xs
xsm
sm
md
lg

‘จ๋า’ กนกวรรณ วุฒิธำรง คนไทยหนึ่งเดียวในสถานีโทรทัศน์จีน CCTV บนเส้นทางของ “ความรักในข่าว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“Hello, I’m Ja Thamrong”

ข้างต้นคือคำทักทายต่อผู้ชมทางหน้าจอโทรทัศน์ของผู้ประกาศข่าวสาวคนหนึ่งทาง CCTV-9 สถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษแห่งสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หากดูจากหน้าตา ผิวขาวเหลือง และผมสีดำหรือฟังจากสำเนียงในการอ่านข่าวของเธอ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจำแนกเธอออกจากผู้ประกาศร่วมช่องท่านอื่นๆ คงมีเพียงแต่ชื่อที่ใช้แนะนำตัวในคำทักทายข้างต้นเท่านั้นที่พอจะทำให้เราทราบว่าเธอเป็นคนไทย

“Ja Thamrong” คือชื่อที่ใช้ในการออกอากาศของ ‘จ๋า’ กนกวรรณ วุฒิธำรง คนไทยเพียงคนเดียวที่ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนในฐานะของผู้ประกาศข่าว นักข่าว และผู้ดำเนินรายการในรายการ Biz China รายการข่าวธุรกิจที่มีผู้ชมอยู่ทั่วทุกมุมโลกหลายร้อยล้านคน

จ๋าให้การต้อนรับแก่คณะของเราอย่างอบอุ่น เมื่อเราบุกไปถึงบ้านของเธอในเขตเฉาหยางของกรุงปักกิ่ง เธอเล่าให้เราฟังถึงประวัติส่วนตัวว่า เธอนั้นเป็นคนไทยแท้ๆ โดยคุณพ่อเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม ขณะที่คุณแม่นั้นเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจีน

“เนื่องจากคุณพ่อเรียนที่มหาวิทยาลัยชิคาโกทำให้จ๋าเองก็เกิดที่นั่น ตอนเด็กๆ ครอบครัวต้องย้ายที่อยู่ตลอด อยู่เมืองไทยบ้าง อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาบ้าง พอช่วงอายุ 9 ขวบถึง 14 ขวบ ก็ย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชีวิตช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ทำให้เราเป็นคนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

“เพราะในช่วงอายุ 9-14 ขวบนั้นถือว่าเป็นช่วงที่เราเริ่มโตแล้ว เราสามารถแยกแยะความแตกต่างของคน ของวัฒนธรรมต่างๆ ได้ ตอนนั้นเราไปอยู่ที่เมืองเจนีวา ไปเรียนโรงเรียนนานาชาติที่นั่น ภาษาอังกฤษก็มีการพัฒนาจากตรงนั้น พออายุ 14 ปี ก็ย้ายกลับมาเมืองไทย มาเรียนต่อจนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี (RIS) จากนั้นเราจึงไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือเหตุที่ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วในปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางชีวิตของเธอจะต้องใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลเป็นหลัก ทว่าภาษาไทยของจ๋าเองนั้นก็พูดได้อย่างชัดเจนพอในฐานะเจ้าของภาษาเช่นกัน “จ๋าไม่ได้หัดพูดภาษาไทยเลยจนกระทั่งกลับมาอยู่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี แม้ว่าตอนเด็กจะเคยเรียนโรงเรียนไทยมาบ้าง แต่ก็ยังเด็กมากเพราะตอน ป.2 เราต้องย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อกลับมาเรียนที่ร่วมฤดีจึงกลับมาเริ่มหัดพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้”

*ก้าวแรกในวงการสื่อสารมวชน

หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในรัฐโอไฮโอในสาขาเอเชียตะวันออกศึกษา จ๋าก็เดินทางกลับมาทำงานที่เมืองไทยโดยงานแรกที่เธอทำก็คือทำงานเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนที่บริษัท แปซิฟิค ซึ่งในขณะนั้นมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นผู้บริหาร

“แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนจบมาโดยตรงทางด้านสื่อสารมวลชน แต่เราก็รู้มาตลอดว่างานด้านสื่อสารมวลชนนั้นเป็นงานที่ตัวเองชอบ ชีวิตมันก็แปลก เพราะเหมือนว่าชีวิตมันมีการวางเส้นทางเอาไว้ให้เราเป็นบางครั้ง เพราะรู้ว่าตัวเองทึ่งอาจารย์สมเกียรติ เมื่อท่านรับเข้าทำงานที่บริษัท แปซิฟิคแล้ว ท่านก็แนะนำให้เรารู้จักกับคุณทอม มินเทียร์ (Tom Mintier) ซึ่งตอนนั้นคุณทอมเพิ่งมาเปิดสำนักงานของสำนักข่าว CNN ที่เมืองไทย เมื่อปี 2534 ...” จ๋าเล่าให้เราฟังถึงชีวิตช่วงแรกของการก้าวเข้ามาทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน

ในขณะนั้น บริษัท แปซิฟิคเป็นผู้ผลิตรายการฮอตไลน์นิวส์ ซึ่งก็คือการซื้อข่าวต่างประเทศจาก CNN มาแปลเป็นภาษาไทยโดยออกอากาศทางสถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ขณะเดียวกัน ทางแปซิฟิคก็ทำข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษส่งกลับไปให้ CNN เป็น World Report ด้วยเช่นกัน เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวกันระหว่างแปซิฟิคกับ CNN เป็นการให้มุมมองของข่าวในเมืองไทยในรูปแบบของ CNN จ๋าอธิบายให้เราฟัง

ต่อมาจ๋าได้ย้ายไปทำงานที่ จส.100 ซึ่งเป็นสื่อในเครือของแปซิฟิคเช่นกัน จากนั้นในปี 2537 เธอจึงย้ายไปทำงานยังเครือเนชั่นซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงที่กำลังเริ่มจับสื่อโทรทัศน์ใหม่ๆ และทำให้เธอได้รู้จักกับสุทธิชัย หยุ่น รวมทั้ง เทพชัย หย่อง สองพี่น้องผู้บริหารของเครือเนชั่น

*สู่ CNN สำนักข่าวระดับโลก

แม้จะคลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่แววความเป็นมืออาชีพของเธอกลับไปเข้าตาผู้บริหาร CNN ประเทศไทยอย่างทอม มินเทียร์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ชักชวนเธอไปทำงานกับบริษัท เทอร์เนอร์ (Turner Broadcasting System, Inc. เจ้าของ CNN) ซึ่งเธอก็ตอบตกลงเพราะเห็นว่านี่คือโอกาสที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับสื่อระดับโลก ทว่าเมื่อย้ายไปอยู่กับ CNN จ๋ากลับต้องก้าวไปรับตำแหน่งในส่วนของฝ่ายขาย-ฝ่ายการตลาด มิใช่กองบรรณาธิการหรือส่วนข่าวอย่างที่เคยทำมา ดังนั้น การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้งในชีวิตการทำงานของเธอ

“ตอนนั้นทุกคนต้องการข่าวจาก CNN เพราะ CNN ถือว่าเป็นสถานีข่าวที่ฮอตมาก หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย แบรนด์เนม CNN ในขณะนั้นก็ถือว่าดีมาก เรียกได้ว่า Breaking News ของแทบทุกช่องจะต้องรับข่าวจากทาง CNN ขณะที่ในเวลานั้นพวกสำนักข่าวต่างประเทศเองก็ไม่ได้แข็งแรงมากไม่ว่าจะเป็นรอยเตอร์ หรือ เอพีทีเอ็น (Associated Press Television News) ดังนั้น CNN จึงเป็นแหล่งรวมของข่าวต่างประเทศซึ่งก็ทำให้งานเราง่ายขึ้น”

“ตอนนั้นเราก็ยังถือว่าเราเด็ก คืออายุเพียง 20 กว่าๆ แต่มีโอกาสได้รู้จักผู้ใหญ่ ได้มีโอกาสติดต่อผู้ใหญ่ในฐานะของตัวแทนองค์กรใหญ่ ก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติอย่างมาก ทำให้เราได้รู้จัก ได้ร่วมงานกับ ผอ.อรสา (อรสา คุณวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ อสมท) คุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ของทางช่อง 7 ขณะที่คุณสุทธิชัย (หยุ่น) ที่เคยเป็นนายเก่าเราได้ก้าวเข้ามาทำข่าวให้ช่องไอทีวีก็กลายมาเป็นลูกค้าเรา ขณะที่อาจารย์สมเกียรติก็กลายมาเป็นลูกค้าเรา ส่วนนายใหญ่ของแปซิฟิคคือ คุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา นั้น น้องชายของท่านคือคุณแป้งก็มาเป็น ผอ.ของช่อง 5 ก็กลายมาเป็นลูกค้าของเราอีกเช่นกัน

“สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคอนเน็คชันของเรา ซึ่งเราก็ถือว่าเราได้มาอยู่ในจุดที่พิเศษมาก ขณะที่ในทาง CNN ก็ให้ความไว้วางใจ เพราะในการเจรจาสัญญาแต่ละชิ้นก็ไม่ใช่มูลค่าน้อยๆ และที่น่าสนใจก็คือเราเจรจากับบรรดาสื่อโทรทัศน์ เคเบิลทีวี และโรงแรมด้วย” จ๋ากล่าวกับผู้จัดการ

ภายหลังหน้าที่ความรับผิดชอบของจ๋าก็เพิ่มมากขึ้น จากดูแลฝ่ายขายของ CNN ในประเทศไทย ก็กลายมาเป็นดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย

“ตอนนั้นรู้สึกสนุกมาก เพราะเรากับโทรทัศน์ช่องต่างๆ เหมือนเป็นพาร์ตเนอร์กันมากกว่าเป็นคนขายของกับลูกค้า นอกจากนี้ในทุกๆ ปีจะมีการจัดงาน CNN World Report Conference ซึ่งเราก็จะพาผู้ใหญ่จากช่องต่างๆ ที่เป็นลูกค้าไปที่ CNN เป็นการแลกเปลี่ยนกัน นอกจากนี้ ทางลูกค้าก็จะได้เห็นการทำงานที่สำนักงานใหญ่ด้วย ขณะที่ในช่วงปี 2540-2541 ธุรกิจอินเทอร์เน็ตกำลังฮอต ก็มีการพาไปดูงานด้านอินเทอร์เน็ต ขณะที่ช่อง CNN/SI ที่เป็นช่องกีฬาก็เพิ่งมีการเปิดตัว ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราได้ไปอยู่ในตำแหน่งตรงนั้น”

หลังจากนั้นจ๋าได้ย้ายไปประจำยังสำนักงาน CNN ฮ่องกงและแม้ว่าเธอจะมีความก้าวหน้าในหน้าที่ที่รับผิดชอบในสายงานการบริหาร-การตลาด แต่ด้วยใจรักในงานข่าว ทำให้เมื่อทำงานถึงจุดจุดหนึ่งเธอจึงตัดสินใจผันตัวเองกลับไปสู่งานข่าวที่เธอรัก ซึ่งก็หมายถึงการเดินย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นครั้งใหม่อีกครั้ง

“ตอนนั้นรู้สึกว่า ถ้าเราไม่กลับไปสู่งานข่าวเราก็คงไม่มีวันได้กลับไปทำงานด้านข่าวอีกแล้ว พอเราทำงานในส่วนของธุรกิจได้ประมาณ 6 ปี ในปี 2543 เราก็คิดว่า “This is the time, now or never.” เราจึงตัดสินใจยูเทิร์นกลับไปทำงานด้านข่าวอีก โดยรับเงินเดือนน้อยลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง จากที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกลายไปเป็นนักข่าวมือใหม่อีกครั้ง (หัวเราะ)

“เราต้องกลับไปทำงานเป็นคนหมุนสคริปต์ให้คนอ่านข่าว แต่เราก็ไม่เสียดายในการตัดสินใจครั้งนั้นเลย เพราะว่านั่นเป็นสิ่งที่ตัวเองที่รักและชอบ ตอนนั้นอยู่ที่ฮ่องกงแล้วก็ไปทำงานที่ CNN ฮ่องกง เราทำสองรายการพร้อมกันก็คือรายการ Asia Tonight ซึ่งเป็นข่าวภาคค่ำออกอากาศจากเอเชีย และรายการสัมภาษณ์ชื่อ Talk Asia”

หลังจากทำหน้าที่หมุนสคริปต์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง จ๋าก็ได้รับความไว้วางใจให้ทำรายการ Talk Asia ซึ่งจากประสบการณ์ในวงการข่าวที่เคยคร่ำหวอดในเมืองไทย ประกอบกับคอนเน็คชันที่เธอมีในช่วงที่ทำงานด้านธุรกิจก็เป็นเสมือนตัวช่วยส่งเสริมให้งานของเธอไปได้สวย

“ก็มีความได้เปรียบอยู่บ้าง แต่เราก็ถือว่าเป็นมือใหม่อยู่มาก เพราะงานโทรทัศน์จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ เพราะมันคือทักษะอีกแบบหนึ่ง ต้องใช้เวลา ส่วนงานด้านข่าว การเขียนข่าว เขียนสคริปต์โทรทัศน์ก็ต้องใช้ทักษะอีกอย่างหนึ่ง จะเขียนอย่างไรให้กระชับ ให้คนเข้าใจได้ง่าย เชิญชวนให้คนฟังและเขาเข้าใจทุกอย่าง” จ๋ากล่าว

สำหรับรายการ Talk Asia นั้นเป็นรายการสัมภาษณ์กึ่งสารคดี ซึ่งในการร่วมงานกับ CNN จ๋าทำงานทั้งรายการข่าวและรายการ Talk Asia จนในที่สุดเธอก็ก้าวขึ้นเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการ Talk Asia ซึ่งมีพิธีกรคือ ลอร์เรน ฮาห์น (Lorraine Hahn)

กระนั้น เมื่อปลายปี 2547 เนื่องจากสามีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนจำเป็นต้องย้ายมาทำงานที่กรุงปักกิ่งกับสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างบริษัท TOM.com ชีวิตของจ๋าจึงก้าวมาถึงจุดที่ต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งระหว่างงานที่กำลังรุ่งและครอบครัว ซึ่งสุดท้าย จ๋า ตัดสินใจลาออกจาก CNN และติดตามสามีมาที่ประเทศจีนด้วยกันในปี 2548

“คนเราย้ายไปอยู่ที่ไหนต้องทำให้ดีที่สุดนั่นคือคติของเรา แล้วเราโชคดีที่แต่งงาน มีแฟนที่รัก แล้วก็มีความไว้วางใจกัน เราเป็นเพื่อนรักกัน เพราะฉะนั้น เราอยู่ประเทศไหนก็ตามเราก็แฮปปี้แล้วเพราะเราอยู่ด้วยกัน”

*จากสื่อโลกตะวันตก สู่สื่อโลกตะวันออก

“จริงๆ ตอนย้ายมาก็มีความเป็นห่วงอยู่นิดหนึ่ง เพราะอยู่ที่ฮ่องกงเราก็มีความสุข เราทั้งสองคนต่างก็ได้งานดี งานที่ CNN ก็ถือว่าเป็นงานที่ดีมาก แล้วก็เป็นโอกาสที่ดีมาก ซึ่งก็มีคนถามเช่นกันว่าทำไมเราไม่ย้ายมาทำงาน CNN ที่จีน โดยส่วนตัวเมื่อถึงปี 2547 เราก็คิดว่าเราทำงานกับองค์กร ทำงานกับบริษัทเทอร์เนอร์มาได้ครบ 10 ปีแล้ว ก็คิดว่าถ้าย้ายมาอยู่เมืองจีนแล้วก็ไม่ได้อยากมาทำงานกับ CNN ต่อ เราก็อยากจะดูว่าที่นี่มีอะไรบ้าง แล้วเราทำอะไรได้บ้าง นอกจากนี้เราก็ไม่รู้ว่าการที่เราพูดภาษาจีนได้ไม่คล่องจะเป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน”

อย่างไรก็ตาม ด้วยคอนเน็คชันที่เธอมี หัวหน้าสำนักข่าว CNN ที่ปักกิ่งก็ได้ส่งต่อเอกสารประวัติส่วนตัวของจ๋าให้กับทาง CCTV 9 โดยสุดท้ายจ๋าก็ผ่านการคัดเลือกเข้ามาร่วมงานกับ CCTV ในฐานะผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษ และเริ่มต้นการทำงานภายใต้ชื่อ “Ja Thamrong”

“เราคิดว่าชื่อกนกวรรณ วุฒิธำรงคงจะยาวไปและไม่เหมาะสำหรับการใช้ออกอากาศในภาษาอังกฤษเนื่องจากยาวและเรียกยาก แต่ ‘จ๋า ธำรง’ นั้นเรียกง่ายและยังมีกลิ่นความเป็นไทยอยู่บ้าง ก็เลยใช้ชื่อนี้ตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าว เชื่อว่าถ้าคนไทยเห็นนามสกุลก็จะรู้ว่าเราเป็นคนไทย ตัวเราเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยเอาไว้”

ปัจจุบันนี้ จ๋า ธำรง เป็นทั้งผู้ประกาศข่าวและเจ้าหน้าที่เกลาข่าวด้วย โดยรายการที่ดูแลรับผิดชอบคือรายการข่าวธุรกิจที่เรียกว่า Biz China ออกอากาศ 4 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ก็มีงานสัมภาษณ์ข้างนอก

“ที่ปักกิ่งจะมีซีอีโอของทางบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันทุกคนต่างมุ่งหน้ามาที่เมืองจีนกันหมด เราก็ถือว่าโชคดีที่เราทำงานอยู่ที่นี่ ตรงนี้ ในช่วงเวลานี้ เพราะถ้าเราทำข่าวธุรกิจวันนี้ ตอนนี้ข่าวธุรกิจจีนก็น่าสนใจที่สุดเพราะความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของจีน ณ เวลานี้รวดเร็วมาก แม้ว่าเราจะรู้ตัวดีว่าก่อนหน้าที่จะมาทำเราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องข่าวธุรกิจก็ตาม”

อย่างที่ทราบกันดีว่า CCTV นั้นเป็นหน่วยงานสื่อในความควบคุมของสำนักโฆษณาการแห่งชาติจีน ภายใต้รัฐบาลกลางจีนซึ่งเป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางว่าการทำงานในสื่อจีนนั้นขาดความเป็นอิสระ ในประเด็นนี้จ๋าได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การที่เราได้มาทำงาน CCTV ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ขณะที่คนบางส่วนก็คิดว่าเป็นงานด้านโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งก็มีบ้าง แต่แล้วเราก็ต้องเข้าใจในมุมมองของเขาด้วย เพราะ CCTV คือโทรทัศน์ของรัฐบาลจีน ดังนั้น เขาจึงต้องมีมุมมองของทางการจีน นั่นคือหน้าที่ของเขา ดังนั้น การที่จะเรียกว่า CCTV เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อไปเลยมันก็ไม่เชิง สำนักข่าวอัลญะซีเราะห์ก็มีมุมมองของเขา ส่วน CNN อาจถือว่าพวกเขาเป็นกลางแต่ในฐานะที่เคยทำงานที่นั่นในการนำเสนอข่าว CNN ก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกอยู่ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา

“อย่างไรก็ตาม การที่เราอยู่ในส่วนของข่าวธุรกิจ ก็อาจกล่าวได้ว่าค่อนข้างจะมีความขัดแย้งน้อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ซึ่งทำให้เรามีความสบายใจพอสมควร เพราะโดยส่วนตัวในฐานะคนข่าวเราก็มีความเชื่อส่วนตัวของเราเอง

"สำหรับผู้ประกาศข่าวของรายการ Biz China นั้นนอกจากจ๋าที่เป็นคนไทยแล้ว ก็มีชาวจีน-สิงคโปร์ คนจีน คนจีน-อังกฤษ รวมทั้งหมด 4 คน “ทีมงานทั้งหมดที่ทำรายการ Biz China นั้นเป็นทีมงานที่ค่อนข้างอายุน้อย เราก็หวังว่าประสบการณ์ที่เรามีที่ผ่านมารวมถึงที่ CNN จะสามารถแบ่งปันกับเขาได้ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเขียนข่าว การตรวจต้นฉบับข่าว ขณะที่โดยส่วนตัวเราก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในการทำงานในองค์กรจีน

“การที่จะทำความเข้าใจลึกถึงประเทศจีน การได้ทำงานในสื่อของประเทศนั้นก็ถือว่าเป็นวิธีการทำความเข้าใจที่ดีที่สุด เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน”

เมื่อถูกถามถึงแผนการในอนาคตของเธอและครอบครัว เธอกล่าวกับผู้จัดการเพียงสั้นๆ ว่า “จ๋าและพี่เจย์ (สามี) มีคติเหมือนกันคือทำวันนี้ให้ดีที่สุด เราทำตรงนี้ให้เต็มที่ ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป เราก็รับได้ว่าต้องเป็นไปตามนั้น แต่ว่าที่ได้มาอยู่ตรงนี้ก็ถือว่าได้เติมเต็มในระดับหนึ่ง ถ้าถามว่าอยากจะกลับไปใช้ชีวิตที่อเมริกาไหม ณ ตอนนี้คิดว่าไม่ เพราะเราคิดว่าอนาคตเราอยู่ที่นี่ อยู่ที่ประเทศจีนและเอเชีย” สาวไทยหนึ่งเดียวใน CCTV กล่าวทิ้งท้าย

**************



กำลังโหลดความคิดเห็น