ผู้หญิงคนหนึ่งเพิ่งผ่านงานแซยิดวัย 60 ปีไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แว่นตา หน้า ผม ยังรักษาความเปรี้ยวในวัยก่อนหน้าได้อย่างคงทน แม้ว่าสีผมและริ้วรอยจะบ่งบอกวันวัย แต่ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดๆ ห้ามไว้ว่าคนวัย 60 ห้ามเปรี้ยว
แต่เปรี้ยวในที่นี้ เราอาจต้องสำรวจตรวจตรากันหน่อยว่าเปรี้ยวแบบไหน เพราะโลกนี้มีทั้งแบบที่เปรี้ยวไปวันๆ กับเปรี้ยวแบบจี๊ดๆ ด้วยผลึกเวลา-ประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในตัว และด้วยผลงาน การกระทำต่างๆ ของผู้หญิงคนนี้ เราคิดว่าเธอน่าจะอยู่ในกลุ่มหลัง
ครูเล็ก หรือ ภัทราวดี มีชูธน ของลูกศิษย์จำนวนมากที่โลดแล่นอยู่ในทุกสาขาอาชีพคือคนที่เรากำลังเอ่ยถึง หากจะบอกว่าเธอคือเสาหลักต้นใหญ่ของวงการละครและการแสดงร่วมสมัยของเมืองไทยก็คงไม่ผิด
ในวัย 60 ปี ครูเล็กยังคงไฮเปอร์อย่างประณีต กระฉับกระเฉงอย่างนุ่มนวล และทำงานทุกวัน หยุดบ้างเวลาเหนื่อย ล่าสุด ครูเล็กกำลังมีโครงการจะเปิดโรงเรียน Pratravadi School of Performing Arts (PSPA) ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนที่ครูเล็กบอกกับเราว่าจะนำศิลปะกลับมาสู่การศึกษา หลังจากที่ 2 อย่างนี้หมางเมินกันมานาน
บทสนทนาล่วงเลยไปสู่เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะวงการศิลปะในบ้านเรา แต่ไม่ใช่ว่าจะอ่านกันได้เฉพาะศิลปินติสท์กระจาย คนทั่วๆ ไปก็อ่านดีเพราะการดำรงชีวิตก็คือศิลปะชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเต้นรำหรือแสดงมันออกมาด้วยท่วงท่าแบบไหน...
1
“โรงเรียนนี้จะสอน ม.4-6 ปีหน้ากลางปีเราจะรับสมัคร เราจะรับปีละ 100 คน โรงเรียนเราจะมีแค่ 300 คน แล้วเราจะพัฒนา Collage สำหรับ Performing Arts เลย ก็เหลือไม่กี่คน แต่คนเหล่านี้จะถูกพัฒนาให้เป็นเลิศตามศักยภาพของเขา ที่รับได้ 100 คน เพราะการฝึกอย่างนี้จะต้องฝึกเองกับมือ เหมือนอย่างเด็กที่นี่ ดิฉันดูแล ถึงจะไม่ได้ใกล้ชิดแต่ดิฉันก็ดูทุกคน มันต้องดูเป็นคนๆ เพราะว่าถ้าเราทำงานแบบอุตสาหกรรมเราก็จะได้ปลากระป๋อง แต่เราเป็น Design Product ทุกคนจึงถูกกล่อมเกลา ขัดเกลา เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะไปทำอะไรเขาก็จะไปเป็น Product ที่ดี เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในสายของเขา แต่ถ้าเราฝึกเป็นปลากระป๋อง เราก็จะได้เป็นปลากระป๋อง คือเหมือนๆ กันไปหมด มนุษย์ทำอย่างนั้นไม่ได้ เด็กเดี๋ยวนี้เยอะมาก ดิฉันก็อยากจะสร้างครูที่ไปสร้างเด็กให้เยอะขึ้นในชุมชนต่างๆ เหมือนที่ พี่นาย (มานพ มีจำรัส) ไปทำที่ราชบุรี ถ้าเรามีอย่างนี้เยอะๆ อยู่ตามชุมชนต่างๆ บ้านเมืองเราก็จะเจริญ เพราะงานของเราคือสร้างนักคิด คิดเป็น แล้วต้องทำเป็น ส่วนมากจะสร้างนักคิดแล้วทำไม่เป็นเต็มบ้าน เต็มเมืองเลย ชี้นิ้วแล้วทำไม่เป็น ตกลงแล้วใครจะทำ ฉะนั้น นักคิดจะต้องทำเป็นและต้องวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็น สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในตัวเขา แล้วเขาก็จะไปเป็นนายธนาคารที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องเทรนเขาให้เข้าใจ ให้รู้ว่าการทำงาน การดำรงชีวิตคือหัวใจ เขาจึงเรียกว่าตั้งใจ”
2
“Performance Arts จะเข้าไปในการสอนทั่วไป อย่างวิทยาศาสตร์เราเรื่องสมดุล เราเรียนเรื่องสมดุลของร่างกายในแดนซ์ เราเรียนธรรมะการพึ่งพาอาศัยกัน ในแดนซ์ การเล่นละครมันมีการพึ่งพาอาศัยกัน เขาเรียนแล้วเอามาปฏิบัติ แล้วจะคิดต่อไปว่าจะเอาที่เรียนมาปฏิบัติอะไรได้อีก หรือเอามีสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อะไรที่ขายได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เขาเรียนมันกลายเป็นการเจริญเติบโต พวกนี้จะออกมาเป็นนักคิด เธอจะคิดเก่งทางไหน ฉันไม่สนใจ บางคนอาจจะเขียนเก่ง เล่นเก่ง หรือทำอาหารเก่ง ไม่อย่างนั้นจะเรียนไปทำไม เรียนแล้วสอบ ดิฉันจะทำให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในการศึกษา การศึกษาเราน่าเบื่อมาก ไม่รู้เรียนไปทำไม เราไม่เคยทบทวนว่าวันนี้เรียนไปทำอะไร เพื่ออะไร”
3
“เป็นคนไปดูแลทุกอย่าง แล้วก็ไม่ได้ใช้เงินมากมาย มันก็จะเป็นอย่างนี้ (ชี้มือไปรอบๆ) เรียนกันใต้ร่มไม้ เรียนในสวน เรามีห้องเรียน ฝนตกก็ไม่เปียก แต่ในห้องเรียนเราก็มีอุปกรณ์ทันสมัยทุกชนิด เพราะเราเอาเงินไปลงตรงนั้นให้เด็กได้เรียนรู้ แทนที่เราจะเอาเงินไปสร้างตึกราคา 200 ล้าน เราไม่ทำ โรงเรียนเราเป็นหลังคาจาก แต่เรามีเทคโนโลยีทุกอย่างให้เด็กและเรามีครูชั้นดี เรามีซอฟต์แวร์ที่ดี แต่ฮาร์ดแวร์ที่พออยู่ได้ แต่จะสวยและเก๋ เด็กจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ไม่ใช่ติดแอร์ทั้งตึก ไม่มีใครอยู่ในแอร์ เราไม่ทำร้ายธรรมชาติ สอนเด็กให้รู้จักธรรมชาติ รู้จักหาเงิน สมมติว่าถ้าเรียนประวัติศาสตร์หน้าเดียวจะเอาไปทำอะไรได้ บางคนอาจจะไปทำละคร บางคนอาจจะตีความ เอาโคลงมาสร้าง และก็จะเล่นทุกศุกร์ เสาร์ มีคนมานั่งดู เราไม่ขายตั๋ว แต่จะให้ดูฟรี เด็กก็จะมาขายอาหาร ใครเก่งตรงไหนก็ทำงานตรงนั้น เพื่อทำให้เห็นว่าทุกอย่างที่เราเรียน เราเอามาหากินได้หมด นี่คือสิ่งที่หายไปจากโรงเรียน เราเรียนเพื่อสอบ แต่เราจะไม่แคร์เรื่องสอบ เมื่อเขาทำทุกอย่างที่เขาเรียนออกมาเป็นงานแล้ว เรื่องสอบจะเป็นเรื่องจ้อยเลย เพราะเขาทำอยู่ทุกวัน กิจกรรมมันทำให้เราแตกฉานในสิ่งที่เขาเรียน”
4
“เวลาเราตั้งใจทำงาน เราต้องเอางานเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เงินเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเอาเงินเป็นที่ตั้งก็จะได้เงินแต่ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้ความสุข ไม่ได้อะไรที่อยู่เหนือขึ้นไปจากเงิน แต่ถ้าเอางานเป็นที่ตั้งจะได้หลายๆ อย่างมาก รวมทั้งเงินด้วย ตรงนี้คือที่มันหายไปจากสังคม แล้วที่พยายามทำให้เห็น จะมีคนถามว่าอยู่ไปได้ยังไง ทำแล้วคุ้มเหรอ คุ้ม (เน้นเสียง) ไม่อย่างนั้นฉันจะอยู่มาได้ยังไง 20 ปี และฉันก็มีความสุข สร้างสิ่งที่ดีๆ อยู่ได้ และฉันก็ไม่ได้ยากจน ถึงบอกว่าถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ได้เราก็จะได้อะไรที่มากกว่าเงิน”
5
“มันอยู่ได้เพราะว่าการที่เราสร้างคนก็คือเราสร้างงาน เมื่อสร้างงาน เงินก็ตามมา เราไม่ได้สร้างคนอย่างเดียวนะ เราสร้างคนให้ไปสร้างงาน เราจึงได้เงินเพราะเราสร้างงาน แล้วเด็กที่เราสร้างมาก็เจริญเติบโต ทุกคนได้เงิน อย่างพี่นายแต่ก่อนนี้ค่าตัว 200 บาท เดี๋ยวนี้ค่าตัวเป็นแสน เขาก็ทำงานที่ใหญ่ขึ้น ทำงานให้เรา เราก็ได้เงินมากขึ้น เราก็ได้ความรู้ใหม่ ได้สร้างเด็กใหม่ มันได้เยอะมาก”
6
“ต้องดูในหลวงท่านทำงานเป็นตัวอย่าง ดิฉันดูท่านอยู่ตลอดเวลา การคิดของท่าน ท่านไม่ได้ทำเพื่อการตลาด ท่านทำเพื่อสร้างสิ่งที่ดีงาม เมื่อเราคิดแค่นั้น ปัญญาเกิด พอปัญญาเกิดก็ทำอะไรได้เยอะแยะ ดีงาม ได้ทั้งความรู้สึกที่ดี Image ที่ดี ได้เงินตามมา โครงการของท่านก็ไม่ได้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายนะ ท่านทำแล้วท่านหาเงิน อย่างดอยตุงท่านก็ปลูกแมคคาเดเมีย ทำไมท่านไม่ปลูกกะหล่ำปลี เพราะท่านไม่แย่งงานชาวบ้านไง ท่านปลูกสิ่งที่ชาวบ้านไม่มีเพื่อที่จะได้มีเงินเข้ามาเลี้ยงดอยตุงและก็มีกำไร แล้วเอากำไรมาให้การศึกษาเด็ก สร้างเด็กให้ฉลาดขึ้น งานตรงนี้ก็ขยายขึ้น ท่านทำตัวอย่างให้เห็นแล้ว เราก็แค่ทำตาม ดิฉันก็เป็นแค่เปอร์เซ็นต์เดียวของพระองค์ท่าน แต่เราก็อยู่ได้ และสนุก มีความสุข”
7
“ถ้าเรารู้จักสร้างสมดุล เงินกับศิลปะก็ไปด้วยกันได้ ถ้าจะเอาเงินจริงๆ ตรงนี้จะรวยไม่รู้เรื่องเลย เพียงแต่ว่าดิฉันเอาแค่พอเหนื่อย เหนื่อยแล้วหยุด ถ้าจะเอารวยก็ไปได้ แต่มันไม่จำเป็นสำหรับดิฉัน ส่วนใครอยากจะเอารวย เขาก็ไปรวยกันหลายคน แต่พอรวยมากๆ ก็จะหันกลับมามองว่ามีความสุขแค่ไหน”
8
“ความสุขคือสบายใจ ปัญหามี ทำอะไรก็มีปัญหา ตื่นขึ้นมาแล้วข้าวก็มีปัญหาแล้ว แต่ตื่นขึ้นมาแล้วมีความสุขที่ได้ทำงาน ถึงเหนื่อยไม่ได้นอนก็แฮปปี้ เพราะงานที่ทำไม่น่าเบื่อ ทุกอย่าง Exiting for Me หรือใครเอาปัญหามาให้ ลูกศิษย์มาหาเราแล้วก็แย่งงานเราไป แย่งลูกค้าเราไป แต่ก่อนเราจะมีการฟ้องร้องนะ แต่เราได้เรียนรู้ว่าเวลาที่ใครมาเอางาน เอาความคิดเราไป มันทำให้เราคิดใหม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะนั่งอยู่กับของเก่า ถ้าเราไม่ได้คิดใหม่ เราก็จะจมอยู่กับของเก่าๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ก็ไม่เกิด เราก็ไม่ฉลาดขึ้น เราจะหวงทำไม ก็ให้เขาไปเป็นทาน เขาจะได้เอาไปทำมาหากิน เราก็คิดใหม่ สมองเรามี ตังค์เราก็มี คนถึงได้ตามที่นี่ไม่ทัน เราจึงได้อยู่ในเทรนด์”
9
“สิ่งหนึ่งที่มันหายไปจากสังคมไทย คือเวลาเราทำละครชิ้นหนึ่ง อย่างตอนนี้ดิฉันทำกับฮ่องกง ความยาว 10 นาที กระบวนการคิดต้องละเอียดทุกเม็ดเลย จะใช้ซาวนด์ยังไง จะคอสตูมยังไง จะเคลื่อนไหวจากจุดจุดหนึ่งยังไง เพื่อที่เราจะเล่าหัวใจเราให้คนดูฟัง แค่ 10 นาที เราต้องเตรียมงาน 1 ปี นี่คิดทุกคืน ซ้อมทุกคืน เตรียมทุกคืน เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กเขามาอยู่ในกระบวนการต่อไปจะทำอะไรก็ตามก็จะอยู่ในกระบวนการคิดที่ละเอียด บางคนเก่งแล้วเริ่มหยาบ เริ่มไม่คิดทุกวัน ศิลปินจะคิดทุกวันว่าจะทำอะไร ถ้ามันลงตัวก็คือลงตัว เขาเรียกตั้งใจ แต่ส่วนมากก็ทำๆ แล้วเอาแพะมาชนแกะ บ้านเมืองถึงเป็นอย่างนี้ไง สมัยก่อน ศิลปินไม่ได้ทำแบบนี้นะ เขาทำทุกวัน ลงมือทำ ทำทีละนิด และพัฒนาความคิดไปเรื่อยๆ ศิลปะมันสอนเรื่องรายละเอียด แล้วเมื่อเราได้ทำงานกับคนที่ละเอียดกว่า เก่งกว่า ก็เกิดองค์ความรู้ เกิดการพัฒนา”
10
“วงการละครไม่เกิดการพัฒนาเพราะเราไม่มีผู้ใหญ่ที่มี Vision กว้างไกลและทำจริงๆ จังๆ ไม่ใช่สตางค์ไม่มี เรามีทุกอย่างในประเทศนี้ แต่ขาดอย่างเดียวคือความเอาจริงเอาจัง เราถึงบอกว่างานละครมันสอนให้คนเอาจริงเอาจังกับงานเล็กๆ แล้วพองานใหญ่เราก็จะเอาจริงเอาจังกับมัน แต่การศึกษาไม่ได้สอนให้เราเอาจริงเอาจังกับอะไรเลย ความสม่ำเสมอก็ไม่ค่อยมี ทุกคนทำการบ้านเพื่อต้องส่งครู ไม่อย่างนั้นจะโดนตี ทำการบ้านคือความสม่ำเสมอ คือการฝึกซ้อม อย่างที่นี่มีครูจากต่างประเทศมาสอน เด็กไทยเราก็มาบ้าง ไม่มาบ้าง เด็กเรามีความรู้สึกว่ามาก็ได้ ไม่มาก็ได้ เดี๋ยวก็ได้เล่นโชว์แล้ว เขาไม่ได้ทำงานเพื่อที่จะให้สิ่งที่ที่สุดในตัวเขาแก่คนดู เขาแค่จะเล่นโชว์ ดาราบางคนซ้อมได้ดีแล้วก็ไม่มาซ้อม เราบอกไม่ได้ ยูต้องมาซ้อม เทคนิเชียล ไฟ เสียง เขาต้องซ้อม พอเราดีแล้ว เขาต้องซ้อมเพื่อให้เราดูดียิ่งขึ้น เราจึงต้องมาไง แล้วพอเราพังก็ไปด่าเขา การละครมันจึงสอนการทำงานร่วมกัน เอื้ออาทร อ่อนน้อมถ่อมตน ความสามัคคี และการบริหารจัดการ”
11
“วงการละครมีคนเยอะขึ้น มีดีมานด์เยอะขึ้น ดีขึ้นมั้ย ก็อาจจะทันสมัยขึ้น มีเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ถามว่าลึกๆ ลงไปในหัวใจมันดีขึ้นมั้ย ดิฉันว่ามันไม่ดี คนยังไม่ถึงหัวใจตรงนั้นเพราะติดอยู่กับเวลาที่ต้องรีบผลิต เงินเท่าไหร่ ติดกับวัตถุรอบข้าง เอาใจตลาด แล้วก็จะมาอ้างนู่น อ้างนี่ โทษคนนั้น คนนี้ แต่เราไม่เอาความคิดของเราออกมาให้สำเร็จ เราถึงบอกว่าศิลปะมันจะสอนให้เราทำงานยังไง ให้คิดได้และทำได้ แต่ถ้าทำออกมาแล้วไม่เวิร์ก มันก็เจ๊ง เจ๊งแล้วจะไปโทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเราเอง เวลาใครทำอะไรแล้วเจ๊ง ครูบอกได้เลยว่าทำไมเจ๊ง มันไม่ดีจริง ลึกๆ เราต้องยอมรับ มันไม่ดีจริงเพราะหนึ่ง สอง สาม สี่ ก็ไปแก้ไข แต่เรามักจะไปโทษคนอื่น ไม่มีใครไม่ชอบของดี ดีแล้วต้องสนุกด้วย ต้องน่าสนใจ”
12
“ไม่มีคนเขียนบทละคร แล้วทุกคนเขียนตั้งใจ๊ ตั้งใจ ตั้งใจเขียนออกมาดีไง มันเลยไม่สนุก เราถึงบอกว่าทำงานคนเดียวไม่ได้ งานที่เขาเขียนมาดี ลุ่มลึก แต่ไม่สนุก แต่คนที่ทำละครต้องทำตรงนี้ให้สนุก เพราะมันเป็นหน้าที่เราจะทำตรงนี้ให้สนุก ให้อร่อย คนเขาเอาของมาวางให้แล้วต้องปรุงให้เป็น”
13
“ละครโทรทัศน์ก็คือละครชนิดหนึ่ง แต่พอคนนี้ตลกดีก็ตลกกันหมด เหมือนกันหมด บู๊ดีก็บู๊ไปหมด เราเก่งเรื่องอะไร เราก็ทำเรื่องที่เราเก่ง แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นตรงนั้นก็ทำง่ายๆ ก๊อปปี้มาให้หมดเพราะมันขายได้ ยิ่งซีร็อกมันก็จะยิ่งจางลง เราต้องสร้างงานใหม่ขึ้นมาถึงจะเข้มข้น จึงต้องมีที่แบบนี้ ค่อยๆ สร้างงานเล็กๆ จนได้สร้างงานใหญ่ๆ แต่นี่เราไม่ได้สร้างโรงละครให้เด็ก อย่างที่เกาหลี เมื่อก่อน 10 ปีที่แล้วเขาต้องมาดูงานเรา เดี๋ยวนี้เขามีเป็นร้อย เป็นพันโรง จนเราต้องไปดูงานเขาเพราะเขาไปไกลกว่าเราเยอะ เด็กที่เขาฝึกไปจากโรงละคร เดี๋ยวนี้ไปทำแด จัง กึม แล้วมาถามว่าเราจะได้งานอย่างนี้ได้ยังไง เอ๊า คุณไม่สร้าง แล้วจะเอางานแบบนี้มาจากไหน คุณต้องสร้างคน”
14
“ธรรมะกับศิลปะมันไปด้วยกัน แล้วมันสอนให้เราเป็นคนที่จะทำอะไรก็ได้และทำได้ดี และไม่มีจน แต่ถ้าขี้เกียจ บอกว่าเราเป็นคนดี เรารักศิลปะ เราเก่ง อีโก้มาแล้ว คนต้องมาง้อเรา นั่นไง ตัวตนเกิด แต่ถ้าอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างงาน อยากให้คนอื่นมีความสุข มีรายได้ บุญกุศลคือเราสบาย”
15
“เดี๋ยวนี้มันก็เปรี้ยวได้ระดับหนึ่ง คำว่าเปรี้ยวก็แล้วแต่กาลเทศะ ยุคสมัย เด็กๆ ก็นุ่งกระโปรงสั้น ใส่เว้าหน้า เว้าหลัง โตแล้วก็ต้องนุ่งกระโปรงยาว เปรี้ยวแบบกระโปรงยาว” (หัวเราะ)
16
“เมื่อก่อนเวลาศิษย์เราไป เราจะรู้สึก อ้าว แหม ฝึกมาเกือบตาย ยังไม่ทันได้ใช้งานอะไรเลยก็ไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีความรู้สึกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนใหม่มา งานก็ทำไปได้ หน้าที่เราคือฝึกเด็ก ฝึกไปเดี๋ยวก็เก่ง เผลอๆ เขามีของเดิมมา เช่น เป็นนักดนตรี เป็นนักเขียน เราจึงมีลูกศิษย์ที่มีสมบัติเดิมมาบวกกับสมบัติที่นี่ ก็เลยได้งานใหม่ๆ ที่ดีกว่างานเก่า”
17
“ที่นี่ก็เปลี่ยนทุกปี มันอย่างนั้นมันเชย ครูไม่ได้กลัวเชย แต่จะไม่ยอมเชย บางอย่างโบราณมาก แต่ถามว่าโบราณนั้นเชยมั้ย ไม่เชย ฉันว่าเท่ เพราะว่าในปัจจุบันนี้ไม่มี คนลืมไปแล้ว พอเอามาใช้ กลายเป็นเท่ คำว่าเท่แปลว่าน่าสนใจ ไม่ใช่หมายถึงเก๋ โชว์ออฟ เพราะฉะนั้นไอเดียบางอย่าง เช่น เอารำไทยมารำ แต่ต้องรำให้โบราณจริงๆ คนก็รู้สึกน่าสนใจ แต่เชยของครูคือทำแล้วทำอีก ก๊อปปี้ที่เจือจาง นั่นแหละคือเชย แล้วก็ทำตามคนอื่นโดยไม่รู้ที่มาที่ไป เชยในด้านความคิด”
18
“เคยคิดเรื่องวางมือ แต่เดี๋ยวนี้ไม่วางแล้ว เพราะวางทีไรมันมีความรู้สึกว่าวางทำไม แล้วเราจะเอาเวลาที่เหลือของชีวิตไปทำอะไร เคยถามท่านอาจารย์วษิฎฐ์ เดชกุญชร ว่าจะไปอยู่ป่าแล้วนะ ท่านก็บอกว่าไปอยู่ทำไม ถ้าไปอยู่ก็ไปสอนลิงเล่นละคร ไปเดือดร้อนลิงอีก อยู่ที่นี่แหละ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ถ้าจะวางมือจริงๆ คือเราพร้อม เราไปเพื่ออะไรสักอย่างและไปโดยไม่ต้องถามใคร ถ้าเรายังถามอยู่ก็แปลว่าเรายังไม่พร้อม ก็ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดก่อน”
*************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล