xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง ยุคทอง CG ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มือซีจีฮอลลีวูดชาวไทยที่โกอินเตอร์ตลอด 16 ปี
ใจตรงกับฝรั่งผู้สร้างซอฟต์แวร์เทคนิคพิเศษในหนังดัง "ลอร์ดออฟเดอะริง"
ทั้งสองคนหอบงานมาตั้งสาขาเมืองสยาม
นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ
แต่คือบทพิสูจน์ว่า "ยุคทองCGไทย"
อยู่ใกล้แค่เอื้อม


ถึงเวลาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กราฟิกระดับโลกหันมามองเมืองไทยแล้วจริงหรือไม่ พบคำตอบจากปากสองมือ CG เบื้องหลังงานฮอลลีวูดที่หันมาก่อตั้งบริษัทด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกในประเทศไทย

หนึ่งคือสุภณวิชญ์ สมสมาน หรือ "Juck Somsaman" ผู้ปลุกปั้นเจ้าเหมียวสุดแสบ Garfield และน้องหมาฮากระจาย Scooby-Doo ที่ตัดสินใจหวนคืนรังหลังโกอินเตอร์ในสหรัฐฯตลอด 16 ปีที่ผ่านมา

ส่วนอีกหนึ่งคือสตีเฟน รีเกอร์ลัสส์ ผู้สร้างโปรแกรมรังสรรค์เทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Lord of The Rings ซึ่งทิ้งนิวซีแลนด์บ้านเกิดมาก่อตั้งบริษัท Massive Softwere สาขาประเทศไทย

แม้แรงบันดาลใจที่ทำให้ทั้งสองคนเลือกตั้งบริษัทในเมืองไทยจะแตกต่างกัน แต่บทสรุปที่เราได้รับจากการพูดคุยกับสองนักคอมพิวเตอร์กราฟิกระดับโลก คือคำว่า "คนไทยมีดี"

หมดสมัยโกอินเตอร์?

สุภณวิชญ์ สมสมาน หรือ "จั๊ก" ใช้เวลา 16 ปีสร้างชื่อ "Juck Somsaman" จนเป็นที่รู้จักในวงการซีจีอเมริกันด้วยผลงานภาพยนตร์ระดับ Box office กว่า 30 เรื่อง เช่น Scooby-Doo และ Garfield ทั้ง 2 ภาค, Superman Return, Narnia และ Night at the Museum แม้ตัวเองจะโกอินเตอร์นานหลายปี แต่จั๊กยืนยันว่าความคิดโกอินเตอร์เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในขณะนี้

"เราไม่ต้องไปหาฮอลลีวูด แต่ฮอลลีวูดต้องมาหาเรา ความคิดโกอินเตอร์ล้าสมัยไปแล้ว เทคโนโลยีทำให้เราคิดแบบนี้ได้ ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น"

แม้จะกลับมาก่อตั้งบริษัทในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี แต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้จั๊กรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่สหรัฐฯ ยังสามารถติดต่อเพื่อนร่วมงานต่างชาติได้จากโปรแกรมแชต และสามารถโทรศัพท์พูดคุยในราคาไม่แพงได้ เพราะบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ทำให้จั๊กมองว่าเทคโนโลยีทำให้คนทำงานจากที่ใดก็ได้ในมุมโลก ต่างกับในอดีตที่วงการ CG บ้านเรายังไม่มีทิศทางไป

"ตอนไปสหรัฐฯเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ไม่มีใครในเมืองไทยให้โอกาส เราต้องไปสู้"

จั๊กเล่าว่าหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ (ศิลปะ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานเป็นช่างภาพอิสระก่อนตัดสินใจบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยตั้งใจไปเรียนด้านภาพยนตร์

แต่ด้วยความชอบจึงเปลี่ยนไปเรียนสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก ศาสตร์แขนงใหม่ในขณะนั้นที่ School of Visual Arts, New York สาขา Visual Effect จากนั้นจึงปักหลักที่ลอสแองเจลิส หลังจากที่ผลงานวิทยานิพนธ์หนังสั้นคอมพิวเตอร์กราฟิกของจั๊กเข้าตาบริษัท Visual Effect นาม Rhythm & Hues Studios อย่างจัง

จุดเปลี่ยนที่ทำให้จั๊กตัดสินใจหวนคืนรัง คือการได้รับมอบหมายให้พัฒนาทักษะและฝีมือพนักงานของ Rhythm & Hues Studios สาขาเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียกว่า 150 คน ควบคู่ไปกับการดูแลการทำ CG ภาพยนตร์เรื่อง Garfield 2 และ Night at the Museum ซึ่งใช้เวลา 8 เดือนในอินเดีย รับผิดชอบการทำงานควบคู่ไปกับการฝึกอบรม และถ่ายทอดเทคนิค

"ผมฝึกคนอินเดียได้ จึงคิดจะกลับมาฝึกคนไทย เพื่อถ่ายทอดเทคนิคต่างๆเหมือนกับที่ทำจนประสบผลสำเร็จมาแล้วที่อินเดีย" จั๊กเล่าถึงแรงดลใจในการตั้งบริษัท The Monk Studio ขึ้นในเมืองไทยเมื่อต้นปี "ผมกลับมาทำสิ่งที่อยากทำ มาเปิดประตูให้คนที่อยากทำ CG ตามมา"

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ใช่ว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป งานทุกงานเมื่อได้ลงมือกระทำแล้วมักต้องพบกับอุปสรรคแทบทั้งนั้น เช่นเดียวกับจั๊กที่พบว่า ปัญหาใหญ่ของบริษัทไม่ได้อยู่ที่คู่แข่ง แต่อยู่ที่มูลค่าซอฟต์แวร์ CG แสนแพงในเมืองไทย

"บริษัท CG ไทยไม่ได้แย่งตลาดกันเอง มีแต่หาทางร่วม
มือกัน เราโดนมาเลเซีย-อินโดนีเซียตัดราคามากกว่า" จั๊กเล่า "อุปสรรคใหญ่คือลิขสิทธิ์ ของซอฟต์แวร์ CG ในเมืองไทยแพงมาก เทียบในแง่ของสัดส่วน อย่างที่อเมริการาคาซอฟต์แวร์จะเทียบเท่ากับ 5% ของเงินเดือนคนทำ CG แต่สำหรับของไทยอยู่ที่ 40-50% ของเงินเดือน เราแก้ปัญหาจุดนี้ด้วยการหันไปหาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หลีกเลี่ยงหรือใช้ซอฟต์แวร์ราคาแพงให้น้อยที่สุด"

จั๊กไม่เปิดเผยทุนก่อตั้งบริษัท แต่ระบุว่าใช้คอมพิวเตอร์พีซีระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในบริษัทเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์แมคอินทอชที่นิยมกันมากในบริษัทด้านออกแบบเนื่องจากราคาแพง โดยอุปสรรคอีกเรื่องที่จั๊กพบคือบุคลากร ยอมรับว่าขณะนี้หามือ CG ระดับหัวกะทิในเมืองไทยได้น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่มีอยู่

ดึงลูกค้าพัฒนาหัวกะทิ

"ที่ผ่านมา เรารับงานเฉพาะที่จะสามารถพัฒนาบุคลากรของเราได้ งานที่ทำสามวันได้ แต่เงินเราไม่ต้องการ เราต้องการงานที่จะทำให้บุคลากร ของเรามีงานทำต่อไปอีก 5 ปี" โดยงานเหล่านี้จั๊กเล่าว่าส่วนใหญ่ได้มาจากความไว้เนื้อเชื่อใจของสายสัมพันธ์ในวงการที่จั๊กมีอยู่ "เราเอาลูกค้าสร้างอินฟราสตรักเจอร์ สร้างความสามารถให้บุคลากรเราทำเองได้"

ไม่เพียงไม่รับงานด่วน จั๊กยังประกาศจุดยืนว่า The Monk Studio ไม่รับงานโฆษณาเหล้า-บุหรี่

"เราไม่ทำ เพราะไม่ใช่สไตล์เรา ผมชอบทำงานให้เด็กดู อย่างนาร์เนีย หรือ Night at the Museum ผมไม่ค่อยอิน แต่จะอินกับ Scooby-Doo หรือ Garfield เพราะหนังพวกนี้เด็กๆชอบมาก ผมอยากทำให้เด็กทั้งโลกดู ไม่ใช่แค่เด็กไทย"

จั๊กเชื่อว่าความฝันของ CG เมืองไทยอยู่ที่เด็กในมหาวิทยาลัยขณะนี้ ถ้อยคำฝากถึงอนาคตของชาติจากจั๊กในวันนี้คือ "เร็วๆหน่อยครับ อย่าลืมพกภาษามาด้วย" เนื่องจากความรู้ภาษาอังกฤษคือส่วนผสมสำคัญที่จั๊กมองว่าหัวกะทิ CG รุ่นใหม่ของไทยควรมี

คนไทยทีมเวิร์กเยี่ยม

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า บริษัทผู้ผลิตโปรแกรมเบื้องหลังฉากต่อสู้ระหว่างกองทัพนับหมื่นสุด อลังการในภาพยนตร์ Lord of The Rings นามว่า "แมสซีฟ (Massive)" นั้นเข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทย 2 ปีแล้ว โดยสตีเฟน รีเกอร์ลัสส์ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท Massive Software ชาวนิวซีแลนด์ระบุว่า การหาโปรแกรมเมอร์ในเมืองไทยมาร่วมงานนั้นง่ายกว่าในประเทศบ้านเกิด จุดอ่อนที่ว่าคนไทยขาดความคิดริเริ่ม กลับกลายเป็นความสามารถในการทำงานเป็นทีมได้ดี

"แมสซีฟสาขานิวซีแลนด์จะรับผิดชอบเรื่องการตลาด สาขาประเทศไทยจะรับหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์และดูแลลูกค้าเป็นหลัก ทีมงานที่นี่ทั้งหมดเป็นคนไทย การดำเนินงานในเมืองไทยดีกว่าที่นิวซีแลนด์ เหตุผลที่หนึ่งคือคนไทยนิสัยดี สองคือบุคลากรมีมาก"สองเหตุผลนี้ทำให้สตีเฟน ไม่เลือกประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอนาคตด้านไอทีแสนสดใสอย่างอินเดียหรืออื่นๆ

"อุตสาหกรรมด้าน CG ของเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก การผลักดันที่ผ่านมาถึงไม่ได้ทำให้วงการ CG เมืองไทยเทียบชั้นนานาชาติ แต่งานที่ได้รับก็เป็นงานมาตรฐานนานาชาติมากขึ้น"

อุปสรรคใหญ่ที่สตีเฟนพบคือการจัดการด้านงานเอกสาร ไม่ใช่บุคลากร หรือปัญหาว่านักศึกษาไทยขาดความคิดริเริ่ม

"ผมไม่อยากเอาสิ่งที่เห็นมาตัดสินการศึกษาไทย แม้นักศึกษาไทยจะถูกมองว่าไม่มีความคิดริเริ่ม แต่การทำงานตามที่ครูสั่งทำให้คนไทยกลายเป็นคนที่ทำงานทีมเวิร์กได้ดี สามารถจบงานตามแผนได้"

โปรแกรม Massive นั้นเป็นโปรแกรมสร้างตัวละครที่มีสมองของตัวเอง ตัวละครจะสามารถแสดงพฤติกรรมธรรมชาติโดยไม่ต้องมีผู้ใช้คอยสร้างการเคลื่อนไหวทีละแอ็กชัน ยกตัวอย่างเช่น ฉากกองทัพทหารหมื่นคนบุกเข้าไปในป่า ทหารแต่ละคน ในโปรแกรมแมสซีฟจะสามารถเดินแบบกระจายตัวและหลบหลีกต้นไม้ได้เอง หรือฉากระเบิด โปรแกรมนี้จะสามารถกำหนดได้ว่า ในรัศมีระเบิดตัวละครใดต้องกระเด็น หรือตัวละครใดต้องล้มลงเพราะร่างทหารเหยื่อระเบิดที่ลอยลงสู่พื้นดิน

"หลายคนมองว่าการสร้างสมองให้ตัวละครอย่างที่แมสซีฟทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จุดแข็งของบริษัทเราจึงอยู่ที่ไม่มีใครทำโปรแกรมแบบนี้ได้ การไม่ต้องสร้างภาพเคลื่อนไหวทีละเฟรมทำให้สามารถประหยัดเวลาการสร้างภาพยนตร์ได้มาก ที่สำคัญโปรแกรมนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ควบคุมสัตว์ได้ดีกว่าสัตว์ตัวเป็นเป็นอย่างหนูส่วนใหญ่ในภาพยนตร์เรื่อง Ratatouille หรือ ฝูงแพนกวินใน Happy Feet สร้างด้วยแมสซีฟ"

สตีเฟนจบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์จากประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะผันตัวไปศึกษาด้านการสร้างโปรแกรมสำหรับทำเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์แอนิเมชัน และก่อตั้งบริษัท Massive Software ในที่สุด โดยแรงดลใจที่ทำให้เริ่มต้นเขียนโปรแกรม Massive คือเพราะเบื่อกับการทำภาพเคลื่อนไหวทีละเฟรม ซึ่งเป็นประสบการณ์แสนเจ็บปวดที่สตีเฟนได้รับเมื่อครั้งยังเป็นมือ แอนิเมชันให้ Lord of The Rings ภาคแรก

"ผมมาทำซอฟต์แวร์เพราะผมยังไม่อยากตาย" สตีเฟนย้อนความหลังที่ต้องอดตาหลับขับตานอน "สิ่งที่ทำให้ซอฟต์แวร์นี้ประสบความสำเร็จคือศิลปินใช้งานได้จริง โปรแกรมเข้าใจศิลปิน ศิลปินก็เข้าใจโปรแกรม"

สตีเฟนกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาโปรแกรมแมสซีฟในอนาคตว่าจะสามารถพัฒนาให้ตัวละครบนแมสซีฟสามารถแสดงกิริยาได้ใกล้เคียงกับมนุษย์หรือสัตว์มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ในงานคอมพิวเตอร์กราฟิกที่มีความละเอียดสูง จนไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์กราฟิก

"ที่ผ่านมา เราเอาทฤษฎีฟิสิกส์มาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมด้วย เพื่อให้ได้การเคลื่อนไหวเพราะแรงระเบิดที่สมจริง"

สนนราคาโปรแกรมแมสซีฟนั้นเริ่มต้นที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 210,000 บาท โดยชาวโลกอาจได้เห็นกองทัพทหารไทยบนโปรแกรมแมสซีฟในเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯภาคที่ 3 ของท่านมุ้ย

ผลงานของทั้ง The Monk Studio และ Massive Software จะถูกนำมาแสดงในงาน TAM 2007 หรือ Thailand Animation and Multimedia 2007 ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น