จากความประทับใจแรก อันเกิดจากการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ พระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อเกิดแรงบันดาลใจให้ "กมลสิทธิ์ วรากุลไพบูลย์" เด็กหนุ่มจากนครศรีธรรมราช วัย 19 ปี นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์สื่อสารมวลชน ตั้งมั่นในปณิธานมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย โดย ให้ความสำคัญต่อการศึกษา และเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งใน พระกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ
"เริ่มจากการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วไปอ่านพบข้อความที่เขียนถึงพระองค์ท่าน เมื่อครั้งเสด็จพระดำเนินเยี่ยมราษฎรในชุมชนแออัดย่านคลองเตย และอ่อนนุช วันนั้นพระองค์พระดำเนินผ่านแผ่นไม้ผุๆ แล้วพระบาททะลุลงไปในแผ่นไม้ เป็นผลให้พระชานุ (เข่า) ของพระองค์ครูดกับแผ่นไม้แล้วก็มีพระโลหิตไหล แต่พระองค์ก็ยังมีพระประสงค์ที่จะเยี่ยมราษฎรที่อาจไปรอรับเสด็จตั้งแต่เช้า หรือบางคนอาจมารอตั้งแต่เมื่อคืน โดยพระองค์รับสั่งว่า...ไม่เป็นไรไม่ลืมกัน เยี่ยมสลัมในครั้งนี้แล้วก็จะได้ดูให้ถึงที่ว่า เด็กและเยาวชนยากลำบากแค่ไหน
เหตุการณ์นั้น ทำให้ตระหนักถึงพระวิริยอุตสาหะของพระองค์พร้อมสะท้อนให้เห็นว่า แม้ต้องทรงงานหนักจนเกิดอุบัติเหตุ พระองค์ท่านก็ยังทรงคำนึงถึงพสกนิกรเป็นหลัก ซึ่งพระจริยวัตรเรื่องนี้เป็นมาตลอดพระชนมชีพ ทำให้รู้สึกว่า ตัวเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งควรจะตอบแทนพระกรุณาธิคุณตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ ตามความสามารถของเราจะทำได้" ชายหนุ่มบอกเล่าความปลื้มปีติอันเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต
จากนั้น เขาจึงเริ่มต้นคิดโครงการที่ตั้งใจทำถวาย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยทำจดหมายขอพระอนุญาตทำโครงการเฉลิมพระเกียรติส่งเข้าไปยังกองงานในพระองค์ ไม่นานนัก คุณข้าหลวงในพระองค์จึงตอบกลับมาขอประวัติส่วนตัวเพิ่มเติม และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
กมลสิทธิ์ เล่าความรู้สึกปลื้มปีติมิรู้ลืมที่ได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอฯ ว่า "ถือเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นสำหรับผม ที่พระองค์ทรงพระเมตตาให้ผมเข้าเฝ้า ถึงแม้ว่าจะทำให้พระองค์สูญเสียเวลาไป ร่วมชั่วโมง แต่พระองค์ก็ทรงเต็มพระทัยที่จะพบพวกเรา เพื่อให้พวกเราได้กราบทูลถวายรายงานโครงการ รวมทั้งอุปสรรคปัญหาในการดำเนินงาน เพื่อที่พระองค์จะประทานความช่วยเหลือ รวมทั้งทรงชี้แนะเพื่อให้งานของ พวกเราประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ ครั้งนั้นพระองค์ท่านมีรับสั่งกับพวกเราให้รู้จักประหยัด และรู้จักประมาณตนเอง มีเงินเท่าไหร่ก็ควรทำ แค่นั้น โดยประทานเงินก้อนแรกให้จำนวน 20,000 บาท
ด้วยปณิธานความเป็นนักกิจกรรมมาตลอด ในที่สุดจึงเกิดกิจกรรมด้าน ส่งเสริมการศึกษา และศิลปวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนภายใต้ชื่อ "โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์" โดยรวบรวมเยาวชนระดับหัวกะทิที่สมัครใจทำงาน เพื่อสังคมประมาณ 20 คน มาร่วมจัดกิจกรรมถวายแด่พระองค์ท่าน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณาธิคุณ ประทานโอวาทเป็นแนวทางในการทำงานว่า โครงการควรจะเป็นไปในลักษณะการให้เยาวชนได้เรียนรู้ และเข้าใจบริบทของสังคมของเขา เช่น การให้ความรู้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงศิลปวัฒนธรรมประจำภาค เป็นต้น
กมลสิทธิ์ บอกเล่าโครงการนำร่องในอดีตที่เคยทำถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2547 มุ่งเน้นการจัดค่ายเยาวชนระดับท้องถิ่นทั้งสี่ภาค เพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาของเยาวชนในแต่ละท้องถิ่น รวมไปถึงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้าน พร้อมเสริมสร้างการศึกษาเป็นหลัก เพื่อวางรากฐานการสร้าง คนให้มีคุณภาพในอนาคต ภายใต้ชื่อ "โครงการสัมมนาระดมความ คิดเยาวชนเพื่อจัดตั้งแกนนำโครงการเฉลิมพระเกียรติ" โดยคัดเลือกโรงเรียนประจำจังหวัดเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชุมชน ทำให้สะดวกในการขอความร่วมมือจากคนในท้องถิ่น จากนั้นจึงระดมพลอาสาสมัคร ซึ่งคัดเลือกจากตัวแทนเยาวชนระดับประธานนักเรียน, คณะกรรมการนักเรียน หรือนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนแห่งละ 10 คน พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาโรงเรียนละ 1 คน
การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ความสำเร็จของโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งถือกำเนิดมาจากเยาวชนกลุ่มหนึ่ง แม้มิใช่โครงการยิ่งใหญ่ระดับประเทศ หากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือความปลาบปลื้มยินดีของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน ที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อการศึกษาอีกโครงการที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ คือ สร้างอาคารอเนกประสงค์ ขนาดประมาณ 8x10 เมตร ซึ่งพระองค์มีพระดำริให้เป็นห้องสมุดประจำโรงเรียน ที่สามารถประยุกต์เป็นห้องประชุมเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมของชุมชนได้ด้วย โดยพระองค์ได้ประทาน เงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งสมทบทุนให้แก่โครงการ รวมทั้งประทานหนังสือ เพื่อเป็น คลังสมองแก่ชุมชน พร้อมประทานนามว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช-นครินทร์" ซึ่งห้องสมุดที่ว่านี้ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และมุกดาหาร
และแม้ว่าในวันนี้จะไร้ซึ่งองค์อุปถัมภ์ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ ทว่า โครงการทั้งหลายย่อมต้องสานต่อ โดยเฉพาะ โครงการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 3 โครงการที่ตั้งใจทำถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ คือ การรวบรวมความรู้สึกของเยาวชน ไทยทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 84 คำกลอนที่ไพเราะที่สุดนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ "เรียงร้อยถ้อยอักษรา ถวายสมเด็จเจ้าฟ้าจักรีนารีวงศ์" มอบให้แก่ห้องสมุดทั่วประเทศ ภารกิจถัดมา คือ พัฒนาเว็บไซต์ www.hrh84yrs.org ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระประวัติของพระองค์ท่าน การทรงงาน พระราชกิจ พระอัจฉริยภาพ พระเกียรติคุณ รวมไปถึงพระราชพิธีเกี่ยวกับงานพระศพทั้งหมด เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นของเจ้านายพระองค์นี้
ส่วนโครงการสุดท้าย เป็นการสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ วัดเขาแก้ววิเชียร จ.นครศรีธรรมราช เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารอเนกประสงค์ใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ ส่วนชั้นบนเป็นห้องสมุด และหอแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับแห่งที่สองก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ณ สวนธรรมนรารัตน์วันชัยขันติภาวนาบารมี จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ 20 ไร่ 62 ตารางวา สำหรับเป็นสถานที่ฝึกอบรมกุลบุตร กุลธิดา นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้มีจิตใจเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา
"ครั้งหนึ่งที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในวันเยาวชนแห่งชาติ (20 ก.ย.) พระองค์รับสั่งว่า การทำงานต้องมีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และที่สำคัญต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพร่างกาย ภูมิความรู้ เพราะถ้าตัวเราเข้มแข็งแล้วจึงค่อยหาทาง ช่วยเหลือคนอื่น ถ้าตัวเองไม่เข้มแข็งก็ช่วยเหลือคนอื่นอย่างครึ่งๆ กลางๆ" กมลสิทธิ์ฝากข้อคิดอันเป็นแนวทางในการทำงานของเขาที่ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ต่อไปยังเยาวชนนักกิจกรรมรุ่นหลัง พร้อมความมุ่งหวังให้โครงการเฉลิมพระเกียรติในทุกโครงการ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง เพื่อถวายอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี ที่มีต่อ พระโสทรเชษฐภคินีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว