xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยราชาสแปมเมล "Robert Soloway"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราชาสแปมเมลคนนี้ เคยโฆษณาไว้ว่าสามารถส่งอีเมลโฆษณาสินค้าได้สูงสุด 20 ล้านฉบับภายใน 15 วัน โดยคิดราคาเพียง 495 เหรียญ หรือประมาณ 16,000 บาทเท่านั้น

ข่าวคำตัดสินโทษราชาสแปมเมลชื่อกระฉ่อนนาม "โรเบิร์ต โซโลเวย์ (Robert Soloway)" ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าราชาอีเมลขยะรายนี้คือใคร ผลงานโบแดงที่ทำให้ชื่อโซโลเวย์ติดอันดับเบอร์หนึ่งในบัญชีหนังหมาของหน่วยงานหลายประเทศ การส่งสแปมเมลมีความผิดทางกฎหมายสาหัสจนถึงต้องโทษจำคุกหลายสิบปีจริงหรือ และสถานภาพการจับกุมนักส่งอีเมลขยะเข้าห้องขังในเมืองไทย

ที่สำคัญ เยาวชนชาติไทยที่อ่านบทความนี้แล้วโปรดอย่าได้คิดเลียนแบบ ถ้าไม่อยากไปใช้ชีวิตบั่นปลายในคุกขี้ไก่ถึง 26 ปีอย่างราชาสแปมเมลคนนี้

สู่บัลลังก์ราชา

โรเบิร์ต อลัน โซโลเวย์ (Robert Alan Soloway) นั้นไม่ปรากฏข้อมูลส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ทั้งวันเกิดหรือสถานศึกษา แม้แต่ข้อมูลรูป ยังมีเพียงภาพเหมือนของโซโลเวย์เท่านั้น

โซโลเวย์สร้างอาณาจักรอีเมลขยะด้วยการตั้งบริษัท Newport Internet Marketing (NIM) ใช้การตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นตัวบังหน้าในการดูดเม็ดเงินจากกระเป๋านักลงทุน ความชำนาญในการสร้าง"ซอมบี้พีซี (Zombie PC)"เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งอีเมลขยะหลายล้านฉบับทั่วโลกทำให้ได้รับฉายาราชาสแปมเมล

ไม่ใช่เฉพาะโซโลเวย์ที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้ นักส่งอีเมลขยะจำนวนไม่น้อยใช้วิธีเจาะระบบแล้วแฝงตัวควบคุมเครื่องจากระยะไกลผ่านบ็อทเน็ต (Botnet) เช่นกัน คอมพิวเตอร์ที่ถูกควบคุมจะถูกเรียกว่าซอมบี้พีซี พีซีผีดิบนี้เป็นเครื่องมือชั้นดีในการส่งอีเมลขยะแบบลูกโซ่ไม่สิ้นสุด

กลุ่มรณรงค์ต่อต้านอีเมลขยะของอังกฤษ Spamhaus เป็นรายแรกที่จัดชื่อโซโลเวย์เข้าสู่บัญชีดำในปี 2001 จากนั้นโซโลเวย์ครองแชมป์เป็นนักสแปมเมอร์ยอดแย่ที่สุดในปี 2003 ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจะพบว่าคอมพิวเตอร์ประมาณหนึ่งล้านเครื่องของสหรัฐอเมริกากำลังถูกควบคุมโดยแฮกเกอร์ผ่านบ็อทเน็ต (Botnets) และได้ร่วมมือกับพันธมิตรในอีก 60 กว่าประเทศเพื่อสกัดกั้นปัญหาซอมบี้พีซีเพื่อไม่ให้ลุกลามขยายวงออกไปมากกว่านี้

ข้อมูลจากผู้ที่เคยเข้าสู่เว็บไซต์บริษัท NIM ของโซโลเวย์ ระบุว่าโซโลเวย์โฆษณาศักยภาพของบริษัทว่าสามารถส่งอีเมลโฆษณาสินค้าได้สูงสุด 20 ล้านฉบับภายใน 15 วัน คิดราคาเพียง 495 เหรียญหรือประมาณ 16,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันส่งฟรี โดยโฆษณาให้นักการตลาดเชื่อว่าสามารถส่งอีเมลชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ ให้กับ 2,500,000 อีเมลแอดเดรส

โซโลเวย์ที่ขณะนี้มีอายุ 28 ปี ถูกจับครั้งแรกเพราะการฟ้องร้องของไมโครซอฟท์ โดยใช้เทคนิกแอบอ้างชื่อบริการ MSN และ Hotmail ของไมโครซอฟท์ ว่าเป็นผู้ส่งอีเมลขยะเหล่านี้ ไมโครซอฟท์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโซโลเวย์เป็นเงิน 7 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือนธันวาคมปี 2003 โดยมีความผิดฐานเจาะระบบคอมพิวเตอร์พ่วงท้าย ที่สำคัญ ค่าปรับจำนวนนี้ไม่เคยเรียกเก็บได้เพราะโซโลเวย์ปกปิดข้อมูลบัญชีธนาคาร

โซโลเวย์อ้างว่าตนเองเป็นนักการตลาดบนอินเทอร์เน็ตที่ถูกกฎหมาย ได้รับค่าตอบแทนในการทำธุรกิจโฆษณาและได้รับไอดีเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทเหล่านี้มาใช้อย่างถูกกฎหมายในการส่งอีเมลโฆษณามหาศาล ขณะที่ทนายความไมโครซอฟท์ยืนยันว่า โซโลเวย์คือหนึ่งในสิบนักส่งอีเมลขยะที่อันตรายที่สุดในโลก

กรรมจากธุรกิจเมลขยะ

คดีที่ถูกไมโครซอฟท์ฟ้องร้องไม่ได้ทำให้โซโลเวย์หยุดส่งอีเมลขยะ โซโลเวย์ไม่สนใจการฟ้องร้องจากบริษัทน้อยใหญ่ที่มีมาตลอดปี 2004 และ 2005 โดยแก้ข้อกล่าวหาว่าบริการของเขานั้นอยู่ในข้อยกเว้นตามกฎหมาย แม้ศาลจะพิสูจน์ได้ว่าโซโลเวย์งัดทุกกลเม็ดขึ้นมาใช้ทั้งการสลับไอพีแอดเดรสเว็บไซต์ให้รอดพ้นจากการตรวจจับ ลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตกับผู้ให้บริการสัญชาติจีนเพื่อพลางตัว หรือแม้แต่การใช้โปรแกรมส่งอีเมลขยะ Dark Mailer

โซโลเวย์อยู่ระหว่างรอลงอาญาจนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม 2007 ศาลซีแอตเทิลตัดสินว่าโซโลเวย์มีความผิดฐานแอบอ้างชื่อบุคคล ฉ้อโกงทรัพย์สิน และสร้างเรื่องหลอกลวงประชาชนผ่านทางอีเมล เบ็ดเสร็จ 35 กระทง ครั้งนี้ศาลเสนอโทษจำคุกสูงถึง 65 ปีเพราะผลจากคดีอาญา และต้องการให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 773,000 เหรียญที่โซโลเวย์ได้จากความเดือดร้อนรำคาญของชาวอินเทอร์เน็ต

14 มีนาคม 2008 โซโลเวย์บรรลุข้อตกลงกับศาลสหรัฐฯก่อนที่ความผิดจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 กระทง ยอมรับความผิดในข้อหาฉ้อโกง ส่งอีเมลหลอกลวง และละเว้นการจ่ายภาษีเพื่อแลกกับการหยุดฟ้องข้อหาอื่น โทษจำคุกคือ 26 ปี และลดค่าปรับเหลือ 625,000 เหรียญ โดยให้การว่า สามารถทำเงินจากธุรกิจส่งอีเมลขยะมากกว่า 3 แสนเหรียญสหรัฐฯในช่วงปี 2005 และไม่เคยเสียภาษีตามกฎหมายเลยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เขายืดอาชีพนี้มา

ไทยไม่ได้จับเพราะไม่มีฟ้อง

พันตำรวจเอกญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงการจับกุมราชาสแปมเมลว่าเป็นเรื่องดี โดยเหตุการณ์การจับกุมนักส่งอีเมลขยะในประเทศไทยนั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีผู้ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีอย่างจริงจัง

"คนพวกนี้สร้างความร่ำรวยบนความเดือดร้อนรำคาญของผู้อื่น สำหรับเมืองไทยการฟ้องร้องหาตัวผู้ส่งอีเมลขยะสามารถทำได้แต่ต้องพิจารณาลักษณะอีเมลนั้นๆ เช่นจำนวนฉบับ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายอย.หรือไม่ ปกปิดที่มาที่ไปหรือไม่ เหล่านี้หากคนธรรมดาต้องการฟ้องร้องอาจลำบาก แต่ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์สามารถทำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครส่งเรื่องฟ้องอย่างจริงจัง"

พันตำรวจเอกญาณพลอธิบายว่า กฎหมายเอาผิดอีเมลขยะของประเทศไทยนั้นรับแบบอย่างมาจากกฎหมายยุโรป เนื้อหาระบุว่าอีเมลขยะนั้นต้องปกปิดที่มาที่ไป มีการปลอมตัวแอบอ้างชื่อผู้อื่น เป็นอีเมลที่รบกวนการทำงานของเครื่อง ข้อจำกัดเหล่านี้มักถูกนำไปพลิกแพลงจนทำให้นักส่งอีเมลขยะรอดพ้นความผิดไปได้ และปรากฏตัวแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของโลกอินเทอร์เน็ต

"อยากฝากไว้ว่าอย่าทำเลย อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น อีเมลขยะยิ่งทำให้รูปลักษณ์ชื่อเสียงของสินค้าด้อยลง"


กำลังโหลดความคิดเห็น