xs
xsm
sm
md
lg

มรดกโลก “บ้านเชียง” แหล่งอารยธรรมแห่งสยามประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมานับหลายพันปี ร่องรอยของมนุษย์ในเมืองไทยยุคดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายประการ โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของตนได้อย่างดี จนสามารถดำรงชีวิตและจรรโลงสังคม วัฒนธรรมของคนได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน

บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีก็คือแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งที่ให้ความรู้อย่างมาก เกี่ยวกับพัฒนาการของสังคม และวัฒนธรรมสมัยโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วในประเทศไทย สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังบ้านเชียงก็คือ เรื่องราวอันเกี่ยวกับอดีตของพื้นที่หมู่บ้านนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑสถาน 2 แห่ง ในหมู่บ้านนี้ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งที่วัดโพธิ์ศรีใน

มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.2360 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้เกิดสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองในราชอาณาจักรลาว ชาวพวนกลุ่มหนึ่งจากแขวงเชียงขวางจึงได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในผืนป่าที่เป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึงในฤดูฝน บริเวณรอบๆ เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา และมีแหล่งน้ำสำหรับกินใช้อย่างสมบูรณ์ตลอดมา พร้อมตั้งชื่อเรียกว่า “บ้านเชียง” ตั้งแต่นั้นมา

แต่เมื่อประมาณ พ.ศ.2515 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการสังเกตพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่เนินของหมู่บ้านและส่งผลให้มีการศึกษาทางโบราณคดี จนได้ทราบว่าความจริงแล้วพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบ้านเชียงปัจจุบัน เคยมีคนตั้งถิ่นฐานมาแล้วก่อนประวัติศาสตร์เมื่อพันๆ ปีก่อนจะมีการสร้างหมู่บ้านในปัจจุบัน

โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งเขียนเป็นลายสีแดง โครงกระดูก เครื่องมือที่ทำด้วยหินและสำริด โบราณวัตถุที่ทำด้วยหิน สำริด และเหล็ก โดยเฉพาะภาชนะดินเผาเขียนเป็นลายสีแดงนั้นเป็นโบราณวัตถุที่มีลักษณะเด่นมากเนื่องจากเพิ่งมีการพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สรุปได้ว่านักโบราณคดีทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความยอมรับว่าแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นร่องรอยทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งสามารถให้ความรู้อย่างมากในเรื่องการปรับตัวเองของมนุษย์ในสมัยอดีตเมื่อนับพันๆ มาแล้วให้สอดคล้องกับระบบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมของตน อันเป็นระบบที่มีพลวัตหรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ความรู้ประเภทนี้เปรียบได้เสมือนเป็นกรณีตัวอย่างในเรื่องวิธีการที่มนุษย์ในอดีตใช้สำหรับแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงนับเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ มิเพียงต่อประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ ทั้งที่เป็นผู้คนรุ่นปัจจุบันและผู้คนในอนาคต แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจึงสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์และสงวนรักษาไว้สืบไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ พ.ศ.2535 คณะกรรมการมรดกโลกจึงขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย(เป็นมรดกโลกลำดับที่ 4 จากทั้งหมด 5 แห่งในเมืองไทย)

อัจฉรา แข็งสาริกิจ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เล่าว่า จากการสำรวจโบราณคดีในภาคอีสานตอนบนทั้งหมด พบว่าบ้านเชียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และสามารถขึ้นเป็นมรดกโลกได้ หลังจาก พ.ศ. 2535 ที่บ้านเชียงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมบ้านเชียงเป็นอย่างมาก

“จากนั้นพอถึง พ.ศ. 2539-2540 เริ่มมีโครงการขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ ก็ได้เข้ามาช่วยในเรื่องการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่วัดโพธิ์ศรีใน แล้วก็ปรับปรุงพวกภูมิทัศน์ต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ช่วยในการปรับปรุงการจัดแสดงใหม่ซึ่งการปรับปรุงการจัดแสดงใหม่นั้นมาแล้วเสร็จใน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา เราได้พัฒนาหลายๆ ส่วนขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น และในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็จะได้เห็นภาพโบราณวัตถุต่างๆในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด”

บางส่วนที่เก่าทางพิพิธภัณฑ์ก็จะมีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่โดยการทำด้วยวิธีการเก่า บ้านเชียงนั้นเด่นในเรื่องการเป็นยุคสำริดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มียุคสำริดที่เก่าแก่ที่สุด เป็นแหล่งที่มีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองที่โดดเด่นและหาได้ยาก ในปี 2539 จำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 2 แสนคน จำนวนนักท่องเที่ยวมาลดลงในช่วงท้ายที่เทศกาลโทรมหมดแล้วเราก็เลยต้องเริ่มปรับปรุงใหม่

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่มีการปรับปรุงเราจะสร้างพื้นฐานในการรับนักท่องเที่ยวอย่างเช่น ห้องน้ำ ให้เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงแหล่งที่เคยขุดค้นมาก่อน ปรับปรุงอาคารและนำวัตถุโบราณที่จำลองไว้มาแสดง สำหรับของจริงบางส่วนเราก็นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ทั้งหมดในส่วนของพิพิธภัณฑ์และกลางแจ้งเป็นของที่ค้นพบเจอที่บ้านเชียงทั้งหมด ในบริเวณที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียงซึ่งมี 100 กว่าแหล่ง ของที่ได้จากแหล่งวัฒนธรรมทั้งหมดเปิดให้เข้าชมยกเว้นนิทรรศการใหม่ซึ่งสามารถเข้าชมได้เพียงบางส่วน รอพิธีเปิดปลายปี อีกไม่นานก็จะเสร็จเรียบร้อยและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ซึ่งจุดประสงค์ของการจัดนิทรรศการใหม่เพื่อให้มีคนเข้าใจพื้นฐานและความสำคัญของบ้านเชียง เห็นคุณค่าสำคัญของการอนุรักษ์ปัจจุบันก็ยังมีการขุดค้นหา

“อยากจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมจะได้ทราบอะไรหลายๆ อย่าง และรับรู้ถึงบทบาทของบ้านเชียงในระดับภูมิภาค นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับบ้านเชียง ทำให้รู้เรื่องราวและรู้สึกซาบซึ้งความเป็นมาของอารยธรรมบนผืนแผ่นดินไทยได้ดีมากขึ้นพร้อมที่จะมีส่วนในการเก็บรักษา และก็เพิ่มคุณค่าให้อยู่นานเท่านาน และก็ทำให้คนไทยมีความรักในประเทศไทยมากขึ้นเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์อย่างแท้จริง นักท่องเที่ยวที่มาก็จะได้รับความรู้ตรงนี้และไม่น่าจะเหมือนที่อื่นในประเทศเพราะว่าการจัดแสดงของที่นี่แตกต่างจากการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทั่วไปในประเทศ เพราะว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงในเรื่องของการดำเนินงานตามโบราณคดีซึ่งพิพิธภัณฑ์ไม่มีการจัดแสดงตรงนี้เขาจะมีเอกลักษณ์ในด้านอื่น และเราก็เป็นมรดกโลกแห่งเดียวในภาคอีสาน อยากให้ทุกคนได้เข้ามาดูมรดกโลกของคนภาคอีสานว่ามีความเป็นมาอย่างไร” อัจฉรากล่าว

ขณะเดียวกัน เศรษฐพันธ์ พุทธานี ผู้อำนวยการ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 กล่าวว่า “ด้านการท่องเที่ยวภาคอีสานของเราขายเรื่องวัฒนธรรม โบราณสถาน ศาสนา ความเชื่อความศรัทธา เราจะผูกเรื่องโยงเข้าไปด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นแม่เหล็ก

ทำให้ทางสำนักงานททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 5 จึงได้พยายามทำเส้นทางเชื่อมโยงตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คือมีการเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับเราจะทำเชื่อมไปกับไดโนเสาร์ที่ จ.กาฬสินธุ์ แล้วเชื่อมไป จ.มหาสารคาม แล้วเข้าไป จ.ขอนแก่น ไปพระธาตุขามแก่น หรือจะไปดูงูที่บ้านงู ขอนแก่น แล้วก็เชื่อมจากขอนแก่นไปแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง แล้วไปคำชะโนดดินแดนพญานาค แล้วก็ไปผ้าพื้นเมืองบ้านนาคา จากบ้านนาคาก็จะไปยังว่าที่มรดกโลกภูพระบาท ซึ่งทั้งหมดเราจะทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันเป็นวงแหวน”

“อย่างไดโนเสาร์ที่ได้ลงทุนไปเยอะและทำได้ดีมาก เด็กๆ ที่ไปชมจะชื่นชมมาก คนที่ไปดูก็จะชื่นชมว่าบ้านเรามีอารยธรรมเก่าแก่มาก คำว่าอารยธรรมของผมหมายถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนยุคโบราณ จะไล่มาหมดจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร จะมีหนังฉายให้ดูและอีกหลายๆ อย่าง คนดูจะได้ภูมิใจว่าบ้านเราเป็นอย่างนี้นี่เอง จะเห็นภาพลักษณ์ แล้วก็จะไปเชื่อมโยงกับแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ซึ่งมีอายุ 4-5 พันปีก่อนประวัติศาสตร์ แล้วเชื่อมไปถึงว่าที่มรดกโลกภูพระบาท เพราะฉะนั้นคิดว่าการท่องเที่ยวของอีสานตอนบนจะมีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ต้องการเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้แก่ชีวิต” ผอ.ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 5 กล่าว

หลังจากที่บ้านเชียงได้รับเป็นมรดกโลกแล้ว ก็ได้ปรับปรุงแหล่งขุดค้นเดิม ซึ่งน้ำมันซึมเข้าไป และเมื่อเปิดหลุมขุดค้นก็มีปัญหาว่ากระดูกเมื่อถูกอากาศมันจะผุหรือกร่อนไป ประกอบกับหลุมที่ขุดที่วัดโพธิ์ศรีในเปิดไปแล้วน้ำเค็มเข้าไป จึงยกกระดูกที่แท้จริงขึ้นมาแล้วปรับปรุงใหม่ให้ดีกว่าเดิม บางคนมาดูแล้วบอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ก็เพราะเขายังขุดค้นอยู่สภาพมันเลยไม่น่าดู มันเลยเป็นปากต่อปากว่าไปแล้วไม่เห็นมีอะไร

ระหว่างที่มีการปรับปรุงคนมาดูแล้วไม่มีอะไรแล้วปากต่อปากทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง พอได้รับงบประมาณมาปรับปรุง ซึ่งตอนนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าชมอีกที่หนึ่ง มีการนำวัตถุโบราณต่างๆ จะเป็นหม้อ ไห โครงกระดูก มาตกแต่งตามลักษณะทางวิชาการของกรมศิลปากรในส่วนของพิพิธภัณฑ์

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะนำเสนอคือ คนที่นั้นคนที่บ้านเชียงเป็นคนไทยพวน เขารักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา พูดภาษาไทยพวน แต่งกายแบบไทยพวน มีโฮมสเตย์ มีมัคคุเทศก์น้อยที่ททท.ไปอบรมไว้ร่วมกับเทศบาลบ้านเชียง แล้วแต่ละปีก็มีการแสดงแสงเสียง แต่ปีนี้เราเลื่อนเนื่องจากต้องไว้อาลัยถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงเลื่อนไปหลังสงกรานต์สัก 2-3วัน โดยประมาณ

ผอ.ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 5 ยังแนะนำด้วยว่า ก่อนที่จะมาบ้านเชียงอยากให้ศึกษาคร่าวๆ ก่อนว่าบ้านเชียงมีความเป็นมาอย่างไร เพื่อมาดูแล้วจะได้ซาบซึ้งว่ากว่าเขาจะมาเป็นอย่างนี้ กว่าจะตายมา 5 พันปีนอนทับถมศพแล้วศพเล่าหลุมแล้วหลุมเล่าที่พอกพูนเป็นดินขึ้นมา เซนติเมตรเท่ากับกี่ร้อยปีกี่พันปี ปั้นหม้อมาได้อย่างไร กว่าจะเผา กว่าจะหลอมเหล็ก ในสมัยก่อนมีเทคโนโลยีที่จะหลอมเหล็กแล้วหรือยัง แปลว่าต้องเป็นชุมชนที่ยิ่งใหญ่ อยากให้ศึกษามาก่อน

หรือหากไม่ศึกษามาก่อน ก็อยากให้ใช้เวลาดู อ่าน เข้าไปห้องวิดีโอที่เขาจะฉายให้ดูว่ามีความเป็นมาอย่างไรโดยสรุป ใช้เวลาอ่านทุกบอร์ด ทุกกระดาน เพราะนี่คือสมบัติของชาติ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ท่านที่อยากเติมเต็มชีวิต มานอนโฮมสเตย์ของบ้านเชียง ว่าตื่นเช้าเขาใส่บาตรกันอย่างไร เขามีวิถีชีวิตอย่างไร กินอาหารของไทยพวนอย่างไร มีปั้นหม้อ และอีกหลายๆอย่าง และเรื่องของความสะอาดเข้าไปแล้วอย่าไปขีดเขียนอย่าไปทิ้งขยะไว้ อยากจะฝากนักท่องเที่ยวเอาไว้

ส่วนในอนาคตถ้าเราส่งเสริมให้ถูกทาง ดูตลาดของเราและดูกลุ่มลูกค้าเราว่าเป็นประเภทไหน เราปรับปรุงด้านการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย ความสะอาดให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ผมมั่นใจว่าอีสานตอนบนจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตใน 2-3 ปีข้างหน้า
สัญลักษณ์ยื่นยันแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง
โครงกระดูกที่ค้นพบ จัดแสดงอยู่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์
สิ่งของต่างๆที่ขุดพบ จัดแสดงโชว์อยู่ภายในส่วนพิพิธภัณฑ์
ที่หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบที่บ้านเชียง
ภาชนะดินเผาโบราณที่หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรี



โครงกระดูกที่ขุดค้นพบภายในบริเวณบ้านเชียง
กำลังโหลดความคิดเห็น