xs
xsm
sm
md
lg

ให้ @ สวนลุมพินี ปลูกเพลงกลางสวน สร้างสุขกลางใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนสนุกดนตรียิ้มละไม
จังหวะ คือ เสียงเต้นของหัวใจแม่ ท่วงทำนอง คือ เสียงสายน้ำคร่ำวนไหลในครรภ์มารดา เสียงร้อง อุแว้ อุแว้ คือเพลงแรกที่เราร้อง ดนตรีอยู่กับเราตั้งแต่เกิด ดนตรีอยู่ในลมหายใจ เติบใหญ่เป็นชีวิต หล่อเลี้ยงจิตใจ สร้างสุขเสมอมา

ดนตรี มีอยู่ในธรรมชาติ นกร้อง ใบไม้ไหว ธารน้ำไหล หริ่งหรีดเรไร ไผ่เสียดกอ มโหรีของสายลม

ดนตรี มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เสียงหยดน้ำจากฝักบัว เสียงสายฝนกระทบพื้นถนน เสียงวิทยุบนรถแท็กซี่ เสียงเคาะกะละมังถังพลาสติก เสียงหัวเราะไร้เดียงสาของเด็กนักเรียน

ดนตรี พบเจอได้ในทุกที่ วณิพกข้างถนน บ้านดนตรีไทย ดนตรีในชุมชน โรงเรียนสอนดนตรี มหาวิทยาลัย คอนเสิร์ต

ดนตรี เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ บางครั้งเรียบง่าย บางทีซับซ้อน ร้อนแรง บางสิ่งดูธรรมดา บางอย่างหรูหราอลังการ

ที่สำคัญ ดนตรีมาจากความรักในหัวใจ ไม่ว่าจะวัยไหน ครบสามสิบสองหรือไม่ เชื้อชาติอะไร
ยากดีมีจน

ดนตรีทำให้เรายิ้มได้ ไม่เหงา และมีเพื่อน ดนตรีทำให้จินตนาการกว้างไกลออกไป โลกใบใหญ่เข้าใกล้เรามากขึ้น ดนตรีทำให้เราได้แสดงออก หยัดยืนตัวเองให้ใครต่อใครได้รับรู้ ดนตรีทำให้เราได้ออกกำลังกาย สนุกสนานท้าทายสร้างพลัง ดนตรีทำให้เรามีสมาธิ เข้าถึงจิตวิญญาณ ดนตรีเติมความหวังกำลังใจ ให้ชีวิตก้าวต่อไปด้วยกัน

ดนตรีเป็นเสรีภาพ โบยบินเหมือนปีกผีเสื้อกลางฟ้ากว้าง หลากหลายเหมือนสีสันของดอกไม้แห่งฤดูกาล ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดน ไม่มีชนชั้น ไม่จำกัดเพศวัย ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำลาย

แล้วเราจะร่วมกันร้องเพลงบรรเลงดนตรี สร้างสีสันให้โลกรื่นรมย์ สร้างสุขให้ทุกคน…อย่างไรดี….?

นี่คือจุดเริ่มต้นของ 'ดนตรีสร้างสุข' ที่แผนงานเชิงรุกด้านสื่อและกิจกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญสมาคมวิชาชีพด้านดนตรี สถาบันการศึกษา ศิลปิน กลุ่มดนตรีอิสระ มาร่วมประชุมระดมสมองเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ 'ดนตรีสร้างสุข' ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 กระทั่งพัฒนาเป็น 'เครือข่ายดนตรีสร้างสุข'

จาก 21 โครงการทั่วประเทศ มีเยาวชนเข้าร่วมค่ายดนตรีมากกว่า 1,000 ชีวิต สร้างสรรค์บทเพลงของตนเองมากกว่า 100 เพลง จัดกิจกรรมดนตรีสร้างสุขสัญจรสู่โรงเรียน ชุมชน และกลุ่มด้อยโอกาส มีผู้เข้าชมนับ 10,000 คน รวมถึงมหกรรมดนตรีระดับภูมิภาคที่เปิดเวทีให้เยาวชนดนตรีสร้างสุขได้แสดงผลงานของตนเองอีกไม่น้อยกว่า 100 วงที่มีใจรักสมัครเล่น

ก่อนจะมารวมพลกันครั้งใหญ่ ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26 – 27 เมษายนนี้ ในงานมหกรรรมดนตรีสร้างสุข ให้ @ สวนลุมพินี ซึ่งกำลังจะเป็นปรากฏการณ์สำคัญ แหวกความจำเจของเทศกาลดนตรีทุกรูปแบบ ด้วยกิจกรรมดนตรีหลากหลายสำหรับทุกวัย โดยไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากใจรุ่นอาวุโส

ไพจิตร ศุภวารี ประธานสมัชชาศิลปิน หนึ่งในเครือข่ายดนตรีสร้างสุขรุ่นอาวุโส ลงมาขยับจับกิจกรรมค่ายดนตรีกับเด็กๆ จากทั่วทุกสารทิศ เปิดเผยความรู้สึกของอดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง มารับบทเป็นครูสอนแต่งเพลงกับเด็กๆ จนมีลูกหลานเพิ่มอีกครอบครัวใหญ่ เล่าว่า

“วิทยากรทุกคนที่มาทำงานร่วมกัน ต่างก็มีวัยวุฒิมาก ไม่นานก็จะจากโลกนี้ไปแล้ว เลยอยากฝากอะไรไว้ในโลกนี้บ้าง งานที่เราทำ เราเป็นผู้สร้าง ผู้ให้ เป็นครู เราอยากช่วยเด็ก ช่วยพัฒนาพวกเขา ทุกคนที่ทำมีความสุขที่ได้เป็นผู้ให้แก่เยาวชน นอกจากทุกวันที่ต้องทำงานพาณิชย์ศิลป์ แต่นี่เป็นงานศิลปะบริสุทธิ์กับเด็กๆ”

กว่าเจ็ดสิบชีวิต ตั้งแต่อายุ 6 ขวบถึง 24 ปี จากภูมิหลังลูกหลานพ่อค้าแม่ขาย สาวโรงงานย่านรังสิต จากครอบครัวแรงงานรับจ้างแพปลาพระประแดง มหาชัย ไปจนถึงชุมชนที่พักอาศัยของข้าราชการชั้นผู้น้อยแถวประชาชื่น กลายเป็นนักร้อง นักเต้น นักดนตรี บนเวทีแห่งความฝัน โดยไม่ต้องไต่บันไดดาราหรือประกวดประชันขันแข่ง

“เด็กเหล่านี้อยากเขียน แต่ง ร้อง เล่น บางคนพอทำได้ แต่ต่อยอดไม่ได้ ไม่มีค่าเรียน เมื่อเขาได้เรียน ก็พัฒนาเป็นนักเขียนเพลง แต่งเพลงได้ เพราะเรามีครูอย่างวินัย พันธุรักษ์, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, วีระ บำรุงศรี สอนเขียนเพลงโดย สันติ เศวตวิมล เด็กๆ ได้หัดแต่งเพลง ร้องเพลง เรียนรู้การเขียนคำ สัมผัสใน การต่อประโยค รู้จักฉันทลักษณ์ ผู้ปกครองที่มานั่งฟังกับเด็กๆ ได้รับความรู้สึกดีๆ ข้อคิดต่างๆ ในเพลง ซึมซับเข้าไปในชีวิตประจำวัน สร้างความเข้าใจกัน รักกัน รักพ่อ รักแม่ รักบ้านเกิด” อาจารย์ไพจิตรสรุปผลของกิจกรรมดนตรีสร้างสุข

เหล่าเยาวชนดนตรีนับร้อยๆ ชีวิตจะยกขบวนขึ้นบรรเลงเพลงทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง ทั้งร้อง เล่น เต้น เพื่อแสดงผลงานดนตรีของตัวเองด้วยความภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ นักเรียนมัธยมศึกษาจากสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย, เด็กๆ จากชุมชนรอบๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมาคมครูดนตรี, นักเรียนระดับประถมกับวงอังกะลุงจากโรงเรียนเกาะสีชัง โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแบ่งปันสร้างสุขกับทุกคืนกลางสวนลุมฯ ที่บริเวณเวทีเพลงสร้างสุข ด้านถนนวิทยุ

สวนสนุกดนตรี

สำหรับกลุ่มครอบครัว มีกิจกรรมโดดเด่นน่าสนใจที่ควรพาเด็กๆ ไปแบ่งปันสร้างสุขกัน นั่นก็คือ ‘สวนสนุกดนตรี’ โดยกลุ่มดนตรียิ้มละไม อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของเมืองไทย กับการเปิดพื้นที่ของ ‘สวนสนุกดนตรี’ ในสวนสาธารณะ โดยไม่หวังผลกำไรเชิงธุรกิจ อัจฉริยา กิตติประเสริฐศรี หรือ จอม ผู้ประสานงานกลุ่มดนตรียิ้มละไม เล่าแนวคิดที่มาของ ‘สวนสนุกดนตรี’ ที่เกิดจากการเอาเครื่องเล่นในสวนสนุกสำหรับเด็กมารวมกับเสียงดนตรี ว่า

“พื้นฐานประการแรกของสวนสนุกดนตรี คือให้เด็กได้เรียนรู้ดนตรีจากการเล่น ประการที่สองคือเราโยงเข้ากับคอนเซ็ปต์ของดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นพื้นฐานของร่างกายคน ให้เด็กรู้จักธาตุทั้ง 4 และเข้าใจว่าถ้าดิน น้ำ ลม ไฟ ภายนอกดี ดิน น้ำ ลม ไฟภายในก็ดีด้วย อยากให้เด็กได้ใช้เวลา สัมผัสดนตรี เข้าใจตัวเอง และรู้จักเพื่อนๆ มีเด็กๆ วัยเดียวกันมาเล่นด้วยกัน”

จอมยกตัวอย่าง ‘กระดานหกดนตรี’ ที่กำลังสร้างทำเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อนำมาติดตั้งที่สวนลุมพินีว่า ได้รับแรงบันดาลใจจาก Rain Stick ของชนเผ่าต่างๆ ที่ใช้ในพิธีขอฝน ส่วน ‘ชิงช้าเสียงลม’ คอนเซ็ปต์คือลม เอาไม้ไผ่เป็นที่นั่ง เมื่อโล้ชิงช้าแล้วให้เสียงลมผ่าน หรือติดกังหันที่เกิดเสียงดนตรีในลีลาต่างๆ นอกจากนี้ยังมี ‘สวนน้ำดนตรี’ มีอ่างน้ำที่ใช้ท่อน้ำขนาดต่างๆ กัน ความลึกของน้ำที่ต่างกัน ซึ่งจะสัมพันธ์กับคน เช่น ตีท่อน้ำ 10 คน จะต่างจากตีคนเดียว ความสั้นยาว ระยะใกล้ไกล ก็ต่างกัน เด็กๆ จะสนุกกับการค้นหาว่าต่างกันอย่างไร ตรงไหนเกิดเสียงอย่างไร

“เหมาะสำหรับเด็กซนซึ่งก็คือเด็กทุกคน เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ซน เพราะจริงๆ แล้วนี่คือพื้นที่ของการเรียนรู้ ก่อนจะไปถึงสวนสนุกดนตรี เราให้เด็กๆ ได้ผ่านด่านก่อน ให้ครอบครัวมาช่วยกันเล่น เราทำ Rain Stick อันใหญ่ที่ต้องใช้หลายคนช่วยกันยก ยาว 3 เมตร ท้าทายให้ครอบครัวได้มาช่วยกัน ดูซิว่าครอบครัวเราประสานสัมพันธ์กันได้เป็นหนึ่งเดียวแค่ไหน ส่วนด่านเรือนกระจก เป็นการเรียนรู้เรื่องโลกร้อน เด็กจะเริ่มจากทายปัญหา ได้ต่อจิ๊กซอว์ ทำไมโลกร้อนนั่งต่อในเรือนกระจก เด็กจะได้สัมผัสเลยว่าถ้าเราอยู่ในโลกที่ร้อนเราจะรู้สึกอย่างไร ไปพร้อมกับเข้าใจสาเหตุมันมาจากไหนบ้าง” จอมย้ำต่อไปว่า

“ยิ้มละไมมองว่าดนตรีเป็นเรื่องของความงามในชีวิตประจำวัน ขณะที่ปัจจุบันดนตรีถูกทำให้เป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตประจำวันไปซะแล้ว อยากให้ดนตรีเชื่อมโยงกับเด็ก บ้านใครมีหม้อ กระทะ ไห ก็สามารถสัมผัสดนตรีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเฉพาะว่าเป็นเครื่องดนตรีราคาแพงถึงจะได้สัมผัสกับดนตรี “

ความหวังของยิ้มละไมไม่ได้หยุดอยู่แค่สวนลุมพินี แต่ปรารถนาให้ ‘สวนสนุกดนตรี’ ไปปรากฏในหมู่บ้านเล็กๆ ทั้งบนดอย ชายทะเล หรือชุมชนแออัด

“อยากให้มีการสร้างสวนสนุกดนตรี เหมือนเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับเด็ก มีผู้ใหญ่ใจดีสร้างงานร่วมกับเด็ก ให้ชุมชนมองจากทรัพยากรของตัวเอง ที่ผ่านมาชุมชนถูกทำให้อ่อนแอ พึ่งพาภายนอก ทั้งที่ทุกชุมชนมีศิลปินของชุมชนเอง อย่างวงดนตรีที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่มีอยู่ทุกที่ ถ้ามีผู้ใหญ่มาทำ สร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเอง ทำอย่างไรให้ชุมชนค้นคว้าค้นหาจากทรัพยากรที่ตนเองมี”

นอกจาก ‘สวนสนุกดนตรี’ ยิ้มละไมแล้ว ยังมีกิจกรรมที่อยู่ในโซน ‘หมู่บ้านดนตรี’ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคลินิก ‘ทำคลอดเพลงแรกในชีวิต’ กับ ศุ บุญเลี้ยง และ กะทิกะลา พร้อมด้วยศิลปินรับเชิญ เป้ สีน้ำ ร่วมแจมบทเพลงละเลงสีกลางสวนลุม กิจกรรมลานบ้านลานเพลง โดย โฮป แฟมิลี่

“อยากให้เสียงดนตรีสร้างความสุขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่สนุกสนานอย่างเดียว แต่เพื่อให้เกิดความสุขและสันติอย่างแท้จริง ให้คนรุ่นใหม่ได้คิดถึงสังคม คิดถึงโลกใบนี้ผ่านเสียงเพลง” ลูกศร–วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล แห่งวงโฮป แฟมิลี่ เผยความตั้งใจและกิจกรรมที่จัดขึ้นให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมเพื่อธรรมชาติและชุมชน

ห้องบันทึกเสียงกลางสวน

หนึ่งในกิจกรรมโดดเด่นของมหกรรมดนตรีสร้างสุข ให้ @ สวนลุมพินี ด้วยไอเดียสุดเท่ คือ ‘ห้องบันทึกเสียงกลางสวน’ ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นซึ่งมีวงดนตรีและผลงานเพลงของตัวเอง สามารถยกขบวนมาอัดเสียงแล้วนำผลงานกลับบ้านได้เลย โดยมีทีมวิทยากรจากอมรสตูดิโอและกลุ่มโคตรอินดี้ เป็นผู้จัดการด้านเทคนิค อำนวยความสะดวกและจัดกิจกรรมเสริมอีกเพียบ

“สมัยผมเรียน ป.6 ผมอยากบันทึกเพลงค่าน้ำนมในวันแม่ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องอัด ผมจึงคิดว่าเราน่าสร้างโอกาสให้ดนตรีเข้าไปหาคนธรรมดาบ้าง ไม่ต้องเสียตังค์ให้มากนัก ผมนึกภาพเหมือนเราเล่นดนตรีกลางสวนให้เพื่อนดู และเสียงเพลงของเราเข้าไปที่มิกซ์เลย เป็นการอัดสด” บุรินทร์ทร แซ่ล้อ หรือ เฮง หัวหน้ากลุ่มโคตรอินดี้ ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกทั่วประเทศร่วม 50 กว่าวง สาธยายกิจกรรมเอาใจวัยรุ่นผู้หลงใหลในเสียงดนตรีทั้งหลายต่อไปว่า

“ระหว่างรอคิวบันทึกเสียง จะมีการเวิร์กชอปเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ กีตาร์ กลอง เบส ว่าเครื่องดนตรีมีชีวิตของมันอย่างไร เราจะค้นหาตัวเองจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้อย่างไร ในมุมมองของผม กิจกรรมนี้น่าจะบอกอะไรสังคมได้บ้าง โดยไม่ต้องผ่านการวิจัยอะไร เราจะได้รู้แน่แก่ใจว่าดนตรีสร้างสรรค์อย่างไร มีคุณค่าในตัวเองขนาดไหน ถึงได้พาเด็กคนหนึ่งออกจากบ้านมาในงาน กลับบ้านไปยังคุยถึงสิ่งที่ทำและได้อะไรกลับไปบ้าง มันเป็นความสุข เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องการกำลังใจ มิตรภาพ แรงบันดาลใจ ได้เพื่อนใหม่”

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตลาดนัดดนตรีไม่มีจำกัด ด้วยการสอนร้อง เต้น และการแสดง โดยโรงเรียน 4 ศิลป์ มีวิทยากรอย่าง เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, นนทิยา จิ้วบางป่า มาเปิดคอร์สสร้างสุขกันกลางสวน ซุ้มกิจกรรมหิมพานต์คู่โลก โดย ทอดด์ ทองดี และเพื่อน พร้อมด้วยคอนเสิร์ตคนรุ่นใหม่ใจสร้างสุขโดย วง SCRUBB และ FLURE

เรียกได้ว่า สวนลุมพินีจะกลายเป็นสวนดนตรีสำหรับทุกเพศวัย ขณะที่ตลอดบริเวณสวนลุมพินียังถูกสร้างสรรค์เป็นแกลเลอรีแสดงศิลปะ “สาธารณะ “สุข” นำเสนอโดยหอศิลป์ตาดูอีกด้วย

“ถ้าพูดถึงสวนลุมพินี เราอยากเน้นความเป็นสาธารณะของงานศิลปะเข้ามาด้วย เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเดี๋ยวนี้มันมีความเป็นส่วนตัวของศิลปินมากเกินไป ปัจจุบันเมื่อสร้างศิลปะเสร็จก็หยุดกันอยู่แค่นั้น ไม่ได้ขยายออกไปเอื้อให้สาธารณะได้ชื่นชม ได้วิจารณ์ งานนี้เป็นโอกาสที่จะได้ชวนศิลปินและผู้ชมมาสังสรรค์แนวคิดเรื่องศิลปะกับสาธารณะ” อภิศักดิ์ สนจด ผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดู เล่าแนวคิดและเปิดเผยรายละเอียดงานศิลปะและการแสดงละครกลางสวนที่จะเกิดขึ้น

“คนที่มาสวนลุมพินีจะได้สัมผัสกับงานศิลปะกลางสวน อย่างผลงานของนายดีช่างปั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มาติดตั้งผลงานในสวนสาธารณะ ประชันกับผลงานประติมากรรมของศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะของลาวและอีสาน ใช้เทคนิคปั้นแบบท้องถิ่น แต่แสดงออกในรูปลักษณ์สมัยใหม่ ส่วนละครเร่ เราเลือกหุ่นเงา เรื่องเสียงกระซิบจากแม่น้ำ ของคณะพระจันทร์เสี้ยวที่เพิ่งกลับมาจากแสดงที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอมริกา”

เพราะ 'ให้' จึงได้รับ

มหกรรมดนตรีสร้างสุข ‘ให้’ @ สวนลุมพินี ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตเรียกแฟนเพลง ไม่ใช่แค่งานโชว์ความเป็นดารา หรือเวทีไต่เต้าอยากดังของวัยรุ่นอยากแสดงออก แต่เป็นที่ทางสำหรับการเรียนรู้ที่จะให้และแบ่งปันความสุขผ่านเสียงดนตรี

ในวันนี้ ความสุขในใจผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ ‘ดนตรีสร้างสุข’ ได้สะท้อนผ่านเรื่องราว ทัศนะ และผลลัพธ์เชิงคุณค่าทางจิตใจ ที่เกิดจากกิจกรรมดนตรีและบทเพลงสร้างสรรค์ แบ่งปันสร้างสุข อันอาจเป็นหนึ่งหนทางที่น่าสนใจในการต่อยอดขยายผล เพื่อใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นสื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป

หมายเหตุ เสาร์–อาทิตย์ที่ 26–27 เมษายนนี้ ถนนดนตรีทุกสาย โลกศิลปะทุกแขนง มุ่งสู่สวนลุมพินี เพื่อแบ่งปันสร้างสุขสำหรับทุกคน ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9
ผลงานศิลปะของกลุ่มดนตรียิ้มละไม
เด็กๆ กับดนตรีกระป๋อง
ดนตรีไร้พรมแดนจากคนรุ่นใหม่โดยตาดูหูฟัง
วูดูแบนด์ ดนตรีไร้พรมแดน
ผลงานนายดีช่างปั้น
ประติมากรรมกลางแจ้ง
โป่ง หิน เหล็ก ไฟ กับเยาวชนดนตรีสร้างสุข
ศิลปะกลางสวน
หุ่นเงาพระจันทร์เสี้ยว
เยาวชนกอดทะเลด้วยเสียงเพลงจากโฮป แฟมิลี่
วงสะเดาะเคราห์กับโอ๋ ดูบาดู
กระดานหกดนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น