xs
xsm
sm
md
lg

"ทีวี 50,000 ช่อง" กำลังจะเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทีวี" ที่ชาวโลกกำลังดูกันอยู่ทุกวันนี้กำลังจะเปลี่ยนไป!

ตามปกติรูปแบบการรับชมรายการทีวีนั้น "ผู้ชม" จะตกเป็นฝ่ายรับ โดยบรรดาสถานีโทรทัศน์ บริษัทเคเบิลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียม จะเป็นคนกำหนดมาว่าจะส่งเรื่องราวอะไรมาให้พวกเราดู แต่ในอนาคตมีแนวโน้มสูงว่าพฤติกรรมการทำธุรกิจโทรทัศน์แบบเก่าๆ ดังที่กล่าวมานั้นจะเป็นเรื่องตกยุคและล้าสมัย เพราะทีวีจะเปลี่ยนไปกลายเป็น "อินเทอร์เน็ตทีวี" (ไอพีทีวี) หรือทีวีที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้


"อินเทอร์เน็ตทีวี" หรือ ไอพีทีวี มีชื่อเต็มมาจากคำว่า Internet Protocol Television เป็นบริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตแบบ มัลติมีเดีย จึงให้บริการได้ทั้งภาพ เสียง และข้อมูล ได้พร้อมกัน

ปัจจุบันจำนวนของสถานีโทรทัศน์ทั่วโลกมีอยู่ในระดับหลักร้อยช่อง แต่เมื่อเข้าสู่ยุค "ไอพีทีวี" ผู้ชมจะมีทางเลือกในการค้นหาและเลือกดูรายการทีวีต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกมาดูนับแสนนับล้านรายการด้วยตัวเอง ทำให้ประชาชนไม่ต้องตกเป็นฝ่ายรับเหมือนในอดีตอีกต่อไป

เปลี่ยนทีวีจากทุกมุมโลก
เวลานี้ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่ง ต่างก็มุ่งหน้าไปยังถนนสายไอพีทีวี ยกตัวอย่างเช่น "อินเทล" ผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์เบอร์ 1 ของโลก อยู่ระหว่างผลิตชิพสำหรับใช้กับไอพีทีวีโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ทางฝั่งของเว็บไซต์ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้น) ใหญ่ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็น "กูเกิล" หรือ"ยาฮู" ก็มีแผนจะพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งข้อมูลรายการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

จุดเด่นของทีวีบนอินเทอร์เน็ต ที่นอกจากจะสามารถแพร่ภาพแบบเรียลไทม์  เหมือนโทรทัศน์แล้ว  ยังสามารถเรียกดูย้อนหลังได้ตามสะดวก ทั้งยังมีความเป็นอินเตอร์แอคทีฟ  หรือระบบที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมและสามารถกำหนดทิศทางรายการด้วยได้ เพราะมีโปรแกรม แชต โพลล์ โหวต และระบบการแสดงภาพนิ่งประกอบกับภาพทางจอวิดีโอ ซึ่งแม้ผู้ชมที่ใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำก็สามารถดูภาพนิ่งประกอบได้

ศิโรฒน์ ตุลสุข ผู้ก่อตั้งทีวีอินเตอร์เน็ทในเว็บไซต์ www.wakeupwakeupwakeup.com กล่าวว่า ก่อนที่จะมาทำทีวีอินเตอร์เน็ตเขาเคยทำหนังสั้นมาก่อน จึงมีเครื่องมืออุปกรณ์ในการถ่ายทำครบ ไม่ว่าจะเป็นห้องอัดเสียง เครื่องตัดต่อ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำทีวีอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญใช้ทักษะการเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจริงของคนเหมือนวิธีการทำหนังสั้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความแปลกใหม่ในทีวีอินเตอร์เน็ตบ้านเรา

ขณะนี้เว็บไซต์ www.wakeupwakeupwakeup.com เปิดมาได้ประมาณ 3- 4 เดือนแล้วผลตอบรับก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ โดยมีหนังสั้นประมาณ 30 กว่าเรื่อง ส่วนทีมงานขณะนี้มีด้วยกัน 6 คน จะช่วยกันถ่ายทำ ตัดต่อ กราฟิกแล้วแต่ใครถนัดอะไร ส่วนคนเดินเรื่องก็เต็มใจที่จะนำเสนอเรื่องราวประสบการณ์ให้เราได้ถ่ายทอดไปสูสายตาประชาชน ต้องยอมรับว่าพวกเขาเห็นความตั้งใจจริงของทีมงาน และเรื่องราวดีดีก็ไม่ได้หายากอย่างที่เราคิด ด้านการเสนอเรื่องราวประสบการณ์จริงของคนเดินเรื่องผ่านมุมกล้องโดยไม่มีการเติมแต่งอะไรเข้าไปเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในตัวของมัน

อุปสรรคของการทำเว็บไซต์คงเป็นเรื่องทุนในการผลิตงานดีดีออกมา เพราะการถ่ายทำต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ไหนจะปากท้องของทีมงานอีกและอื่นๆที่ตามมา ทางเราจึงอัพเรื่องของคนขึ้นเว็บได้อาทิตย์ละ 2 เรื่อง

ศิโรฒน์มองว่าการนำเสนอเรื่อง ทีวีอินเตอร์เน็ต เป็นการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ให้คนที่ชอบการทำหนังมีกิจกรรมทำ ขณะที่คนดูส่วนใหญ่คือคนที่เริ่มมีคำถามในชีวิต มีข้อสงสัยต่อตัวเอง มีคำถามต่างๆเกิดขึ้นในชีวิต เรียกได้ว่าครบทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ วัยทำงานก็สามารถดูได้ มันคือเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ทุกคนที่จะต้องเจอในชีวิตประจำวัน

ขณะนี้เมืองนอกมีทีวีอินเตอร์เน็ตเยอะมาก บางคนก็ทำเป็นเรื่องราวของตัวเอง ต่อไปในอนาคตก็คงจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ยกตัวอย่าง HI5 ตอนนี้เราสามารถลงรูปคุยกับเพื่อนได้ แต่ต่อไปจะมีการลงเรื่องราวชีวิตประจำวันของเราเป็น คลิปวีดีโอ ถ่ายทอดเป็นเรื่องราว หรือใครเดินทางท่องเที่ยวมาเจอภาพสวยๆก็อาจจะเอามาลงก็ได้เหมือนกัน

“ผมคิดว่าเป็นจังหวะของเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้า การทำหนังที่ฉายแล้วก็จบไปไม่เหมือนเรื่องราวที่เรานำเสนอจะอยู่ในหน้าเว็บตลอดสามารถดูได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต มองดูแล้วชื่นใจที่บ้านเราก็มีเรื่องราวดีดี อยู่เยอะ อีกอย่างผมมองว่าทีวีอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องที่ใหม่มากในบ้านเรายังมีคนที่ทำน้อยและรู้จักไม่มาก ผมเชื่อว่าหากใครที่ได้เข้าไปดูแล้วจะได้อะไรกลับไปเยอะ” ศิโรฒน์ เล่าให้ฟัง

ทางด้าน พิษณุ ทรัพย์สิน กราฟิกดีไซน์และออกแบบหน้าเว็บไซต์ทีวีอินเตอร์เน็ท กล่าวว่า ทีวีอินเตอร์เน็ตเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นานนัก นอกจากเว็บไซต์ www.wakeup wakeupwakeup.com แล้วยังมีเว็บไซต์ www.Fukduk.tv ที่มีการนำเสนอรูปแบบเป็นทีวีอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำมาพร้อมๆกับเว็บไซต์เวคอัพฯ แต่ของเขาจะมีความ ป๊อบมากกว่าคือมีกลุ่มที่ติดตามเยอะเขาจะเจาะจงไปที่วัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งพิษณุเชื่อว่าในอนาคตจะมีทีวีอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาหลายช่อง ด้วยความเร็วอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น ขุมคลังความรู้ของคนทำงานด้านนี้ก็จะมากขึ้น ที่สำคัญปัจจุบันคนไม่ค่อยอ่านหนังสือ จะชอบดูมากกว่า ทางเลือกนี้จึงถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ชอบดูหนัง และชอบเล่นอินเตอร์เน็ตด้วย

“แต่ทว่าหากสื่ออินเตอร์เน็ตมีขีดที่กว้าง และได้รับความนิยมมากขึ้นมักจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา ข้อดีก็คือ เป็นการไม่เปิดโอกาสการนำเสนอความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานดีดีออกมามากขึ้น ส่วนข้อเสียคือ เรื่องราวที่นำเสนออาจจะส่งผลกระทบต่อคนอื่น ซึ่งหากเราไม่ระมัดระวังอาจทำให้เขาเสียชื่อเสียงได้”
พิษณุ กล่าว

สู่สายตาผู้ชมคนไทย
ทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต  แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่สำหรับคออินเทอร์เน็ตที่เป็นคนอินเตอร์  แต่เมื่อออกสู่สายตาผู้ชมคนไทยกันแล้ว  ก็สามารถให้ความรู้สึกใหม่ขึ้นมาทันทีทันใด  เพราะรายการที่ออกอากาศให้เห็นนั้น  เป็นภาคภาษาไทย ไม่ใช่รายการทีวีจากต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงมีรายการจากช่องฟรีทีวีให้ดูกันแล้ว  เจ้าของเว็บไซต์แห่งนี้เริ่มมีรายการใหม่ไม่ซ้ำใครให้ได้รับชมกัน ด้วยรายการที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะเจาะจง

กล้า ตั้งสุวรรณ หนุ่มไฟแรงแห่ง Duocore.tv รายการทีวีออนไลน์บนอินเตอร์เน็ตที่ถ่ายทำกันเอง โดยมีการเริ่มมาจากเพราะเขาได้ดูรายการชื่อ www.diggnation.com ซึ่งเป็นรายการทีวีออนไลน์เมืองนอก ของ Digg.com แล้วเขามีความรู้สึกว่า น่าจะมีรายการอย่างนี้ให้บ้านเราดู  เพราะว่ารายการไอทีบ้านเราบนทีวีนั้น ส่วนใหญ่เป็นรายการขายของโฆษณาแฝงทั้งสิ้น

“Duocore.tv เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 โดยเน้นเรื่องข่าวสาร ว่าโลกไอทีจริงๆ แล้วไปถึงไหน  ไม่ใช่ว่ามีแต่ขายของ 

“เราต้องช่วยกันผลักดันทีวีบนอินเทอร์เน็ตกันต่อไป  เพราะรายการทีวีบนอินเทอร์เน็ตบ้านเราคนดูน้อย  บางคนไม่รู้  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเน็ตไม่แรงพอ  แต่คนที่มีเน็ตแรงพออย่างน้อยก็น่าจะเป็นทางเลือกแทนรายการทีวีที่ไม่มีสาระให้เขาได้  Duocore.tv ตอนแรกว่าจะทำสัก 10 ตอนเลิก เพราะทุนมันมีอยู่แค่นั้น  ตอนนี้ 47 ตอนเข้าไปแล้ว   ตอนใกล้ๆมีแต่คนบอกว่าทำต่อเหอะ   ให้กำลังใจ  แต่ไม่ให้ตังค์ (หัวเราะ)

“ถ้าเราไม่เริ่มผลักดันตรงนี้  คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาดูมัลติมีเดียบนเว็บก็จะนึกถึงแต่คลิปโป๊มากกว่า  ผมว่ามันไม่ดี  บ้านเราคน 90 เปอร์เซ็น ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงไม่ใช่เพื่อทำงาน  หรือทำอะไรในชีวิตให้มันดีขึ้น    อีกอย่าง เว็บสมัยใหม่  มันมีความเป็นสื่อประชาชน  คือทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด  เพียงแค่โพสต์เรื่องขึ้นมามันก็จะกระจายออกไปเองโดยอัตโนมัต  คำนิยามของคำว่าสื่อมวลชนมันจะเปลี่ยน  ตรงนี้คนกลุ่มนึงที่มีอำนาจในการกำหนดเนื้อหาบน ทีวี วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์  พออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อขึ้นมาได้ใครก็โพสต์เรื่องได้  ก็เหมือนที่เราไม่ชอบพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์   ตาย  ตาย  หื่น โจ๋ ข่มขืน กาม มีอยู่แค่เนี้ย  ไม่ได้จรรโลงโลกขึ้นมาเลย  แต่ดันเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศ”มุมมองของกล้าต่ออนาคตสื่อบนอินเตอร์เน็ตบ้านเรา


กทช.หนักใจ 
ด้านสถานีทีวีระดับโลก เช่น เอ็นบีซีเทอร์เนอร์บรอดคาสติ้ง อีเอสพีเอ็น เอ็มทีวี ก็เตรียมพร้อมผลิตข้อมูลรายการในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลเพื่อจัดส่งผ่านอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตาม ความฝันอันบรรเจิดของธุรกิจไอพีทีวีต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้าน "อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง" (บรอดแบนด์) ด้วยว่าจะไปได้ไกลขนาดไหน และแทบไม่ต้องเดาก็รู้ว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ลามกอนาจารจะเป็นหัวหอกในการบุกตลาดไอพีทีวีอย่างแน่นอน!

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า  การให้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องที่ กทช.มีความหนักใจ  เพราะในแง่ของกฎหมาย  ผู้ให้บริการโทรทัศน์จะต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ขณะนี้ กสช.ยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่งตั้งจากวุฒิสภา  จึงจะต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์  แต่ก็ยังติดขัดข้อกฎหมายอีก เพราะมีบทเฉพาะกาล ห้ามกรมประชาสัมพันธ์ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีเพิ่มเติม ขณะที่ กทช.มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตเฉพาะผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

"ยอมรับว่าตอนนี้เป็นสุญญากาศของธุรกิจทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นเรื่องที่แยกลำบากระหว่างเทคโนโลยีกับข้อกฎหมาย  และต่อไปจะเป็นปัญหาเหมือนวิทยุชุมชน  ที่ยิ่งนานไปก็ยิ่งมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ" พล.อ.ชูชาติกล่าว

แนวโน้มของทีวีอินเตอร์เน็ท
กำลังชิงไหวชิงพริบกันอย่างเอาการเอางาน เพื่อให้ได้บรรลุความต้องการในการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักแห่งหนึ่ง ในแวดวงจอตู้เหมือนกันแต่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์  ที่ปัจจุบันมีนับล้านเครื่อง  เพราะเหตุนี้จึงทำให้แนวโน้มของทีวีอินเตอร์เน็ทในโลกจะเน้นเข้าสู่คนดูเฉพาะกลุ่มที่สนใจในบางเรื่องเช่นที่อังกฤษเขามี blogger TV ชื่อ 18 Doughty Street.com ที่ประกาศอย่างจะแจ้งว่า "รายการวิเคราะห์การเมืองของเรานั้นไม่เป็นกลางแน่นอนเพราะเราจะประกาศจุดยืนในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน"

หนึ่งในผู้ก่อตั้งทีวีอินเตอร์เน็ทแห่งนี้ที่ชื่อ Iain Dale ประกาศอย่างไม่เกรงใจว่า "We provide some balance but no impartiality." ("เราพยายามจะให้มีการถ่วงดุลในการวิจารณ์ของเรา แต่เราไม่รับรองว่าจะเป็นกลางหรือไร้อคติ...เราคิดอย่างไร, เราก็พูดอย่างตรงไปตรงมา") โดยสถานีทีวีทางอินเตอร์เน็ทแห่งนี้เล่นเรื่องการเมืองเนื้อๆ วันละ 5 ชั่วโมง และมีคนคลิ๊กเข้ามาดูและฟังวันละประมาณ 25,000 คน

“รายการทีวีบนอินเตอร์เน็ตบ้านเรามันเวิร์ค มันพร้อมที่จะโตได้  ไม่ถึงกับน่าตื่นตาตื่นใจอะไรแต่ก็มีการตื่นตัว  มีการให้กำลังใจกัน  ช่วงแรกๆยังไม่มีใครทำเรื่องข่าวไอที  ต้องคนในวงการทำถึงจะฟังแล้วรู้เรื่อง จุดนี้ทำให้กลุ่มคนดูตรงนี้มีน้อย   มันก็เลยไม่มีพลังมากพอที่จะเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เล่นเน็ตในประเทศได้  แต่มันก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นอันหนึ่ง  ที่ทำให้มี fukduk.tv ทำให้มีอะไรหลายๆอันตามมา  แทนที่จะไปถ่ายคลิปขึ้นบนเน็ต  มานั่งทำรายการอะไรดีๆ ให้กันดีกว่า  แล้วถ้าทำให้สามารถผันให้เป็นเงินที่จับต้องได้  เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้  คนก็จะหันมาทำอย่างนี้เยอะ เพราะมันมี Success Story แล้วไง  เหมือนเล่นหุ้นน่ะครับ พอมันมี Success Story คนก็แห่กันมาเล่น โดยที่เขาไม่รู้หรอกว่ามีคนที่ล้มเหลวอยู่เท่าไร แต่วงการไอทีบ้านเรามันยังไม่มี Success Story ตรงนี้  ถ้าไม่นับยุค Sanook Kapook Tarad ยุคนั้นปล่อยเขาไป  แต่ยุคใหม่ยังไม่มี”กล้าพูดถึงแนวโน้มของทีวีอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยให้ฟัง

จอคอมพิวเตอร์ที่คนไทยหลายคนเริ่มคลิกๆ เข้าดูอินเทอร์เน็ต แชต ส่งอีเมล ประจำวันกัน เริ่มมีของเล่นใหม่อย่างทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพีทีวี ที่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจ แต่ลองจับโยงสักนิดอาจติดพันกับไหวพริบที่กำลังชิงกันอยู่ก็เป็นได้ เพราะการดูทีวีเป็นการดูด้านเดียว แต่ดูอินเตอร์เน็ทเป็นเสมือนการได้นั่งดูรายการดีๆ กับชุมชนร่วมกัน มีอะไรที่เห็นพ้องหรือแย้งกันก็สามารถแสดงให้ได้รับรู้กันเดี๋ยวนั้น.....

****************************
เรื่อง- นาตยา บุบผามาศ,ออรีสา อนันทะวัน









กำลังโหลดความคิดเห็น