xs
xsm
sm
md
lg

"Fat Boy Terminator" ยุทธการลดน้ำหนักเด็กอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคที่ประเทศไทยถูกครอบครองด้วยสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อเหล่านี้โดยตรง ไม่แปลกที่วิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก จากเด็กรุ่นก่อนที่เคยทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีการละเล่นชนิดต่าง ๆ กับเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างสนุกสนาน เด็กรุ่นใหม่หลายคนกลับคุ้นเคยกับเพื่อนที่ชื่อ "เกมออนไลน์ รีโมตทีวี และอาหารฟาสต์ฟู้ด" แทน ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่เราจะได้เห็นภาพของเด็กอ้วนจ้ำม่ำอยู่ดาษดื่นในสังคมไทยทุกวันนี้

การกระตุ้นให้กลุ่มเด็กอ้วนลุกขึ้นมาแก้ไขพฤติกรรมก็ดูสร้างความลำบากใจให้คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย เมื่อปลั๊กไฟทั้งหลายต่างพร้อมจ่ายไฟเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้า เด็กเพียงกดปุ่มเปิดเครื่องก็สามารถเข้าถึงกิจกรรมที่เขาชื่นชอบได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า "รองเท้ากำจัดเด็กอ้วน" (Fat Boy Terminator) ผลงานจากแนวคิดของ ดร.มานพ อ้อพิมาย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมระบบวัดคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โดยมีอาจารย์ชนม์รัตน์ ตติยะวรนันท์ และอาจารย์วัณโณ ยีตำ เป็นผู้ดูแลโครงงานพัฒนา เพื่อหวังเป็นตัวช่วยควบคุมน้ำหนักในเด็กได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของ Fat Boy Terminator ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ ได้แก่ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) ขนาดประมาณ 1 x 1 นิ้ว ฝังอยู่ในรองเท้าเด็ก และ Power Controller สำหรับควบคุมการจ่ายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้า

"ชุดตรวจจับการเคลื่อนไหวนั้น จะประกอบด้วย แบตเตอรี่ 3 โวลต์ สำหรับจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, Motion Sensor สำหรับนับจำนวนครั้งของการวิ่ง และไมโครคอนโทรลเลอร์ สำหรับบันทึกค่าการเคลื่อนไหวไว้ในหน่วยความจำ ซึ่งโดยเฉลี่ย การก้าวเท้า 1 ก้าวของเด็กเล็ก จะมีระยะทางเท่ากับ 50 เซนติเมตร ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกอย่างต่อเนื่องและสามารถนำมาเปลี่ยนเป็น "เวลาในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า" ของเด็กได้ครับ" อาจารย์ชนม์รัตน์กล่าว

สำหรับรองเท้าที่เหมาะสม คือ รองเท้าหุ้มส้นสำหรับใส่ออกกำลังกาย และมีพื้นที่บริเวณส้นเท้าค่อนข้างหนาเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ควบคุม

นอกจากรองเท้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Power Controller หรือชุดแปลงข้อมูลการวิ่งเป็นระยะเวลาในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า มีหน้าที่คอยควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ทำงานตามเวลาที่เด็กสะสมไว้ในรองเท้า เมื่อเวลาหมด Power Controller จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที เด็กจะต้องกลับไปเคลื่อนไหวใหม่อีกครั้งถ้าหากต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น ๆ ต่อ

"ด้านหลังของ Power Controller จะมีเต้าเสียบปลั๊กไฟอยู่ เราสามารถนำปลั๊กไฟทีวี เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ มาเสียบได้หมด ถ้าเด็กต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ เขาต้องมีการสะสมแต้มเอาไว้ในรองเท้า จะด้วยการเดิน หรือการวิ่งก็ตาม จากนั้น จะมีการถ่ายโอนข้อมูลผ่านพอร์ต USB เข้ามาในระบบ เพื่อคำนวณเป็นระยะเวลาที่เด็กคนดังกล่าวจะสามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ครับ"

"ปกติแล้ว ถ้าหากวิ่งเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรจะสามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 30 นาทีครับ" อาจารย์วัณโณ ผู้ดูแลในส่วนของ Power Controller กล่าว

จากการทดสอบกับเด็ก ๆ พบว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถกระตุ้นเด็กที่มีน้ำหนักเกินให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เพื่อสะสมแต้มพลังงานใหม่ได้เป็นอย่างดี

"งบประมาณในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ตกอยู่ราว 3,000 บาท และยังเป็นผลงานต้นแบบ สำหรับโอกาสในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ๆ คงต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นหลัก บทบาทของนักวิจัยคงเป็นเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้มากกว่าครับ" อาจารย์ชนม์รัตน์กล่าว

สำหรับแนวทางในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ Fat Boy Terminator ในขั้นต่อไป อาจารย์ชนม์รัตน์เปิดเผยว่า ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายช่วยลดความอ้วนในเด็กที่มักอยู่ติดกับทีวี-เกม จนไม่ยอมออกกำลังกายเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กลุ่มนักกีฬา ที่ต้องการนำข้อมูลการวิ่งมาเก็บเป็นสถิติ หรือเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางร่ายกาย เป็นต้น

"ในอนาคตเราจะเปลี่ยนการโอนถ่ายข้อมูลให้เป็นระบบไร้สาย เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อข้อมูลจากรองเท้าเข้าสู่ Power Controller จากที่ในปัจจุบัน เรายังเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB อยู่ครับ" อาจารย์วัณโณ กล่าวเสริม

เคยมีคำกล่าวที่ว่า เทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคม มีคุณประโยชน์แต่ก็มีโทษอนันต์ แท้จริงแล้ว คำกล่าวนั้นอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว การแพร่เข้ามาของเทคโนโลยีหรือวัฒนธรรมใด ๆ ก็ตาม จะมีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับ "สำนึก" ของผู้ที่เลือกนำเทคโนโลยีนั้นเข้ามาด้วย หากมนุษย์ที่มีความคิดดีหยิบเทคโนโลยีมาใช้ เขาย่อมหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนารองเท้ากำจัดเด็กอ้วน เทคโนโลยีที่มาพร้อมแนวคิดดี ๆ ของอาจารย์ชนม์รัตน์ ตติยะวรนันท์ และอาจารย์วัณโณ ยีตำ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น