xs
xsm
sm
md
lg

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ มรดกทางธรรมในสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอดระยะเวลากว่า 84 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากพระองค์จะทรงงานหนักทางด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด เพื่อสานต่อพระราชปณิธานในพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีอย่างที่ได้ประจักษ์ชัดแก่สายตาของชาวโลกไปแล้วนั้น พระองค์ยังมีพระกรณียกิจทางด้านศาสนาที่สำคัญอยู่หลายประการ โดยเฉพาะพระกรณียกิจครั้งสุดท้ายคือทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลกแก่นานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎกบาฬี อักษรสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและการทำนุบำรุงวัดต่างๆ ให้อยู่เคียงคู่กับประเทศชาติ

และน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 นั้น สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ได้ทรงรับวัดป่า "สิริวัฒนวิสุทธิ์" ให้เป็นวัดประจำพระองค์ ซึ่งกลายเป็นวัดแรกและวัดเดียว

*ความเป็นมาของวัด

บนพื้นที่กว่า 96 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา อันเป็นที่ตั้งของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นเย็นสบายมีสายลมพัดโรยโชยเอื่อยๆ มาตลอดเวลา และบรรยากาศโดยรอบของวัดถูกโอบล้อมไปด้วยท้องทุ่งนาของชาวบ้าน จึงทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนที่วัดแห่งนี้ได้รับทั้งความสุขกายและสุขใจกลับไปทุกครั้ง

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 2 อยู่บนเขา ณ บ้านเขาโคกแผ่น ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ถ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปวัดแห่งนี้จะใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเศษเท่านั้น

เดิมทีวัดแห่งนี้เป็นพุทธสถานที่คณะสงฆ์และคณะศิษย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม กรุงเทพมหานคร สร้างถวายแด่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในโอกาสที่ได้เจริญชนมายุครบ 80 ปี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2529 และอีกประการหนึ่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี 2548

สำหรับชื่อของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์นั้นเดิมที สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้ประทานชื่อไว้ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (ม.จ. ภุชงค์ ชมภูนุช) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ส่วน “สิริวัฒนวิสุทธิ์ (วิ.) เป็นพระราชทินนามที่พระราชทานชื่อสมณศักดิ์แด่พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (พัดขวา) พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ (สุนทร สุนฺทราโภ เปรียญ 5 ประโยค) โดยได้รับพระราชทานชื่อเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2525 ปัจจุบันได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม กรุงเทพมหานคร

*เจดีย์ศรีพุทธคยา พระเมตตาแห่งพระเจ้าพี่นางฯ

โดยก่อนหน้าที่จะทรงรับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์เป็นวัดในพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น พระองค์ทรงรับเป็นองค์ประธานในการสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาเฉลิมพระเกียรติฯ ในวัดแห่งนี้ เพื่อถวายแด่พระบรมราชอนุชาองค์เล็ก พ่อหลวงผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน

ราชตี สิงหศิวานนท์ รองประธานโครงการจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ เล่าว่าพระองค์ท่านได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณวัดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่คราวที่วัดจัดโครงการก่อสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาและตาลปัตร (พัดรอง) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 1,146,989 บาท และทรงรับเป็นเจ้าภาพตาลปัตรพัดรองเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

“เดือนเมษายน 2550 คณะกรรมการจัดสร้างเจดีย์ฝ่ายหารายได้ ได้รับประทานพระอนุญาตจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ 85 รูป เทิดพระเกียรติ สวดมหาสันติงหลวง และสาธยายพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย 84,000 พระธรรมขันธ์ ถวายเป็นพระกุศลเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2550 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-13 พฤษภาคม 2550 ที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์” ราชตีแจกแจง

*วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์

หลังจากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้มีพระกรุณาธิคุณประทานพระวโรกาส ให้ประธานฝ่ายหารายได้ในการสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาเฉลิมพระเกียรติฯ นำคณะกรรมการทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนผู้เข้าบรรพชาอุปสมบททั้ง 85 คน เข้าเฝ้าถวายพระพร และรายงานการดำเนินการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ณ วังเลอดิส

ในครั้งนั้นเองที่พระเทพโมลี ได้ขอประทานพระอนุญาตทูลถวาย วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดในพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงพระกรุณารับวัดป่าแห่งนี้ เป็นวัดในพระองค์ ตามหนังสือจากกองเลขานุการในพระองค์ ซึ่งลงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 หลังจากนั้นจึงทำให้ชื่อวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์เปลี่ยนเป็น “วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งเป็นเพียงวัดแรกและวัดเดียวเท่านั้นที่เป็นวัดประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ปัจจุบันวัดแห่งนี้มี พระครูวิจิตรสีลาภรณ์ เป็นรักษาการเจ้าอาวาส

*รูปลักษณ์สิ่งก่อสร้าง

ใครที่ได้มีโอกาสขึ้นไปนมัสการพระที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์นี้ สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาแรกพบเห็นก็คือรูปลักษณ์ของวัดที่สร้างเป็นรูปเรือหลวง ที่แฝงด้วยปรัชญาแห่งธรรมะ อย่างเช่นรูปเรือถึงพาหนะที่จะช่วยขนสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงสังสารวัฏ (ทะเลวน) ให้พ้นจากโอฆสงสาร ส่วนองค์ประกอบรอบๆ วัดนั้นเป็นเสมือนห้วงน้ำอันหมายถึงกิเลส

การเลือกทำเลที่ตั้งของวัดให้อยู่บนเกาะหรือภูเขา หมายถึงเป็นสถานที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือท่วมทับแก่บุคคลที่มีปัญญาไม่ดี ผู้มีปัญญา มีความขยัน ไม่ประมาทตามกิเลส มีความสำรวมระวังดี ก็จะอยู่บนเรือลำนี้ได้โดยปลอดภัย

เรือหลวงอันเป็นที่ตั้งของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ มีชื่อเรือว่า “ราชญาณนาวาทีฆายุมงคล” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา เรือหลวงลำนี้มีความกว้าง 30 เมตร ยาวประมาณ 6 ไร่เศษ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงสถาบันชาติทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธเอกนพรัตน์ ที่ได้ประดิษฐานอยู่บริเวณหัวเรือราชญาณนาวาทีฆายุมงคล สร้างขึ้นในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นปีกาญจนาภิเษก ซึ่งพระเทพโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เจ้าคณะเขตดุสิต (ธ) กรุงเทพฯ เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ขึ้น ได้คิดรวบรวมพระพุทธจริยาปางต่างๆ ประจำวันของเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 พระองค์ มีพระอาทิตย์เทพ จันทรเทพ เป็นต้น คนทั้งหลายก็นำมาเป็นนิมิตหมายแห่งเทพประจำวันเกิดของตน

เทพแต่ละองค์ก็จะมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เคารพนับถือบูชาประจำพระองค์ มนุษย์ทั้งหลายที่ได้ถือนิมิตหมายแห่งเทพประจำวันเกิด ก็จะต้องยอมรับนับถือพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยพุทธจริยาปางต่างๆ มาประจำตัวด้วย จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน โดยเพิ่มวันพุธกลางคืน คือพระราหู และพระเกตุ เข้าอีก 2 พระองค์ จึงรวมเป็น 9 องค์ เรียกว่า “เทพนพเคราะห์” สำหรับมาดูแลรักษามนุษย์ให้มีความสุขความเจริญ

และเมื่อเดินขึ้นมาบนหัวเรือก็จะพบกับศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่ง เป็นศาลที่ประทับของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศาลนี้เป็นศาลลำดับที่ 116 จากการรวบรวมของกองทัพเรือ สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในฐานะแห่งพระบิดาของทหารเรือไทย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เรือราชญาณนาวาทีฆายุมงคล

เมื่อเดินถัดลงมาจากบริเวณหัวเรือทุกคนก็จะพบกับลานพระธรรมจักร ที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 7x3 เมตร บนลานประดิษฐานแท่นพระธรรมจักร เป็นหินทรายแกะสลักเป็นรูปกวาง และแท่นหิน 8 เหลี่ยม เป็นหินทรายแกะสลักเป็นรูปมงคลต่างๆ ตั้งไว้ด้านหน้า เป็นนิมิตหมายว่า พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระธรรมคำสอนอันยอดเยี่ยมให้เป็นไปในโลกทั้ง 3 อันใครจะปฏิวัติปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ ยุติธรรม ในการวางแผนแนวทางไว้อย่างประเสริฐ แก่เหล่าเทพยาดา และมนุษย์ทั้งหลาย

อุโบสถ สร้างเป็นมณฑปเรือแก้ว กว้าง 12 เมตร สูง 13 เมตร มุงและกั้นด้วยกระจกสีชาทั้งหมดเป็นศิลปะประยุกต์ไทยอินเดีย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาททั้งคู่ เนื้อสำริด สามกษัตริย์ นอกจากนี้ยังได้หล่อรูปพระมหากัสสปเถร ยืนถวายบังคมพระพุทธบาททั้งคู่ไว้ด้านขวามือด้วย เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากเสด็จปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน เรียกว่า “วันวิสาขอัฏฐมีบูชา”

เมื่อทุกคนเดินชมวัดจนเมื่อยแล้วก็ต้องแวะมาสักการะพระประธานของวัดคือ พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางสมาธิ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายพระนามพระประธานองค์นี้ไว้ มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลผู้สร้างแห่งความเป็นพระราชา”

สถานที่อีกแห่งหนึ่งในวัดที่มีความน่าสนใจไม่น้อยและนับว่าเป็นสถานที่ใช้สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เป็นอย่างดีคือ เจดีย์ศรีมหาราช สร้างขึ้นในปีกาญจนาภิเษก พระเทพโมลี ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ที่ พระราชญาณปรีชา และคณะศิษย์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม ได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะปูชนียานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 เจดีย์ศรีมหาราช มีความสูง 45 เมตร กว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร เจดีย์องค์นี้มีความแตกต่างจากเจดีย์ทั่วๆไป คือ เจดีย์โดยทั่วไปมักสร้างเป็นองค์ทึบตัน และบริเวณยอดเจดีย์จะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อสักการบูชา

สำหรับเจดีย์ศรีมหาราช ได้ประยุกต์ให้ภายในองค์เจดีย์จัดแบ่งเป็นห้องสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสามให้เกิดขึ้น และปลุกจิตสำนึกในเรื่องความรักชาติให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้เข้าชมห้องประวัติศาสตร์ต่างๆ ในองค์เจดีย์นี้

สำหรับเจดีย์ศรีมหาราช เป็นเจดีย์สูง 3 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาและประเทศไทยมากมาย

เริ่มจากชั้นล่าง มีชื่อเรียกว่า “วังนาคราช” ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน

เมื่อเดินขึ้นไปยังชั้นที่ 1 มีชื่อเรียกว่า “ห้องมหาราช” ซึ่งเป็นเสมือนประสาทพระเทพบิดรของประชาชนชาวไทย เพราะเป็นที่ประทับของพระบรมรูปหล่อของมหาราชทั้ง 8 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช,สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, สมเด็จพระปิยมหาราช (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5), สมเด็จพระมหาเจษฎาราชเจ้า (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ,สมเด็จพระภัทรมหาราช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9) รวมทั้ง พระบรมรูปหล่อของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบรมราชชนกใน รัชกาลที่ 5

ส่วนที่ 2 ได้จัดแบ่งเป็นห้องสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ห้องพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชย ผู้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ,ห้องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช,ห้องสมเด็จพระศรีสุริโยทัย วีรกษัตรีย์ ผู้กล้าหาญและเสียสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาบ้านเมือง, พระพุทธกาญจนาภิเษก พระพุทธรูปยืนปางอธิษฐานประทับรอบพระพุทธบาท ความสูง 9 เมตร ปิดทองแท้ทั้งองค์, ห้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) และห้องพระไตรปิฏก เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก

สำหรับชั้นบนสุด มีเจดีย์ความสูง 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธกาญจนาภิเษก และพระพุทธรูปต่างๆ

ด้วยพระเมตตาคุณแห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในแผ่นดินสยาม จึงทำให้วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กลายเป็นพุทธสถานที่รวบรวมสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไว้ได้อย่างแท้จริง

*************

เรื่อง-ทีมข่าวสังคม















กำลังโหลดความคิดเห็น