เมื่อวันเวลาของปีหมูทอง 2007 ใกล้จะหมดลง เพื่อย่างเข้าสู่ปีหนู 2008 หลายคนก็พร้อมแล้วสำหรับการเปิดใจรับสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเดินหน้าเข้ามาหา หรือการปรับตัวให้เป็นคนใหม่ เพื่อความสำเร็จที่เหนือกว่าวันวาน แต่..เชื่อว่าในอีกหลายมุมของเมืองไทย เรายังมีความสำเร็จที่น่าจดจำของเด็กไทยมากฝีมือฝากไว้มากมาย และขอถือโอกาสในการส่งท้ายปลายปีนี้ นำความประทับใจเหล่านั้นกลับมาบอกเล่าให้ฟังกันอีกสักครั้ง
ความสำเร็จแรกคงเป็นความน่ารักของเหล่านักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่แม้จะมีผู้ใหญ่มากหน้าหลายตายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องพิธีการและการใช้งบประมาณต่างๆ แต่กำลังหลักที่แท้จริงของงานนี้ หนีไม่พ้นนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ทำงานกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ภาพของนักศึกษาผู้หญิงหลายคนที่หอบกล่องข้าว-ขวดน้ำเดินแจกจ่ายนักกีฬาตามสนามต่างๆ หรือนักศึกษาที่ประจำตามบูท Information ยังคงติดตา และแม้ว่างบประมาณที่ได้มาจะไม่เพียงพอเลยสำหรับการทำป้ายประชาสัมพันธ์สถานที่ให้ทราบ แต่ผู้เข้าชมงานก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากนักศึกษาทุกคน ในการบอกข้อมูลการเดินทาง และเส้นทางลัดต่างๆ จึงเชื่อว่าความรู้สึกดีๆ เหล่านี้จะประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เข้าร่วมชมงาน และตัวนักศึกษาผู้ทำกิจกรรมอย่างแน่นอน
ความสำเร็จต่อมา เราคงต้องหยิบยกผลงานการประดิษฐ์ของนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่ในปีนี้ เรียกได้ว่า มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยอัตโนมัติของ "Plasma-RX" นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship 2007 และกำลังเตรียมตัวเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับโลก ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนในปีหน้า แน่นอนว่า ความพิเศษของความอัตโนมัติเป็นสิ่งที่หลายคนถวิลหา และสิ่งที่ยากที่สุดของการพัฒนาหุ่นอัตโนมัตินี้คือการทำให้หุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้ว่า ภาพถ่ายดิจิตอลเบื้องหน้าคือเศษซากปรักหักพัง หรือเป็นผู้ประสบภัยนั่นเอง
อีกหนึ่งผลงานนักประดิษฐ์ที่น่ายกย่อง เป็นการออกแบบรถอัจฉริยะไร้คนขับ ผลงานของทีม "แจ๊ค โอแลนเทิร์น" จากรั้วจามจุรีอีกเช่นกัน ซึ่งรถคันดังกล่าวสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรได้เร็ว และไกลที่สุด โดยเป็นการผสมผสานความรู้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับความรู้ทางด้านเครื่องกล
ถัดมา เป็นความสำเร็จที่ลืมไม่ได้ของใครหลายคน ได้แก่ทีม อินดิเพนเดนท์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2007 ครองตำแหน่งแชมป์ 2 สมัยจากเวทีดังกล่าวมาอย่างเต็มภาคภูมิ แถมยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในระดับโลกได้อย่างสมเกียรติ
ผลงานต่อมาเป็นการออกแบบบ้านกันเสียงเพื่อชุมชนรอบสนามบินสุวรรณภูมิของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้ชื่อ "Connection to the Sky" ที่เน้นความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอย รวมถึงใช้วัสดุพิเศษที่มีลักษณะหยาบ เพื่อช่วยกระจายเสียงที่มาตกกระทบให้แยกจากกัน และการใช้ Metal Sheet มาทำหลังคา รวมถึงนำฉนวน PU Foam มาฉีดพ่นกันความร้อน ซึ่งล้วนแต่มีคุณสมบัติในการช่วยลดเสียงจากอากาศยานให้เข้ามาทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้น้อยลง งานออกแบบ ชิ้นนี้ไม่เพียงแต่สามารถใช้ได้จริงเท่านั้น หากยังเป็นโครงการที่มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และใช้ช่วยเหลือชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
"ไม้เท้าพูดได้สำหรับคนพิการทางสายตา" ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ "เยาวชนยอดนักประดิษฐ์ฟิลิปส์ครั้งที่ 6" ภายใต้หัวข้อสิ่งประดิษฐ์เพื่อสุขภาพของคนไทย โดยเป็นผลงานของทีมมะขามหวาน จากวิทยาลัยเทคนิค เพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
หันมาที่วงการซอฟต์แวร์กันบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ เรามีสองนักศึกษาไทยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปแข่งขัน Microsoft Office Specialist Olympic หรือ MOS Olympic 2007 ที่เมืองออแลนโด สหรัฐอเมริกา พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมา ได้แก่ กษิดิ์เดช คุณวัฒนาการ หรือโจ อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดยชนะเลิศการแข่งขันโปรแกรม Microsoft Word 2003 ระดับอุดมศึกษา และชัชวาลย์ คำยอง หรือ เบลล์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้รับรางวัลชนะเลิศโปรแกรม Microsoft Excel 2003 (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่นักศึกษาไทยจะสามารถกวาดรางวัลกลับมาได้ทั้งสองประเภท
หลังจากจบการแข่งขันใช้ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ไปไม่นาน ชื่อของประเทศไทยก็ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง กับรางวัลชนะเลิศ Imagine Cup 2007 ของ 4 หนุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทีม 3KC Returns อันประกอบด้วย นายวสันต์ เจียรมณีทวีสิน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ นายจตุพล สุขเกษม และนายปฐมพล แสงอุไรพร (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) กับการพัฒนาแอปพลิเคชัน "LiveBook" สำหรับใช้ในการพัฒนาการรู้หนังสือของคนที่ขาดโอกาส เด็ก หรือเยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจศึกษาภาษาต่างประเทศ โดยผู้ใช้สามารถนำหนังสือหรือเอกสารภาษาอังกฤษที่ไม่ทราบคำแปลมาถ่ายภาพด้วยเว็บแคม จากนั้นโปรแกรม จะสามารถตัดภาพออกมาเป็นคำๆ และนำไปเทียบกับฐานข้อมูลที่มีว่าคำๆ นั้นแปลว่าอะไร ก่อนจะนำมาแสดง ผลที่หน้าจอ ซึ่งนอกจากจะมีคำบรรยายแล้ว ยังมีภาพสามมิติของคำศัพท์นั้นๆ ปรากฏขึ้นมาด้วย ซึ่งทางผู้พัฒนาเชื่อว่าจะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งความสำเร็จทั้งสองครั้ง แม้จะไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้นักศึกษาไทยคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเวทีการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์-ไอเดียนักศึกษา ในปี 2007 จะดำเนินมาจนถึงจุดสิ้นสุด แต่เชื่อว่า เมื่อปีหน้าฟ้าใหม่ 2008 มาถึง ประเทศไทยของเราจะยังคงมีนักศึกษาที่มากด้วยแรงบันดาลใจ และพร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ มีประโยชน์ต่อส่วนรวมออกสู่สายตาประชาคมโลกอีกมากมาย สุดท้ายสำหรับวาระแห่งการเฉลิมฉลองที่ใกล้จะมาถึงนี้ ... สวัสดีปีใหม่ค่ะ