนักพี้ยา’อย่างสมบูรณ์แบบ แต่หยุดไว้เฉพาะโคเคนเท่านั้น ซิดยังไม่ก้าวไปไกลถึงขั้นเล่นผงขาว ชะตาชีวิตของซิดกับเฮโรอีน มาบรรจบพบกัน ก็ต่อเมื่อเขาได้พบกับ แนนซี่ สปึนเจน (Nancy Spungen) หลังจากก้าวเข้ามาเป็นมือเบสของ ’พิสเทิลส์ อย่างเต็มตัว

ในวัยยังไม่เต็ม 20 ชื่อเสียงที่โหมกระหน่ำถาโถมเข้ามาอย่างที่ไม่เคยคาดคิด จึงย่อมมีพลังมากพอที่จะชักนำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่ง “ตามหา” และ “ขาด” บางสิ่งมาตลอดทั้งชีวิต ระเริงไปกับแสงสีของวงการบันเทิงที่แสนเย้ายวน พร้อมๆ กับต้องแลกด้วยการเผชิญความกดดันมหาศาล

แต่ชื่อเสียงที่ได้รับ ไม่ทำให้ซิดยินดีเท่ากับการได้พบแนนซี่ สาวกพังค์ที่มาไกลจากฝั่งอเมริกา พร้อมกับหอบความมุ่งหวังที่อยากจะครองรักกับนักดนตรีพังค์ฝั่งอังกฤษ แต่เมื่อได้พบกับซิด ตัดสินใจคบกัน แนนซี่ก็มีเพียงแค่เขาเท่านั้น ความรักที่ทั้งคู่มีให้กันพิสูจน์ให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่า เธอไม่ใช่สาวแฟนคลับที่กรี๊ดกร๊าด คลั่งไคล้นักดนตรีเพียงเพราะชื่อเสียง แต่เธอรักซิดด้วยใจจริง

ไม่ต่างกัน ชีวิตของซิดราวกับได้รับการเติมเต็มให้หายขาดจากความอ้างว้างที่เกาะกินจิตใจ ใครที่ได้พบเห็น ต่างเชื่อมั่นว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อกันและกัน ไม่ว่าเกิดมาเพื่อรัก หรือชักชวนกันติดผงขาวงอมแงม

ในที่สุด ยา ‘นรก’ ซึ่งเคยเป็นหนทางสู่สวรรค์จอมปลอมของทั้งคู่ ก็นำไปสู่จุดจบอันน่าเศร้า

วันที่ 12 ตุลาคม ปี 1979 แนนซี่ถูกฆ่าตายในห้องพักของโรงแรมเชลซี กรุงนิวยอร์ค เป็นห้องพักที่มีเพียงเธอกับซิดเท่านั้น ซิดถูกจับกุมด้วยข้อหาฆาตกรรม ขณะอยู่ในสภาพเมายาอย่างหนัก เขาจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่เขายังคงยืนยันชัดเจน คือความรักที่เขามีต่อแนนซี่ และคำพร่ำรำพันทำนองว่า เขาจะฆ่าคนที่เขารักและรักเขามากถึงเพียงนั้นได้อย่างไร

แล้วซิดก็จากโลกนี้ไปในค่ำคืนหนึ่ง เพราะเสพเฮโรอีนเกินขนาดขณะที่ร่างกายรับไม่ไหว หลังจากที่เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากสถานบำบัดอาการผู้ติดยาเสพติด หนุนส่งให้ภาพลักษณ์ของซิด กลายเป็นศูนย์รวมของ ‘วิชซัส’ (Vicious) อันมีความหมายว่า ‘ความเลวทรามหยาบช้า’ ที่เขาใช้เรียกตัวเองอย่างภาคภูมิ นับแต่เมื่อครั้งยังเป็นสมาชิกวง The Flower of Romance …

หากจะหาใครสักคนมารับผิดชอบต่อเรื่องราวของซิด...เราอาจรวบตัวใครต่อใครที่เกี่ยวข้องกับเขา หรือไม่ก็คงจะควานไม่พบใครเลย

แต่ในอีกแง่มุม กล่าวได้ว่า ซิดเองก็ตกเป็น “เหยื่อ” คนหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจากสถาบันครอบครัวที่แหลกสลาย เหยื่อของสังคมที่ไม่มีทางออกให้คนโดดเดี่ยว เหยื่อของวงการบันเทิงที่เต็มไปด้วยเปลือกอันรุ่มรวยสวยงามแสนจอมปลอม รวมทั้งตกเป็นเหยื่อให้กับความกลวงเปล่าเบาหวิว ในจิตใจที่อ่อนไหว อ่อนแอของตัวเอง และสำหรับซิด ‘เฮโรอีน’ คือหนทางที่เขาเลือกใช้มาปลดปล่อยตนเอง

ใช้มันเป็นพาหนะที่นำเขาไปสู่การหลับใหลชั่วนิรันดร์ ในวัยเพียง 21 ปี

-3- Punk Never Die…ความตายมิอาจพราก

“บางคนอาจมองว่าซิดมีดีแค่หล่อ นอกนั้นไม่มีอะไรดีเลย เล่นเบสก็ไม่ได้เรื่อง ติดยาอีกต่างหาก แต่ที่ชีวิตเขาเป็นอย่างนั้น จะไปโทษเขาคนเดียวก็ไม่ถูก ”

“ใช่ครับ ซิดเล่นเบสไม่ได้เรื่องเลย แต่เรื่องราวชีวิตของเขามันน่าจดจำ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันไม่ได้สวยงามไงล่ะ”

“การที่วง ’พิสเทิลส์ แสดงคอนเสิร์ตอย่างเกรี้ยวกราด เนื้อเพลงมีคำสบถ หยาบคายเต็มไปหมด ผมว่าเราต้องมองไปถึงบริบททางสังคมของยุคสมัยนั้นด้วย เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่า เพราะอะไร พวกเขาถึงได้ลุกขึ้นมาแสดงพลังรุนแรงแบบนั้น”

เจ้าของความเห็นข้างต้นคือ may112 สาวน้อยนักเขียน เจ้าของผลงานนวนิยายเรื่อง “ The Moon Light วิกฤติหัวใจไขปริศนา” ที่มีเนื้อหาว่าด้วยความรักอมตะข้ามกาลเวลาของซิด วิชซัส กับแนนซี่ สปึนเจน โดยช่วยกันวางพล็อตและเขียนร่วมกับ mimoza เพื่อนผู้คอยรับหน้าที่สืบค้นข้อมูลของซิดอย่างรอบด้านที่สุด , ส่วน Joe Sundry หรือโจ แห่งร้านซันดรี ร้านจำหน่ายแผ่นเสียงย่านสวนลุมฯ ไนท์บาร์ซา คือเจ้าของความเห็นลำดับถัดมา ร่วมด้วย ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ร็อคเกอร์หนุ่มหล่อที่เราเคยมีโอกาสได้สนทนา ถามไถ่ถึงทรรศนะของเขาที่มีต่อ The Sex Pistols

ทั้งสามคน พูดคุยถึงซิด และ ’พิสเทิลส์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริบท หากก็ล้วนน่าสนใจไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะความเห็นของปีเตอร์ ที่เชื่อมโยงยุคบูมของ ’พิสเทิลส์ และแนวเพลงพังค์ร็อคเข้ากับอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยเดียวกัน คือราวทศวรรษ 70

“ผมมองว่าหากเป็นยุคนี้ คงไม่มีวงไหนเล่นเพลงเนื้อหาแรงๆ อย่าง ’พิสเทิลส์แล้ว เพราะสภาพสังคมมันเปลี่ยนไป พังค์วงอื่นๆ ก็เล่นซอฟท์ลงมา หาที่ทางใหม่ๆ หันไปริเริ่มแนวเพลงใหม่ๆ แต่ถ้าถามว่า ’พิสเทิลส์ และวงพังค์ร็อคในยุคนั้นมอบอะไรให้กับวงการเพลงหรือแฟนๆ ของเขา มันก็คงเป็นจิตวิญญาณขบถ แล้วทำไมเขาต้องขบถ นั่นก็เพราะว่ามันเป็นยุคที่คนหนุ่มสาวต่างเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกันอย่างเต็มที่เพราะพวกเขารู้สึกเหมือนกับถูกกดทับจากอะไรบางอย่าง”

ทรรศนะดังกล่าว ชวนให้ขบคิดต่อไปว่า ปัจจัยใดบ้าง ปลุกให้วัยรุ่นยุคนั้นลุกขึ้นมาแสดงจิตวิญญาณเสรี ก่นด่าได้ในทุกสิ่งที่พวกเขาสะอิดสะเอียน เอ่ยถ้อยคำที่บอกให้รู้ว่ากังขา เหม็นเบื่อ เกลียดชัง และไม่ยอมจำนนต่อขนบจารีตของสังคม


เป็นไปได้หรือไม่ ว่ามันอาจเป็นผลสะท้อนที่ยังคงตกค้างมาจากกระแสแห่งการต่อต้านสงครามเวียดนามในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 60 และ 70 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการถือกำเนิดขึ้นของ ’พิสเทิลส์ ในปี 1975 นั้น คือปีเดียวกันกับที่สงครามเวียดนามยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจจอมเกเรอย่างสหรัฐอเมริกา

และไม่ว่าอย่างไร ความอัปยศอดสูที่พญาอินทรีได้รับจากการพ่ายให้ประเทศเล็กๆ นี้ ก็ยังไม่เพียงพอแก่การ “ให้อภัย” จากผองชนผู้รักสันติ

ในช่วงที่สงครามเวียดนามยังดำเนินอยู่ ฅนดนตรีมากฝีมือ พร้อมใจแสดงพลังเพื่อเรียกร้องสันติภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า คริส คริสทอฟเฟอร์สัน กับบทเพลงบัลลาด Vietnam Blues ที่ประกาศเจตนารมณ์ยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับสงครามอย่างชัดเจน, แกรนด์ ฟังค์ เรล์โร้ด วงดนตรีเฮฟวี่ร็อค กับเพลง People Let’s Stop The War , Teas Down The Wall ผลงานมาสเตอร์พีซ ของศิลปินเพลงโฟล์ค จูดี้ คอลลินส์ มิพักต้องเอ่ยถึงตำนานอย่างบ๊อบ ดีแล่น,โจนี่ มิทเชลล์ หรือ บรูซ สปริงก์สทีน ที่ล้วนทุ่มเทให้กับการขับกล่อมบทเพลงเพื่อปลุกจิตสำนึกแก่มวลชน

นั่นเป็นงานของศิลปินที่ผ่านวันวัยและตกผลึกทางความคิด มีความละเมียดละไมวิจิตรในเนื้องาน และอาจเป็นเพราะว่ามีคนเหล่านี้อยู่แล้ว พังค์ร็อคที่เกรี้ยวกราดจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยพลังอันดิบเถื่อนออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวเกรง ไม่จำต้องละมุนละม่อม ไร้บทกวี ไร้ลำนำขับขาน ราวกับเป็นขั้วตรงข้ามของงานวิจิตรก็ไม่ปาน แต่ทว่า หากมองลึกลงไปกว่านั้น เพลงร็อคละเมียดบริสุทธิ์อย่างโฟล์ค หรือร็อคดิบเถื่อนอย่างพังค์ ก็ล้วนมีหมุดหมายปลายทางไม่ต่างกันนัก ต่างก็เพียงว่าศิลปินหลายต่อหลายคน อาจมุ่งไปที่การ “ปลดปล่อย” เพื่อเสรีภาพ แต่พังค์กลับมุ่งสู่การ “ปลดปล่อยตนเอง” เค้นความดิบของตนออกสู่สาธารณ ด้วยพลังอันรุนแรง ราวสายน้ำเชี่ยวกรากที่พร้อมปะทะทำนบให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ

ณ วันนี้ ยุคเฟื่องฟูหรือจุดสูงสุดของดนตรีพังค์ร็อคในช่วงปลายทศวรรษ 70 กลายเป็นอดีตไปแล้ว

แต่ทว่า “เดอะ เซ็กส์ พิสเทิลส์ ที่วางในร้าน ก็ยังขายได้เรื่อยๆ”

‘ป้าโด’ แห่งร้านเทป-ซีดีสุดเก๋าและเก๋ อย่าง ‘โดเรมี’ ณ สยามสแควร์ บอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ หากชัดเจนในความหมาย

ก่อนที่คำพูดของ โจ ซันดรี จะช่วยตอกย้ำ “Punk Never Die พังค์ไม่มีวันตายหรอกครับ ตราบที่โลกนี้ยังมีวัยรุ่น ”

และอาจเพิ่มเติมได้ว่า ตราบที่ยังมีคนรักและรำลึกถึงซิด...ไม่ว่าที่ผ่านมา เขาจะ ‘วิชซัส’ สักแค่ไหน

******************
เรื่อง : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

ข้อมูลอ้างอิง
Progressive Music ดนตรีวิวัฒน์ โดย ปนาพันธ์ นุตร์อำพันธ์
ผีเพลง ดนตรีขบถที่เปลี่ยนแปลงโลก โดย สิเหร่
www.proud.co.uk
www.wardsbookofdays.com








กำลังโหลดความคิดเห็น