ผ่านการทำงานเชื้อเชิญผู้คนมาเที่ยวประเทศไทยก็ตั้งมากมาย สำหรับ พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
หากมองอีกมุมหนึ่งคนอื่นก็คงอยากทราบเหมือนกันว่า แล้วผู้หญิงคนนี้ล่ะ มีวันหยุดพักผ่อน หรือการท่องเที่ยวในรูปแบบใดบ้าง
หญิงเหล็กที่กุมบังเหียน ททท. คนนี้ ย้อนปูมหลังให้ฟังว่า ครั้งแรกในชีวิต เท่าที่จำได้ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกๆคือหัวหิน เพราะพื้นเพเดิมเป็นคน บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยไปเที่ยวกับครอบครัว คือ คุณพ่อ และคุณแม่ ส่วนเที่ยวครั้งแรกสมัยเป็นนักเรียน คือ ไปเที่ยวแบบทัศนะศึกษากับโรงเรียน ที่บางแสน จ.ชลบุรี ขณะนั้นเป็นนักเรียนประจำ อยู่โรงเรียนปานะพันธ์ ย่านลาดพร้าว ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นดิสเคาท์สโตร์ไปแล้ว ส่วนเที่ยวครั้งล่าสุดของครอบครัว ซึ่งมี สามี ลูกสาว และคุณแม่ คือไปเที่ยว จ.เชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา
เที่ยวกับครอบครัวในวันหยุด
พรศิริ เล่าว่า ภาระงานที่หนักและต้องเดินทางบ่อย ทั้งไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศ , เป็นรองผู้ว่าการฝ่ายตลาดต่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน ที่ดำรง ตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาพาครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวไปที่ไกลๆมากนัก แต่มักจะใช้เวลาว่างช่วงหลังเลิกงาน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ไม่ได้เดินทางไปไหน พาครอบครัวออกไปทานข้าวนอกบ้าน และเดินชอปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการชาร์ตแบตให้กับตัวเองได้แล้ว
ส่วนประโยชน์ของการที่ได้เดินทางไปทำงานยังที่ต่างๆบ่อย ได้เห็นอะไรมากมาย จะถือเป็นการท่องเที่ยวแบบสร้างประสบการณ์ให้ชีวิตก็ว่าได้ เพราะได้นำสิ่งที่รู้เห็นมาปรับใช้กับการทำงานได้ทั้งหมด การเดินทางไปพบกับสิ่งใหม่ๆ จึงถือเป็นการเรียนรู้ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน โลกคือห้องเรียนที่กว้างใหญ่ จึงเชื่อว่า การท่องเที่ยว ได้พบปะผู้คน ไม่ว่าจะรูปแบบใดเราทุกคนจะได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน
จากมุมมองข้างต้น ถือได้ว่า เป็นปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจเข้ามาทำงานในองค์กรนี้ตั้งแต่เรียนจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพราะต้องการเผยแพร่เชิญชวนให้ทุกคนได้ท่องเที่ยว เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุข เราเองซึ่งเป็นผู้เชิญชวน ก็มีความสุข ที่จะได้นำเสนอประเทศไทยในมุมต่างๆ ที่ได้ไปเห็นมาให้เขาได้ไปเที่ยวกัน เหมือนกับว่าเป็นการบอกต่อแบบเพื่อนสู่เพื่อน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น จะให้เขาแน่ใจว่าเราต้องการมอบสิ่งดีๆให้แก่เขา ก็ต้องให้ตัวแทนของเขามาเห็นกับตา มาสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง ด้วยตัวเอง นั่นคือที่มาของแนวกลยุทธ์ในเรื่องของการจัดแฟมทริป
“สำหรับตัวเองแล้ว การได้เดินทางไปทำงานที่ตัวเองรัก ก็ถือว่าได้ท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง ซึ่งมีบางครั้งก็พาครอบครัวไปด้วยในคราวเดียวกัน ก็ถือเป็นการเที่ยวแบบครอบครัวได้ ทั้งตัวเอง สามี ลูก และ คุณแม่ เราจะได้เที่ยวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน”
ทำงานให้เป็นเรื่องท่องเที่ยว
ด้านแนวทางการทำงาน เนื่องจาก ททท. ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปเสียทุกเรื่อง จึงชอบที่จะนำองค์กรไปร่วมประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เน้นเรื่องของการหาพันธมิตรทางการทำงาน ซึ่งนอกจากประหยัดงบประมาณแล้ว ยังจะได้งานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เพราะจะได้ประชาสัมพันธ์ผ่านในหลายๆเครือข่าย ซึ่งจะตรงกับนิสัยส่วนตัว
คนใกล้ชิดและทีมงานที่ทำงานอยู่ด้วยกันจะทราบดีว่า ดิฉันชอบร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้กว้างขวาง ทำให้ทุกๆองค์กรเป็นเพื่อนของเรา ซึ่งจะพูดคุยกันง่ายขึ้น เพราะ ทั้ง หาดทราย ชายทะเล ภูเขา วัด โบราณสถาน ล้วนอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นๆทั้งสิ้น ททท.เป็นหน่วยงานที่นำทรัพยากรเหล่านั้นที่ประเทศไทยมีอยู่ มาสร้างมูลค่าให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะหน้าที่หลักของ ททท. คืองานด้านการตลาด
ถึงตรงนี้ ผู้ว่าการ ททท. บอกว่า การทำงานของ เราต้องเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ก็ต้องเลือกดูว่า สิ่งไหนดีเหมาะกับบุคลิกของเมืองไทย ก็จัดทำเป็นรายการไปเสนอยังผู้ซื้อในต่างประเทศ หน่วยงานที่สำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตไปด้วยดี
ที่ ททท.ร่วมงานอยู่อย่างสม่ำเสมอคือ บริษัทนำเที่ยว สื่อมวลชน และ สายการบิน ทั้งสามส่วนมีความสำคัญมาก เราต้องคบหาแบบให้เขารู้สึกเป็นเพื่อนของเรา เป็นเพื่อนของประเทศไทย พาเขามาเที่ยว แล้วเราเป็นเจ้าบ้านที่ดี เมื่อเขาได้รับสิ่งดีๆกลับไป ก็จะ ไปถ่ายทอดในมุมมองที่ดีของประเทศไทย ผ่านตัวหนังสือ ผ่านโบร์ชัวร์ของบริษัทนำเที่ยว ด้วยแรงเชียร์ต่างๆเหล่านี้ จะมีผลโดยตรงกับการตัดสินใจของชาวต่างชาติที่จะตัดสินใจเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
มอบสิ่งดีๆให้แก่สังคม
สำหรับตลาดคนไทย ททท.จะเป็นหน่วยงานที่สรรสร้างความสุขให้แก่คนไทย ในรูปแบบต่างๆ ผ่านกิจกรรม ที่ ททท.เป็นผู้จัดงาน เช่น เทศกาล สงกรานต์ ลอยกระทง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ร่วมถึงการเข้าร่วมในงานประเพณีท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังใช้เครือข่ายทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้คนไทยได้เดินทางท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมการทำกิจกรรมให้แก่สังคม เช่น การนำเยาวชนผู้ด้อยโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยว โดยจัดโครงการ “เยาวชนรู้รักษ์แหล่งท่องเที่ยว” เน้นเยาวชนทั่วไป และกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสทางสังคม รวม 400 คน เข้าร่วมทัศนศึกษาข้ามภูมิภาคตามเส้นทางต่าง ๆ
แบ่งเป็น 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง “รู้รักษ์วัฒนธรรม” (กรุงเทพฯ – อุดรธานี) โดยนำเยาวชนจำนวน 100 คน เส้นทาง “รู้รักษ์ทะเล” ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน กลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เส้นทาง “รู้รักษ์วิถีชุมชนเกษตร” (กรุงเทพฯ – จันทบุรี) เส้นทาง “รู้รักษ์ป่าไม้” (กรุงเทพฯ – พิษณุโลก – เพชรบูรณ์) โดยจัดกิจกรรมเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ และปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำ และลดภาวะโลกร้อน
“ทุกการทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อได้เห็นรอยยิ้มของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนๆ เราก็มีความสุข ชาวบ้านร้านค้าขายของมีรายได้จากนักท่องเที่ยว เราก็มีความสุข ความเหนื่อยล้าก็หมดสิ้น” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ ผู้ว่าการ ททท. คนปัจจุบันที่แสนสดชื่นจริงๆ